“ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (27) ข่วงหลวงเวียงแก้ว : มุมมองจากเอกสารจดหมายเหตุฝ่ายสยาม ตอนที่ 2

เพ็ญสุภา สุขคตะ

หอคำ vs หอเทียม

ฉบับที่แล้ว อาจารย์วรชาติ มีชูบท ได้เปิดประเด็นอธิบายเรื่องความหมายของ “หอคำ” ว่าเจ้านายระดับใดบ้างสามารถประทับในนั้นได้ เรามาดูศัพท์อีกคำหนึ่ง “หอเทียม” จะหมายถึงอะไร

จากตำนานเมืองเชียงใหม่ที่กล่าวถึงพระยาเชียงใหม่พุทธวงศ์สร้าง “หอเทียม” ขึ้นที่ด้านใต้ของหอคำในเวียงแก้วนี้เอง จึงน่าจะอธิบายข้อมูลในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ.2436 ได้ว่า

พื้นที่ฝั่งตะวันตกตอนเหนือ คงจะเป็นที่ตั้ง “หอคำ” ของพระเจ้ากาวิละ

พื้นที่ฝั่งตะวันตกตอนใต้ คงจะเป็นที่ตั้ง “หอเทียม” ที่พระยาเชียงใหม่พุทธวงศ์สถาปนาไว้

ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันออก ซึ่งมีช่องทางเข้าออกเชื่อมต่อไปยังศาลาสนาม (ศาลาลูกขุน) นั้น คงจะเป็นที่ตั้งโรงคำ (ท้องพระโรง) และเหล้ม (พระคลังมหาสมบัติ)

ภายหลังจากพระยาเชียงใหม่พุทธวงศ์ถึงแก่พิราลัยแล้ว พระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ ผู้เป็นบุตรของพระยาเชียงใหม่ธรรมลังกา เจ้านครเชียงใหม่องค์ที่ 2 และเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ผู้เป็นบุตรของพระเจ้ากาวิละ เจ้านครเชียงใหม่องค์ที่ 1 ได้รับสถาปนาเป็นเจ้านครเชียงใหม่องค์ที่ 5 และ 6 ตามลำดับ

ไฉนจึงไม่พบหลักฐานว่า ในระหว่างเวลาที่เจ้านครเชียงใหม่องค์ที่ 5 และ 6 ได้รับสถาปนาเป็นพระยาและเจ้านครเชียงใหม่ แต่ยังมิได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าประเทศราชนั้น ทั้งคู่ได้พำนักอยู่ที่ “หอเทียม” ที่พระยาเชียงใหม่พุทธวงศ์สร้างไว้ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในเมืองนครลำปางและนครน่านหรือไม่

คงพบหลักฐานแต่เพียงจดหมายเหตุเมืองเชียงใหม่ที่ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงอาราธนาครูบาญาณลังการ์ (พระอภัยสารทะ) วัดทุงยู บันทึกไว้เมื่อคราวเสด็จกลับเชียงใหม่ครั้งแรกใน พ.ศ.2452 ว่า เมื่อพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ.2413 แล้ว

“ปีมะเมียโทศก วันพฤหัสบดี เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ (สอบทานกับปฏิทินจันทรคติ พบว่าตรงกับวันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2413) เจ้าอุปราช (อินทนนท์) ได้สร้างวิหารหลวงวัดกิตติ (ทิศใต้วัดเจดีย์หลวง) เอาโรงพระเจ้ากาวิโลรส ฯ มาสร้าง

ฯลฯ

จุลศักราช 1237 (พ.ศ.2418) ปีกุนสัปตศก… วันเสาร์เดือน 10 ขึ้น 8 ค่ำ ปกวิหารวัดพันเต่ากลางเวียงเชียงใหม่ ที่เจ้าอินทวิไชยานนท์ หื้อรื้อเอาหอคำจองพระเจ้ามโหตรประเทศไปสร้าง ฯ

ฯลฯ

จุลศักราช 1239 (พ.ศ.2420) ปีฉลูนพศก ปกวิหารวัดแสนฝาง ข้างประตูท่าแพชั้นนอก ช้างใน เจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ให้รื้อเอาโรงเจ้ากาวิโลรสไปสร้าง…

ฯลฯ

ปีมะแมเบญจศก วันเสาร์เพ็ญ เดือน 5 พระเจ้าชีวิตอินทวิชยานนท์ ทำบุญฉลองวิหารวัดเชียงยืน เหนือเวียงนครเชียงใหม่ ที่ได้รื้อเอาโรงพระเจ้ากาวิโลรสไปสร้าง ฯ

