ต่างประเทศอินโดจีน : อาชญากรรมกับกฎหมาย

หลายคนตั้งข้อสังเกตเอาไว้น่าสนใจว่า ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีลาว ภาคภูมิใจกับการที่ ไชชะนะ แก้วพิมพา พ่อค้ายาเสพติดชื่อดังของลาว ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในไทยหลังจากถูกจับกุมในข้อหาเป็นเจ้าของเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่เมื่อเดือนมกราคม ปีที่แล้ว

ซึ่งถือเป็นผลจากการร่วมมือกันใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ของประเทศทั้งสอง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังตั้งข้อสังเกตกันถึงว่า ท่านทองลุน อยากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำรัฐบาลลาวที่เอาจริงเอาจังกับอาชญากรรมมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา

ไม่นานหลังก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2016 ทองลุนประกาศห้ามการส่งออกซุง แล้วลั่นวาจาจะเอาโทษหนักกับนักการเมืองทั้งหลายที่พัวพันกับการค้าไม้ผิดกฎหมาย

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ถึงได้เกิดเหตุผู้ว่าราชการสองจังหวัด คือ อัตตะปือ กับ เชียงขวง ถูกจัดการสถานหนัก ไล่ออกจากตำแหน่งด้วยสาเหตุที่ว่านั้น

 

เมื่อต้นเดือนมีนาคมนี่เอง ท่านทองลุนกล่าวในที่ประชุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐบาลด้วยน้ำเสียงเข้มว่า ปัญหาใหญ่อย่างปัญหายาเสพติดและปัญหาอาวุธเถื่อนนั้น “จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข” และเสริมด้วยว่า “กระทรวงความปลอดภัยสาธารณะจำเป็นต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อบังคับใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นในการต่อต้านการค้ายาเสพติดและการค้าอาวุธเถื่อน”

สำทับต่อว่า ใครก็ตามที่ถูกจับกุมในข้อหาเหล่านี้ “จำเป็นต้องลงโทษสถานหนัก”

เหตุผลก็คือ “สิ่งนี้จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน เราต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่าเราจริงจังกับสิ่งเหล่านี้”

นักสังเกตการณ์การเมืองลาว ชี้ว่า ความพยายามในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความวิตกว่า หากสังคมเกิดปัญหาเหล่านี้สะสมและเพิ่มมากขึ้นทุกที ศรัทธาในตัวรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ลาวจะเสื่อมทรามลง

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด ในระบบการปกครองใด หากค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้น การใช้ยาเสพติดในสังคมเพิ่มมากขึ้น คอร์รัปชั่นนับวันยิ่งเลวร้ายลง

วิกฤตศรัทธาเกิดขึ้นได้โดยง่าย ยิ่งรัฐบาลภายใต้ระบบพรรคเดียวแบบลาว เรื่องเหล่านี้ยิ่งเป็นแกนหลักที่ทำให้ได้รับความนิยมชมชอบเรื่อยมา

 

นักวิเคราะห์การเมืองชาวลาวผู้หนึ่งซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ ชี้ให้เห็นจุดเด่นของรัฐบาลภายใต้การนำของท่านทองลุนเอาไว้ว่า ได้แสดงให้เห็นกันแล้วว่า “เต็มใจ” ที่จะปรับปรุงความโปร่งใสในการบริหาร หลังจากเกิดความล้มเหลวในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา “แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าการเต็มใจพยายามก็คือ รัฐบาลนี้จะทำได้มากน้อยแค่ไหน” ซึ่งต้องรอดูกันต่อไป

กระนั้น นับถึงเวลานี้ ประชาชนลาวก็ดูเหมือนจะ “พึงพอใจ” กับภาพโดยรวมของรัฐบาลใหม่กับแนวนโยบายที่ดูเหมือนพยายามกึ่งๆ จะปฏิรูปฝ่ายบริหารอยู่บ้างหลายอย่างหลายประการ

ตั้งแต่เรื่องของการกวาดล้างคอร์รัปชั่นมากขึ้นกว่าตรวจสอบและอุดช่องโหว่ที่รั่วไหลของรัฐ และพยายามจัดการกับอาชญากรรมอย่างจริงจัง

กระนั้น หลายคนก็ยังอดกังขาไม่ได้กับอีกบางอย่างที่ปรากฏให้เห็นแก่ตาเช่นเดียวกัน

ตั้งแต่เรื่องการเอาโทษสถานหนัก จำคุกเป็นเวลานานกับคนที่เอ่ยปากวิพากษ์วิจารณ์พรรคและรัฐ

เรื่อยไปจนถึงการปิดกั้นการแสดงออกด้วยการประท้วงในที่สาธารณะด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เรื่อยไปจนถึงข้อครหาที่กระทั่งว่า มีการทารุณกรรมนักโทษในที่คุมขัง เป็นอาทิ

ประเด็นน่าสนใจตรงนี้ก็คือ ทำอย่างไรลาวจึงสามารถก้าวขึ้นมาเป็น “นิติรัฐ” ที่ปกครองด้วยหลักกฎหมายอย่างเสมอหน้ากันได้ ไม่ใช่การกวัดแกว่งกฎหมายเพื่อใช้สำหรับคนเพียงกลุ่มหนึ่ง พวกหนึ่งเท่านั้น

เพราะในความเป็นจริง มีความแตกต่างอย่างยิ่งระหว่างการ “ติดอาวุธให้กฎหมาย” ด้วยการบังคับใช้อย่างจริงและเสมอภาค

กับการ “ใช้กฎหมายเป็นอาวุธ” ห้ำหั่นฝ่ายตรงกันข้ามตามอำเภอใจของผู้ถือกฎหมายนั่นเอง