นงนุช สิงหเดชะ : อ่านใจประชาชนผ่านโพล ชอบ รบ. ‘ประยุทธ์’ มากกว่า ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’

เชื่อว่าหลายคนคงทำใจลำบาก เมื่อล่าสุดนี้ผลโพลอย่างน้อย 2-3 สำนัก ออกมาตรงกันในทำนองที่ว่าประชาชนชื่นชอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่ารัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมา แถมยังเห็นว่าเหมาะสมจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

โพลเหล่านี้สำรวจความคิดเห็นประชาชนหลังจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านพ้นไปแล้ว เพื่อจะดูว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร

และมีความคิดเห็นต่อรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่หลังจากร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่งเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลประกาศว่าจะเป็นฉบับปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศ เน้นปราบทุจริต ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน

 

เมื่อวันที่ 11 กันยายน สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,254 คน เรื่อง “ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลไทย” โดยหนึ่งในคำถามนั้น ถามว่า 5 อันดับรัฐบาลไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ประชาชนชื่นชอบ คือรัฐบาลใด

คำตอบเป็นดังนี้ ชื่นชอบอันดับ 1 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 77.59 อันดับ 2 รัฐบาลทักษิณ ร้อยละ 70.41 ชื่นชอบอันดับ 3 รัฐบาลอภิสิทธิ์ ร้อยละ 63.16 อันดับ 4 รัฐบาลชวน ร้อยละ 59.17 และอันดับ 5 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ร้อยละ 54.39

ยิ่งเมื่อค้นลงไปในรายละเอียดถึงเหตุผลที่ชอบ ก็ยิ่งนับว่าน่าแปลกใจ เพราะเหตุผลที่บอกว่าชื่นชอบรัฐบาลประยุทธ์อันดับ 1 นั้นมาจากจุดเด่นจุดแข็งตรงที่เป็นรัฐบาลทหาร มีความเด็ดขาด จริงจัง มีแผนการทำงานเป็นระยะชัดเจน แก้ปัญหาการทุจริตได้ดี

ส่วนรัฐบาลทักษิณ ที่ประชาชนชื่นชอบอันดับ 2 มาจากเรื่องที่เศรษฐกิจดี ต่างชาติให้การยอมรับ ประชาชนได้รับความช่วยเหลือ เน้นนโยบายเพื่อประชาชน

อันดับ 3 ชอบรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะมีการปฏิรูปการศึกษา มีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการศึกษา นโยบายในการพัฒนาประเทศดี อันดับ 4 ชอบรัฐบาลนายชวน เพราะประเทศมีความก้าวหน้า บ้านเมืองสงบสุข มีความสามัคคีปรองดอง ผู้นำมีความซื่อสัตย์ สุภาพ

ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งได้รับความนิยมรั้งท้ายสุดนั้น ประชาชนตอบว่าชอบเพราะเน้นช่วยเหลือเกษตรกรและคนจน งบประมาณทั่วถึง ขึ้นเงินเดือน มีนโยบายที่เน้นทำเพื่อประชาชน

การที่ประชาชนส่วนใหญ่ชื่นชอบรัฐบาลประยุทธ์เป็นอันดับ 1 นั้น นับว่ามีเหตุผลที่แปลกและย้อนแย้ง เพราะประชาชนให้ความสำคัญเรื่องความเด็ดขาดจริงจังในการทำงาน มีแผนการทำงานชัดเจนและปราบทุจริตได้ดี แทนที่จะเน้นเรื่องผลงานเศรษฐกิจ การช่วยเหลือคนจน ทั้งที่ในยามเศรษฐกิจโลกตกต่ำฝืดเคืองซึ่งกระทบต่อไทยอย่างมากเช่นนี้ และพรรคเพื่อไทยนำมาเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลแทบทุกวันนั้น ประชาชนน่าจะชื่นชอบรัฐบาลทักษิณมากกว่า

แต่กลับกลายเป็นว่าความนิยมของรัฐบาลประยุทธ์เหนือกว่ารัฐบาลทักษิณถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ไม่ควรทิ้งห่างกันขนาดนั้น หากประเมินเอาตามความรู้สึก หากรัฐบาลประยุทธ์จะชนะก็ไม่ควรชนะมากขนาดนี้

ที่น่าอึ้งมากขึ้นไปอีก คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้รับความนิยมน้อยกว่ารัฐบาลชวนและอภิสิทธิ์ ทั้งที่สองรัฐบาลหลังนี้ถูกฝ่ายตรงข้ามหาว่าไม่เคยได้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยตรง ได้เป็นเพราะฟลุก ขณะเดียวกันเหตุผลที่คนชอบรัฐบาลชวนเป็นเพราะทำให้ประเทศก้าวหน้า บ้านเมืองสงบสุข มีความสามัคคีปรองดอง ผู้นำมีความซื่อสัตย์ สุภาพ

ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลชวน ที่เคยถูกนักการเมืองบางพวก นักวิชาการจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนในซีกของคุณทักษิณปรามาสเสียดเย้ยว่า เป็นรัฐบาลเชื่องช้า ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่ทันโลก ไม่รู้เรื่องธุรกิจ กลับเป็นรัฐบาลที่ประชาชนในปัจจุบันนี้เห็นว่าทำให้บ้านเมืองมีความก้าวหน้า สงบสุข (แปลกมากที่คุณทักษิณไม่ได้คะแนนนำเรื่องทำให้ประเทศก้าวหน้า สงบสุข ทั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจระดับโลก)

และหากจะให้เข้ากับเทรนด์การเมืองไทย ที่ถูกนักการเมืองบางจำพวกปลุกปั่นว่าต้องทำเพื่อคนจน อยู่ข้างเดียวกับคนจน จะเข้าท่ากว่าไหมถ้าประชาชนจะนิยมคุณยิ่งลักษณ์มากกว่าคุณชวน

 

วันเดียวกันกรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คะแนนนิยมพรรคการเมืองไทย หลังผ่าน 1 เดือน การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” จากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 1,156 คน พบว่าคะแนนนิยมพรรคการเมืองลดลง โดยคะแนนนิยมพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ที่ร้อยละ 16.9 (ลดลงร้อยละ 5.8)

พรรคเพื่อไทย มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 15.3 (ลดลงร้อยละ 3.8) พรรคชาติไทยพัฒนา มีคะแนนนิยมร้อยละ 1.2 (ลดลงร้อยละ 0.9)

ที่เด็ดกว่านั้นก็คือคำถามที่ว่า “หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” พบว่าประชาชนจะเลือก พล.อ.ประยุทธ์ อันดับ 1 ร้อยละ 26.6 ทิ้งห่างอันดับ 2 และ 3 แบบไม่เห็นฝุ่น โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่อันดับ 2 ที่ร้อยละ 3.8 อันดับ 3 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 3.7

หากจำกันได้ หลังจากผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม ซึ่งประชาชนโหวตรับอย่างท่วมท้น ทั้งที่พรรคการเมืองดาหน้าออกมาประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ปรากฏว่าบรรดาพรรคการเมืองออกมาแก้ต่างและปลอบใจตัวเองว่า เป็นเพราะประชาชนอยากให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ อยากมีประชาธิปไตยเร็วๆ จึงหลับหูหลับตารับไป เหมือนปี 2550 ไม่เกี่ยวกับว่าประชาชนเบื่อหน่ายหรือไม่ชอบนักการเมือง

หากประชาชนอยากเลือกตั้ง อยากมีประชาธิปไตยเร็วๆ ไม่ชอบเผด็จการหรือทหาร โพลที่ออกมาหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ไม่น่าจะออกมาในลักษณะนี้ แต่ควรตรงข้ามคือความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะลดลงกว่าเดิมอย่างมาก และไม่น่าได้คะแนนนำให้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป

เพราะซีกการเมืองฝ่ายตรงข้ามโจมตีด้วยวาทกรรมซ้ำๆ อยู่เนืองๆ ว่ารัฐธรรมนูญ 2559 เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือสืบทอดอำนาจ คสช. ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย

หากจะให้อ่านผลโพลครั้งนี้ก็น่าเชื่อได้ว่า ประชาชนอยากได้รัฐบาลที่มีความเด็ดขาดจริงจัง กล้าตัดสินใจ อยากได้ผู้นำที่มุ่งปราบการทุจริตที่ถือว่าเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศมาช้านาน

ยังไม่มีตรงไหนที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า นาทีนี้ประชาชนอยากได้ประชาธิปไตยมาเป็นอันดับ 1 ถ้าประชาธิปไตย (หรือพูดให้ถูกก็คือการเลือกตั้ง) นั้นได้ผู้นำที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีความเด็ดขาด ไม่ซื่อสัตย์

นอกจากนี้ การที่โพลระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย ทั้งที่พรรคเพื่อไทยชูจุดขายเรื่องการได้รับเลือกตั้งจากประชาชนและโจมตีประชาธิปัตย์ว่าอิงแอบเผด็จการ ก็ยิ่งน่าฉงนเข้าไปใหญ่

หากจะให้อนุมาน ก็น่าจะเป็นเพราะประชาชนไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการเลือกตั้งมาเป็นอันดับแรก แต่น่าจะให้ความสำคัญกับพฤติกรรมนักการเมืองมากกว่า

ถ้าจะให้สรุปผลโพลนี้ออกมาแบบสั้นๆ ก็น่าจะสรุปว่าประชาชนอยากให้นักการเมืองปฏิรูปตัวเอง ขณะเดียวกันนี่คือความต้องการของประชาชนที่ไม่เหมือนเดิมในบริบทการเมือง-ประชาธิปไตย

ถ้าจะให้เห็นภาพชัดขึ้น ก็ต้องเปรียบผู้บริโภคกับสินค้า ซึ่งก็เปรียบกับว่าประชาชนยังอยากมีโทรศัพท์ แต่ไม่ใช่แบบเดิม ไม่ใช่โนเกีย แบล็กเบอร์รี่ แต่ต้องเป็นซัมซุง ไอโฟน