คุยกับทูต ‘เมเอียร์ ชโลโม’ ทำไม’อิสราเอล’ ถึงกลายเป็น “มหาอำนาจเทคโนโลยีของน้ำ”

คุยกับทูต เมเอียร์ ชโลโม ไทย-อิสราเอล ยกระดับกระชับความร่วมมือ (2)

“อิสราเอลเคยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเกษตร ตั้งแต่ปี 1950 ประชากรทำการเกษตรประมาณ 30% ขณะนี้มีเพียง 3% เท่านั้นที่ทำงานในภาคเกษตรกรรม แต่เรากลับผลิตสินค้าได้มากขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพและปริมาณที่ดีขึ้น”

ดร. เมเอียร์ ชโลโม (H.E.Mr. Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย เล่าเรื่องความร่วมมือกับประเทศไทยในด้านต่างๆ ที่อิสราเอลมีความเชี่ยวชาญ เช่น เกษตรกรรม การจัดการน้ำ ชลประทานเพื่อการเกษตร นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และแรงงาน

“เทคโนโลยีในอิสราเอลมีการพัฒนามาก โดยเฉพาะในด้านการจัดการน้ำ เมื่อก่อนเราขาดแคลนน้ำด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ทะเลทรายแห้งแล้ง ปัญหาเรื่องน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ วิธีที่เราได้ทำก็คือ โครงการทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด ในวันนี้เรามีน้ำเพียงพอ เพราะเราได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเอาเกลือออกจากน้ำทะเลโดยเปลี่ยนให้เป็นน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรได้มาจากการนำน้ำเสียมาบำบัดเพื่อนำมาใช้ใหม่ เราจึงไม่มีปัญหาเรื่องน้ำอีกต่อไป และยังส่งออกน้ำไปยังประเทศอื่นด้วย”

ทรัพยากรน้ำที่จำกัดผลักดันให้อิสราเอลคิดค้นเทคโนโลยีระบบ Micro Irrigation หรือ ระบบการให้น้ำแบบหยด เพื่อการเพาะปลูกที่ได้ประสิทธิภาพโดยสูญเสียน้ำน้อยที่สุด

ขั้นตอนในการควบคุมการผลิตเกือบทั้งหมดจะถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติไปจนถึงระบบโลจิสติกส์ จนสามารถปลูกพืชผักส่งออกได้เป็นอันดับ 1 ในยุโรป

การมีแนววิธีเพื่อต่อสู้กับความแห้งแล้งของแผ่นดินทะเลทรายอย่างต่อเนื่อง ทำให้อิสราเอลวันนี้ กลายมาเป็น “มหาอำนาจเทคโนโลยีของน้ำ”

อิสราเอลได้พัฒนาระบบนวัตกรรมเทคโนโลยีน้ำเพื่อครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่ชาญฉลาดที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทั้งระบบการเปลี่ยนน้ำเค็มให้เป็นน้ำดื่ม กระบวนการบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมมาเป็นน้ำใช้

และยังถือเป็นประเทศที่มีการรีไซเคิลน้ำได้มากที่สุดในโลกถึงร้อยละ 75 ของน้ำอุปโภคบริโภคทั้งหมด

อิสราเอลจึงเป็นประเทศที่มีการส่งออกระบบเทคโนโลยีเรื่องน้ำไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

และเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านน้ำไปในรูปของธุรกิจในทุก 2 ปี อิสราเอลจะจัดงานแสดงเทคโนโลยี่ และนวัตกรรมสุดยอดการจัดการน้ำ ภายใต้ชื่องานว่า วอเทค (WATEC) ที่นครเทลอาวีฟ เพื่อจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และสิ่งแวดล้อมของอิสราเอล

รวมทั้งเป็นเวทีหารือ และแสวงหาความร่วมมือทางธุรกิจในสาขาดังกล่าว ระหว่างสถาบันและบริษัทที่เกี่ยวข้องของอิสราเอลและบริษัทต่างชาติ

ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ชาวอิสราเอลถูกสอนให้รู้คุณค่าของน้ำ หน่วยงานราชการทั้งระดับประเทศและท้องถิ่นต่างร่วมรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดน้ำ

ดังนั้นคำขวัญที่ว่า “อย่าสิ้นเปลืองน้ำสักหยดเดียว” จึงเป็นที่รู้จักไปทุกบ้านเรือนในอิสราเอล

อิสราเอลทุ่มเทอย่างหนักเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรในทุกขั้นตอนและทุกมิติ

ส่วนกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีมูลค่าสูงและต้องการลดความบอบช้ำ ก็จะใช้แรงงานฝีมือในการเก็บเกี่ยว ในทุกๆ ปีของฤดูกาลเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์เจ้าของฟาร์มจึงมีงานทดลองทุกปี เพื่อนำไปพัฒนาการเกษตรในฤดูกาลต่อไป

ทำให้อิสราเอลไม่ขาดแคลนอาหาร อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งออกพืชผลเกษตรรายใหญ่ที่สุดให้แก่ภูมิภาคยุโรปอย่างต่อเนื่อง

ท่านทูตกล่าวว่า “การเกษตรเป็นหัวใจของการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยและอิสราเอล ความร่วมมือทางด้านการเกษตรระหว่างไทย-อิสราเอลจึงได้เริ่มมานานหลายปีแล้ว”

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 เป็นต้นมา “มาชาฟ” (MASHAV) หรือศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศของอิสราเอล ให้ทุนสนับสนุนคนไทยกว่า 2,000 คน ไปศึกษาดูงานในอิสราเอลด้านเทคโนโลยี การเกษตร การบริหารจัดการน้ำ และการศึกษา

