เรื่องของโลกโลกย์ ว่าด้วย สะอาด สงบ สว่าง ที่เรียกว่า “สาม ส.”

การทำความเข้าใจในเรื่องของว่าง ในเรื่องความว่าง เหมือนกับเป็นเรื่องง่าย แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากในการทำความเข้าใจ

เข้าใจยากเพราะที่ชี้ว่า “ว่าง” ในสายตาที่เห็นเป็น “ตัวตน”

เข้าใจยากเพราะที่สรุปว่า “ไม่มี” ในสายตาที่เห็นเป็น “มี” และวางแบอยู่เบื้องหน้า เห็นได้สัมผัสได้ รู้สึกได้

ตรงนี้คือ ความยาก คือ ความลำบาก

เพราะที่ว่าเป็นของว่าง เป็นสิ่งที่ไม่มี เนื่องจากมองเห็นอย่างลึกซึ้งในความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน

สะท้อนลักษณะอันท่านพุทธทาสเรียกว่า “ไหลเรื่อย”

ความละเอียดอ่อนตรงนี้แหล่ะที่ท่านพุทธทาสเน้นย้ำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในสภาวะแห่งความว่างของโลก

ธัมมนิพนธ์ตอนนี้เหมือนกับเป็นการทบทวน

แต่เป็นการทบทวนอย่างลึกซึ้งในเชิงนามธรรม ในทางความคิด และก็พยายามปรับประสานกับรูปธรรมที่ดำรงอยู่

ต้องอ่าน

โลกนี้เป็นของว่างอยู่ตามธรรมชาติ โลกนี้ คือ สารพัดสิ่งอะไรทั้งหมดที่มนุษย์รู้จัก รวมทั้งตัวมนุษย์เองเรียกว่าโลก การงานและผลของการงานก็รวมอยู่ในคำว่า โลก

โลกนี้เป็นของว่าง ว่างเพราะเหตุไร ทำไมจึงเรียกว่าว่าง

ก็เพราะมันไม่มีอะไรในนั้นที่ควรจะถือว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของตน มันเป็นเรื่องไหลเรื่อย ปรุงแต่งเรื่อย เป็นเหตุปัจจัยเท่านั้น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างเดียว

ไหลเรื่อยอย่างนี้ ไม่มีตัวตนที่ไหนอย่างนี้ จึงเรียกว่าโลกนี้ว่าง

ตัวบทของมันว่า ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน ว่างจากสิ่งที่ควรจะถือว่าเป็นตัวตน ว่างจากสิ่งที่ควรจะถือว่าเป็นของตน

นี่คือว่าง

ทีนี้เมื่อจิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลก บางส่วนของโลกถูกอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกกับอีกส่วนหนึ่งของโลกมากระทบกันเอง

ส่วนหนึ่งของโลกคือ จิตหรือร่างกายเรานี้

อีกส่วนหนึ่งของโลก คือ รูป เสียง กลิ่น รส ฯลฯ มากระทบกันเข้าแล้ว

มันก็เหมือนกับลมกระทบผิวน้ำที่เรียบเหมือนกระจกให้เกิดเป็นคลื่นเป็นลอนขึ้นมาในลักษณะต่างๆ กัน

บางทีก็เป็นไปในรูปที่เรียกว่าราคะ บางทีก็เป็นไปในรูปที่เรียกว่าโทสะ บางทีก็เป็นไปในรูปที่เรียกว่า โมหะ

นี่เรียกว่าสูญเสียความว่าง สูญเสียความปกติ สูญเสียภาวะเดิมเสียแล้ว กลายเป็นภาวะใหม่เสียแล้วชั่วคราว

ชั่วขณะ

ถ้าเป็นราคะก็ร้อนอย่างเป็นราคะ ถ้าเป็นโทสะก็ร้อนอย่างโทสะ ถ้าเป็นโมหะก็ร้อนอย่างโมหะ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นไฟทั้งนั้นจนกว่ามันจะสงบไปในตัวมันเอง

แต่ทีนี้มันทนไม่ไหว กว่าจะสงบไปในตัวมันเองเราก็แย่แล้วเพราะมันมาใหม่เรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด

ให้ไปดูทะเลลมก็พัดมาเรื่อย คลื่นก็เกิดเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าในจิตเป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ ก็คือตกนรกทั้งเป็นตลอดเวลา ต้องหาวิธีทำให้จิตว่างอยู่ตามเดิม สู่สภาพเดิม

คือให้จิตฉลาดขึ้นมาตามเดิมว่า โลกนี้เป็นของว่าง ไม่ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตนหรือของตน ราคะ โทสะ โมหะ ที่กำลังเกิดอยู่ก็ดับวูบไปทันที

ถ้ามีสติพอ มันไม่มีทางจะเกิดใหม่

เราก็สบาย ได้รับสิ่งที่เรียกว่า บริสุทธิ์สะอาดที่สุด สว่างไสว แจ่มแจ้งที่สุด สงบเยือกเย็นที่สุดที่เรียกว่า “สาม ส.” อาตมาใช้คำสั้นๆ ให้จำง่ายๆ ว่า “สาม ส.”

ส.หนึ่ง คือสะอาด ส.หนึ่ง คือสว่าง ส.หนึ่ง คือสงบ

ขณะใดมี 3 ส. ในจิตใจ ขณะนั้นสบายที่สุด เป็นยอดสุดของความสุข เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้

จากที่อ่านที่ศึกษาภายในกระบวนการแห่งธัมมวิจัยในเรื่องความว่าง ในเรื่องจิตว่าง เป็นลำดับมาอย่างน้อยก็ค้นพบเป้าหมายอย่างที่เป็นเรื่องโลก-โลก

นั่นก็คือ โลกแห่งความสุข

ปมเงื่อม 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ หากไม่เรียนรู้ความทุกข์ก็ยากอย่างที่จะรับรู้ได้ว่าที่เรียกว่าสุขนั้นเป็นอย่างไร

ทุกข์ สุข จึงดำเนินไปอย่างเป็นคู่เปรียบเทียบ

เปรียบเทียบเหมือนดำกับขาว เปรียบเทียบเหมือนมืดกับสว่าง เป็นคู่ตรงกันข้ามแต่ก็ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกภาพ

เรียกได้ว่าเป็นเอกภาพของด้านตรงกันข้าม

ระหว่างไม่ว่างกับว่าง ระหว่างทุกข์กับสุข