คุยกับ “ป๋าเต็ด ยุทธนา” ว่าด้วย “วัฒนธรรมลอกเพลง” จาก “อดีต” ถึง “ปัจจุบัน” ลอกอย่างไร? – อย่างไรไม่ลอก?

จากคอลัมน์เปลี่ยนผ่านในมติชนสุดสัปดาห์ และบทสัมภาษณ์ใน FEED เผยแพร่ครั้งแรก เมษายน 2561

“การก๊อบปี้หรือว่าการเอาของคนอื่นมา แล้วอ้างว่าเป็นของตัวเอง มันเป็นข้อหาที่ร้ายแรง มันเป็นสิ่งที่ผิดจรรยาบรรณ แล้วมันก็ผิดกฎหมายด้วย ดังนั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ”

นี่คือคำตอบจาก “ยุทธนา บุญอ้อม” หรือ “ป๋าเต็ด” ผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรีไทยสากลมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันเป็นประธานบริษัท แก่น 555 จำกัด เมื่อถูกถามว่าเขามองเรื่องการลอกเพลงอย่างไร?

การ “ลอกเพลง” กลายเป็นประเด็นใหญ่และเป็นเรื่องถกเถียงในโลกโซเชียลก่อนหน้านี้ จากกรณีศิลปิน “The TOYS” ถูกสังคมกล่าวหาว่าลอกเพลงของศิลปินต่างประเทศชื่อดังวงหนึ่ง

จนทางค่ายต้นสังกัดต้องออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าวภายหลัง ว่า The TOYS ไม่ได้ทำการลอกเพลงแต่อย่างใด

ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่อดีต จะเห็นว่างานละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งการลอกทำนองหรือแม้แต่การนำเพลงต่างชาติมาแปลงนั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในยุคแรกๆ ของวงการเพลงไทยสากล และเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันมาจนถึงปัจจุบัน

ยุคทองแห่งการลอกเพลง

ป๋าเต็ดเล่าถึงยุคที่เขาเติบโตมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ ว่า ถ้าย้อนกลับไปช่วงปี 70s-80s ยุคนั้นเป็นยุคที่การเอาเพลงต่างชาติมาใส่เนื้อไทยเป็นเรื่องไม่ผิด เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในวงการ ที่สำคัญคือยุคนั้นกฎหมายลิขสิทธิ์ยังไม่เข้มงวดเท่าสมัยนี้ การลอกเพลงจึงเกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

“ยุคนั้นนี่แบบโอ้โห มีหมดอะครับ เพลงจีนก็โดน เพลงแขกก็โดน เพลงฝรั่งนี่โดนเยอะอยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดา ผมว่าเหตุนึงมันเป็นเพราะว่าคนไทยมีพื้นฐานดนตรีมาทางเพลงไทยเดิม ไปสู่เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่งทั้งหลาย

“แต่พอเป็นเพลงสากล มันเหมือนเราต้องมาเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ ทางเดินคอร์ดมันแปลกมาก ไม่เหมือนที่เราเคยแต่งมาเลย ดังนั้น ในช่วงแรก ผมเลยเชื่อว่ามันจึงต้องใช้ทางลัด ในเมื่อยังแต่งไม่ได้ ไม่รู้เอาคอร์ดอะไรมาต่อกันมันถึงได้เพราะขนาดนั้น ก็เอาทำนองของฝรั่งมาเลยก็แล้วกัน

“ดังนั้น มันจึงเกิดขึ้นเยอะมาก แล้วก็ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก สำหรับผมเรียกว่าเป็นยุคทองของการลอกเพลงเลย คือมันมีทุกรูปแบบ มีตั้งแต่ลอกเลย ฟังแล้วรู้เลยว่าเอาเพลงนี้มา เมโลดี้เหมือน คอร์ดเหมือน ซาวด์เหมือน เปลี่ยนแค่เนื้อร้องเท่านั้นเอง” ป๋าเต็ดย้อนอดีต

เพลงแปลง-เพลงล้อ ท่ามกลางกฎหมายที่เพิ่งตั้งไข่

พอยุคสมัยเดินทางมาถึงช่วงปี 80s-90s แม้ช่วงนี้กฎหมายลิขสิทธิ์จะเริ่มเข้มงวดมากขึ้น แต่การลอกเพลงก็ยังไม่ได้ถูกเอาผิด ดังนั้น วิวัฒนาการด้านดนตรีจึงเติบโตขึ้นไปเป็นเพลงแปลงและเพลงล้อเลียน ซึ่งได้รับความนิยมสูง

ป๋าเต็ดเล่าว่า ช่วงที่เพลงแปลงได้รับความนิยม หากจะเรียกว่าเป็นยุคก็คงไม่เชิง แต่สมัยนั้นมีศิลปินแนวนี้เกิดขึ้นมากมาย แม้จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทว่า บรรดาศิลปินก็มีความรับผิดชอบโดยการระบุว่าเพลงเหล่านั้นเป็นเพลงแปลงหรือเพลงล้อเลียน

