วิกฤติศตวรรษที่21 : มวยหมู่สหภาพยุโรป-นาโต้กับรัสเซีย

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (จบ)

มวยหมู่สหภาพยุโรป-นาโต้กับรัสเซีย

สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับสหรัฐและตะวันตกได้เสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วแบบคาดไม่ถึงในเดือนมีนาคม 2018 จนกระทั่งกลายเป็นมวยหมู่ระหว่างสหภาพยุโรป-นาโต้กับรัสเซีย

หรือกล่าวให้ตรงยิ่งขึ้นก็คือ กลุ่มมหาอำนาจตะวันตกรวมตัวกันเล่นงานรัสเซีย เป็นการฟื้นสงครามเย็นขึ้นมาอีกครั้ง แบบมีอันตรายกว่ากันมาก

การเสื่อมทรุดของสถานการณ์นี้ประกอบด้วย เหตุการณ์ 3 ชุดใหญ่

ดังนี้

1.เริ่มในวันที่ 1 มีนาคม 2018 เมื่อปูตินปราศรัยต่อรัฐสภารัสเซีย กล่าวถึงเรื่องสำคัญสามประเด็นด้วยกัน คือ

ก) การพัฒนาประเทศรัสเซียอย่างทั่วด้านจนก้าวเป็นมหาอำนาจโลก

ข) การพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูงใหม่ที่ระบบป้องกันของสหรัฐและตะวันตกไม่อาจต้านทานได้

และ ค) กางร่มนิวเคลียร์คุ้มครองแก่พันธมิตรของตน

ความบางตอนว่าด้วยการสร้างประเทศให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เช่น “รัสเซียจะต้องยืนอย่างมั่นคงในฐานะที่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดห้าอันดับแรกของโลก และรายได้ต่อหัวของรัสเซียต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อถึงกลางทศวรรษหน้า”

และ “ภายในสิ้นทศวรรษหน้า รัสเซียจะเข้าร่วมในสโมสรประเทศที่ประชากรมีอายุคาดหมายเฉลี่ยสูงกว่า 80 ปี ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี”

และ “เพิ่มพื้นที่การสร้างที่อยู่อาศัยจากเฉลี่ยปีละ 80 ล้านตารางเมตรเป็น 120 ล้านตารางเมตร”

และ “เมื่อถึงปี 2024 รัสเซียจะมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ทั่วประเทศ”

ข้อความบางตอนว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่อาจพิชิตได้ของรัสเซีย มีว่า

“รัสเซียยังคงมีแสนยานุภาพทางอาวุธนิวเคลียร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก แต่ไม่มีใครฟังเรา เพราะฉะนั้น จงฟังเราได้แล้ว”

และ “ผมอยากจะส่งสารถึงประเทศที่ต้องการแข่งขันทางอาวุธกับเราตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเหนือรัสเซีย และดำเนินการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจอย่างผิดกฎหมาย เพื่อปิดกั้นการพัฒนาประเทศของเรา ผมขอบอกคุณว่า คุณไม่อาจปิดล้อมรัสเซียได้”

และว่า รัสเซียกำลังพัฒนาขีปนาวุธใหม่ที่มี “พิสัยการโจมตีที่ไม่จำกัด…ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์” สามารถโจมตีสหรัฐได้โดยผ่านขั้วโลกเหนือและขั้วโลกไต้

ข้อความบางตอนว่าด้วยการตอบโต้และการกางร่มนิวเคลียร์ให้แก่พันธมิตรของตน มีว่า “เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องประกาศว่า หากมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อรัสเซียและพันธมิตรของเรา ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดอื่นใด เราจะถือว่าเป็นการโจมตีทางนิวเคลียร์ต่อประเทศเรา เราจะตอบโต้ทันทีและจะเกิดผลอย่างสาสมกัน”

พันธมิตรรัสเซียที่เห็นได้คือ จีน อิหร่านและซีเรีย

ในกรณีซีเรีย ปูตินย้ำว่า

“(ถ้า) คุณเข้าแทรกแซงที่เขตกูตาตะวันออก (เพื่อช่วยกลุ่มกบฏที่สู้รบใกล้กรุงดามัสกัส) และใช้มันเป็นข้ออ้างในการทิ้งระเบิดกองทัพซีเรีย เราจะทิ้งระเบิดคุณกลับ และพร้อมที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อจรวดโทมาฮอว์กของคุณ ที่คุณสั่งโจมตีขณะที่นั่งกินขนมเค้กช็อกโกแลต”

