ยุบภาควิชา : บริหารการศึกษาที่ก้าวหน้า หรือถอยหลังเข้าคลอง (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง-พิพัฒน์ สุยะ

ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

(2) ยุบ-รวม-เลิกภาควิชากับความเสี่ยงต่อการสูญหายของสาขาทางมนุษยศาสตร์

กรณีมหาวิทยาลัยศิลปากรกำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างอันเนื่องจากการออกมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการออกระเบียบว่าด้วยการจัดตั้งและยุบรวมหน่วยงานภายใน ซึ่งเร่งให้จัดการให้เสร็จในปีนี้

กล่าวคือ มีเกณฑ์การตั้งภาควิชาใหม่ รวมทั้งเกณฑ์ในการเป็นสาขาวิชาด้วย ซึ่งจะเป็นภาควิชาได้ยากกว่าที่เคยเป็นมาตลอด

หากมองว่าก็เป็นเพียงการบริหารจัดการธรรมดาๆ ก็คงไม่ได้เป็นเรื่องซีเรียสอะไร แต่เรื่องนี้คงไม่ใช่เพียงการบริหารจัดการเพราะมีผลกระทบต่อการเรียนการสอน

นั่นแปลว่าในอนาคตอาจมีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของ “มนุษยศาสตร์” ในสถาบันการศึกษาด้วย

กรณีที่กำลังจะเกิดขึ้นในคณะอักษรศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่อาจถือเป็นกรณีศึกษาอันหนึ่ง ที่ผู้จัดการศึกษาและคนทั่วไปควรไตร่ตรอง

ความพยายามจะรักษาภาควิชาปรัชญาและทวงถามทั้งต่อผู้บริหารและสังคมของคณาจารย์กลุ่มเล็กๆ จึงไม่ได้เป็นเพียงความอยากรักษาภาควิชาของตัวเองไว้

แต่เพื่ออนาคตของการเรียนการสอนมนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย

เหตุใดการคงอยู่ของภาควิชาจึงมีนัยสำคัญต่อการดำรงอยู่ของ “มนุษยศาสตร์” เช่น ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ

ก็ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่างที่มาจากทั้ง สกอ. และมหาวิทยาลัยเอง

 

ประการแรก ภาควิชานั้นมีสถานะเป็น “หน่วยงาน” ซึ่งแปลว่า มีอิสระในการบริหารจัดการในระดับหนึ่ง ทั้งยังมีอำนาจในการทักท้วง หรือต่อรองกับคณะหรือมหาวิทยาลัย ผิดกับ “สาขาวิชา” ซึ่งไม่มีสถานะเป็นหน่วยงาน แต่ขึ้นตรงกับคณะ

ความเป็นอิสระและอำนาจในการทักท้วงหรือต่อรองนี้เป็นหลักของการบริหารสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีที่มาจากโลกตะวันตก เหตุเพราะการกระจายอำนาจและลดการปกครองในแบบลำดับชั้น ก็เพื่อประกัน “เสรีภาพ” ในทางวิชาการ

หน่วยงานด้านการศึกษาแบบมหาวิทยาลัย จึงไม่เน้นอำนาจรวมศูนย์ มหาวิทยาลัย คณะวิชาและภาควิชา ต่างดูแลกันอย่างหลวมๆ ไม่เน้นการ “บังคับบัญชา” อย่างหน่วยงานของรัฐแบบอื่นๆ

แต่การสลายภาควิชาลงนี้ นอกจากจะสูญเสียหน่วยงาน ซึ่งมีความเป็น “สากล” คือทั่วโลกใช้กัน และถือเป็นหน่วยย่อยที่สุด การขึ้นตรงต่อคณะหมายความว่า คณะก็อาจเข้าแทรกแซงได้โดยง่าย

นอกจากนี้ แต่เดิมตำแหน่ง “หัวหน้าภาควิชา” มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก เพื่อมาเป็นปากเสียงของภาค เพราะหัวหน้าภาควิชาเป็นกรรมการบริหารคณะโดยตำแหน่ง

แต่หัวหน้าสาขาวิชานั้น ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการเลือก ซึ่งแปลว่าคณบดีอาจแต่งตั้งเองก็ได้ (แว่วว่า ท่านอธิการบดีเคยบรรยายไว้ว่า คณบดีน่าจะเลือกคนที่เข้ากับตัวเองได้ นี่หมายความว่าอย่างไร) และไม่ได้มีระเบียบว่าหัวหน้าสาขาวิชาจะต้องเป็นกรรมการประจำคณะโดยตำแหน่ง อย่างนี้จะเรียกว่าบริหารอย่างมีธรรมาภิบาลได้อย่างไร

การยุบลงเป็นสาขายังมีปัญหาอีก

กล่าวคือ เมื่อเป็นสาขาแล้วนั้นโดยระเบียบสามารถยุบเลิกได้ง่ายกว่าภาควิชา ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่า การยุบเลิกสาขาวิชาได้อย่างง่ายดายนี้เป็นแนวโน้มความเสี่ยงที่มีอันตรายอย่างยิ่ง ประกอบกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษาเรื่องคุณวุฒิและจำนวนอาจารย์ และแผนอัตรากำลังของมหาวิทยาลัยยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงยิ่งขึ้น

ผมจะลองอธิบายให้เห็นภาพ

 

สมมุติว่าภาควิชาปรัชญาแห่งหนึ่งมีอาจารย์หกคน ตามกรอบมาตรฐานของ สกอ. สามารถมี “หลักสูตร” ที่เป็นวิชาเอกของตนเองได้หนึ่งหลักสูตร (สกอ. กำหนดขั้นต่ำไว้ห้าคน โดยต้องมีวุฒิการศึกษาในสาขานั้นๆ) กล่าวคือ มีนักศึกษาเรียน “เอกปรัชญา” ได้

วันหนึ่งภาควิชานี้ถูกยุบลงเป็นสาขาวิชา ก็ยังมีหลักสูตรวิชาเอกได้ (คือยังตรงตามเกณฑ์ สกอ. เพราะมีอาจารย์ครบ)

เผอิญในปีหน้า จะมีอาจารย์เกษียณอายุสองท่าน ดังนั้น ในภาควิชาจะเหลืออาจารย์เพียงสี่คน ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ

แต่เดิม เมื่อมีอาจารย์เกษียณ เราจะได้ตำแหน่งกลับคืนมา แต่ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยรวบเอาอัตรากำลังไปไว้ส่วนกลางแล้วจัดสรรเอง จึงไม่ได้กลับมาทันทีเหมือนอย่างแต่ก่อน

ครั้นจะต่อรองในฐานะ “ภาควิชา” ซึ่งเป็นหน่วยงานก็ไม่ใช่เสียแล้ว แต่เป็นเพียงสาขาซึ่งไม่มีสถานะหน่วยงานย่อย ต้องให้คณะเป็นผู้ดำเนินการให้

ถ้าเกิดคณะไม่สามารถขอตำแหน่งให้ได้ ทางเลือกจะเหลือเพียงสามทาง หนึ่งคือ คณะจะต้องใช้เงินรายได้ของตนเองจ้างอาจารย์อีกท่าน เพื่อให้ครบห้าคน แต่คณะจะยอมเสียเงินระยะยาวหรือไม่ แถมการจ้างดังกล่าวต้องมีแผนรองรับล่วงหน้า ไม่ใช่นึกจะจ้างก็จ้างได้ทันที

 

ทางเลือกที่สอง คือยุบรวมสาขาวิชา ตั้งสาขาวิชาใหม่ เช่น อาจเอาสาขาวิชาประวัติศาสตร์มารวมกับปรัชญา เกิดสาขาวิชามนุษยศาสตร์ หรือปรัชญาและประวัติศาสตร์ขึ้น

แต่แม้จะเอาศาสตร์ที่ใกล้เคียงมารวมกันแล้วก็ตาม แต่มิใช่ว่าจะเอามาสอนข้ามหลักสูตรกันได้ เพราะตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิของ สกอ. จะสอนหลักสูตรไหนก็ต้องมีคุณวุฒิในสาขานั้น

นั้นแปลว่า อาจารย์ประวัติศาสตร์จะสอนปรัชญาเพียวๆ ก็ไม่ได้ อาจารย์ปรัชญาจะไปสอนประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้ ต้องคิดหลักสูตรใหม่ที่ร่วมสอนกันได้ เช่น อะไรผสมๆ ระหว่างปรัชญาและประวัติศาสตร์

แต่ด้วยการทำเช่นนั้น เท่ากับได้สูญเสียวิชาเอกปรัชญาไปแล้ว ไม่สามารถเรียนแบบลึกซึ้งอย่างเก่าได้ ต้องเรียนในลักษณะบูรณาการหรือผสมผสาน ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

แต่หากในกรณีที่แย่ที่สุด คือเหลืออาจารย์เพียงสี่คน ตำแหน่งใหม่ก็ไม่ได้ จ้างก็ไม่ได้ สาขานั้นก็ต้องถูกยุบไปพร้อมกับการยุบของหลักสูตรและวิชาเอก

อาจารย์ที่เหลือก็จะต้องสอนวิชาทั่วๆ ไป หรือวิชาพื้นฐานที่มีเนื้อหาอย่างกว้างๆ เท่านั้น เพราะไม่มีวิชาเอกเสียแล้ว

สุดท้ายก็จะไม่มีวิชาทางปรัชญาเพียวหรือตรงๆ สอนในคณะอีกต่อไป

 

ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่ “เผอิญ” ไปสอดรับกับแนวนโยบายของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ แม้มหาวิทยาลัยอาจเถียงว่า ไม่ได้ตั้งใจจะยุบ แต่เกณฑ์ของท่านที่ตั้งขึ้นใหม่ ทำให้ “ภาควิชา” ซึ่งเคยจัดการเรียนการสอนได้ แม้จะไม่ทำกำไรและไม่มีนักศึกษาล้นหลาม ต้องกลายสถานะเป็นสาขาวิชา

เกณฑ์ดังกล่าวจึงควรถูกตั้งคำถามอย่างยิ่ง เหตุใดหน่วยงานซึ่งเคยสามารถทำงานได้ตามปกติจึงกลายเป็น “ปัญหา” ไปเพราะเกณฑ์ใหม่

อะไรคือปัญหาจริงๆ ของความพยายามจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างนี้ มีอะไรอยู่เบื้องหลัง

อุปมาเหมือนคนดีๆ อยู่ ก็จับเขาไปตัดแขนตัดขาแล้วบอกว่าคุณเป็นคนพิการแล้วนะ แล้วก็บอกว่าจะกลับมาดีเหมือนเดิมได้คุณต้องมีแขนมีขา

ที่สำคัญ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นที่แรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายสถาบัน และผลจากเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันออกมาในสองลักษณะ คือเกิดการยุบสาขาวิชาส่วนหนึ่ง และสอง คือหลายสาขาวิชาต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนกลับมาเป็นภาควิชาอีกครั้ง และใช้เวลายาวนานกว่าจะฟื้นสภาพ

เหตุใดมหาวิทยาลัยจึงไม่เรียนรู้จากบทเรียนเหล่านี้ก่อนที่จะตัดสินใจ

ดังนั้น มหาวิทยาลัยควรทบทวนหลักเกณฑ์ที่ออกมาพร้อมระเบียบนี้ใหม่ พร้อมศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านก่อน อีกทั้งต้องให้สัตยาบันที่จะรักษาศาสตร์ทางมนุษยศาสตร์ไว้ในสถาบันอุดมศึกษา ในฐานะที่เป็นพันธกิจหลักของสถาบันการศึกษา

ไม่งั้นมหาวิทยาลัยจะต่างอะไรกับห้างร้านหรือโรงงานนรก