ทางเดินผู้กล้า : โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
——————-
ทางเดินผู้กล้า
——————

เดือนหน้า , 22 พฤษภาคม
การยึดอำนาจ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะย่างเข้าปีที่ 4
มีตลกร้ายการเมือง อยู่หลายเรื่อง
เรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับตระกูลสะสมทรัพย์
ด้วยใน 4 ปีแห่งการยึดอำนาจนั้นนั้น นายไชยา สะสมทรัพย์ ถูกค้นบ้านเอิกเกริก มาแล้วถึง 2 ครั้ง(29พฤษภาคม 2558 และ 3 พฤษภาคม 2559)
เท่ากับว่า ในสายตา คสช. บ้านสะสมทรัพย์ ที่จ.นครปฐม เป็นผู้มีอิทธิพล
ซึ่งแตกต่างจากตอนนี้ นอกจากแห่ไปตีกอล์ฟถ่ายรูป ปล่อยหลุดโชว์ทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว
ตระกูลสะสมทรัพย์ยังเป็นเป้าหมาย “ดูด”เข้าเป็นพวก แข่งกับพรรคเพื่อไทยอย่างเข้มข้น
จะมองขำ ก็ขำ
จะมองให้ขื่น ก็ ขื่น
ภาวะผกผันเช่นนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
อย่างกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นอีกความผกผัน
เพียงแต่ตรงกันข้ามกับตระกูลสะสมทรัพย์
นายอภิสิทธิ์นั่นเริ่มต้น ก็ “ดูดดื่ม”กับคสช.
แต่พอเสียงปีเสียงกลองเลือกตั้งดังขึ้น
จะทำตัวเป็นเด็กบนตัก”ทหาร”ก็อาจเสียแต้ม
จึงเริ่มมีระยะห่างจากคณะรัฐประหาร
กระทั่งถึงขนาดประกาศ “ใครหนุนพล.อ.ประยุทธ์”ไปที่อื่น
สัมพันธภาพเปลี่ยนไป
นายอภิสิทธ์ นำพรรคประชาธิปัตย์ ชูธง 2ผืน ไม่เอาทักษิณ-ไม่เอานายกฯคนนอก
และพัฒนามาเป็น สโลแกน 72 ปี พรรคประชาธิปัตย์
” ยืนหยัด ปกป้อง
ประชาธิปไตย
ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ”
แม้จะมีเสียงวู จากลูกทักษิณ นายพานทองแท้ ชินวัตร ว่า ช่างกล้า
เพราะพฤติกรรมไม่ได้เป็นเช่นนั้น
แต่นายอภิสิทธิ์ ก็ไม่สน แถมในช่วงก่อนและหลังสงกรานต์ “โชว์” กล้าเพิ่มขึ้นอีก
ด้วยการถล่ม คสช. หนัก
ทั้งพฤติกรรม “ดูด”แบบเก่าๆ
แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลว เงินล้านล้านบาทไม่ถึงมือคนยากจน
แม้แต่เงิน 7 ล้านบาท ทำ”ไลน์”ประชาสัมพันธ์ ก็สูญเปล่า
เราได้ยินวาทะผู้กล้า เช่น
” ที่ผ่านมาผมฐานะนักการเมืองเก่า พรรคการเมืองเก่า ถูกประณามจากผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
แต่วันนี้ขอให้ดูพฤติกรรมตัวท่านเองว่าเป็นเหมือนนักการเมืองเก่าหรือไม่
ทั้งการทำงานแบบหลีกเลี่ยงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
แม้จะไม่ใช่การทำผิดตามตัวอักษร แต่เขาเอาผลประโยชน์ต่อรองทางการเมือง
ดังนั้นต่อไปเขาไม่มีสิทธิที่จะพูดถึงการปฏิรูปการเมืองหรือความมีธรรมาภิบาลอีกต่อไป”
หรือ
“ที่(นักการเมือง)วิ่งเข้าหาศูนย์อำนาจ เพราะมีผลประโยชน์ส่วนตัว หรือทางธุรกิจ
โดยสิ่งที่ทำให้เห็นเชิงประจักษ์คือ การใช้อำนาจโดยไม่ชอบ และการทุจริต
สำหรับผม ฐานะเป็นนักการเมืองอาชีพ และโตมากับพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน ไม่นิยมทำแบบนั้น
และผมเชื่อว่าการทำงานที่มีสังกัด มีจุดยืนชัดเจน ไม่ต้องวิ่งเพื่อให้ตนเองมีอำนาจตลอดเวลา คือแนวทางที่ยั่งยืนกว่าสำหรับประเทศไทยและการเมืองไทย”
ดุเดือดยิ่ง
ทำให้ต้องประเมิน นายอภิสิทธิ์ เพิ่มเติมอีกเล็กน้อย
คือ
1)ยึดจุดยืน ชน”ทักษิณ-ประยุทธ์”เต็มที่ เพื่อย้ำการ”ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ”
2)ถ้าชนะเลือกตั้ง ก็ขึ้นนายกฯอย่างผ่าเผย
3)ถ้าแพ้(ไม่ได้เสียงข้างมาก) ก็ไปเป็นฝ่ายค้าน
4)หรือที่มีแนวโน้มสูง คือ ยอมแพ้คนเดียว ด้วยการแสดงรับผิดชอบลาออกจากหัวหน้าพรรค
5)ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะตัดสินใจเลือกข้างไหน ก็เป็นมติพรรค
6)ถ้าเข้าร่วมรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ก็คงไม่รับตำแหน่งใดๆเพราะเป็นนายกฯมาแล้ว
7)ส่วนพรรคจะให้เกียรติ ต่อรองมอบตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏรให้ ก็ไม่รังเกียจ
ทางเดินที่ไม่เสียอะไรเช่นนี้
จึงเหมาะสมกับผู้กล้าจะก้าวเดิน!?!
——————