ในประเทศ/’บิ๊กตู่’ หาเสียง ‘จุฬาฯ’ ฉุนขาด ป้ายนิสิต ‘รักลุงตู่’ (เผด็จการ) แทงใจ

ในประเทศ

‘บิ๊กตู่’ หาเสียง ‘จุฬาฯ’

ฉุนขาด ป้ายนิสิต

‘รักลุงตู่’ (เผด็จการ) แทงใจ

“พูดทั้งวัน เหนื่อยมาก วันนี้ไปมาหลายที่เจอคนหลายกลุ่ม แต่เจอประท้วงอยู่คนเดียวใส่หูฟัง ไม่อยากฟัง ก็อย่าฟัง แต่อย่าบ่นแล้วกัน ในวันหน้า”
‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณี นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตประธานสภานิสิต เข้าฟังปาฐกถาพิเศษโดย พล.อ.ประยุทธ์ ในหัวข้อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับการขับเคลื่อนประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน”
โดยนายเนติวิทย์ เปิดเผยว่า วันนี้เตรียมหน้ากากกรองอากาศและจุกโฟมอุดหู เพราะสถานที่นี้มีมลพิษทางอากาศและทางเสียง ส่วนปลอกแขนดำก็เป็นการไว้ทุกข์ให้ผู้บริหารจุฬาฯ ที่เชิญมาพูด ทั้งที่ไม่มีความโปร่งใสเรื่องคอร์รัปชั่น ถือว่าเป็นการกระทำที่ทำลายเกียรติของมหาวิทยาลัย
สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดเพียงแค่การพูดตลกไม่มีสาระอะไร เวลาที่จุฬาฯ จะเชิญใครมาปาฐกถา จะเชิญคนที่มีคุณภาพ จะเป็นคนใหญ่คนโตก็ได้ แต่ต้องมีมาตรฐานตอบโจทย์จุฬาฯ ได้ และวันนี้นายกฯ มาพูดตลกๆ สวยๆ ผู้บริหารจุฬาฯ ก็เชียร์กัน
เพราะข้อเสนอเท่าที่เห็น คือ ต้องการเงิน ไม่ได้ต้องการความจริง

โดยภารกิจสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อาคารสยามสแควร์วัน เยี่ยมชมการจัดการแสดงนิทรรศการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังจะเดินทางกลับ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ทีม รปภ. ได้กั้นนิสิตจุฬาฯ 3 คนที่มาชูป้าย “ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ)” ที่ขีดเส้นที่คำว่า ‘ลุงตู่’ โดยทีม รปภ. ได้ฉีกป้ายข้อความจนแหว่งด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวกับทีม รปภ. ว่า “ปล่อยเขาเถอะๆ อย่าไปทำร้ายอะไรเขาเลย ปล่อยเขา เขาไม่เข้าใจก็ปล่อยเขาไป ปล่อยเขาเถอะๆ ปล่อยเขาไป ไปเถอะ คนเก่ง เยี่ยม เก่งมาก”
ก่อนจะชี้นิ้วแล้วกล่าวกับนิสิตจุฬาฯ ที่ชูป้าย ว่า “เวลาประเทศเสียหาย ก็ออกมาด้วยนะ” ก่อนยุติการให้สัมภาษณ์และขึ้นรถด้วยสีหน้าเรียบนิ่ง

ต่อมาเฟซบุ๊กของ 3 นิสิต ได้ขึ้นแถลงการณ์ถึงกรณีการแสดงออกดังกล่าวตอนหนึ่งว่า ‘ชาวจุฬาฯ รักเผด็จการ’ เป็นข้อความที่ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม เราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในใจผู้บริหารของจุฬาฯ บางท่านอยู่แล้ว เป็นการแสดงออกถึงท่าทีและจุดยืนขององค์กรให้ชัดเจน ไม่ต้องเหนียมอายทำมาเป็นจัดงานปาฐกถาที่เนื้อหาของ พล.อ.ประยุทธ์ กลวงจนแทบจะจับหาสาระไม่ได้ แล้วนำมาเชิดชูว่าเป็นปาฐกถาที่สุดยอด
รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายสนับสนุนนวัตกรรม ซึ่งตรงกับเป้าหมายของจุฬาฯ แต่เนื้อแท้คือ การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องในการใช้องค์กรมาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของพวกคุณ
การบอกไปตรงๆ เลยว่า ‘ชาวจุฬาฯ รักเผด็จการ’ จึงเป็นคำที่ทั้งตรงและสื่อการกระทำของผู้บริหารของจุฬาฯ ในวันนี้ได้เป็นอย่างดี
จากการติดตามประวัติของนิสิตทั้ง 3 คน ล้วนมีความเชื่อมโยงกับ ‘เนติวิทย์’ เพราะเป็นเครือข่ายในสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน หรือ Chulalongkorn Community for the People (CCP) ที่เป็นจุด ‘หลอมรวม’ คนแนวคิดลักษณะนี้มาแต่เดิม
การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่อง ‘บังเอิญ’ แน่นอน
แต่ดูแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทราบดีถึงการ ‘ปราม’ ครั้งนี้ จึงสั่งให้ ‘ทีม รปภ.’ ปล่อยและไม่ให้กั้น พร้อมกล่าวเชิงประชดประชันกลับแทน
แน่นอนว่า ‘ไม่คุ้ม’ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องไปปรามเอง เพราะจะเสีย ‘บทบาท’ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เล่นมาแต่เดิม ในการเป็น ‘ลุงตู่’ ที่ต้องมีความ ‘เมตตาปรานี’ แกม ‘ดุดัน’ ต่อสิ่งที่ใหญ่กว่านี้ แค่เพียงนิสิตชูป้ายแสดงออก จึง ‘ไม่คุ้ม’ ที่จะต้องไป ‘ทุ่ม’ เสียหมด
อีกทั้งฝ่ายความมั่นคง จะต้องทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยของ ‘ทีม รปภ.’ เพราะ 3 นิสิตเกือบประชิดนายกฯ ได้ แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ได้ใส่ใจหรือมองว่าเป็นประเด็นภัยความมั่นคง เพราะมองเป็นเพียงการแสดงออกของนิสิตเท่านั้น
ล่าสุดมีรายงานว่า ฝ่ายความมั่นคงได้ติดตามนิสิตกลุ่มนี้ไปถึงบ้านพัก คณะ เพื่อสอบถามประวัตินิสิต และการติดตามไปยังสถานที่ต่างๆ นับจากเกิดเหตุเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา

แต่สิ่งใหญ่กว่าอยู่ที่ ‘นัยยะ’ การลงพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเข้าไปใน ‘ฐานที่มั่น’ ที่สำคัญ เป็นแหล่งรวม ‘ปัญญาชน’ ของสังคมและแนวหน้าของประเทศ ตามคำว่า ‘เสาหลักของแผ่นดิน’ และได้รับเชิญมาพูดเรื่อง ‘คนรุ่นใหม่’ และ ‘การเปลี่ยนผ่าน’ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแคมเปญหาเสียงที่สำคัญของยุค ที่ถูกเปิดโดยว่าที่พรรคอนาคตใหม่ นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จนทำให้พรรคอื่นต้องทำตาม
เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หาเสียงกับพื้นที่คนรุ่นใหม่ และ ‘ไอติม’ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หลานชายอภิสิทธิ์ ที่ประกาศเป็น ‘ประชาธิปัตย์รุ่นใหม่’ หรือแม้แต่พรรคเพื่อไทย ก็พยายามชูเรื่อง ‘คนรุ่นใหม่’ มากขึ้น
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารด้วย ย่อมสะท้อนว่า ‘นักวิชาการ-ชนชั้นนำ’ ของสังคมยังคง ‘ยอมรับ’ การดำรงอยู่ในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะผ่านมาเกือบ 4 ปีเต็มแล้วก็ตาม อีกทั้งการกล่าวบนเวทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ล้วนถูก ‘เซ็ตข้อความ’ มาแล้วว่าจะสื่อสารสิ่งใดบ้าง จึงไม่ใช่การคิดสดไปเสียหมด อีกทั้งการมี ‘ภาษา’ หรือ ‘หยอดคำหวาน’ โดนใจวัยรุ่นให้ได้ยินตลอดการกล่าวบนเวที
“จุฬาเปรียบเสมือนบ้าน เพราะผมมาที่นี่บ่อย มารับลูกบ้าง รับภรรยาบ้าง ลูกสาวของผมจบคณะนิเทศศาสตร์ ส่วนภรรยาผมก็สอนที่นี่ ผมจึงมีความใกล้ชิดกับจุฬาฯ เป็นพิเศษ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ เองถือว่ามีความเชี่ยวชาญในการพยายาม ‘โยง’ พื้นที่ที่ตนไปให้มาอยู่ใน ‘ประวัติ’ ตนเอง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เคยมาเรียนภาษาที่ ศูนย์ภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วพบกับ รศ.นราพร จันทร์โอชา ภริยา
อีกทั้งได้เยี่ยมชมคณะแพทยศาสตร์ โดยผู้แทนคณะได้ติดเข็มกลัด โดยนายกฯ ได้กล่าวว่า “ติดเข็มกลัดแล้ว เดี๋ยวลุงจะเป็นหมอแล้ว” พร้อมทำมือ I love You เคาะที่หัวใจ แล้วกล่าวว่า “อย่าลืมคนแก่คนนี้ รักคนแก่คนนี้ด้วย เจอที่ไหนขอให้ทักทายคนแก่คนนี้ด้วยนะ”
“ทุกวันนี้ทำงานเยอะมาก ปัญหาก็เยอะ บางวันก็จำอะไรไม่ได้เลย บางครั้งตื่นมายังจำตัวเองไม่ได้ แต่พอแต่งตัวเพื่อที่จะทำงาน ก็นึกได้ว่ายังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

