วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (16)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยแรกกับรากฐานเอกภาพใหม่ (ต่อ)

การค้นพบวิธีการเกษตรที่ก้าวหน้าหรือเครื่องมือที่ช่วยในการเกษตรนี้ แม้จะเห็นภาพที่ผลผลิตจะเพิ่มได้มากก็จริง

แต่ภาพที่ว่าย่อมสัมพันธ์กับนโยบายของจักรวรรดิด้วย ส่วนหนึ่งของประเด็นนี้ได้กล่าวถึงไปบ้างแล้วในส่วนที่ว่าด้วยการเมืองของฮั่นสมัยแรก

โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับภาษีที่ผ่อนปรนในสมัยเหวินจิ่ง และที่เข้มงวดขูดรีดในสมัยฮั่นอู่ตี้ หรือนโยบายผูกขาดการค้าเหล็กกับเกลือ การขายตำแหน่งขุนนาง และการควบคุมราคาสินค้า เป็นต้น เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตที่เสพสุขของฮั่นอู่ตี้ และเพื่อบำรุงกองทัพที่ทำศึกกับซย์งหนูนั้น ทำให้เห็นได้ว่า นโยบายในสมัยของฮั่นอู่ตี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจได้รับผลสะเทือนมากที่สุด

ที่จะกล่าวเพิ่มเติมในที่นี้ก็คือ นโยบายภาษีของฮั่นอู่ตี้ในส่วนที่เกี่ยวกับพ่อค้าและนายเงิน (นายทุนเงินกู้) ที่เริ่มเมื่อ ก.ค.ศ.119 นั้น ในเวลาที่ว่านี้ฮั่นอู่ตี้ได้เก็บภาษีจากบุคคลทั้งสองกลุ่มนี้อย่างหนัก

โดยบุคคลสองกลุ่มนี้จะถูกเก็บภาษี 2 หน่วยจากรายได้ทุกๆ 4,000 เหรียญ และในขณะที่ 1 หน่วยเท่ากับ 120 เหรียญ สองหน่วยจึงเท่ากับ 240 เหรียญ

ที่ว่าถูกเก็บอย่างหนักนี้เป็นไปเมื่อเปรียบเทียบกับที่เก็บจากช่างหัตถกรรมที่จะอยู่ที่ 1 หน่วย และถ้าเป็นราษฎรทั่วไปที่ส่วนใหญ่คือชาวนานั้น กลุ่มหลังจะถูกเก็บ 1 หน่วย โดยวัดจากการมีหรือเป็นเจ้าของเกวียนที่เทียมด้วยม้า 1 คัน

กล่าวอีกอย่าง หากชาวนารายใดที่ไม่มีหรือมิได้เป็นเจ้าของเกวียนเทียมม้า 1 คันก็จะเสียภาษีที่ต่ำกว่า 1 หน่วยนั้นเอง

ที่สำคัญ การที่จะเก็บจากพ่อค้าหรือนายเงินให้ได้ตามจำนวนดังกล่าวนี้จะดูจากบัญชี ซึ่งมีระเบียบว่าบุคคลสองกลุ่มนี้ (พ่อค้าและนายเงิน) จะต้องนำส่งให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการคิดภาษี และถ้าหากถูกจับได้ว่าบัญชีที่ทั้งสองกลุ่มนำส่งมีการตกแต่งตัวเลขแล้ว บุคคลนั้นก็จะถูกลงโทษด้วยการถูกยึดทรัพย์และถูกส่งไปเป็นทหารรักษาชายแดนเป็นเวลาสองปี

จากเหตุนี้ จึงมีการยึดทรัพย์ จึงมีพ่อค้าและนายเงินที่ถูกยึดทรัพย์ บ้าน และทาสเป็นจำนวนมากในยุคนี้

 

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า นโยบายนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดที่เห็นว่าทั้งพ่อค้าและนายเงินคือบุคคลที่ได้เปรียบในสังคม คือเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้สร้างผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ทำได้เพียงซื้อมาขายไปโดยง่ายและโดยไร้ทักษะทางการผลิตใดๆ

ฐานคิดดังกล่าวมีมายาวนานก่อนที่จักรวรรดิจีนจะเกิดหลายร้อยปี ซ้ำยังเป็นฐานคิดที่สอดคล้องกับหลักคิดของสำนักหญูที่ฮั่นอู่ตี้สมาทาน จนให้ประกาศใช้เป็นหลักคิดสำหรับการปกครองในสมัยของพระองค์ และหลังจากนั้นสืบต่อกันมาอีกไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี

นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจภายในแล้ว ต่อเศรษฐกิจภายนอกก็เป็นอีกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในฮั่นสมัยแรกเช่นกัน ซึ่งก็คือการค้าต่างประเทศ ที่ในยุคนี้ฮั่นได้ผูกไมตรีกับบางชาติในเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก

เช่น เฟอร์กานา (ชาติที่อยู่ทางภาคตะวันออกของอุซเบกิสถานในปัจจุบัน) คังจีว์ (เป็นคำเรียกของชาวจีน ชาตินี้มีที่ตั้งอยู่ตลอดแนวแม่น้ำซีร์ดาร์ยา ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของคาซักสถาน) ต้าเซี่ย (เป็นคำเรียกชาติบักเตรีย) พาร์เทีย (อิหร่านในปัจจุบัน) และหยวนตู้ (คำเรียกอินเดียของชาวจีน ปัจจุบันคืออนุทวีปอินเดีย) เป็นต้น

โดยราชสำนักฮั่นได้ส่งคณะทูตไปเยือนชาติเหล่านี้ การมีไมตรีเช่นนี้ทำให้จีนได้รู้จักม้าพันธุ์ดี เหล้าองุ่น ทับทิม เครื่องกระเบื้องเคลือบเงา พรมขนสัตว์ ฯลฯ

นอกจากนี้ ในยุคนี้ก็ยังมีการค้าทางทะเลกับอินเดียผ่านแนวชายฝั่งด้านตะวันออก บางชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีพื้นที่ของกว่างตงและกว่างซีในปัจจุบันเป็นสถานีการค้า ส่วนทางตะวันออกของจักรวรรดิก็มีการค้ากับญี่ปุ่นและเกาหลีอีกด้วย

การค้าต่างประเทศนี้ทำให้เห็นว่า ฮั่นสมัยแรกอาจเป็นราชวงศ์แรกที่บุกเบิกการค้าเช่นนี้ขึ้นมา โดยราชวงศ์ในชั้นหลังก็สืบทอดต่อๆ กันมาเช่นกัน

 

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของฮั่นสมัยแรกนี้จะมิอาจรุ่งเรืองได้เลยหากจักรวรรดิไม่มั่นคง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจักรวรรดิที่มั่นคงนี้ไม่ได้หมายเพียงทางด้านการเมืองเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการวางรากฐานในด้านต่างๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลักคิดสำนักหญูในการปกครอง การมีระบบการบริหารที่เป็นระบบมากขึ้น หรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นต้น

ในทางตรงข้าม ถ้าหากองค์ประกอบเหล่านี้หยุดชะงัก ไม่เหมาะสมัย ไร้การต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น หรือตกอยู่ในมือของจักรพรรดิที่ไร้ความรู้ความสามารถแล้ว เศรษฐกิจที่ว่าก็มิอาจรุ่งเรืองได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากจักรพรรดิของฮั่นสมัยแรกหลังจากฮั่นเจาตี้และฮั่นซวนตี้ไปแล้ว ที่มิได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้แก่ราชวงศ์แม้แต่น้อย

ได้แต่เสพสุขกับบุญเก่าที่บรรพจักรพรรดิทิ้งไว้ให้ จนนำไปสู่การล่มสลายในที่สุด

 

จ.สรุป : สู่พื้นฐานจักรวรรดิใหม่

เรื่องราวของฮั่นสมัยแรกจากที่กล่าวโดยตลอดนี้บอกให้รู้ว่า การเกิดขึ้นของราชวงศ์ฮั่นแม้มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นเดียวกับราชวงศ์ฉินก็จริง แต่นัยสำคัญที่แฝงในความยากลำบากก็คือ เอกภาพของจีนทั้งมวล

เอกภาพนี้อาจเป็นทั้งความจำเป็น ความสำคัญ หรือเป็นสิ่งที่จะนำซึ่งความสงบสุข หากเป็นเช่นนี้จริงแล้วก็เป็นอันเข้าใจได้ว่า เหตุใดรัฐใหญ่น้อยทั้งหลายจึงยอมทุ่มเทพลังงานและทรัพยากรอย่างมหาศาลเพื่อสิ่งนี้

อย่างไรก็ตาม แม้เอกภาพจะเป็นสิ่งที่รัฐส่วนใหญ่ปรารถนาต้องการไม่ต่างกับยุคก่อนราชวงศ์ฉิน (ซึ่งฉินทำได้สำเร็จ) แต่กล่าวสำหรับฮั่นแล้วได้เท่ากับตอกย้ำว่า เอกภาพเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

และสิ่งที่ฮั่นทำได้ดีกว่าฉิน (โดยสรุปบทเรียนจากฉิน) ก็คือ มาตรการต่างๆ ในการสร้างจักรวรรดิที่ไม่เข้มงวดจนเกินไป และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เห็นว่าจักรวรรดิควรมีหลักคิดในการเมืองการปกครองเพียงสำนักเดียว ฮั่นก็เลือกเอาสำนักหญูของขงจื่อ

ส่วนหลักคิดของสำนักอื่นแม้จะไร้บทบาท แต่ก็ไม่ได้ถูกทำลายให้สิ้นซาก และยังมีที่ยืนและหายใจของตนอยู่ในสังคมได้

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของฮั่นจากที่กล่าวมานั้นยังทำให้เห็นอีกด้วยว่า บุคคลแวดล้อมที่เข้ามามีบทบาททั้งก่อนและหลังตั้งราชวงศ์ก็มีความสำคัญต่อฮั่นด้วยเช่นกัน

บุคคลเหล่านี้แม้จะมีภูมิหลังที่น่าสนใจหรือกระทั่งพิสดารไม่ต่างกับบุคคลที่แวดล้อมฉิน แต่ที่ต่างออกไปคือ การที่บุคคลเหล่านี้มีทั้งที่สังกัดและไม่สังกัดสำนักคิด และที่มีก็มาจากสำนักคิดต่างๆ แต่ทั้งหมดนี้ต่างก็อยู่ร่วมกับฮั่นอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยก่อนจะตั้งราชวงศ์

และเมื่อตั้งราชวงศ์แล้วก็มีส่วนไม่น้อยในการสร้างฮั่นให้แข็งแกร่ง แต่ก็มีส่วนไม่น้อยที่บั่นทอนเสถียรภาพของฮั่นให้อ่อนแอลง จนเมื่อเวลาผ่านไปบุคคลเหล่านี้ก็ปรากฏฐานะที่ชัดขึ้นว่าคือเสนามาตย์ (ขุนนางและขุนศึก) และญาติฝ่ายมเหสี (หรือราชชนนี)

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งแม้จะไม่ชัดเจนในฮั่นสมัยแรก (แต่ชัดเจนในสมัยฉิน) ก็คือขันทีนั้นจะปรากฏชัดเจนต่อไปในฮั่นสมัยหลัง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แยกออกจากการสร้างจักรวรรดิฮั่นไปไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งคือ การที่ในยุคนี้มีความก้าวหน้าในวิทยาการที่สนองตอบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตรอย่างยิ่ง จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ก็ว่าได้ เพราะวิทยาการในยุคนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานให้ยุคหลังๆ ได้ต่อยอดให้ก้าวหน้ามากขึ้น

แต่ก็ควรกล่าวด้วยว่า วิทยาการที่สนองตอบเศรษฐกิจภาคเกษตรให้เจริญยิ่งขึ้นนี้นับว่ามีผลต่อการปกครองของฮั่นไม่น้อย เพราะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นได้กลายเป็นปัจจัยให้ฮั่นต้องใช้นโยบายด้านภาษีที่ก้าวหน้าขึ้นมา นโยบายนี้มุ่งใช้กับกลุ่มพ่อค้าและนายเงินอย่างเป็นด้านหลัก

ทั้งนี้ ยังมินับนโยบายการสร้างข้อจำกัดทางอำนาจที่ใช้กับเจ้าศักดินา ดังจะเห็นได้จากการบังคับให้เจ้าศักดินากระจายที่ดินให้แก่ทายาทเพื่อลดอำนาจ เป็นต้น

 

โดยสรุปแล้ว เอกภาพอันเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับจักรวรรดินั้นได้ถูกฮั่นสมัยแรกนี้วางไว้ได้ดีกว่าฉิน โดยมีปัจจัยของกลุ่มบุคคล หลักคิดที่สังกัดสำนักคิดที่แน่นอน การมีทักษะทางการบริหารและวิทยาการที่สนองตอบต่อเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานที่สำคัญ

แต่ทั้งหมดนี้ก็หมายเฉพาะฮั่นสมัยแรกเท่านั้น และก็ในสมัยนี้เองปัจจัยจากบุคคลบางกลุ่ม ประกอบกับการไร้ความรู้ความสามารถของจักรพรรดิ ก็นำพาให้จักรวรรดิฮั่นสมัยแรกต้องล่มสลายลง

หลังจากเวลาผ่านไป 231 ปี