วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/แผนที่กับชาติยุคสงครามเย็น (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์

ประชา สุวีรานนท์

แผนที่กับชาติยุคสงครามเย็น (จบ)

“แผนที่สร้างชาติ” อ้างบทความ “การทําแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศในประเทศไทย” ของวารสารแผนที่ฉบับพิเศษ (กรกฎาคม 2524-มิถุนายน 2526) ซึ่งอธิบายการใส่ชื่อของหมู่บ้านลงไปว่า “กล้องถ่ายรูปนั้นใครเคยใช้ก็ย่อมทราบแล้วว่า มันถ่ายได้เพียง ‘รูป’ แต่ ‘นาม’ มันถ่ายไม่ติด ดังนั้นหมู่บ้านอาจปรากฏในรูปถ่ายรูปหนึ่ง แต่ไม่มีใครทราบว่าชื่อหมู่บ้านอะไร นอกจากนั้นยังแม่นํ้า หนอง ชื่อวัด ชื่อโรงเรียน และอื่นๆ เล็กๆ น้อย ซึ่งแผนที่ที่ดีต้องมีชื่อปรากฏโดยละเอียด”
การใส่ชื่อ “บ้าน” และระบุที่ตั้งของพื้นที่เหล่านั้น ทำให้หมู่บ้าน กลายเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งและสามารถจับต้องได้ คำๆ นี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ หมู่บ้านแบบที่รู้จักกันในวันนี้ เริ่มในยุคของการต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นการนำเอาหมู่บ้านมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประชาชาติ ทำให้รัฐมีบทบาทสอดส่องและควบคุมได้อย่างเข้มข้น
ในขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดปฏิบัติการต่างๆ เช่น การสร้างถนน ทางหลวง เขื่อน แผนพัฒนาชนบท โครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง นโยบายการใช้กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นหูเป็นตา รวมทั้งผลิตสิ่งที่อาจสร้างความพอใจให้ชาวบ้าน เช่นน้ำ ไฟถนน รั้ว ป้ายชื่อ การประกวดหมู่บ้าน และการติดพระบรมฉายาลักษณ์ในทุกบ้าน
การเรียกเส้นและสีว่า แม่น้ำหรือลำธาร เรียกแนวขนานว่า ถนนหรือทางหลวง เรียกวงกลมว่า จังหวัดหรืออำเภอหรือหมู่บ้าน จึงมีบทบาททำให้พื้นที่นั้นมีฐานะพิเศษขึ้นมา แผนที่จึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือของสงคราม แต่เป็น “วาทกรรม” หรือ “ข้อเสนอ” ผลก็คือถูกพูดถึง ใช้ตั้งเป็นกระทู้ หรือใช้เพื่อยุติข้อถกเถียงได้
รัฐไทยและการขยายอํานาจของรัฐเข้าไปในสังคม จึงมาบรรจบกันที่ Nomenclature หรือการตั้งชื่อในแผนที่ฉบับนี้

