กมล ทัศนาญชลี “ศิลปินแห่งชาติ”สาขาทัศนศิลป์ ในวันสูงวัย ไม่รู้จักคำว่า “เหน็ดเหนื่อย”? (2)

ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ จึงยกเลิกเที่ยวบินสู่มหานครนิวยอร์ก (New York) ฝั่งตะวันออก ไปพร้อมๆ กับฝั่งตะวันตกอย่างลอสแองเจลิส (Los Angeles) เมืองที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากกว่าเมืองอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา

image1-1

กมล ทัศนาญชลี (ศิลปินสองซีกโลก) ก็ลงหลักปักฐานอยู่เมืองนี้เช่นเดียวกัน รวมทั้งใช้บ้านพักส่วนตัวเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานต่างๆ ด้านการแลกเปลี่ยน “ศิลปินร่วมสมัย” ของ “ไทย-สหรัฐ” ตลอดจนเป็นสถานที่พักพิงของเหล่าศิลปิน ครูผู้สอนศิลปะ และนักศึกษาศิลปะทั้งหลายทั้งมวลจากประเทศไทย ซึ่งเดินทางไปศึกษาดูงานตามโครงการของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งกมลเป็นหัวเรือใหญ่กับโครงการเหล่านี้

อันที่จริงบ้านพักของ กมล ทัศนาญชลี ในสหรัฐอเมริกาเปิดกว้างต้อนรับคนไทยทุกผู้ทุกนามมานานกว่า 30 ปีแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าศิลปินทั้งหลายซึ่งไม่จำกัดอยู่เฉพาะเพียงคนเขียนรูป ประติมากร ภาพพิมพ์เพียงเท่านั้น ศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ไม่ว่าจะเป็น สุเทพ วงศ์กำแหง (ครู) ชาลี อินทรวิจิตร ฯลฯ และใครต่อใครไม่เว้นแม้แต่กวีรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ล้วนเคยเดินทางไปเยือน กินอยู่พักพิงแบบเป็นกันเองมาแล้วแทบทั้งนั้น

ตั้งแต่บ้านหลังเก่าเชิง เบเวอรี่ ฮิลล์ส (West Hollywood, Beverly Hills) จนกระทั่ง นอร์ธ ฮอลลีวู้ด (North Hollywood) ปัจจุบัน

เมื่อ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติของประเทศเรายกเลิกเส้นทางดังกล่าว กมล ซึ่งเดินทางไปกลับสหรัฐ-ไทย-สหรัฐ ปีละนับครั้งไม่ถ้วนด้วยกิจกรรมเรื่องราวของศิลปะทั้งสิ้นก็ได้รับผลกระทบมากพอสมควรทีเดียว

โดยเขาต้องใช้สายการบินอื่นๆ ซึ่งเดินทางเข้าสู่สหรัฐ แต่ก็ต้องแวะเวียนไปยังประเทศของเจ้าของสายการบินนั้นๆ แล้วแต่เส้นทางการบินของแต่ละแอร์ไลน์ เอาเป็นว่าต้องเสียเวลายาวนานมากขึ้นไปอีก

หลังจากที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ “เมื่อปี พ.ศ.2540 แล้ว เขามีรับภาระต้องเดินทางไปกลับสหรัฐ-ไทย-สหรัฐ ปีละหลายๆ ครั้งดังที่กล่าวเพื่อช่วยสานต่อโครงการต่างๆ ของกระทรวงวัฒนธรรม ในประเทศไทย เช่น โครงการศิลปินแห่งชาติสัญจร+ศิลปินแห่งชาติวาดฟ้าฟื้น+เปลวศิลปินแห่งชาติ+ครูแผ่นดินศิลปินแห่งชาติแห่งชาติ และศิลปินแห่งชาติ กับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน อย่างเช่น ลาว กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย

การเดินทางมาประเทศไทยทุกครั้งไม่ได้เคยหยุดนิ่งอยู่กับโครงการต่างๆ ที่กล่าวมานี้เท่านั้น เขายังเจียดเวลาไปทำงานศิลปะ (Work Shop) ในโครงการของหลายมหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนการสอนศิลปะเกือบทั่วประเทศไทย ตามคำเชิญของอาจารย์ผู้สอนศิลปะในสถานศึกษาศิลปะนั้นๆ ซึ่งคุ้นเคยกันมาแล้วเป็นอย่างดี เนื่องจากส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เคยได้เดินทางไปศึกษาดูงานในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเขาเป็นผู้ติดต่อประสานงานสถานศิลปะ มิวเซียม อาร์ต ในสหรัฐ เป็นไกด์ ฯลฯ ในนามของกระทรวงวัฒนธรรม

เขาใช้บ้านพักของครอบครัว รวมทั้งแม่บ้าน คือ คุณนวลศรี ทัศนาญชลี คู่ชีวิตที่รับบทบาทเป็นแม่ครัวตลอดชีพในการจัดหาอาหารให้กับคณะซึ่งไปเยือนทุกครั้งมาแล้วนานปี กระทั่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีสำหรับกลุ่มศิลปินน้อยใหญ่ รวมถึงนักเดินทางจากประเทศไทย ที่ไปพักยังบ้านของเขา

fullsizerender

กมลใช้เวลาที่เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อสร้าง “ประติมากรรม” ขนาดใหญ่ตามสถานศึกษา และสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วทุกภาคของบ้านเรามาแล้วถึงกว่า 20 ชิ้น