แต่สิ่งที่เป็น ‘เนื้อหาหนัก’ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ สื่อสารไปยังผู้บริหารและนิสิตที่มานั่งฟัง คือ เรื่องประชาธิปไตยที่เป็นกระแส ‘ทัดทาน’ การอยู่ในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ เอง
อีกทั้งมหาวิทยาลัยก็เป็นพื้นที่ถกเถียงและการรวมตัวของ ‘ปัญญาชน’ ที่จะเติบโตขึ้นไปในอนาคต ซึ่งเป็น ‘ฐาน’ ที่ใช้ล้มรัฐบาลทหารในอดีตมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งเดือนตุลาคม ปี 2516 และพฤษภาทมิฬ 2535 ด้วยเหตุผลการ ‘เสียสัตย์’ และ ‘สืบทอดอำนาจ’ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ทำอย่าง ‘แยบยล’ มากขึ้น ผ่านกลไกตามรัฐธรรมนูญ ที่เปิดช่อง ‘นายกฯ คนนอก’ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
“ก็เอาสิ ก็เลือกเอา เลือกตั้งว่าจะไม่พูด ก็คอยดูกันต่อไปแล้วกัน อาจดีก็ได้ แต่อย่ามาโทษผมอีกก็แล้วกัน ต้องไปดูยุทธศาสตร์ 20 ปี มาบอกว่าผมจะสืบทอดอำนาจ จะอยู่ไปทำไม 20 ปี แค่นี้อายุก็ 60 กว่าแก่จะตายอยู่แล้ว พักผ่อนบ้างสิ อย่าไปมองอย่างนั้น เพราะมันมีปรับได้ทุกคนขึ้นมาทำ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“ประชาธิปไตยเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เราใช้ระบบเสรีนิยม ในบางตำราการปฏิบัติตัวก็ไม่ได้เขียนไว้ แต่เราต้องคิดด้วยว่าถึงเวลานี้จะต้องทำอย่างไร ขอฝากนิสิตนักศึกษาทุกคนว่าความรู้ในตำราอาจจะใช่หรือไม่ใช่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลง สถานการณ์ที่ผมมาจุฬาฯ ในวันนี้ก็ไม่เหมือนเดิม”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่ามหาวิทยาลัยมีจุดหมายในการของบประมาณในการมาพัฒนา แน่นอนว่าการพัฒนาสิ่งสำคัญอยู่ที่ ‘คน-แผน-เงิน’ จึงเชื่อมโยงกับการเข้าสู่อำนาจของ ‘ผู้บริหาร-คณาจารย์’ จากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง สู่พื้นที่ ‘ต่อรองทางอำนาจ’ เพื่อดึงทรัพยากรกลับมหาวิทยาลัย เช่น การนั่งอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นต้น
ซึ่ง ‘รัฐบาล-คสช.’ ก็ใช้จุดนี้ในการ ‘ถ่วงดุล’ กับบรรดา ‘องคาพยพ’ เหล่านี้
เพราะที่ผ่านมา ‘รัฐบาล’ ลงงบประมาณไปกับ ‘ชาวบ้าน’ และ ‘คนระดับล่างถึงกลาง’ กับโครงการไทยนิยมยั่งยืนไปแล้ว
โดย ‘สถาบันอุดมศึกษา’ ซึ่งเป็นที่อยู่ของ ‘เทคโนแครต-ปัญญาชน’ จึงเป็นลำดับต่อมา
รอดู ‘มหาวิทยาลัย’ ใด จะเป็น ‘คิว’ ต่อไป!!