เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์/สามเณรปลูกปัญญาธรรม ปี 7

วัชระ แวววุฒินันท์
ขอบคุณภาพจากทรูไอดี

เครื่องเคียงข้างจอ
วัชระ แวววุฒินันท์

สามเณรปลูกปัญญาธรรม ปี 7

ในขณะที่เรามีคำถามมากมายถึง “สังคมไทย” ทุกวันนี้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมวิธีคิด การกระทำที่ควรจะมีตรรกะของความถูกต้องเหมาะสมอย่างง่ายๆ กลับเปลี่ยนไป
เรื่องที่ดูเหมือนจะเข้าใจง่ายๆ ว่า “ทำไม่ได้” หรือ “ไม่ควรจะทำ” กลับมีคนลุกขึ้นมาทำโดยไม่ได้รู้สึกสำนึกใดๆ อย่างง่ายดาย เช่น
การทิ้งขยะในที่สาธารณะ การแซงคิว การโมโหโกรธาอย่างใหญ่หลวงกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องการโกงได้เสมอแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ…กูก็จะโกง
ไม่รวมไปถึงการปรากฏเป็นข่าวอยู่ทุกวี่วัน เช่น รุมทำร้ายคนแก่ กระโดดเตะเด็กน้อย ขับรถขวางทางรถฉุกเฉิน หรือแทงกันง่ายๆ ด้วยสาเหตุจิ๊บจ๊อยเหลือเกิน
ในสื่อโซเชียลมีเดีย มักจะมีการพาดหัวข้อที่ว่า “ทำอย่างนี้ก็ได้เหรอ?” อยู่บ่อยครั้ง อย่างน้อยใน 1 วันที่เปิดท่องโลกออนไลน์ จะต้องมีเรื่องทำนองนี้ให้ได้เห็นเสมอ
อะไรที่ทำให้จิตสำนึกขั้นพื้นฐานของสังคมไทยตกต่ำลงเพียงนี้
อะไรที่ทำให้มาตรฐานความถูกผิด จริยธรรมของสังคมบิดเบี้ยวไปอย่างน่าใจหาย
และเราจะแก้ยังไง?
หลายคนชี้ว่า พวกแก่ๆ ไม่ต้องไปแก้แล้ว…แก้ยาก ควรหันไปให้ความสำคัญกับเด็กๆ ดีกว่า เพื่อที่จะได้ไม่โตมาแบบผิดๆ บิดๆ เบี้ยวๆ อย่างที่ว่า
และเครื่องมือที่จะใช้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวไม่ให้หลงผิดที่ดีที่สุดก็คือ “พุทธศาสนา”

“สามเณรปลูกปัญญาธรรม” รายการที่เปรียบเสมือนห้องเรียนธรรมะถ่ายทอดสดแห่งแรกของไทย คือ หนึ่งในกระบวนการที่นำเอา “ศาสนา” มาใกล้ชิดกับ “เด็ก” ได้อย่างแนบเนียนและมีเสน่ห์ชวนดู
หลายคนคงทราบดีว่า “สามเณรปลูกปัญญาธรรม” จัดต่อเนื่องมาแล้วหลายปี แต่ละปีก็มีเนื้อหาและรายละเอียดแตกต่างกันไป
ปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว และเป็นครั้งแรกที่เหล่าสามเณรจะสัญจรไปยังถิ่นอีสานบ้านเฮา โดย 2 ปีแรกอยู่ในกรุงเทพฯ 2 ปีถัดมาไปท่องเมืองเหนือ 2 ปีถัดมาจำวัดกันที่ภาคกลาง
และในปีที่ 7 นี้ ก็พาองคาพยพไปที่ จ.อุบลราชธานี จังหวัดสำคัญในภาคอีสานตอนล่าง
ครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่ วัดที่เหล่าสามเณรจะบวชและศึกษาธรรมะ คือ “วัดป่าไทรงาม” ซึ่งถือเป็นวัดสาขาที่ 10 ของวัดหนองป่าพง ตั้งอยู่ที่ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี โดยมีเจ้าอาวาสคือ พระครูนิโครธธรรมาภรณ์ ซึ่งเป็นวัดป่าที่ได้รับความศรัทธานับถือจากพุทธศาสนิกชนอย่างมากในความเคร่งครัด และวัตรปฏิบัติที่เป็นธรรมชาติ
เป็นครั้งแรกที่ห้องเรียนธรรมะนี้ได้มาสัมผัสวิถีธรรมตามแนว “สายวัดป่า” ที่มีความเป็นธรรมชาติสอดคล้องไปกับธรรมะ
เป็นการเรียนรู้ตนเองแบบธรรมชาติท่ามกลางบรรยากาศของธรรมชาติและวิถีชุมชนท้องถิ่นโดยแท้จริง