พร้อมทั้งเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากอิสราเอลมายังประเทศไทยเพื่อถ่ายทอดความรู้ความชำนาญให้คนไทยกว่า 10,000 คน

และเมื่อปี ค.ศ.2016 อิสราเอลยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (MOU) กับสถาบันเพื่อความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (MI) ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย

เนื่องในวโรกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ประเทศอิสราเอลได้ร่วมเฉลิมฉลองกับประชาชนชาวไทยด้วยการปลูกต้นทับทิม 120 ต้นเมื่อปีค.ศ. 2007 ที่ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพงซึ่งเป็นสถานที่แรกของ โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง) ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1966

โครงการไทย-อิสราเอลเพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง) จังหวัดเพชรบุรี เป็นความร่วมมือในการพัฒนาด้านการเกษตร การบริหารจัดการน้ำและเทคโนโลยีการเกษตรในพื้นที่แห้งแล้ง ที่ขยายผลในพื้นที่ทุรกันดาร ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่โครงการสามารถพัฒนาที่ดิน มีอาชีพทางการเกษตรได้สำเร็จ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

นอกจากนี้ ไทย-อิสราเอล ได้ลงนามความร่วมมือด้านการเกษตร ณ กรุงเยรูซาเลม เมื่อเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ.2017 เป็นการแลกเปลี่ยนงานวิจัยเทคโนโลยี-ระบบชลประทานโดยเฉพาะเทคโนโลยีระบบน้ำหยดทั้งบนผิวดินและใต้ดิน

รวมทั้งการบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับไทย โดยเฉพาะพื้นที่แห้งแล้งที่ไม่มีน้ำบนผิวดิน รวมทั้งมีการเจรจาเปิดตลาดสินค้าเกษตรระหว่างกัน เพื่อขยายมูลค่าการค้าที่ปัจจุบันมีเพียง 5,000 กว่าล้านบาทให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

“โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (TIC) ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลอิสราเอล กระทรวงแรงงานไทย และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) จัดเป็นโครงการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ในการให้ความคุ้มครองแรงงานไทยในต่างแดนรวมถึงการลดค่าบริการหางานที่มีอัตราสูงเพื่อเดินทางไปทำงานในอิสราเอล” ท่านทูตเล่าถึงความร่วมมือด้านแรงงานไทยในอิสราเอลที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

รัฐบาลไทยได้ลงนามข้อตกลงด้านแรงงานกับรัฐบาลอิสราเอลตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 โดยเริ่มจัดส่งแรงงานไปทำงานภาคเกษตรในปี ค.ศ.2012 ปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล ประมาณ 25,000 คน

โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางานนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าบริการหางานและเดินทางไปทำงานในภาคการเกษตรของอิสราเอล และเป็นโครงการแรกที่สามารถลดค่าบริการดังกล่าวได้ถึง 80% เนื่องจากอัตราค่าแรงในอิสราเอลค่อนข้างสูง ประกอบกับการจ้างงานที่เป็นธรรมของนายจ้างชาวอิสราเอล และอายุวีซ่าที่ได้นานถึง 5 ปี แรงงานไทยจึงให้ความสนใจเดินทางไปทำงานในอิสราเอลเป็นจำนวนมาก

6. พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรฯและ รมต.ยุติธรรมให้การต้อนรับทูตอิสราเอลในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ

ทั้งนี้โครงการ TIC สามารถตัดปัญหาค่านายหน้าในการเดินทางไปทำงานในอิสราเอลจากประมาณ 300,000 บาท (USD 10,000) ลดลงเหลือประมาณ 66,000 บาท (USD 2,200) ต่อแรงงานไทย 1 คน (จากการประมาณการในปี ค.ศ.2014)

สําหรับด้านการท่องเที่ยวในอิสราเอล อันดับแรกเมื่อนึกถึงอิสราเอล นักท่องเที่ยวชาวไทยหลาย ๆ คนก็อาจนึกถึงข่าวที่ออกมาตลอดเวลาถึงความไม่สงบในประเทศ ภาพการแย่งชิงดินแดนและสงคราม อันเป็นภาพที่คนไทยเห็นจนชินตา

แต่อิสราเอลมีสิ่งน่าสนใจที่มากกว่าแค่เรื่องสงครามและความขัดแย้ง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามที่เราไม่รู้จัก

อิสราเอลมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีสภาพแวดล้อมด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่เปิดกว้างต่อการท่องเที่ยว

มีสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว การคมนาคม และการแพทย์ที่ดีเยี่ยม ถือเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของโลกแห่งหนึ่ง ที่มีการวิจัยต่าง ๆ มากมาย นับว่าเป็นประเทศหัวกะทิในด้านการพัฒนาเลยทีเดียว

ท่านทูตชโลโมเล่าว่า

“มีคนไทยเดินทางไปเยือนอิสราเอลเพียงสองพันคน แต่คนอิสราเอลมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากถึงสองแสนคนต่อปี สำหรับคนไทยในอิสราเอล ส่วนใหญ่มักไปทำงานภาคเกษตร แต่หากเราไปซื้อของตามสถานที่ต่างๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ก็อาจพบผู้ขายเป็นคนไทย เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งเพราะถือว่า เป็นการเชื่อมโยงระหว่างคนไทยกับคนอิสราเอลให้มารู้จักกันมากขึ้นอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากทางเกษตรกรรม”