สุรชาติ บำรุงสุข : ขุดคอคอดกระ! ข้อพิจารณาทางยุทธศาสตร์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เมื่อมีการขุดคลองไทยนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ เศรษฐกิจประเทศไทยก้าวหน้า เราจะเป็นพี่ใหญ่ในอาเซียน คนไทยมีงานทำมากมาย จะมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รัฐบาลของท่าน [พลเอกประยุทธ์] จะไม่เสียของ แล้ววันนั้นทุกคนจะเรียกติดปากว่า “คลองประยุทธ์” เลยทีเดียว”

พลเอกหาญ ลีลานนท์

ปัญหาการขุคคอคอดกระเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างยาวนานในสังคมไทย

ในช่วงสงครามเย็นหรือสงครามคอมมิวนิสต์ในไทย ประเด็นนี้ไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายความมั่นคง ด้วยความกังวลเรื่องการแบ่งแยกดินแดน หรือความกลัวว่าเราจะควบคุมพื้นที่ความมั่นคงแถบนี้ไม่ได้

ในยุคหลังสงครามเย็นก็มีความพยายามที่จะผลักดันโครงการนี้ในหลายๆ ครั้ง แม้จะมีข้อเสนอว่าขอเพียงรัฐบาลไทยตอบตกลงเท่านั้น เรื่องทุนและค่าใช้จ่ายจะไม่เป็นปัญหาเลย

และทั้งยังเสนอว่าด้วยการขายฝันใหญ่ว่า โครงการนี้จะเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทย

แต่ไม่ว่าจะขายฝันอย่างไรก็ยากที่จะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง

ไม่ใช่เพราะรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นรัฐเมืองท่าแทรกแซง

ไม่ใช่เป็นเพราะไม่สามารถหาความสนับสนุนทางการเงินต่อโครงการได้

แต่ปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญก็คือ ถ้าคลองนี้เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว สถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทยและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหรือไม่

และความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยมากน้อยเพียงใด และในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเช่นนี้ รัฐและสังคมไทยจะบริหารจัดการความท้าทายดังกล่าวอย่างไร โดยเฉพาะความท้าทายทางการเมืองและความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม แม้ภูมิทัศน์จะมีความเปลี่ยนแปลงไป แต่คำถามพื้นฐานสำหรับประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย…

คลองนี้จะตอบสนองต่อผลประโยชน์ของไทยอย่างไร และทำอย่างไรที่คลองนี้จะไม่กลายเป็นจุดของความขัดแย้งในความสัมพันธ์ของไทยกับรัฐมหาอำนาจ

ดังจะเห็นได้ว่าในที่สุดแล้ว คำถามเช่นนี้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

หากยังไม่มีหลักประกันด้วยว่า ในที่สุดแล้วคลองนี้จะสร้างผลตอบแทนแก่สังคมไทยได้เป็นจริงอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเช่นนี้ต้องคิดคู่ขนานกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ของการเมือง-เศรษฐกิจ-ความมั่นคงในเอเชียในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 ให้ได้ จะคิดด้วยความเพ้อฝัน โดยละเลยต่อภูมิทัศน์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในเอเชียและในภูมิภาคเราไม่ได้เลย

เนื่องจากเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ของไทยไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว

และการขุดคลองคอดกระย่อมจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทยโดยตรง

และปฏิเสธไม่ได้อีกด้วยว่าการกำเนิดของคลองนี้จะกระทบต่อสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกันด้วย

ดังนั้น หากพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีคำถามที่ไม่ใช่แต่เพียงรัฐบาลต้องตอบเท่านั้น แต่สังคมไทยในความหมายของคนไทยก็จะต้องร่วมกันตอบด้วย

ได้แก่

1) คำถามในทางความมั่นคงยังเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเสมอ แต่ปัญหาในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องการเสียพื้นที่ที่เป็น “ด้ามขวาน” จากการแบ่งแยกดินแดน

แต่เป็นประเด็นของการควบคุมคลองซึ่งจะสถานะเป็น “พื้นที่ทางยุทธศาสตร์” และรัฐบาลไทยจะมั่นใจอย่างไรว่า พื้นที่นี้จะไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐมหาอำนาจ หรือจากรัฐบาลที่เป็นเจ้าของแหล่งทุน และทั้งในภูมิทัศน์ใหม่ของเอเชียและของภูมิภาคที่กำลังเห็นถึงการแข่งขันของสองมหาอำนาจใหญ่นั้น