“มันจะมีช่วงหนึ่งที่จะมีศิลปินแบบบุญธรรม พระประโทน หรือป๋าเทพ โพธิ์งาม ก็คือเอาเพลงฝรั่งมาแปลงเนื้อเลย หรือเอาเพลงไทยมาแปลงเนื้อ เป็นลักษณะการล้อเลียน

“อันนั้นเราก็จะรู้สึกว่ามันคือการล้อเลียน ไม่ได้รู้สึกว่าเขาบอกว่าเขาแต่งเพลงนี้ แต่เขาจงใจบอกเลยว่าเขาเอาเพลงนี้มาล้อเลียนนะ มาแปลงเนื้อ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแบบไทยๆ อีกแบบหนึ่ง” ป๋าเต็ดกล่าว

กระทั่งเวลาผ่านมาจนถึงช่วงต้นถึงกลางปี 2000 กระแสเพลงแปลงยังคงเป็นที่นิยมสูง มีศิลปินเกิดใหม่มากมาย

แต่ที่เด่นคงจะเป็น “นายครรชิตกับทิดแหลม” ที่นำเพลงดังของเหล่าศิลปินไทยมาแปลงเนื้อหาในเชิงติดตลก กับ “ใหญ่ ประสงค์ ตั้งตัว” ที่นำเพลงดังจากเหล่าศิลปินสากลมาแปลงเนื้อหาในเชิงติดตลกเช่นกัน

ผลงานในระยะนี้จะแตกต่างจากอดีต เพราะก่อนทำเพลงแปลงออกมาจะต้องมีการขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องเสียก่อน

“เรื่องเพลงแปลง ผมว่ามันเป็นไปได้ว่าเข้าสู่ยุคที่คนเริ่มเข้าไปฟังเพลงในผับ แล้ววงดนตรีในผับอาจจะเริ่มร้องเพลงแปลงเหล่านี้ ก็ทำให้เกิดการฮิตต่อเนื่องกันไป มันก็เลยเกิดกระแสการสร้างเพลงแปลงขึ้นมา แต่ก็สูญหายไป เพราะว่าของพวกนี้มันเป็นแค่กิมมิค มันไม่ยั่งยืน

“ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้วมันก็จะดังเป็นพลุแตกเลย แล้วก็ทำอะไรต่อเนื่องไม่ได้ เพราะมันเป็นแค่กิมมิค มันไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐานของวงการเพลงที่มันจะอยู่กันได้ยาวๆ” ป๋าเต็ดแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องกระแสเพลงแปลงช่วงปี 2000

การทำเพลงแบบครอสโอเวอร์ ในยุคเข้มงวดเรื่องลิขสิทธิ์

หลังกฎหมายลิขสิทธิ์เริ่มบังคับใช้อย่างเข้มงวดขึ้นนับตั้งแต่ปี 90s เป็นต้นมา การทำงานเพลงจึงต้องยืนอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องมากขึ้น

ถ้าสังเกตเพลงในตลาดปัจจุบัน เราจะพบเห็นการทำงานแบบครอสโอเวอร์

เช่น ล่าสุดวง “แจ๊ส สปุ๊กนิค ปาปิยอง กุ๊กกุ๊ก” ได้นำเพลง “Stressed Out” ของวง “Twenty One Pilots” มาร้องเป็นภาษาไทย ผ่านขั้นตอนการขออนุญาตและการทำงานที่มีรายละเอียดมากมาย เพื่อให้บรรลุข้อตกลงกับเจ้าของลิขสิทธิ์

ดังนั้น การลอกเพลงอย่างผิดกฎหมายจึงปรากฏให้เห็นน้อยมาก

“อันนี้มันเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย มันจะเริ่มเลวก็ต่อเมื่อ Run DMC บอกฉันเป็นคนแต่งเพลงนี้ทั้งหมด อย่างนี้เลว

“จริงๆ เพลงแดนซ์ เพลงฮิปฮอป มันเกิด (กรณีนำงานคนอื่นมาใช้) ขึ้นเยอะอยู่แล้ว คือการแซมพลิงบางส่วนของบางเพลงมาใช้ในเพลงตัวเอง เขาก็จะให้เครดิตไว้ และแน่นอนจะต้องจ่ายตังค์ด้วยค่าลิขสิทธิ์ คือบางทีมันอาจจะเป็นแค่ทำนองบางช่วง ดนตรีบางช่วงเท่านั้นเองที่เอามาใส่ไว้

“สมมติยกตัวอย่างที่ Thaitanium เพิ่งทำกับเพลงสบายดีรึเปล่า อย่างนี้เขาซื้อลิขสิทธิ์แน่นอน ต้องขออนุญาต ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ แล้วเขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาเป็นคนแต่งในช่วงสบายดีรึเปล่านี้นะ คนแต่งคือคุณกริช ทอมมัส จากแกรมมี่”

ป๋าเต็ดกล่าว

ลอก/ไม่ลอก ดูอย่างไร?