เช่น ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ สร้างที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคใต้ทั้งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์ประชุมนานาชาติ จังหวัดสงขลา, ประติมากรรม สึนามิ (Tsunami) จังหวัดกระบี่

ภาคอีสาน ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โอกาสครบรอบ 50 ปี, หน้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ซึ่งดูเหมือนจะผ่านมา 20 ปีแล้ว สำหรับภาคกลาง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครนายก ปทุมธานี นครปฐม และ ฯลฯ ประติมากรรมที่เขาสร้างนั้นมีขนาดค่อนข้างใหญ่ บางแห่งสูงถึง 20 เมตร โดยใช้วัสดุทั้งเหล็ก ไม้ ซีเมนต์ และสแตนเลส (Stainless Steel)

image3

ก่อนหน้านี้สัก 20 ปีทุกครั้งที่เขาเดินทางกลับมายังเมืองไทย จะต้องเตรียมหาคนไปรับเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ศิลปินซึ่งเสียสละความสุขของชีวิตส่วนตัว อุทิศเวลาทั้งหมดทำงานให้แก่วงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติท่านนี้ ยัง “สนามบินดอนเมือง” ทุกครั้งไม่เคยขาดหาย เอาเป็นว่าตั้งแต่สมัยที่ “สนามบินสุวรรณภูมิ” ยังไม่เสร็จเรียบร้อยเปิดให้บริการ จนกระทั่งถึงวันอันแน่นขนัดเต็มไปหมดจนต้องเร่งรีบขยายเพื่อรองรับให้ทันต่อการเติบโตของการคมนาคมทางอากาศในภูมิภาคนี้

หลังปี พ.ศ.2540 หลังกมลได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” พร้อมทั้งการทำงานหนักไม่มีวันหยุดมาอย่างต่อเนื่อง ความเสียสละทุกสิ่งอย่างที่เขาสร้างไว้ด้วยความจริงใจก็ตอบสนองเขา ทุกครั้งที่เขาเดินทางถึงประเทศไทยก็จะมีผู้ให้การต้อนรับ และบริการทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่พัก

ซึ่งอันที่จริงเขาก็มีบ้านสวนซึ่งกลายเป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารสูงเพื่อการอยู่อาศัยไปนานแล้ว แต่ก็ยังสามารถใช้พักพิงได้ แต่เขากลับไม่ค่อยจะได้เข้ามาพักนอกจากใช้เป็นสถานที่เก็บผลงานศิลปะจำนวนมาก

image2-1

การได้พบเจอกันย่อมเหินห่างไปบ้าง ประกอบกับการเดินทางของตัวเลขอายุที่เพิ่มพูนขึ้น การจราจรที่แน่นขนัดในกรุงเทพฯ ทำให้การเคลื่อนไหว การเดินทางออกจากบ้านจึงเชื่องช้าลง ในขณะที่กมลในวัยที่ไม่แตกต่างกันกลับยังแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก ไม่เคยหยุดนิ่งในกิจกรรมของศิลปะ ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งในแวดวงสังคมซึ่งมีน้ำใจในการตอบแทนเขา ในขณะที่เขายังทำงานอย่างหนักจนไม่มีเวลาหยุดจนดูเหมือนเขาไม่เคยเหน็ดเหนื่อยเลย

เกริ่นไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะนำผลงาน “ประติมากรรม” ซึ่งเขาได้สร้างไว้ทั่วทุกภาคของประเทศมาลงตีพิมพ์ ก็ต้องมาขอพื้นที่ในฉบับนี้ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนกมลยังทำกิจกรรมอยู่ในประเทศไทย

แต่ขณะที่นิตยสารออกสู่แผงหนังสือ ศิลปินคนขยันผู้แข็งแกร่งท่านนี้ได้เดินทางกลับไปยังลอสแองเจลิส (Los Angeles) เพื่อพาคณะครูศิลป์ 12 คนที่คัดจากทั่วประเทศไทย ไปศึกษาดูงาน

ขณะเดียวกันก็มีนิทรรศการศิลปะ ณ ห้องแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ของสถานกงสุลไทยในนครลอสแองเจลิส (Los Angeles, U.S.A) โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และกงสุลใหญ่ เป็นประธานเปิดนิทรรศการ

เพราะการเสียสละเพื่อวงการศิลปะทำงานอย่างหนักแบบต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ผลงานปรากฏในประเทศไทยนั้นมากมายเกินกว่าจะนำมากล่าวได้หมด จนกระทั่งมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศเราไม่ลังเลที่จะมอบ “ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์” แก่ “กมล ทัศนาญชลี” ถึง 10 ใบตลอดเวลากว่า 10 ปีมานี้ โดยเพิ่งได้รับใบที่ 9 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา เป็นใบที่ 10

กมล ทัศนาญชลี มีผลงานมากมาย พร้อมกับการเสียสละทำงานอย่างหนักเพื่อวงการศิลปะ คงต้องติดตามกันต่อไปอีก