2.เริ่มในวันที่ 4 มีนาคม 2018 ในกรณีเซร์เก สกรีปาล อดีตสายลับสองหน้ารัสเซีย ปัจจุบันมีสัญชาติอังกฤษ ถูกลอบวางยาด้วยสารทำลายระบบประสาท สี่วันต่อมาทางการอังกฤษสามารถสืบสวนได้อย่างรวดเร็ว และกล่าวว่า รัสเซียเป็นผู้ลงมือกระทำ

ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม นางเทเรซา เมย์ นายกฯ อังกฤษรับลูก กล่าวหารัสเซียอย่างเป็นทางการว่า รัสเซียใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชนอังกฤษบนแผ่นดินอังกฤษ และยื่นคำขาดให้รัสเซียชี้แจงเรื่องนี้ให้ทราบภายใน 24 ชั่วโมง

รัสเซียเมินเฉยต่อคำขาดนี้ ระบุว่าตนจะพิจารณาเรื่องนี้ก็ต่อเมื่อได้รับหลักฐานที่เป็นสารทำลายระบบประสาทเช่นว่าเสียก่อน ว่าเป็นของใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร และกล่าวว่า พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการสืบสวนในกรณีนี้

ในวันเดียวกันนี้ นางนิกกี้ ฮาเลย์ ทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ ประกาศกร้าวว่าจะโจมตีซีเรียโดยลำพัง ถ้าหากคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติไม่ตัดสินใจเรื่องการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย ในวันที่ 13 มีนาคม เสนาธิการทหารสูงสุดรัสเซียเตือนว่า

“ในกรณีที่มีการคุกคามต่อชีวิตทหารของเรา กองทัพรัสเซียจะใช้มาตรการตอบโต้ทั้งต่อขีปนาวุธที่ยิงมา และต่อฐานยิงขีปนาวุธนั้น”

ระหว่างนี้ได้มีการโทรศัพท์สนทนากันระหว่างผู้บัญชาการทหารระดับสูงของรัสเซียและสหรัฐว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ (ควรบันทึกไว้ว่าแม้จะมีการประกาศ “กร้าว” อย่างไร ก็มักมีการเจรจาลับหลังเสมอ)

ถึงวันที่ 14 มีนาคม อังกฤษขับเจ้าหน้าที่ทูตรัสเซีย 23 คน รัสเซียตอบโต้ทันควันต่อรัฐบาลอังกฤษ โดยการขับทูตของอังกฤษจำนวนเท่ากันและยังสั่งปิดสำนักงานบริติชเคาน์ซิลอีก

วันที่ 17 มีนาคม นายพลอิกอร์ โคนาเชนคอฟ ประณามนายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศดาวรุ่งของอังกฤษ ที่กล่าวกันว่าจะขึ้นมาแทนที่นางเมย์ ว่า “เจ้าเล่ห์ที่ไร้มารยาท” และ “คนเป็นหมันทางปัญญา”

จากนั้นสงครามวาจาระหว่างอังกฤษ-รัสเซีย ก็ดำเนินอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

AFP PHOTO / POOL / GRIGORY DUKOR

3.เริ่มต้นจากวันที่ 18 มีนาคม ปูตินชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างถล่มทลาย ในวันที่ 19 มีนาคม ตะวันตกขยายความขัดแย้งขึ้นอีก คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปออกแถลงการณ์สนับสนุนจุดยืนของอังกฤษที่กำลังอยู่ในกระบวนการเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรป

วันที่ 21 มีนาคม รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เรียกทูตที่ประจำในรัสเซียทั้งหมดมาชี้แจงกรณีสกรีปาล ด้วยถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาที่สุดต่อตะวันตกนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่ว่าไม่เกิดผลอะไร ตัวแทนจากฝรั่งเศส สวีเดนและสหรัฐ ประกาศในที่ประชุมว่าจะสนับสนุนเป็นเอกภาพเดียวกับอังกฤษ

หลังจากนั้นประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลียและองค์การนาโต้กว่า 20 ประเทศพากันขับทูตรัสเซียออกมากบ้างน้อยบ้าง

ที่มากที่สุดเป็นของสหรัฐรวม 60 คน

น้อยที่สุดเพียง 1 คน และมีบางประเทศในยุโรปที่ไม่ร่วมกับการเคลื่อนไหวนี้ ได้แก่ กรีซและออสเตรีย เป็นต้น