ป๋าเต็ดแสดงความคิดเห็นว่าการลอกเพลงมีรายละเอียดที่ต้องเข้าใจอยู่พอสมควร ดังนั้น จึงอยากให้ผู้วิจารณ์ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น เข้าใจถึงสไตล์ของเพลง โครงสร้างหลักของเพลงในสไตล์ต่างๆ เพราะว่าเพลงหนึ่งเพลงมีองค์ประกอบอยู่ค่อนข้างเยอะ

อย่างการตีกลองก็จะมีจังหวะการตีพื้นฐานหลายรูปแบบ หรือการดีดกีตาร์ก็จะมีการจับคอร์ดพื้นฐานอยู่หลายรูปแบบเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มคอร์ดโปรเกรสชั่น ซึ่งมีการนำไปใช้กันแพร่หลาย

“เวลาที่เราจะบอกว่าเพลงไหนลอกเนี่ย ถ้าโดยมาตรฐานสากล เขาจะมีกฎอยู่ข้อหนึ่ง มันควรจะต้องมีเมโลดี้เหมือนกันเด๊ะ ต่อเนื่องกัน 5-9 โน้ตติดต่อกัน

“สมมติว่ามีเพลงเพลงนึงมีทำนองบางช่วงเป็นแบบ ต๊า ด้า ดา กับเพลงต้นฉบับเมื่อกี้คือ ต๊า ด้า ดา ตา ต่า…คุณจะไปบอกว่า ต๊า ด้า ดา 3 โน้ตนั้นลอกเพลงนี้มาไม่ได้ เพราะมันน้อยไป มันน้อยเกินกว่าที่จะลอกกันได้

“แต่คราวนี้มันก็จะมาสู่ข้อที่ว่าคุณควรจะต้องเข้าใจกระบวนการแต่งเพลง แล้วคุณจะเข้าใจว่าบางครั้ง ทำนองมันออกมาคล้ายกันได้โดยไม่ได้ตั้งใจลอกด้วย ทีนี้ต้องมาถามว่าทำนองมันมาจากไหน ทำนองมันมาจากการที่เมื่อเราวางโครงสร้างคอร์ดไว้แล้ว

“ข้อจำกัดตรงนี้แหละ บวกกับการที่คนเราใช้คอร์ดโปรเกรสชั่นเหมือนกันได้ เวลาเราแต่งเพลงมันเลยเป็นไปได้ว่าต่อให้อยู่กันคนละฟากโลก เมื่อเราใช้คอร์ดโปรเกรสชั่นชุดเดียวกัน เรามีโอกาสสูงมากที่จะคิดเมโลดี้ออกมาคล้ายกัน เพราะมันต้องเดินอยู่ในกฎข้อบังคับบางอย่าง กฎข้อเดียวกัน” ป๋าเต็ดกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้มองโลกในแง่บวกมากนักและลองมองย้อนไปที่ข้อกฎหมาย ก็ยังมีช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดกรณีลอกเพลงขึ้นได้ ซึ่งเพลงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลงานของผู้ที่มีความรู้ทางด้านดนตรี โดยเป็นการลอกอย่างมีชั้นเชิง

“บางเพลงเอามาแค่โครงสร้างคอร์ดกับสไตล์ แต่ว่าใส่เมโลดี้ใหม่เข้าไป บางเพลงอาจจะคงเมโลดี้บางช่วงไว้ แล้วก็เปลี่ยนโครงสร้างคอร์ด อันนี้มันคือการลอกที่ทำโดยคนมีความรู้ด้านดนตรี เอาผิดทางกฎหมายไม่ได้ด้วย

“คือเขาทำไว้พอดีเป๊ะเลย ถ้านับแล้วจะไม่ถึง 9 โน้ต คือพอใกล้ๆ จะ 9 โน้ตปุ๊บ จะฉีกโน้ตไปอีกทางนึงเลย อันนี้ทุกวันนี้ก็ยังได้ยินอยู่บ้าง แต่มักจะได้ยินในเพลงโฆษณา

“ถ้าลองดูหนังโฆษณาบางเรื่อง จะเห็นว่าเราได้ยินทำนองที่รู้สึกมันคุ้นมากเลย แต่ว่าพอกำลังจะคุ้นๆ ปุ๊บ โน้ตมันเปลี่ยนไปอีกเมโลดี้ อันนี้คือตั้งใจเลย คือตั้งใจทำเพื่อเลี่ยงกฎหมายไม่ให้ถูกฟ้องได้” ป๋าเต็ดกล่าว

ก่อนจบบทสนทนา ประเด็นสุดท้ายที่ป๋าเต็ดฝากย้ำเอาไว้ก็คือ “การลอกเพลง” ถือเป็นข้อหาร้ายแรงที่สุดเท่าที่คนในวิชาชีพด้านดนตรีจะได้รับ

ดังนั้น สิ่งที่อยากให้กลุ่มคนซึ่งคอยตรวจจับเฝ้าระวังเรื่องนี้ต้องตระหนักด้วยก็คือ ควรทำความเข้าใจในทุกๆ เรื่องที่เราจะแสดงความเห็นออกไป

https://www.facebook.com/Feedforfuture/videos/1681692018575588/