คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / ยุบภาควิชา : บริหารการศึกษาที่ก้าวหน้า หรือถอยหลังเข้าคลอง (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

พิพัฒน์ สุยะ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

สถานการณ์และปัญหาในบทความนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นจะเป็นเรื่องเฉพาะของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าปัญหาดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ของแวดวงการศึกษาไทย โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาได้เป็นอย่างดี

และมหาวิทยาลัยบางแห่งก็ดำเนินการไปแล้วและพบกับปัญหาต่างๆ มากมาย จนต้องกลับมาขอจัดตั้งภาควิชาขึ้นมาใหม่ แต่ก็ยุ่งยากซับซ้อนใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7 ปี

บางมหาวิทยาลัยกำลังเผชิญกับการยุบภาควิชา

และบางมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่ก็คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นในอนาคตอันใกล้นี้

ฉะนั้น ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เรียกร้องให้สาธารณะเข้ามามีส่วนร่วม

เพราะมหาวิทยาลัยของรัฐคงไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งที่จะดำเนินการอย่างไรก็ได้

ปัญหาเรื่อง “ยุบภาควิชา” ในมหาวิทยาลัยนั้นดูเหมือนว่าส่วนใหญ่จะอ้างถึงการบริหารจัดการ

แต่เป็นการบริหารจัดการที่สะดวกต่อผู้บริหารเท่านั้นหรือไม่

เพราะในคำชี้แจงของผู้บริหาร เราแทบจะไม่ได้ยินคำว่าคุณภาพการศึกษาแต่อย่างใด

ในบทความนี้จึงเป็นคำถามของ “ภาควิชา” หนึ่ง ที่กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าว และคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์มิน้อยสำหรับภาควิชาอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน

 

(1)

เปลี่ยนแล้วดีขึ้นเราเรียกพัฒนา เปลี่ยนแล้วแย่กว่าคือถอยหลังเข้าคลอง

ผลจากนโยบาย “มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ” หรือเป็นที่รู้จักกันดีว่า “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้มหาวิทยาลัยดำเนินการได้อย่างเป็นอิสระ

สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นตัวของตัวเอง

มีความคล่องตัวและมีเสรีภาพทางวิชาการ โดยมีการบริหารการจัดการอิสระแยกจากระบบราชการ แต่ยังได้รับเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐจัดสรรให้เป็นรายปีโดยตรง เพื่อใช้จ่ายตามความจำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และเพื่อประกันคุณภาพการศึกษา

พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2559 ก็เป็นผลเนื่องมาจากนโยบาย “มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ” ดังกล่าว

ทำให้มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐอย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ร.บ. ดังกล่าวก็ยังคงจุดประสงค์ของนโยบายมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐไว้เช่นเดิม

ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับความมีเสรีภาพและความเป็นเลิศทางวิชาการ

มาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติ

การบริหารอย่างมีคุณภาพ ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้, มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการ, การบริหารแบบมีส่วนร่วม ฯลฯ

มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงดำเนินการต่างๆ ตามจุดประสงค์ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งได้ออกประกาศเรื่องการจัดตั้ง การรวม การยุบเลิกส่วนงานต่างๆ ในการบริหารงานมหาวิทยาลัยเพื่อการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ใน พ.ร.บ. ไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ว่า ควรยุบ ควบรวมหรือจัดตั้งหน่วยงานใดบ้าง

ฉะนั้น จึงเป็นความคิดของผู้บริหารมหาวิทยาลัยปัจจุบันที่เห็นว่าการจัดตั้ง การรวม การยุบส่วนงานต่างๆ ควรเป็นอย่างไร โดยออกเป็นประกาศให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติตาม

นี่จึงเป็นที่มาของปัญหาการยุบภาควิชาเป็นสาขาวิชา

ซึ่งคงไม่มีใครคัดค้านหากการยุบภาควิชา แล้วจะทำให้คณะและมหาวิทยาลัยมีการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือคุณภาพการศึกษาพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น

แต่นี่เปล่าเลย ออกจะมีแนวโน้มตรงกันข้ามด้วยซ้ำ

โดยปกติของผู้คนที่มีสติสัมปชัญญะ เมื่อจะปรับเปลี่ยนสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นจะต้องเสีย ชำรุดหรือมีข้อบกพร่องต่างๆ มากมายจึงจะปรับเปลี่ยน