สําหรับสามเณรในปีนี้มีด้วยกัน 12 คน คัดเลือกจากผู้สมัครหลายพันคน คัดมาจนได้ 12 เณรน้อยเหล่านี้ ที่มาจากพื้นถิ่นต่างๆ ของประเทศ มาจากภาคเหนือ คือ จ.เชียงราย 1 คน มาจากภาคใต้คือ จ.สุราษฎร์ธานี 2 คน และ จ.นครศรีธรรมราช 1 คน มาจากภาคกลางคือ จ.สมุทรปราการ 2 คน จ.ปทุมธานี 1 คน มาจาก กทม. 2 คน และมาจากภาคอีสาน 3 คน จากยโสธร 1 คน และจากอุบลราชธานี จังหวัดเจ้าภาพเอง 2 คน
ทั้ง 12 คนนี้มีอายุระหว่าง 7-10 ปี นับว่ายังเด็กมาก สามเณรรูปเล็กๆ ที่ดูจะเป็นขวัญใจผู้ชมสักหน่อยก็จะมี สามเณรเร็น สามเณรข้าวปั้น ส่วนที่เป็นพี่ใหญ่คอยดูแลน้องๆ ก็อย่างสามเณรบอล สามเณรวิน สามเณรนิว
และเมื่อเป็นเด็กผู้ชายด้วยแล้วก็ย่อมจะต้องซุกซน ช่างเล่น ยุกยิกกันเป็นปกตินิสัย ยิ่งพอมารวมตัวอยู่ด้วยกันเป็นเดือนอย่างนี้ เราคงนึกภาพของฝูงลิงย่อมๆ ได้เลยทีเดียว
ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาก็จะเป็นเช่นนี้ คือ เริ่มต้นด้วยฝูงลิง และปิดท้ายด้วยหมู่สามเณรที่ได้รับการขัดเกลาในทางธรรมเพื่อให้เมื่อสึกออกไปแล้วก็จะยังมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่แข็งแรง
เมื่อถามถึงวัตถุประสงค์ที่น้องๆ มาบวชในโครงการนี้ ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าบวชเพื่อให้พ่อกับแม่ และบางคนก็มีรายละเอียดไปว่าเพื่อเป็นการทำบุญให้พ่อที่อยู่บนสวรรค์
บางคนก็ให้รายละเอียดเกี่ยวกับตนเองว่า “เป็นคนซน มาบวชเพื่ออยากฝึกตนเองให้ซนน้อยลง”
บางคนบอกว่าได้ติดตามดูรายการนี้มาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ พออายุเข้าเกณฑ์คือ 7 ขวบปั๊บก็ขอพ่อกับแม่บวชทันที

สําหรับ Theme ของการเรียนในปีนี้ของ 12 สามเณรคือ “รัก-เรียน-เพียร-ให้” ภายใต้แนวคิดหลักที่ใช้เป็นร่มสำหรับทุกๆ ปีว่า “ความรักจักรวาล” อันเป็นแนวคิดที่มาจากคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้น
ซึ่งตอนที่มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ตีพิมพ์ ก็เป็นช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 แล้ว คือ สัปดาห์แห่งการ “เรียน” ดูว่าสามเณรทั้ง 12 ต้องเรียนรู้อะไรในทางพุทธศาสนาบ้าง
ท่านใดที่เคยชมรายการนี้มาตลอดคงนึกออกถึงเสน่ห์ที่ชวนติดตามว่า อยู่ที่การตามดูว่าสามเณรแต่ละรูปจะมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร เพราะต้องนั่งนิ่งๆ เพื่อทำสมาธิในขณะที่ยังเกานั่นเกานี่ ต้องทำสงบเพื่อฟังพระอาจารย์สอนในขณะที่อยากออกไปวิ่งไล่จับกระรอก หรือแม้แต่ต้องงดอาหารเย็นทั้งๆ ที่ตอนอยู่บ้านได้กินจนพุงกาง
บางคนไม่เคยหยิบจับทำอะไรเลยที่บ้าน เพราะมีคนทำให้หมด แต่เมื่อมาอยู่ที่วัดต้องช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง โดยเฉพาะตามวิถีของวัดป่าแล้ว พระและสามเณรจะต้องทำความสะอาดที่อยู่ ที่เรียน ที่สวดมนต์เอง น้องสามเณรที่ไม่เคยหยิบไม้กวาดกวาดห้องตัวเอง ก็จะได้ฝึกหัดกันคราวนี้
บางรูป ไม่เคยตื่นนอนเช้าก็ต้องตื่น ไหนจะต้องอุ้มบาตรหนักๆ เดินเท้าเปล่าเพื่อออกบิณฑบาต ไหนจะต้องต่อสู้กับความกลัวผีในยามค่ำคืน ยิ่งที่วัดป่าไทรงามนี้ แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ชวนให้เด็กๆ จินตนาการไปต่างๆ นานาได้ง่ายดายด้วย
และที่สำคัญต้องสู้รบกับความคิดถึงพ่อแม่ที่อยู่ไกลออกไปเป็นเวลาร่วมเดือน

แต่จาก 6 ปีที่ทำมา ทุกเณรทำได้ สอบผ่าน และนั่นเท่ากับได้เปลี่ยนชีวิตของเณรไปในทางที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ รายการได้ติดตามอดีตสามเณรที่เคยร่วมโครงการตั้งแต่ปีแรกเรื่อยมา ก็พบว่าทุกคนสามารถประคองชีวิตไปได้ด้วยดี
คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็พลอยดีใจที่ลูกเปลี่ยนไปในทางที่ดี
ครูและเพื่อนที่โรงเรียนก็ยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวของอดีตสามเณรเหล่านี้
นั่นก็เพราะพวกเขาได้มี “หลักธรรม” เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจนั่นเอง
หากท่านใดสนใจติดตามชมแบบใกล้ชิดตลอด 24 ช.ม. ก็สามารถดูได้ทางทรูวิชั่นส์ ช่อง 60, 99, HD 119, HD 333 เรียกว่าเปิดแช่ดูได้ทั้งวัน
งานนี้ เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในฐานะผู้ร่วมสร้างสรรค์และผลิตรายการมาตั้งแต่ปีที่ 1 จนถึงปีที่ 7 นี้แล้ว เป็นความภูมิใจที่ได้มีส่วนสร้างสรรค์สิ่งดีดีให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะกับเด็กที่เป็นอนาคตของประเทศ
มาร่วมให้กำลังใจกับ 12 สามเณรกันนะครับ เหมือนได้ศึกษาธรรมะไปในตัวไปพร้อมๆ กับได้ชื่นชมความน่ารักบริสุทธิ์ของ “สามเณรปลูกปัญญาธรรม” กันด้วย…สาธุ