ฯลฯ

จุลศักราช 1248 (พ.ศ.2429) ปีจออัฐศก วันอาทิตย์ เพ็ญเดือน 7 พระเจ้าชีวิตอินทวิไชยานนท์ทำบุญฉลองวิหารวัดเจดีย์หลวงแห่งหนึ่ง ฉลองพระวิหารวัดพันเตากลางเวียงที่รื้อเอาหอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศมาสร้างแห่งหนึ่ง, วิหารวัดสบขมิ้นแห่งหนึ่ง, วิหารวัดหอธรรมแห่งหนึ่ง…”

ย้ายคุ้มหลวง เวียงแก้วร้าง

เมื่อเจ้าอุปราชอินทนนท์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รั้ง (รักษาการ) เจ้านครเชียงใหม่ใน พ.ศ.2414 นั้น พบหลักฐานว่า เจ้าอุปราชอินทนนท์ได้ย้ายจากคุ้มท่าที่ริมแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นคุ้มเรือนหอที่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์จัดให้เป็นคุ้มเรือนหอเมื่อคราวสมรสกับเจ้าเทพไกรสรผู้เป็นธิดา ไปปลูกสร้างคุ้มหลวงแห่งใหม่ที่กลางเวียงเชียงใหม่ ตรงบริเวณที่ปัจจุบันเป็นสนามฟุตบอลและตึกยุพราชในโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

ครั้นเมื่อเจ้าอินทวิชยานนท์ได้รับสถาปนาเป็นเจ้านครเชียงใหม่ใน พ.ศ.2416 แล้ว ก็คงพำนักอยู่ที่คุ้มหลวงกลางเวียงนั้นมาจนถึงพิราลัยใน พ.ศ.2440

เมื่อเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ได้รับสถาปนาเป็นเจ้านครเชียงใหม่ใน พ.ศ.2444 ก็ย้ายเข้ามาพำนักในคุ้มหลวงกลางเวียงนี้ต่อมาจนถึงพิราลัยใน พ.ศ.2452

ด้วยเหตุที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์มิได้ย้ายเข้าไปพำนักในเวียงแก้ว ทั้งยังได้อุทิศสิ่งปลูกสร้างในเวียงแก้วไปก่อสร้างเป็นเสนาสนะถวายวัดต่างๆ ในเวียงเชียงใหม่หลายวัด

“เวียงแก้ว” จึงสิ้นสภาพการเป็นคุ้มหลวงและถูกปล่อยให้ทิ้งร้างมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ต่อมาในยุคที่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ครองนครเชียงใหม่ จึงพบว่า เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ได้ประทานพระดำรัสตรัสเล่าไว้ว่า

“เวียงแก้ว เป็นเนื้อที่สี่เหลี่ยมจดถนนทุกทิศ เป็นมรดกของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่ที่ 7 เจ้าอินทวโรรสฯ ได้ยกทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ในด้านทิศใต้ ส่วนด้านทิศเหนือ เจ้าอินทวโรรสได้จัดทำเป็นสวนสัตว์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งได้ยกให้ข้าบริพาร คือ พระญาติๆ หลานเหลน และเหล่าเสนาของท่าน เช่น หมื่น ท้าว พญาทั้งหลายในสมัยนั้น”

 

เมื่อมีศาล ก็ต้องมีคุก

อนึ่ง ก่อนที่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์จะถึงแก่พิราลัยนั้น ได้มีคดีพิพาทเรื่องสัมปทานป่าไม้ระหว่างเจ้านครเชียงใหม่และญาติวงศ์กับชาวอังกฤษและคนในบังคับที่เรียกว่า “สัปเยก” (มาจากคำว่า Subject นั่นเอง)

เพราะเหตุที่มีการอนุญาตสัมปทานซ้ำซ้อน เมื่อมีคดีความฟ้องร้องกันขึ้น ฝ่ายคู่สัญญาชาวอังกฤษและคนในบังคับเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็นำคดีลงไปฟ้องร้องกล่าวโทษต่อกงสุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ

กงสุลอังกฤษจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลสยามเข้าชำระสะสางคดีความที่พิพาทกันนั้น

จนสามารถพิพากษาคดีทั้งปวงเสร็จสิ้นในตอนต้นสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์

การที่กงสุลอังกฤษไม่สามารถเข้าแทรกแซงระงับข้อพิพาทเรื่องสัมปทานป่าไม้ที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาได้ ก็เพราะเงื่อนไขสัญญาทางพระราชไมตรีว่าด้วยการพาณิชย์และการเดินเรือที่รัฐบาลสยามทำไว้กับรัฐบาลอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2398 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สัญญาบาวริ่ง” นั้น สามารถบังคับใช้ได้เฉพาะในดินแดนสยาม ไม่มีผลบังคับใช้ไปถึงหัวเมืองประเทศราชล้านนา

ฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสอินเดียใน พ.ศ.2414 รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียจึงได้เรียกร้องขอทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์เพื่อใช้บังคับในดินแดนล้านนา โดยเฉพาะสัญญาที่รัฐบาลสยามและรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียลงนามกันไว้เมื่อ พ.ศ.2416 ที่เรียกกันว่า “สัญญาเชียงใหม่” นั้น

มีผลใช้บังคับเฉพาะในเขตเมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครลำพูน

ในสัญญาฉบับนี้มีข้อกำหนดที่สำคัญให้รัฐบาลสยามจัดตั้งศาลต่างประเทศขึ้นที่นครเชียงใหม่ เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีกรณีที่ชาวอังกฤษและคนในบังคับพิพาทกับเจ้านายขุนนางและชนชาวเมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครลำพูน

ต่อมาเมื่อสัญญาเชียงใหม่ฉบับแรกสิ้นอายุลงใน พ.ศ.2426 ได้มีการทำสัญญาฉบับเชียงใหม่ฉบับที่ 2

โดยมีข้อตกลงให้ขยายขอบเขตของสัญญาออกไปครอบคลุมถึงนครน่านและเมืองแพร่

รวมทั้งอนุญาตให้อังกฤษส่งรองกงสุลหรือเรียกทับศัพท์ว่า “ไวซกงสุล” ขึ้นมาประจำที่นครเชียงใหม่ กับให้ขยายเขตอำนาจศาลไปถึงเมืองนครน่านและเมืองแพร่ด้วย

นอกจากนั้น ในสัญญาฉบับนี้ยังกำหนดให้ข้าหลวงศาลต่างประเทศเป็นนายทะเบียนตรวจลงตราและเก็บรักษาสัญญาสัมปทานป่าไม้ไว้เป็นหลักฐานคู่กับคู่สัญญาทุกราย

เหตุการณ์นี้ทำให้มีศาลต่างประเทศในนครเชียงใหม่ครั้งแรก เมื่อแรกตั้งใน พ.ศ.2417 นั้น มีที่ทำการอยู่ในบริเวณที่ข้าหลวงพักริมแม่น้ำปิง ตรงบริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์แม่ปิง มีความในเอกสารจดหมายเหตุระบุว่า ตัวอาคารศาลต่างประเทศเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงหลังคามุงกระเบื้อง ชั้นบนเป็นทั้งที่ทำการศาลต่างประเทศและที่พักผู้พิพากษา ใต้ถุนเรือนเป็นที่คุมขังนักโทษของศาลต่างประเทศ

อนึ่ง ในระบบการปกครองของสยามยุคก่อนการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงยังคงดำเนินตามแบบจารีตที่สืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

ในส่วนของคดีอาชญา เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะควบคุมจำเลยไปจำขังตามคำพิพากษาไว้ในคุกที่กำหนด ซึ่งมักจะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับที่ตั้งศาลหรือที่ใกล้เคียง

เช่นในกรุงเทพฯ ในยุคก่อนปฏิรูปงานราชทัณฑ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เคยมี “คุกหน้าวัดโพธิ์” เป็นคุกหลวงตั้งอยู่ที่ริมถนนสนามไชยหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตรงที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน

คำว่า “คุก” นี้ นายประเสริฐ เมฆมณี อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “คุกเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังมีกำหนดโทษตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป”

นอกจากคุกซึ่งเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังมีกำหนดโทษตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปแล้ว ในยุคก่อนปฏิรูประบบงานราชทัณฑ์ใน พ.ศ.2433 ยังมี “ตะราง” เป็นสถานที่คุมขังผู้ที่ต้องโทษชั้นลหุโทษหรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือเป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี

โดยปกติตะรางมักจะตั้งอยู่ในวัง หรือจวน หรือบ้านขุนนางผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมือง แต่ในหัวเมืองซึ่งเจ้าเมืองทำหน้าที่เป็นตุลาการด้วยนั้น คุกและตะรางมักจะอยู่รวมกันในบริเวณจวนหรือสถานที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่การควบคุมผู้ต้องขัง

พอจะเข้าใจล่ะ ว่าเมื่อมีศาล ก็ต้องมีคุก แต่ทำไมจึงไม่สร้างคุกที่อื่น ทำไมต้องสร้างทับ “คุ้มหลวง” จงใจจะให้เกิด “ขึด” ต่อคนล้านนาหรือไม่ โปรดติดตามอีก 2 สัปดาห์จบเรื่องนี้