แต่เมื่อสอบถามอธิการบดี (ในงานนำเสนอนโยบายเรื่องนี้ที่คณะอักษรศาสตร์) ว่า ข้อเสียของการมีภาควิชาคืออะไร ข้อดีของการเป็นสาขาวิชาคืออะไร

ผลคำตอบที่ได้รับ คือ ความว่างเปล่า

ท่านทำได้แค่ท่องคาถาว่า เราต้องปรับเปลี่ยน เพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป

แต่ปรับเปลี่ยนทำไม เพราะเหตุใด ไม่รู้

และเหตุผลที่ชี้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงแล้วต้องยุบภาควิชาคืออะไร ก็ไม่สามารถชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงได้

หลายคนจึงสงสัยว่า เวลาผู้บริหารออกประกาศต่างๆ มานั้นได้มีการทำวิจัยองค์กรหรือไม่ มีการศึกษาข้อดีข้อเสียของการปรับเปลี่ยนเช่นนี้จากสถาบันอื่นที่มีประสบการณ์ที่ผ่านมาหรือไม่ แต่จากคำตอบที่ได้ก็คงพอจะรู้คำตอบดีว่าเป็นเช่นไร

 

แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะบอกว่า ภาควิชา สามารถมีได้ต่อไปในคณะวิชาต่างๆ ทว่าภาควิชาใดจะคงเป็นภาควิชาจะต้องมีเกณฑ์ดังนี้

1) ต้องมีอย่างน้อย 2 หลักสูตรคือ ระดับปริญญาตรี 1 หลักสูตร และระดับบัณฑิตศึกษา 1 หลักสูตร

2) ต้องมีอาจารย์ประจำจำนวน 10 คนขึ้นไป

3) สามารถเลี้ยงตัวเองได้และมีอาคารสถานที่เป็นของตนเอง

หากพิจารณาดูผิวเผิน ก็จะเห็นว่าเกณฑ์ดังกล่าวก็ไม่เห็นว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด

แต่หากพิจารณาทีละข้อก็จะเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ต้องการให้มีภาควิชาตั้งแต่ต้น ถึงกำหนดเกณฑ์เช่นนี้มา ลองพิจารณาดูเป็นข้อๆ

จากข้อ 3) แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะตัวมหาวิทยาลัยเองก็ยังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เพราะพึ่งพางบประมาณจากรัฐมาสนับสนุนอยู่แล้ว การให้ภาควิชาสามารถเลี้ยงตัวเองได้ จึงเป็นเกณฑ์ที่เป็นไปไม่ได้

ถึงแม้อธิการบดีจะอ้างว่าคณะทางสายวิทยาศาสตร์สามารถทำได้ (และอธิการบดียังกล่าวว่า นำโมเดลนี้มาจากคณะทางสายวิทยาศาสตร์) แต่ถามให้ถึงที่สุด ว่าคณะดังกล่าวใช้งบประมาณตัวเองทั้งหมดหรือไม่ คงไม่ใช่อย่างแน่นอน

เพราะอาคารสถานที่นั้นมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว

ตลอดจนอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่เป็นพนักงานงบประมาณแผ่นดินมีจำนวนเท่าไหร่ ทั้งหมดทั้งมวลนั้นท่านอธิการมิได้พูดถึงแต่อย่างใด

พอผู้เข้าฟังสอบถามว่านิยาม “การเลี้ยงตัวเองได้” คืออะไร ท่านตอบอย่างน่ารักว่า แล้วแต่จะตีความกันเอง

ฉะนั้น ข้อนี้คงต้องตกไปถ้าหากตอบเช่นนี้

 

กล่าวสำหรับคณะอักษรศาสตร์ บริหารงานต่างจากคณะทางสายวิทยาศาสตร์ ที่เราเน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน

คณะส่วนกลางมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ การเงิน พัสดุ ฯลฯ ดูแลรับผิดชอบภารกิจด้านต่างๆ ของทุกภาควิชา ตึกอาคารสถานที่ก็มีเหลือมากพอที่จะจัดการเรียนการสอนของภาควิชาต่างๆ ตลอดจนหลักสูตรอื่นๆ ที่จะเปิดขึ้นในอนาคตด้วยซ้ำ

การเรียกร้องว่าแต่ละภาควิชาจะต้องมีอาคารสถานที่เอง ในปัจจุบันนี้จึงเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ใจเหลือเกินในแง่ของการบริหารจัดการที่จะลงทุนแบบขี่ช้างจับตั๊กแตน