“แผนที่สร้างชาติ” อาจจะทำให้เข้าใจว่าการทำแผนที่เป็นสิ่งของที่ถูก “นำเข้า” จากต่างประเทศ เช่นเทคโนโลยีอื่นๆ เปรียบได้กับสินค้าที่หล่นมาจากท้องฟ้าแบบ Cargo Cult หรือ ขวดโค้กที่หล่นมาจากเครื่องบินในหนังชื่อ “เทวดาท่าจะบ๊อง” (1976)
แผนที่ชุดนี้ถูกรับเอามาเป็นของไทย ทั้งการทำและอ่าน ในบทความหุ่นยนต์ (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 – 29 มีนาคม 2561) นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ว่า Cargo Cult เป็นการให้คุณค่าอย่างสูงแก่วัตถุสิ่งของใหม่ๆ ซึ่งคนพื้นเมืองไม่เคยพบเห็นมาก่อน มากเสียจนกลืนตัวเองเข้าไป หรือมีสำนึกในอัตลักษณ์แบบนั้นจนไม่อาจแยกตนเองออกจากสิ่งของดังกล่าวได้ ตัวอย่างของเก่งกิจก็คือ การตั้งสาขาวิชามานุษยวิทยา ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โครงการอย่าง Bennington-Cornell ทำให้เกิดการศึกษาชาวเขา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และมีนัยทางการเมืองในเรื่องการสร้างความมั่นคงของรัฐบาลไทยและต่อต้านการคุกคามของคอมมิวนิสต์
ส่วนหนึ่งของโครงการนี้ทำโดยคนไทย กล่าวคือ ในการถ่ายภาพทางอากาศต้องประสานกับภาคพื้นดิน ซึ่ง ประกอบด้วยการบุกป่าฝ่าดงเข้าไปในเขตชนบทและป่าเขา การแบกไม้วัดและอุปกรณ์ และการนำสิ่งที่ได้มาแก้ไข เมื่อกลับออกมาแล้ว กระบวนการทั้งหมดนี้ร่วมมือกันทำโดยทหารและนักวิชาการของทั้งฝ่ายไทยและสหรัฐ
และในปี พ.ศ.2508 ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชาวเขา ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ศูนย์วิจัยนี้ให้กำเนิดหน่วยทางการเมืองที่เรียกว่า “หมู่บ้านชนบทไทย” ความสำคัญของหมู่บ้านและชาวเขา นำไปสู่การจัดตั้งมานุษยวิทยาเชียงใหม่ อันเป็นสาขาวิชาที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียสนับสนุน และผลิตนักวิชาการและงานวิจัยด้านนี้ออกมามากมาย

The Englishman เป็นหนังโรแมนติก-คอมดี้ และตามธรรมเนียม แผนที่จะเป็นตัวแทนของโลกสมัยใหม่ ซึ่งแปลว่าผู้ร้าย ส่วนการถมภูเขา ซึ่งเป็นตัวแทนอัตลักษณ์ของชาวบ้าน แปลว่าพระเอก
หนังจะบอกว่าคุณค่าเก่าๆ ยังมีความสำคัญต่อชุมชน ลีลาเด่นคือให้ชาวบ้านแต่ละคนประพฤติแปลกๆ เสียจนผู้ดูรู้สึกแปลกแยกในตอนต้น ต้องอยู่กับฮิวจ์ แกรนท์หรือนักทำแผนที่แต่เพียงผู้เดียว แต่ต่อมา ก็เข้าร่วมกับเขาอย่างเต็มที่
ในตอนจบ นักทำแผนที่ตัดสินใจช่วยชาวบ้านปกปิดความจริง และยอมบิดเบือนหลักการนิดหน่อยในการทำให้ทางการยอมรับว่าเนินเป็นภูเขา ทั้งแผนที่และชาวบ้านจึงได้รับชัยชนะร่วมกัน

ดูเหมือนว่า นักวิชาการหรือคณะสำรวจของโครงการ Bennington-Cornell มีโอกาสที่เป็นเหมือนพระเอกของ The Englishman เช่น อาจจะเดินทางเข้าไปในป่าดง หลงรักชีวิตชุมชน แล้วตัดสินใจช่วยชาวบ้านด้วยการบิดเบือนแผนที่หรือภูมิประเทศ
แต่สำหรับ L708 และชุดต่อๆ มา เรื่องไม่ได้จบลงอย่างโรแมนติกเช่นนั้น การทำแผนที่สำหรับสงครามเวียดนามซีเรียสกว่ามาก และตลอดช่วงที่มีการรบกับคอมมิวนิสต์ทั้งในภาคพื้นนี้ ผลงานของคณะสำรวจถูกใช้ในการกดขี่ปราบปรามคนท้องถิ่นในหลายประเทศ ก่อให้เกิดความรุนแรงและการปะทะกันหลายระดับ ตั้งแต่การยิงปืนและลูกระเบิดเข้าใส่ เผาหมู่บ้าน และนำมาซึ่งการบาดเจ็บ การตายและการอพยพของผู้คนจำนวนมาก
สำหรับไทย เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอาหมู่บ้านมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ-ชาติแบบใหม่ รวมทั้งแผนที่ชุดอื่นๆ ของราชการและเอกชนในปัจจุบัน
“แผนที่สร้างชาติ” จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ชัยชนะของแผนที่” อีกครั้งหนึ่ง