“อาชีพ” โสเภณี?

มีคำกล่าวเอาไว้ว่า โสเภณีคือ “อาชีพ” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

บางคนถึงกับอนุมานเอาว่า โสเภณีมีอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก

กระนั้นทั้งโลกก็มีเพียง 70 ประเทศเท่านั้นมีกฎหมายบัญญัติให้การประกอบกิจการให้บริการทางเพศเป็น “อาชีพ” ที่ถูกต้อง เอื้อให้มี “อุตสาหกรรมทางเพศ” อย่างเปิดเผย อาทิ ออสเตรเลีย และเยอรมนี

ประเทศที่กำหนดให้โสเภณีเป็นอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมมีเหตุผลของตนเอง ส่วนประเทศที่ห้ามก็ใช่ว่าจะไม่มีเหตุผลเช่นกัน

ในเวียดนามเอง ทั้งๆ ที่โสเภณีถือเป็นกิจกรรมผิดกฎหมาย แต่ทุกคนก็ยังพบเห็นโสเภณีได้ทั่วไป โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหรือเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ

 

งานศึกษาวิจัยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) แสดงว่า เวียดนามมีโสเภณีอยู่มากถึง 101,300 คน 72,000 คนในจำนวนนั้นเป็นสตรี

ผู้ให้บริการทางเพศเป็นเรือนแสนนี้ถูกไอแอลโอระบุว่า เป็นกลุ่มคนที่เปราะบางมากที่สุดของประเทศ ต้องเผชิญกับทั้งตำรวจ และหวั่นกลัวต่อการกระทำรุนแรงอยู่ตลอดเวลา

แต่ละคนต้องทำงานระหว่าง 10-12 ชั่วโมงทุกวัน ผู้หญิงต้องให้บริการลูกค้าเฉลี่ยแล้ววันละ 10 คน แต่บางครั้งจำเป็นต้อง “รับแขก” มากถึง 30 คนก็มี

ส่วนผู้ชายเฉลี่ยแล้วต้องต้อนรับลูกค้า 3-10 รายต่อวัน

ไอแอลโอบอกว่า แม้แต่ “คนคุมซ่อง” หลายคนที่ยอมให้ข้อมูลยังยอมรับว่า เป็นการทำงานที่ “หนักหนาสาหัส” มากๆ

 

ปัญหาโสเภณีในเวียดนาม คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นกับในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ที่ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร บรรดาเครือข่ายที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจผิดกฎหมายนี้ก็ยังเสาะพบกรรมวิธีนับไม่ถ้วนในการหลีกเลี่ยง ทำให้อุตสาหกรรมทางเพศพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยปราศจากการตรวจสอบ ควบคุม

ซึ่งส่งผลให้ตัวโสเภณีเองกลายเป็นเหยื่อมากขึ้นตามลำดับ

ข้อมูลของโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) แสดงให้เห็นว่า ในระยะหลังมานี้ ส่วนใหญ่ของประเทศในอุษาคเนย์เริ่มมอง “โสเภณี” ว่าเป็นอาชญากรรมน้อยลงเรื่อยๆ

ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การจับกุม ลงโทษ “แมงดา” หรือ “เจ้าของกิจการ” เสียมากกว่า

กระนั้นเมื่อเวียดนามต้องการทำให้โสเภณีกลายเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย เรื่องนี้ก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงครั้งใหญ่ขึ้นมาเช่นเดียวกัน

 

เคา ฟาน ทันห์ รองอธิบดีกรมป้องกันความชั่วร้ายในสังคม (เอสวีพีดี) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน บอกว่า เบื้องต้นเวียดนาม “ต้อง” ยอมรับกันก่อนว่า “ปัญหาโสเภณี” มีอยู่จริง

จากนั้นจึงจะมองเห็นเหตุผลว่า ทำไมผู้ให้บริการทางเพศเหล่านี้ถึงควรได้รับสิทธิในการใช้ชีวิต สิทธิในการได้รับรัฐสวัสดิการทั้งในแง่สาธารณสุขและการศึกษา และมีโอกาสทำอะไรให้สังคมได้เช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอื่น

ตรัน ฟาน ดัท รองอธิบดีกรมพัฒนานิติการ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เห็นพ้องกับแนวทางแก้ปัญหานี้ และเชื่อด้วยว่าการทำให้โสเภณีถูกต้องตามกฎหมายและจำกัดพื้นที่ให้บริการเพื่อการบริหารจัดการจะลดปัญหาหลายอย่างลง รวมทั้งการแพร่เชื้อโรคไม่พึงประสงค์อีกด้วย

เหวียน ซวน ลัป อธิบดีกรมเอสวีพีดี เปิดเผยว่า ในเวลานี้เวียดนามกำลังให้เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นเก็บรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นในกรณีนี้ เป้าหมายก็เพื่อตรากฎหมาย กำหนดให้มีแหล่งบริการทางเพศที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมาใน “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่เหมาะสม

หลังจากประมวลความคิดเห็น กระบวนการนิติบัญญัติเกี่ยวกับกรณีนี้น่าจะเริ่มต้นได้ในปี 2019 เพื่อให้สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ในปี 2021

แม้จะเห็นด้วย แต่ เหวียน ซวน ลัป เองก็ยังเชื่อว่า ยังคง “ยาก” ที่จะยกโสเภณีขึ้นมาเป็น “อาชีพ” หนึ่งในเวียดนาม เพราะตามกฎหมายว่าด้วยอาชีวศึกษา เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น “ต้อง” ดำเนินการทั้งกำหนดมาตรฐานของอาชีพ, ต้องกำหนดหลักสูตรฝึกอาชีพ และต้องกำหนดระดับรายได้ของผู้ประกอบอาชีพนั้นๆ

นี่ยังไม่นับเรื่องการยอมรับในสังคมต่อเรื่องนี้ ซึ่งยิ่งซับซ้อนและอ่อนไหวมากอย่างยิ่งอีกด้วย