ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 เมษายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ดังได้สดับมา |
ผู้เขียน | วิเวกา นาคร |
เผยแพร่ |
ในสัทธรรมปุณฑริกสูตรกล่าวว่า พระพุทธองค์ตรัสเทศนาอุปมายานทั้ง 3 ไว้ดังนี้ คือ สกลโลกเปรียบด้วยบ้านที่ถูกไฟกิเลสเผาผลาญ ประชาสัตว์เปรียบด้วยผู้อาศัยในบ้านนั้น ด้วยอำนาจอวิชาก็ทำให้หลงไม่คิดจะหลบหลีกหนีเพลิง
พระพุทธองค์ทรงมีพระกรุณายิ่งนักจึงทรงประทานอุบายชักนำว่า
ถ้าแม้ยอมออกจากบ้านแล้วก็จักประทานรถบรรทุกสมบัติของอันน่าเพลิดเพลิน เทียมด้วยแพะ กวางและวัว ให้ประชาสัตว์เหล่านั้น ด้วยความต้องการอยากได้ของประทานจึงยอมออกมา
ครั้นแล้วพระพุทธองค์ผู้เปรียบด้วยบิดาของปวงสัตว์ แทนที่จะประทานรถเล็กๆ อันเทียมด้วยสัตว์ทั้ง 3 นั้นให้ พระองค์กลับประทานรถมหึมาบรรจุมหาสมบัติอันใช้มิรู้สิ้นเทียมด้วยโคขาวที่ทรงพลังมหาศาลให้
สายกยานเปรียบด้วยยานที่เทียมด้วยแพะ
ปัจเจกยานเปรียบด้วยยานที่เทียมด้วยกวาง
โพธิสัตวยานเปรียบด้วยยานที่เทียมด้วยโค
ทั้ง 3 ยานนี้เป็นเพียงอุบายโกศลธรรมยังหาใช่ยานที่แท้จริงไม่ ยานที่แท้จริงมีเพียงยานเดียว คือเอกยาน หรือพุทธยานเท่านั้น
หลักการเอกยานจึงเป็นความคิดสมานเชื่อมตรียานให้หลอมเข้ามาสู่จุดเดียวกันได้อย่างแนบเนียน และก็คงเป็นมหายานคือมุ่งพุทธภูมิตามเคย โพธิสัตวยานเหมือนการทำเหตุ พุทธยานเหมือนผลอันเกิดจากเหตุที่บำเพ็ญบารมีแล้ว
แต่ก็เป็นการยกจิตให้สูงมุ่งต่อพระอนุตตรสัมโพธิญาณซึ่งเกิดด้วยน้ำใจกรุณาต่อโลก
ผู้ปฏิบัติธรรมตามคติของมหายานย่อมจะต้องมุ่งปรารถนาพุทธภูมิ และการปรารถนาพุทธภูมินั้นก็ต้องบำเพ็ญสร้างสมคุณธรรมให้เป็นเหตุเพียงพอเสียก่อน
คุณธรรมที่จะทำให้บุคคลสำเร็จพระโพธิญาณ เรียกว่า “ปารมิตา” หรือ “บารมี”
แปลว่าคุณชาติที่ทำให้ถึงฝั่งพระนิรวาณ มีด้วยกัน 6 ปารมิตา คือ 1 ทาน 2 ศีล 3 ขันติ 4 วิริยะ 5 ธยาน (หรือสมาธิ) 6 ปัญญา
ทาน กับ ศีล เป็นคู่ปรับกับ โลภะ
ขันติ กับ วิริยะ เป็นคู่ปรับกับ โทสะ
ธยาน กับ ปัญญา เป็นคู่ปรับกับ โมหะ
บางทีก็จำแนกออกเป็น 10 ปารมิตา คือ เพิ่ม 1 อุปายปารมิตา 2 ปณิธานปารมิตา 3 พลปารมิตา 4 ญาณปารมิตา
อุปายปารมิตา ได้แก่ การที่รู้จักอุบายที่ฉลาด ปณิธานปารมิตา เทียบได้กับอธิษฐานบารมีของฝ่ายลาลี คือความตั้งใจมุ่งมั่นอย่างเด็ดเดี่ยว พลปารมิตา ได้แก่ กำลังแห่งความเข้าใจในธรรม ญาณปารมิตา ได้แก่ ญาณอันเกิดแต่ปารมิตา 6 นั้น
มหายานถือว่าการปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องประกอบด้วยปัญญาและกรุณาคู่กันไปเสมอ จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมิได้
พระโพธิสัตว์ (ถือว่าทุกคนที่ปรารถนาพุทธภูมิเป็นพระโพธิสัตว์)
จะต้องมีความกล้าหาญไม่ระย่อต่อทุกข์ในวัฏสงสาร จะต้องอาจหาญทนทุกข์แทนสรรพสัตว์ได้ แม้ว่าการเปลื้องทุกข์ให้สรรพสัตว์นั้นตนเองจะต้องเผาไหม้ในนรกสักกี่อสงไขยก็ตาม
สาธุชนผู้มุ่งต่อพุทธภูมิย่อมถือเอาเนติแบบอย่างจากพระโพธิสัตว์องค์สำคัญๆ เช่น พระอวโลกิเตศวร ซึ่งมีปฏิธานว่าหากยังมีสัตว์ที่ต้องตกทุกข์ได้ยากอยู่ก็จักไม่ขอปรารถนาบรรลุพุทธภูมิ หรือกระกษิติครรถโพธิสัตว์ซึ่งมีปณิธานว่า ตราบใดนรกยังไม่สูญ ตราบนั้นก็ไม่ขอบรรลุพุทธภูมิ
พระโพธิสัตว์ย่อมไม่ละทิ้งแต่สัตว์เพียงตนเดียว ท่านจะต้องเป็นบุคคลสุดท้ายในการบรรลุถึงความตรัสรู้ หลังจากที่ได้ช่วยชนสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามโอฆกันดารอันเป็นบ่อแห่งทุกข์นี้จนสิ้นแล้ว
อาจารย์นาคารชุนจึงได้สรุปคุณลักษณะของพระโพธิสัตว์ไว้เป็นโศลกคาถาว่า
“พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีนิพพิทาแก่กล้าต่อสังสารวัฏ แต่ก็เป็นผู้หันพักตร์เข้าหาสังสารวัฏ
พระโพธิสัตว์มีศรัทธาปสาทะยินดีต่อพระนิรวาณ แต่ก็เป็นผู้หันปฤษฎางค์ให้แก่พระนิรวาณ
พระโพธิสัตว์สมควรต่อการกลัวสรรพกิเลส แต่ก็ไม่ควรละกิเลสเสียให้สิ้น”
ในคัมภีร์โยคาจารย์ภูมิศาสตร์กล่าวเป็นทำนองดังนี้ว่า พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญซึ่งสุญญตวิโมกข์ย่อมเป็นผู้รู้ชัดถึงสรรธรรมทั้งหลายตามเป็นจริง
แต่ก็จะต้องไม่เป็นผู้ด่วนดับขันธปรินิพพาน
จะต้องทำการโปรดสัตว์ต่อไปอีก
แม้ถึงจะมีกิเลสส่วนอนุสัยเหลืออยู่ในจิตของตนก็ตาม ย่อมถือเอามหากรุณาเป็นปุเรจาริกเสมอ