เมื่อสถานการณ์บานปลายไป รัสเซียไม่เพียงตอบโต้ด้วยการขับทูตประเทศคู่กรณีแบบ “มาไม้ไหน ไปไม้นั้น” และ “เป็นไรเป็นกัน” เท่านั้น

หากยังได้ทำการซ้อมรบและการทดสอบขีปนาวุธสำคัญสองครั้งติดกัน

ครั้งแรก เป็นการซ้อมความพร้อมรบของหน่วยขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์ของกองทัพบกทั้งสามหน่วย เพื่อความพร้อมรบทางสงครามนิวเคลียร์ มีทหารเข้าร่วมราว 10,000 คน และอาวุธ 1,000 ชิ้น

ต่อมาทางกองทัพเรือรัสเซียได้แจ้งไปยังรัฐบาลลัตเวีย ว่า จะซ้อมยิงขีปนาวุธในทะเลบอลติกระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2018 ซึ่งวิถีอาวุธจะผ่านเขตเศรษฐกิจของลัตเวียในระดับสูงมาก และยังถือว่าเป็นน่านน้ำสากล

สร้างความไม่พอใจแก่ลัตเวียเป็นอันมากที่อาจต้องยกเลิกการจราจรทางอากาศในช่วงเวลานั้น สวีเดนที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัสเซียก็พลอยผสมโรงโจมตีว่า รัสเซียทดลองขีปนาวุธครั้งนี้ใกล้กับดินแดนของสวีเดนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

อนึ่ง ในช่วงต้นเดือนเมษายน มีข่าวว่าเซร์เกและบุตรสาวฟื้นตัวพ้นขีดอันตรายมาได้ เรื่องก็ซับซ้อนไปอีก

การรวมตัวของสหภาพยุโรป-นาโต้ในการต่อต้านรัสเซีย มีด้านที่เพื่อแสดงความเข้มแข็ง ความเป็นปึกแผ่นของทั้งสององค์กร

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนความหวาดวิตกลึกๆ อยู่ เนื่องจากสหภาพยุโรปกำลังประสบวิกฤติใหญ่จากการที่อังกฤษขอออกจากกลุ่ม

และยังมีการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในอีกหลายประเทศ ที่แสดงความสงสัยในการดำรงอยู่ของสหภาพยุโรป

บ้างก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะออกจากสหภาพยุโรป พรรคการเมืองเหล่านี้เติบใหญ่ขึ้นทุกที สำหรับองค์การนาโต้นั้น ก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าจะตั้งอยู่เพื่ออะไร แม้แต่ตัวประธานาธิบดีทรัมป์ก็เคยหลุดปากออกมาเอง

ยุโรปจะไปทางไหน

ยุโรปตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงขณะนี้เป็นเวลาราว 70 ปี เป็นช่วงแห่งสันติภาพ แต่เป็นสันติภาพภายใต้ร่มเงาของสหรัฐ เป็นกรณีตัวอย่างของ “สันติภาพอเมริกัน” ที่สหรัฐตั้งฐานทัพใหญ่ที่เยอรมนี อิตาลีและอังกฤษ กางร่มคุ้มกันอาวุธนิวเคลียร์จากสหภาพโซเวียต

สหรัฐเองได้นำการเจรจาสันติภาพกับสหภาพโซเวียตกันหลายครั้ง เพื่อลดความตึงเครียด และแบ่งโลกกันปกครอง ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมของสหรัฐ ช่วยให้ยุโรปเสรีฟื้นตัวจากสงคราม และมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมขึ้นทุกที มาตรฐานการครองชีพของประชาชนสูงขึ้น กลับมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกครั้ง สามารถรวมตัวกันสร้างตลาดร่วมยุโรป (1957) สหภาพยุโรป (1992) และสามารถออกเงินสกุลยูโรของตน ที่ปัจจุบันมีการใช้มากเป็นที่สองรองจากเงินดอลลาร์สหรัฐ

แต่ยุโรปที่เข้มแข็งภายใต้ร่มเงาของสหรัฐมีจุดอ่อนที่สำคัญบางประการ

ข้อแรกก็คือ สหภาพยุโรปไม่สามารถมีนโยบายต่างประเทศและรวมทั้งด้านเศรษฐกิจที่เป็นอิสระจากสหรัฐ

ข้อต่อมาก็คือ ต้องพึ่งพาแสนยานุภาพของสหรัฐในการปกป้องดินแดนของตน

จากจุดอ่อนสองประการนี้ทำให้ยุโรปดูเหมือนเป็นเพียงบริวารของสหรัฐ เหมือนดาวเคราะห์ต้องโคจรไปตามดวงอาทิตย์

มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นที่ยุโรปตั้งแต่ปี 2010 ได้แก่ วิกฤติการเงินของภาครัฐบาลในหลายประเทศ มีกรีซ ไอร์แลนด์ ไซปรัส โปรตุเกสและสเปน เป็นต้น ทำให้ยุโรปได้รู้สึกว่าไม่สามารถจะพึ่งพาสหรัฐแบบเดิมอีกต่อไปได้ เพราะสหรัฐกลายเป็นต้นตอของปัญหาเสียเอง

เยอรมนีได้เขยิบฐานะขึ้นมาเป็นผู้นำในยุโรปและได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง

แต่ไม่ใช่สำหรับอังกฤษที่กระแสแยกตัวจากสหภาพยุโรปเข้มข้นขึ้น

พรรคที่มีนโยบายแยกตัวจากสหภาพยุโรปประสบความสำเร็จสูงในการเลือกตั้งปี 2014 กดดันให้มีการลงประชามติในปี 2016 ซึ่งผลปรากฏว่า ฝ่ายที่ต้องการแยกตัวได้รับชัยชนะอย่างหวุดหวิด

ในหลายประเทศของสหภาพยุโรปมีฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เป็นต้น ที่มีนโยบายทำนองเดียวกัน สหภาพยุโรปตกอยู่ในความระส่ำระสายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

สหรัฐเองก็มองไม่เห็นหัวยุโรป สร้างแรงกดดันต่อไปอีกด้วยการเรียกร้องให้ยุโรปแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทางทหารในการจัดระเบียบโลกและรักษาสันติภาพอเมริกัน

เยอรมนีที่มีค่าใช้จ่ายทางทหารค่อนข้างต่ำ มีความไม่พร้อมรบในหลายด้าน

ความคิดที่จะสร้างกองทัพของสหภาพยุโรปโดยไม่ต้องพึ่งสหรัฐทำไม่ได้ง่าย และอาจทำไม่สำเร็จเลยก็ได้ โดยเฉพาะในการต้านทานแสนยานุภาพของรัสเซีย

ยุโรปขณะนี้จึงอยู่ที่ทางหลายแพร่ง ซึ่งทางที่น่าจะเป็นไปได้มาก เป็นด้านของความเสื่อมทรุด

เช่น การแตกของสหภาพยุโรป กลับไปสู่ฐานะการเป็นตลาดร่วมยุโรป รักษาความเป็นหนึ่งทางเศรษฐกิจอย่างหลวมๆ

ขณะที่เปิดให้ประเทศต่างๆ มีอิสระในการดำเนินนโยบายของตน ได้แก่ นโยบายผู้ลี้ภัย นโยบายเศรษฐกิจ และการรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมไว้อย่างเดิม

ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ยุโรปจะแกว่งไปมาระหว่างสองศูนย์อำนาจ คือสหรัฐฝ่ายหนึ่ง และแกนจีน-รัสเซียอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทั้งสองศูนย์นี้ก็ไม่ได้ให้ราคาแก่ยุโรปมากนัก เนื่องจากความหลากหลายแตกแยกที่มากเกินควบคุม ยุโรปมีปัญหาเฉพาะหน้าในการรักษาสันติภาพบนดินแดนของตนไว้ไม่ให้เป็นจุดระเบิดของสงครามใหญ่อย่างที่เคยเกิดมาแล้วสองครั้งในศตวรรษที่ 20

การที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปร่วมกันสำแดงกำลังขับทูตรัสเซียออก ไม่ได้ทำให้ตนเข้มแข็งขึ้นมา ไม่แม้แต่จะทำให้อุ่นใจขึ้น เป็นเกมที่ต้องทำไป ไม่ได้ทำให้จีนและรัสเซียรู้สึกประทับใจอะไร

ในสถานการณ์ปัจจุบัน สงครามหลายรูปแบบระหว่างสหรัฐและพันธมิตรกับแกนจีน-รัสเซียเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นเหลืออยู่ว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถควบคุมระดับความเข้มข้นของสงครามไม่ให้ลุกลามบานปลายเป็นสงครามใหญ่ได้หรือไม่เท่านั้น

หวังในด้านดีว่า ยุโรปที่ได้ผ่านสงครามมานับครั้งไม่ถ้วนจะได้เห็นภัยของมัน และแสดงบทบาทของผู้รักษาสันติภาพในยามหน้าสิ่วหน้าขวานนี้