ในประเทศ/คารวะ ผู้กล้า

ในประเทศ

คารวะ

ผู้กล้า

ในวาระครบรอบ 72 ปี 6 เมษายน 2561
พรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่ “เพจ” เฟซบุ๊กของพรรคประชาธิปัตย์และผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ
เป็นภาพและข้อความคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคว่า


“72 ปี ประชาธิปัตย์
ยืนหยัด ปกป้อง
ประชาธิปไตย
ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ”
โดยนำมาจากคำพูดของนายอภิสิทธิ์ ที่ได้กล่าวว่า
“อุดมการณ์ของพรรคมีความชัดเจน ยืนหยัดไม่เคยเปลี่ยน เราได้มีการต่อสู้กับเผด็จการทุกรูปแบบ เราปกป้องยึดมั่นประชาธิปไตย ยึดมั่นในระบบนิติรัฐ นิติธรรม ทำงานด้วยความซื่อสัตย์”

จากเพจดังกล่าว นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร ได้นำไปโพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก Oak Panthongtae Shinawatra
พร้อมเขียนข้อความเหน็บแนมนายอภิสิทธิ์ ว่า
“…โอ้วววว…ช่างกล้า…ประชาธิปัตย์…!!
55555555555
ผมเห็นตอนแรกนึกว่าเพจล้อเลียน ปรากฏเป็นเพจของพรรคเก่าแก่จริงๆ ด้วย 5555555
อยากรู้คนไทยกินหญ้าหรือกินข้าว เข้าไปอ่านแต่ละคอมเมนต์ รับรองหัวเราะกันก๊ากก!! เป็นผมละ อายแทบแทรกแผ่นดินหนี
อย่าลบ อย่าปิดเพจหนีนะครับ ผมจะช่วยโฆษณาให้
เอ้าใครเห็นด้วยว่า ‘ประชาธิปัตย์ ยืนหยัดปกป้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ’ ช่วยเข้าไปเชียร์หน่อยเร้วววว…”

ผลจากการเหน็บแนมดังกล่าว
ทำให้ถูกตอบโต้จากคนประชาธิปัตย์
โดยนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาทำสงคราม “น้ำลาย” กับนายพานทองแท้ ว่า ไม่เคยศึกษาบทเรียนประวัติศาสตร์
โดยเฉพาะบทเรียนที่เสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย ที่ใช้เสียงข้างมากในการย่ำยี ทำลายประชาธิปไตย
พรรคประชาธิปัตย์ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ว่าพรรคจะไม่สนับสนุนระบอบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบอบหรือวิธีการของรัฐบาลใดๆ
นี่คืออุดมการณ์พรรคที่มีมาตลอด 72 ปี
เข้าใจว่าความหมายประชาธิปไตยของนายพานทองแท้ คงจดจำแต่พฤติกรรมที่พรรคของบิดาคุณพานทองแท้และครอบครัวได้สร้างขึ้นมา
เช่น คนในพรรคซื้อเสียงจนถูกยุบพรรค โกงจนติดคุกหนีไปต่างประเทศ
คนในพรรคพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของพวก จนศาลตัดสินว่าออกกฎหมายโดยไม่ชอบ
คนในพรรคออกกฎหมายล้างผิดให้คนที่เผาบ้านเผาเมือง คนที่คดโกงประเทศ
คนในพรรคที่ออกนโยบายมาเพื่อโกงเงินของแผ่นดินมากที่สุดเกือบ 1 ล้านล้านบาท เช่น กรณีโกงในโครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น
“ที่นายพานทองแท้พูดว่าอายอยากแทรกแผ่นดินหนี เมื่อเห็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวยืนหยัดปกป้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าอาย ในทางกลับกัน ผมจะอายมากถ้าพ่อหรืออาผมหนีคดีแล้วแทรกแผ่นดินหนีไปอยู่ต่างประเทศ” นายราเมศสาดน้ำลายกลับ
สงกรานต์น้ำลาย ทำหึ่งกันทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกต ในช่วงก่อน ระหว่างและหลัง “สงกรานต์” ที่ผ่านมา
นายอภิสิทธิ์ดูจะดำรงตนเป็น “ผู้กล้า”
ผู้กล้าวิพากษ์วิจารณ์หนึ่งในสองธง ที่ชูขึ้น “ไม่เอา” อย่างหนัก และในหลายประเด็น
นั่นคือ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
นับตั้งแต่กระแสข่าวที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะตั้งพรรคเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
นายอภิสิทธิ์วิจารณ์ว่า การตั้งพรรคเป็นสิทธิของทุกคนภายใต้กฎหมายเดียวกัน
แต่ขอให้ยึดหลักธรรมาภิบาล
และถ้าใช้อำนาจรัฐสร้างความได้เปรียบทางการเมือง มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การเมืองก็ปฏิรูปไม่ได้

พร้อมกันนี้ นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวในเชิงเปิดโปงเบื้องหลังการลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของนายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส. เพื่อไปรับตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปภายหลังจากที่นายสกลธีเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีคนวิจารณ์ว่าเป็นการทาบทามแบบเจาะจงไปที่บุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง ส.ส. และเป็นความไม่ธรรมดา
ส่วนตัวมองว่าบุคคลที่มีความพร้อมทำหน้าที่รองผู้ว่าฯ กทม. มีจำนวนมาก ที่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นอดีต ส.ส. และที่ผ่านมารัฐบาลหลีกเลี่ยงการดึงบุคคลที่เป็นคนการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะจะถูกวิจารณ์
แต่กรณีที่เกิดขึ้นขอให้รอดูการทำงานของนายสกลธี ว่าจะออกจากพรรคประชาธิปัตย์เพื่อทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง หรือลาออกไปสังกัดพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่
“เขามาพบผม 1 วันก่อนจะได้รับตำแหน่งจาก กทม. และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่าจะไปทำงานที่ กทม. เขาว่าอยากจะไปทำงานตรงจุดนั้น ซึ่งผมบอกเขาว่าหากจะไปก็ลาออกเสียดีกว่า ซึ่งผมคาดว่าเขาตั้งใจมาลาออกอยู่แล้ว เมื่อเป็นแบบนี้ผมก็มองเหมือนที่หลายคนมองว่าอาจจะกระทบต่อฐานนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ผมไม่คิดมาก” นายอภิสิทธิ์กล่าว
และว่า สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออก ถือเป็นสิทธิ์ที่แต่ละคนทำได้
ส่วนจะผิดหรือถูกนั้น สรุปไม่ได้ เพราะมีบางคนเชื่อว่า เขาออกไปเพื่อไปทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ไม่ว่าจะอยู่บทบาทไหน
ที่ผ่านมาการตัดสินใจทำงานให้กับรัฐบาล หรือ คสช. ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน
คือ ทำเพื่อส่วนรวม
หรือ ส่วนที่วิ่งเข้าหาศูนย์อำนาจ เพราะมีผลประโยชน์ส่วนตัว หรือทางธุรกิจ
โดยสิ่งที่ทำให้เห็นเชิงประจักษ์คือ การใช้อำนาจโดยไม่ชอบ และการทุจริต
“สำหรับผม ฐานะเป็นนักการเมืองอาชีพ และโตมากับพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน ไม่นิยมทำแบบนั้น และผมเชื่อว่าการทำงานที่มีสังกัด มีจุดยืนชัดเจน ไม่ต้องวิ่งเพื่อให้ตนเองมีอำนาจตลอดเวลา คือแนวทางที่ยั่งยืนกว่าสำหรับประเทศไทยและการเมืองไทย”
“การใช้อำนาจรัฐ ใช้ผลประโยชน์ดึงคนก็เหมือนการเมืองแบบเดิม ซึ่งการทำแบบนี้ ความชอบธรรมที่จะพูดถึงการปฏิรูปการเมือง หรือธรรมาภิบาล อาจถูกตั้งคำถามพอสมควร”
“ที่ผ่านมาผมฐานะนักการเมืองเก่า พรรคการเมืองเก่าถูกประณามจากผู้มีอำนาจในปัจจุบัน แต่วันนี้ขอให้ดูพฤติกรรมตัวท่านเองว่าเป็นเหมือนนักการเมืองเก่าหรือไม่ ทั้งการทำงานแบบหลีกเลี่ยงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่ใช่การทำผิดตามตัวอักษร แต่เขาเอาผลประโยชน์ต่อรองทางการเมือง ดังนั้น ต่อไปเขาไม่มีสิทธิที่จะพูดถึงการปฏิรูปการเมืองหรือความมีธรรมาภิบาลอีกต่อไป” นายอภิสิทธิ์วิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังจี้ไปถึง “หัวใจของอำนาจรัฐบาลและ คสช.” นั่นคือ มาตรา 44
โดยนายอภิสิทธิ์ชี้ว่า
“การเมืองในประเทศไทยถ้าเราไม่ยึดตัวระบบถ่วงดุลให้เกิดความพอดี ถ้าพูดกันตรงๆ ตอนนี้มาตรา 44 ใหญ่กว่าทุกอย่าง ซึ่งความจริงศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องตีความต่อว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ก็ทำให้เราเริ่มสูญเสียตัวระบบว่าถ่วงดุลจริงหรือไม่ เวลามีพี่ใหญ่ใช้อำนาจเหนือทุกอย่างบางเรื่องก็ถูกใจ ผมก็ยอมรับ บางทีก็สะใจว่ามันง่าย รวดเร็ว แต่ความสะใจพอใจในกรณีนั้นเป็นการเปิดทางให้ไปทำอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งถึงวันนั้นเราอาจจะบอกว่าไม่ใช่ เมื่อเราจะไปต่อต้านก็อาจมีคนบอกว่าวันที่คุณสนับสนุนการที่เขาทำแล้วถูกใจก็จะมาค้ำอยู่ ดังนั้น โดยส่วนตัวถึงพยายามบอกว่าบางทีสังคมก็ต้องอดทน ระบบที่มีการถ่วงดุลอาจจะช้า ไม่สะใจเสมอไป แต่จะเป็นหลักประกันที่ดีกว่า
“การเมืองไทยถ้าจะเดินไปข้างหน้า 1.ต้องมีเลือกตั้ง และ 2.ถ้าเริ่มจากเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม ผมว่าไม่มีทางที่การเมืองจะดีขึ้น บางยุคบางสมัยบอกว่าเราคิดแต่เรื่องการซื้อเสียง แต่การใช้อำนาจรัฐหรือการใช้อำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซงทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการซื้อเสียง”
ส่วนการลงพื้นที่ของรัฐบาล คสช. ในช่วงนี้ นายอภิสิทธิ์ ว่า ถ้าจะบอกว่าเขาลงพื้นที่มันผิดก็คงสรุปไม่ได้ เพราะการบริหารราชการแผ่นดินโดยปกติก็ต้องพยายามที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน ก็หวังว่าประชาชนจะพึงพอใจ พูดง่ายๆ คือได้คะแนนทางการเมือง ถ้าลงไปเพื่อจะไปดูข้อเท็จจริง ทำให้การแก้ไขปัญหาตรงจุด เราก็ไปต่อว่าเขาไม่ได้ แต่ของอย่างนี้ดูไปสักพักก็จะดูออกเองว่าเป็นเรื่องของประสิทธิภาพของการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นเรื่องของการมีเป้าหมายทางการเมือง
“อย่างกรณีที่รัฐบาลทำไลน์ขึ้นมาโดยเอางบประมาณไปซื้อ 7 ล้านบาทโดยมีการทำสติ๊กเกอร์ไลน์ สันนิษฐานว่าเป็นรูปนายกฯ และใครอยากได้สติ๊กเกอร์นี้ฟรีก็ไปโหลดมาได้ โดยการมาติดตามตัวไลน์นี้ก็จะสามารถส่งข้อความได้ ซึ่งรัฐบาลสามารถทำได้ แต่เป้าหมายการประชาสัมพันธ์คืออะไร และเป็นข้อมูลแบบไหน”
“นี่ไม่ใช่ครั้งแรก รัฐบาลเคยทำตอนที่มีค่านิยม 12 ประการ แล้วบอกว่ามีสติ๊กเกอร์ชุดหนึ่ง บังเอิญผมไม่ได้ไปติดตามและไม่ได้รับสติ๊กเกอร์ชุดนั้นเลย จึงไม่รู้ว่าการทำอย่างนี้จะคุ้มค่าแค่ไหน ทั้งที่เป็นเงินภาษีอากรของประชาชน จะบอกว่า 7 ล้านบาทเล็กน้อย แต่ก็เป็นเงินภาษีประชาชน และการทำสติ๊กเกอร์สวัสดี ขอบคุณ เป็นการประชาสัมพันธ์รัฐอย่างไร” นายอภิสิทธิ์เปิดโปง

เมื่อมองไปยัง “เศรษฐกิจภาคใหญ่” นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การบริหารของ คสช. เกือบสี่ปีที่ผ่านมาแม้ได้ความสงบเรียบร้อยในการหยุดยั้งสถานการณ์กลับมา
ซึ่งก็เอาใจช่วยว่าจะทำอย่างไรในการวางรากฐาน ทำนโยบาย กติกาให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เหมือนที่เคยพูดไว้กับประชาชน
แต่เวลาเหลือน้อยลง และที่ผ่านมา กลายเป็นว่านโยบายหลายเรื่องเป็นการทำเฉพาะหน้ามากกว่า
เช่น เศรษฐกิจสี่ปีที่ผ่านมาใช้เงินเกือบล้านล้านบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายรอบ ไม่เก็บภาษีเพื่อให้คนไปซื้อของ หรือลงทุน
แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับมา ไม่ได้ช่วยในเรื่องความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่
แล้วใครเป็นผู้ได้รับ
นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ระบุถึง “ประชารัฐ” แต่หลายคนก็มองไปไกลถึง “ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้ผลประโยชน์ไปมหาศาล”
นี่คือการสวมวิญญาณผู้กล้าทะลวงในทุกเรื่องเข้าใส่รัฐบาลและ คสช. ภายใต้เจตนารมณ์
“72 ปี ประชาธิปัตย์
ยืนหยัด ปกป้อง
ประชาธิปไตย
ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ”
ซึ่งก็มองเช่นนั้น
ส่วนจะเป็นผู้กล้าขนาดไหน เพียงใด
จะเปลี่ยนไปอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์เย้ยไยไพว่า ให้รอดูหลังเลือกตั้ง หรือไม่
ไม่นานเกินรอ!