โอกาสที่ไทยจะถูกดึงให้เข้าสู่เงื่อนไขความขัดแย้งโดยมีคอคอดกระเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของการแข่งขัน น่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

2) ในเงื่อนไขของทุนในการขุดนั้น เป็นปัจจัยที่รัฐบาลไทยต้องพึ่งพารัฐมหาอำนาจเจ้าของทุน เพราะการระดมทุนภายในสำหรับการขุดคลองนี้น่าจะไม่เพียงพอและเป็นไปไม่ได้

ซึ่งนอกจากทุนแล้วยังรวมถึงปัจจัยทางเทคโนโลยีที่ไทยต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก

เงื่อนไขเช่นนี้จะทำให้โครงการดังกล่าวสร้างสภาวะของ “การพึ่งพา” ระหว่างประเทศ

รัฐบาลไทยอยู่ในสถานะของการเป็น “รัฐพึ่งพา” (dependent state) ต่อรัฐบาลเจ้าของทุนและเทคโนโลยี และยังจะเป็นการสร้างหนี้สินครั้งใหญ่ของประเทศ

3) ถ้าหวังในระยะสั้นว่า โครงการขุดคลองจะเป็นแหล่งของการจ้างงานแล้ว ก็อาจเป็นความคาดหวังที่ไม่เป็นจริง เพราะเราเริ่มเห็นจากโครงการรถไฟความเร็วสูงในเบื้องแรกแล้วว่า ทั้งกรรมกรและวิศวกรจะมาจากประเทศเจ้าของทุน

และขณะเดียวกันสังคมไทยเองก็ยังต้องพึ่งพาแรงงานระดับล่างจากประเทศเพื่อนบ้าน

แรงงานในประเทศเองอาจจะไม่เพียงพอต่อโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ แม้อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยเองในปัจจุบันก็ยังต้องพึ่งพาแรงงานจากภายนอก และไม่มีหลักประกันเลยว่า โครงการนี้จะเปิดช่องให้วิศวกรไทยเข้าไปมีบทบาท

อันเท่ากับไม่มีหลักประกันว่า ในกระบวนการก่อสร้างเช่นนี้ จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยเพียงใด หรือไทยเป็นเพียงเจ้าของของที่ และคนไทยจะรับบทบาทหลักเป็นกรรมกร

4) การบริหารจัดการพื้นที่ทางยุทธศาสตร์เช่นนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะคิดง่ายๆ เอาเองว่า การบริหารคลองสุเอซหรือคลองปานามาเป็นเรื่องที่ไม่มีความยุ่งยากและไม่ซับซ้อนไม่ได้

และยิ่งหากพื้นที่นี้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลมหาอำนาจที่เป็นเจ้าของทุนและเทคโนโลยีด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้พื้นที่นี้มีความเปราะบางในตัวเอง

และการควบคุมพื้นที่นี้ย่อมจะมีนัยที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยด้วย รัฐเจ้าของทุนที่ควบคุมพื้นที่คลองย่อมต้องการมีรัฐบาลกรุงเทพที่สนับสนุนนโยบายของรัฐนั้นๆ

5) การสร้างคลองที่เป็นเส้นทางการเชื่อมต่อทางทะเลเช่นนี้ ยังต้องรวมถึงการมีท่าเรือน้ำลึก โกดังสินค้า ตลอดรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังตัวแบบของสิงคโปร์ในความเป็น “รัฐเมืองท่า”

และคงต้องยอมรับว่าสิงคโปร์สามารถบริหารจัดการความเป็นเมืองท่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความนี้มิได้ดูแคลนว่ารัฐบาลไทยไม่มีขีดความสามารถในเรื่องเช่นนี้ หากแต่ประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ในกระบวนการคิดขุดคลอง เว้นแต่เราอาจจะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า การก่อสร้าง การบริหารจัดการ และการควบคุมดูแลเป็น “เอกสิทธิ์” ของรัฐเจ้าของทุนอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้

และยิ่งเมื่อรัฐเจ้าของทุนเป็นรัฐมหาอำนาจด้วยแล้ว ก็ส่งผลให้กระบวนการทั้งสามประการ (การก่อสร้าง การบริหารจัดการ และการกำกับดูแล) กลายเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ และพื้นที่ดังกล่าวก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมหาอำนาจ

เพราะรัฐบาลไทยอาจไม่มีขีดความสามารถเช่นนี้เพียงพอ

6) อาจจะต้องตระหนักเพิ่มเติมว่า พื้นที่ทางทะเลที่จะถูกเชื่อมต่อนี้อาจจะไม่ใช่ร่องน้ำลึก เรือที่จะใช้เส้นทางนี้อาจจะมีข้อจำกัดของระดับน้ำทะเล และขณะเดียวกันในคลองที่เป็นจุดเชื่อมต่อนั้น เรือสินค้าขนาดใหญ่ไม่อาจใช้ความเร็วได้มาก เช่น เรือใหญ่อาจใช้ความเร็วได้ไม่มากนัก หรืออาจอยู่ประมาณ 5 น็อต เพราะถ้าใช้ความเร็วมากขึ้นก็จะก่อให้เกิดคลื่นใหญ่กระแทกชายฝั่งจนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

ฉะนั้นความเชื่อว่า เส้นทางคอคอดกระจะช่วยย่นระยะทางการเดินเรือจากทะเลอันดามันไปสู่ทะเลจีนใต้ ก็อาจจะไม่ได้ย่นระยะเวลาอย่างมีนัยสำคัญ และทั้งเส้นทางช่องแคบมะละกายังคงเป็นเส้นทางหลักของการขนส่งทางทะเล ที่แม้จะมีความคับคั่ง แต่ก็ยังเป็นเส้นทางที่สะดวกและเอื้อต่อการขนส่งทางทะเลขนาดใหญ่

จนไม่มีความชัดเจนว่า หากการขุดคลองเสร็จจริงแล้ว เส้นทางคมนาคมทางเรือในภูมิภาคจะย้ายจากช่องแคบมะละกามาที่คอคอดกระ

7) แนวคิดทางยุทธการว่าด้วยการเคลื่อนย้ายกำลังรบทางทะเลของกองทัพเรือไทย โดยผู้สนับสนุนการขุดคลองพยายามจะหาความสนับสนุนจากกองทัพเรือว่า การมีคลองเช่นนี้จะทำให้กองทัพเรือสามารถเคลื่อนย้ายกำลังรบจากพื้นที่ของฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งทะเลอันดามันได้สะดวกขึ้น

แต่ในความเป็นจริงแล้วกองทัพเรือได้จัดวางกำลังไว้ทั้งสองฝั่งอยู่แล้วในยามปกติ

แต่ในยามสงคราม พื้นที่คลองเช่นนี้จะเป็นเป้าหมายของการโจมตีและ/หรือการยึดครองอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัฐมหาอำนาจที่ต้องการควบคุมคลองนี้ด้วยเหตุผลของการเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ และเหตุผลของการเคลื่อนย้ายกำลังที่ต้องอาศัยเส้นทางนี้

ดังนั้น คลองที่เชื่อมทะเลเช่นนี้ย่อมจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญในยามสงคราม และเป็นจุดที่มีความละเอียดอ่อนทางการเมืองในยามสันติ

8) หากพิจารณาจากการพัฒนาและการขยายตัวของเส้นทางทางบกในลักษณะของ “ระเบียงเศรษฐกิจ” ชุดต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ผลตอบแทนของการขุดคอคอดกระต่อระบบขนส่งของไทยนั้น อาจจะไม่มาก คลองนี้ตอบสนองต่อผลประโยชน์ทางทะเลของรัฐมหาอำนาจอย่างชัดเจน

ซึ่งสำหรับรัฐไทยที่มีสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นรัฐบนภาคพื้นทวีปนั้น การสร้างระบบขนส่งทางบกทั้งระบบถนนและระบบรางอาจจะตอบสนองต่อการพัฒนาระบบขนส่งของประเทศมากกว่าการลงทุนขนาดใหญ่ในการขุดคลองเชื่อมทะเล

หรืออีกนัยหนึ่งการลงทุนในโครงการเช่นนี้อาจไม่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศมากเท่ากับตอบสนองต่อผลประโยชน์ของรัฐมหาอำนาจ

อีกทั้งการเกิดของระเบียงทางบกที่เชื่อมจากชายฝั่งทะเลอันดามันเข้าสู่ตัวภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อไทย และยังพึ่งพาการลงทุนจากภายนอกน้อยกว่ามาก

9) สภาวะของการมีพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อยู่ในประเทศ ย่อมทำให้ประเทศไทยมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากขึ้นจากสถานะเดิมอย่างแน่นอน และในภูมิทัศน์ใหม่ของเอเชียที่การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่เป็นองค์ประกอบสำคัญนั้น การเมืองภายนอกจะเข้ามามีบทบาทต่อการเมืองภายในของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และน่ากังวลว่ารัฐมหาอำนาจภายนอกที่จะมีบทบาทในการควบคุมคลองนี้อาจจะต้องการเห็นรัฐบาลกรุงเทพเป็นรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายสอดคล้องกับรัฐมหาอำนาจนั้น

บทความนี้มิได้บอกว่าการมีคลองเช่นนี้จะนำไปสู่การแทรกแซงของรัฐมหาอำนาจภายนอกเสมอไป

แต่ด้วยความเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์นั้น รัฐบาลท้องถิ่นจะต้องตระหนักเสมอถึงบทบาทและปัจจัยมหาอำนาจที่จะมีต่อการเมืองของตน

และหากคลองนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมหาอำนาจใดก็เท่ากับส่งสัญญาณถึงการเลือกข้างของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และจะส่งผลให้นโยบายต่างประเทศของไทยมีความยืดหยุ่นน้อยลง หรืออาจไม่ยืดหยุ่นเลย และต้องผูกติดอยู่กับรัฐมหาอำนาจดังกล่าว

และในทางกลับกันรัฐมหาอำนาจนั้นก็มีความจำเป็นในทางยุทธศาสตร์ที่จะต้องควบคุมทิศทางการเมืองของรัฐท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่คลองอีกด้วย

10) มีความพยายามที่จะอธิบายถึงความจำเป็นในการขุดคอคอดกระว่าจะเป็นปัจจัยในการสร้าง “สมุททานุภาพ” ของไทย

แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีความชัดเจนว่า ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ในการสร้างสมุททานุภาพอย่างไร

และสมุททานุภาพนี้คืออะไรในยุทธศาสตร์ไทย

แต่ในอีกด้านหนึ่งหากพิจารณาแคบลงในกรอบของ “นาวิกานุภาพ” แล้ว รัฐไทยในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้มีนาวิกานุภาพขนาดเล็กแต่อย่างใด จำนวนกำลังพลประจำการของกองทัพเรือไทยมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และใหญ่กว่ากองทัพเรืออินโดนีเซีย

แม้จะมีเรือฟรีเกตมากเป็นอันดับสาม (อินโดนีเซียมากเป็นอันดับหนึ่ง และมาเลเซียเป็นอันดับสอง) แต่กองทัพเรือไทยเป็นกองทัพเดียวที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการ ในมุมมองเช่นนี้การขุดคอคอดกระอาจจะมิได้เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างสมุททานุภาพของไทยเท่าใดนัก

เว้นแต่จะอธิบายในทางกลับกันว่า เมื่อมีคลองกระแล้ว ทำให้ประเทศจำเป็นต้องมีเรือรบเพิ่มมากขึ้น หรือการมีคลองเช่นนี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการขยายจำนวนเรือรบต่างหาก

และคลองดังกล่าวของไทยอาจจะไม่เป็นสมุททานุภาพตามแนวคิดของนักการสงครามทางทะเลอย่างที่ชอบอ้างถึงอัลเฟรด มาฮาน (ผู้ลูก) ก็ได้ หากคลองนั้นตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐเจ้าของทุน

ปัญหาที่นำเสนอเป็นข้อพิจารณาทั้งสิบประการเช่นนี้ ก็เพื่อทำให้การถกแถลงปัญหาทางยุทธศาสตร์ของคอคอดกระมีความชัดเจนมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่สำคัญก็คือ การมีคลองเช่นนี้ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ที่สำคัญของไทยอย่างไรหรือไม่

และในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ใหม่ทางยุทธศาสตร์ทั้งในเอเชียและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เส้นทางขนส่งทางทะเลใหม่ที่จะผ่านคลองกระของไทย ดูจะตอบสนองต่อการเชื่อมต่อเส้นทางยุทธศาสตร์ทางทะเลของรัฐมหาอำนาจเอเชียมากกว่าจะเป็นผลประโยชน์ของไทย…

คำถามพื้นฐานเช่นนี้มีความสำคัญที่จะต้องตอบให้ได้ในเบื้องต้น

และที่สำคัญโจทย์ยุทธศาสตร์ชุดนี้ไม่ได้ตอบด้วยเรื่องกำไรขาดทุนในทางเศรษฐกิจ

หรือสุดท้ายรัฐไทยต้องการจะเป็นเพียงรัฐผู้ “เกาะขบวน” (bandwagon) ของรัฐมหาอำนาจ เพราะรัฐมหาอำนาจดังกล่าวอยู่ในกระแสขาขึ้นเท่านั้น!