ในเมื่อทรัพยากรที่มีสามารถทำทุกอย่างได้และดีอยู่แล้ว เกณฑ์ข้อนี้ก็คงตกไป ถ้าใครยอมรับเกณฑ์นี้ได้ ก็ไม่น่าจะเป็นที่มหัศจรรย์ใจต่างจากมหาวิทยาลัยสักเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยมักจะแนะนำให้คณะวิชา ภาควิชาหารายได้

แต่ตัวมหาวิทยาลัยเองกลับไม่คิดหารายได้จากทรัพยากรที่ตนมีให้คุ้มค้าที่สุด

ทุกวันนี้ทำหน้าที่รวบรวมเงินรายได้จากคณะวิชาต่างๆ มาไว้ที่ตนเองก็เท่านั้น

หรือมิฉะนั้นก็ทำหน้าที่นายหน้าหักหัวคิวจากโครงการต่างๆ ที่ภาควิชา คณะวิชา เป็นผู้ดำเนินการ ใช่หรือไม่

 

สําหรับเกณฑ์ข้อที่ 1) และ 2) เรื่องหลักสูตรและจำนวนอาจารย์

ข้อนี้ก็เช่นกัน ฟังเพลินๆ ก็ดูเข้าที แต่ฟังอีกทีคงไม่เข้าท่า เพราะจำนวนอาจารย์ไม่ได้มาจากภาควิชา แต่มาจากการที่มหาวิทยาลัยกำหนดอัตราให้

หลักสูตรระดับปริญญาตรีต้องมีอาจารย์ประจำหลักสูตร 5 คน หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ต้องมีอาจารย์ประจำหลักสูตร 3 คน ซึ่ง สกอ. เป็นผู้กำหนด

แต่การขออัตรากำลังนั้นไม่ใช่ภาควิชาใดมีความจำเป็นแล้วจะขอกำหนดอัตราได้เลย ต้องขอไปทางคณะ คณะขอไปทางมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยไม่ให้ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้

แต่เดิม อาจารย์ประจำภาควิชาใดที่เกษียณอายุราชการ ภาควิชานั้นก็จะได้รับอัตราทดแทนโดยอัตโนมัติ

แต่หลังจากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การณ์กลับกลายเป็นว่า ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วที่ภาควิชาใดอาจารย์เกษียณแล้วจะได้รับอัตราทดแทน

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น อธิการบดีแจ้งว่า คณะและภาควิชาจะไม่ได้รับอัตราอาจารย์เพิ่มอีกแล้ว แม้ว่าจะมีอาจารย์เกษียณก็ตาม

ถึงแม้รัฐจะมีอัตรามาให้ แต่ทางมหาวิทยาลัยนำอัตราเหล่านั้นไปจัดสรรกันเอง

ฉะนั้น บางคณะจึงได้รับอัตราอาจารย์จำนวนมากมายไปกองอยู่ที่แค่บางคณะ บางสาขาเท่านั้น

นี่จึงเป็นความไม่ธรรมดาอีกหนึ่งรูปแบบที่แฝงตัวมากับนโยบายการยุบภาควิชา

ปัญหาจึงกลายเป็นงูกินหางหรือวงจรอุบาทว์

กล่าวคือ พอภาควิชาจะขอเปิดหลักสูตรอีกหลักสูตรหนึ่งเพิ่มเติม แต่มีอาจารย์ประจำไม่พอ ก็ไม่สามารถเปิดหลักสูตรได้ พอไม่สามารถเปิดหลักสูตรได้ จำนวนอาจารย์ก็ไม่พอตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด

ถามจริงๆ หากมีสติสัมปชัญญะเป็นปกติ จะมีใครสามารถยอมรับเกณฑ์ลักษณะนี้ได้บ้าง

 

จะเห็นได้ว่า เกณฑ์การเป็นภาควิชา ตั้งขึ้นมา เพื่อไม่ให้มีใครเป็นภาควิชาได้ มิไยต้องกล่าวถึงการประกาศใช้ระเบียบนี้ในปีนี้ แล้วให้ปฏิบัติตามเลยภายในปีนี้ ก็คงไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ได้ให้เวลาแต่ละภาควิชาเตรียมความพร้อมดำเนินการต่างๆ แต่อย่างใด อันที่จริง

เกณฑ์ ข้อ 1) และ ข้อ 2) ยังยอมรับได้ หากทางมหาวิทยาลัยกำหนดเงื่อนเวลาที่เป็นไปได้ในการดำเนินงาน หรือใช้กับภาควิชาที่จะตั้งขึ้นต่อไปในอนาคต

