สำเริงคดี : อยากเล่นการเมือง

เล่นหนังมาก็มาก อยากเปลี่ยนแนวไปเล่นการเมืองดูมั่ง…แองเจลีนา โจลี คงคิดยังงี้ เธอถึงจะย้ายไปอยู่อังกฤษหวังรับตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษของรัฐบาล

“ฉันไม่เคยคาดหวังจะเป็นคนที่ใครๆ เข้าใจหรือชื่นชอบ” แองจี้บอกไว้เมื่อปีกลาย “ซึ่งมันก็โอเคนะ เพราะฉันรู้ดีว่าตัวเองเป็นใคร ลูกๆ ก็รู้ดีว่าฉันเป็นใคร พวกแกช่วยฉันได้มากจริงๆ ลูกๆ เป็นเพื่อนสนิทที่ดีที่สุดเท่าที่ฉันเคยมี”

ตลอดห้วงเวลาหลังการหย่าร้างอันขมขื่นและห้วงขาลงของงานในวงการบันเทิง ลูกๆ ทั้ง 6 ตั้งแต่แมดดอกซ์ 16, แพกซ์ 14, ซาฮารา 13, ไชโลห์ 11 และคู่แฝดน็อกซ์กับวิเวียนวัย 9 ขวบ เป็นความสำคัญแรกสุดของแองจี้

บัดนี้เมื่อพวกแกเริ่มชินกับการเรียนแบบโฮมสกูลที่บ้าน แองจี้ก็อยากก้าวย่างสู่ความฝันที่เธอมีมานาน

นั่นคือ การไปใช้ชีวิตทำงานการเมืองในลอนดอน

ยามนี้ เธอจึงพิจารณาว่าจะซื้อบ้านสไตล์ศตวรรษที่ 18 ขนาด 7 ห้องนอน ราคาราว 34 ล้านดอลลาร์ดีหรือไม่

บ้านนี้อยู่ในย่านบุคคลสำคัญทางการเมือง อาทิ สมาชิกรัฐสภาและนักการทูต

ที่สำคัญ อยู่ห่างจากอาคารรัฐสภาที่เซนต์เจมส์ปาร์กแค่ใช้เวลาเดินทางไม่นานนาที

 

“นอกจากความสะดวกสบายแล้ว มันยังอยู่ใกล้ที่พักของมิตรสนิททั้งสองของเธอด้วย อาร์มินกา เฮลิก และโคลเอ ดาลตัน คือสหายผู้ส่งเสริมแองจี้ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและชีวิตส่วนตัว หรือพูดให้เจาะจงลงไปก็คือ พวกหล่อนแนะนำให้เธอเลิกกับแบรดซะ” อดีตสต๊าฟของบ้านโจลี-พิตต์บอกเล่า

“พวกเธอสามสาวเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น ขณะที่แบรดถูกเขี่ยออกนอกวง”

อาร์มินกา (49) และโคลเอ (37) เป็นผู้หญิงทำงานในแวดวงการเมืองซึ่งมีคอนเน็กชั่นดีเยี่ยมซึ่งจะช่วยให้ฝันที่จะเป็นนักการเมืองของแองเจลีนาเป็นจริงได้ ในฐานะที่พวกเธอเคยเป็นผู้ช่วยของอดีต รมต.ต่างประเทศอังกฤษ วิลเลียม เฮก

พวกเธอเคยหนุนส่งให้แองจี้เข้าร่วมทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีทั่วโลกร่วมกับเฮกมาแล้ว และกำลังวิ่งต้นตามคำขอล่าสุดของแองจี้ นั่นคือให้เธอมีตำแหน่งเกียรติยศอย่างหนึ่งอย่างใดในรัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวทีฟของอังกฤษ

เนื่องจากแองจี้เคยสนับสนุนการรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงทางเพศทั่วโลกของรัฐบาลอังกฤษ สมัยที่วิลเลียม เฮก เป็น รมต.ต่างประเทศดังกล่าว เขาจึงยินดีจะสนับสนุนให้เธอคืบหน้าต่อทางการเมืองเช่นกัน

ไม่นานก่อนหน้านี้ แองเจลีนากับลูกสาวคนโตทั้งสอง ซาฮาราและไชโลห์ ได้ไปเยี่ยมเยียนผู้อพยพชาวซีเรียในค่ายที่จอร์แดน และได้กล่าวสุนทรพจน์ที่จับใจตอนหนึ่งว่า “ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาในระยะยาว”

เธอจึงเรียกร้องให้ดำเนินการทางการเมืองเพื่อยุติความทุกข์ทรมานของครอบครัวชาวซีเรียเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม แบรดไม่เห็นด้วยที่อดีตภรรยาจะหอบลูกๆ ไปอยู่อังกฤษ

การต่อรองเรื่องหย่าและสิทธิในการดูแลลูกๆ ก็ยังไม่จบ

มันจึงอาจเป็นหินก้อนมหึมาที่ขวางเส้นทางการเมืองของแองจี้อยู่ก็เป็นได้