แต่นี่นำมาใช้กับภาควิชาที่มีอยู่แล้วซึ่งดำเนินงานมาเป็นปกติ มิได้มีปัญหาในการบริหารจัดการเรียนการสอนแต่อย่างใดให้ปฏิบัติตามแบบทันที

นอกจากนี้ อธิการบดีกล่าวว่า ตนไม่มีความเข้าใจในความเป็นคณะอักษรศาสตร์มากนัก

อันนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่ท่านได้อภิปรายนำเสนอนโยบายดังกล่าวนั้นแสดงถึงความไม่เข้าใจความเป็นอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์อย่างสิ้นเชิง

และที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นท่านกล่าวว่า เกณฑ์การเป็นภาควิชานั้นได้มาจากภาควิชาของคณะทางสายวิทยาศาสตร์

ซึ่งคงเป็นการผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง เพราะธรรมชาติของคณะทางอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคณะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ไม่ว่าจะเป็นตัวของศาสตร์ วิธีวิทยา ปรัชญาการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนโครงสร้างการบริหารจัดการ

ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนคิดว่ามีความสำคัญที่จะถามไปยังเกณฑ์การเป็นภาควิชานั้นมีความเป็นธรรมหรือไม่

เพราะแม้แต่บทความที่ท่านอธิการยกมาเป็นกรณีศึกษาคือ “Restructuring Departments: To Merge or Not to Merge” ของ William P. Morgan เพื่อสนับสนุนให้มีการยุบรวมภาควิชา ซึ่งผู้เขียนบทความดังกล่าวก็เป็นนักวิชาการจากภาควิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว

ตัวอย่างที่ยกมาก็เป็นภาควิชาพลศึกษา ซึ่งล้วนแต่เป็นสายวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่มายุบรวมกัน แต่คงเทียบเคียงกันไม่ได้กับคณะทางอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์ ที่ไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกันแบบคณะทางสายวิทยาศาสตร์

แต่ศาสตร์ของอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์นั้นมีความแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์และวรรณกรรม ฯลฯ

ซึ่งศาสตร์เหล่านี้ตระหนักดีถึงข้อจำกัดดังกล่าวจึงดำเนินการบริหารจัดการเรียนการสอนในฐานะ “ภาควิชา” มาตั้งแต่ตอนต้น

 

ข้อเท็จจริงที่มากไปกว่านั้น ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยดูเหมือนจะไปไกลจากเจตนารมณ์ของการเป็น “มหาวิทยาลัยในการกำกับรัฐ” ที่เน้นความคล่องตัว การมีส่วนร่วมในการบริหาร การเน้นที่ประสิทธิภาพ ฯลฯ เพราะการบริหารงานของมหาวิทยาลัยได้รวบอำนาจมาไว้ที่มหาวิทยาลัย

เช่น เรื่องการเงิน ที่แต่ก่อนนี้ คณะวิชาต่างๆ สามารถดำเนินงานเองได้อย่างคล่องตัว และสามารถตรวจสอบได้ง่ายเพราะตรวจสอบเป็นรายคณะไป

แต่ตอนนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมีเจ้าหน้าการเงินส่วนกลางจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เพียงพอที่จะดำเนินการได้ทัน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าต่างๆ ทุกวันนี้ นโยบายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของบุคลากรทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่และลูกจ้างประจำล้วนโอดครวญเพราะได้รับค่าจ้างนอกเวลาที่ล่าช้าเกือบ 2 เดือน หรืออาจารย์พิเศษก็ได้รับค่าตอบแทนล่าช้าเช่นกัน (ก่อนหน้านี้ คณะมีเงินสำรองจ่ายให้เจ้าหน้าที่ แต่ตอนนี้มหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายให้สำรองจ่าย) ฯลฯ

ยิ่งกว่านั้น ระบบการบริหารงานต่างๆ ก็ยังเป็นระบบราชการเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นระบบการเวียนเอกสาร การเบิกจ่าย การจัดซื้อจัดจ้าง หรือแม้แต่วิธีคิดก็ยังเป็นระบบราชการเหมือนเดิม

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเรียกว่า “มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือออกนอกระบบ” ได้อย่างไร

ยิ่งบริหาร ยิ่งห่างไกลจากคำว่ากระจายอำนาจหรือเน้นความเป็นอิสระของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย