ปรัชญาแห่งพริกแกง : นัยของอาหารประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ โดย เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

cqbn1rvuiaeqh4j

ข้อความกระชับชัดเกี่ยวกับมโนทัศน์และการประเมินค่าอาหารไทยของคุณแทนทอง (แสดงโดย นิรุตติ์ ศิริจรรยา) ตัวละครครูสอนการทำอาหารไทยในบทภาพยนตร์เรื่อง “พริกแกง” ข้างต้น นอกจากจะเปรียบต่างอย่างหน้ามือเป็นหลังมือกับมโนทัศน์และการประเมินค่าซูชิญี่ปุ่นของจิโร่ ยอดครูซูชิในสารคดี “Jiro Dreams of Sushi”

กล่าวคือ [อาหารไทยต้องคงเดิม vs. ซูชิญี่ปุ่นหาทางพัฒนา] (ดูบทวิจารณ์ “พริกแกง : วัตถุดิบชั้นเลิศที่ไม่สามารถปรุงให้อร่อยได้” ของ ปากกาแดง) แล้ว

มันยังทำให้ผมนึกถึงข้อความแปลกๆ ตอนหนึ่งใน การิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง ของ สตีเว่น ลุกส์ (ฉบับแปลตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2541) ที่อธิการบดีมหานาเนกวิทยาลัย (Unidiversity) แห่งชุมชนนคร (Communitaria) ซึ่งยึดหลักคิดสัมพัทธนิยมเชิงพหุวัฒนธรรม (multicultural relativism) ได้ตั้งข้อสังเกตชวนฉงนสนเท่ห์เกี่ยวกับนัยทางปรัชญาของภารกิจแสวงหาโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ (the best possible world) ของศาสตราจารย์การิทัตว่า :

“อันที่จริงผมเคยได้ยินเรื่องภารกิจของคุณมา ศาสตราจารย์การิทัต” อธิการบดีพูด “ในฐานะเพื่อนนักปรัชญาคนหนึ่ง ผมขอส่งเสริมให้กำลังใจคุณในการแสวงหา ในฐานะชาวชุมชนนคร ผมขอชื่นชมคุณว่าคิดถูกแล้วที่มาค้นหามันที่นี่ คำตอบต่อคำถามของคุณที่ว่า “โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้อยู่ที่ไหน?” นั้น ผมแน่ใจว่ามันอยู่ต่อหน้าต่อตาคุณแล้ว

“กระนั้นก็ตาม ในฐานะอธิการบดีของมหานาเนกวิทยาลัยแห่งนี้ ผมจำต้องบอกคุณว่าเราไม่เห็นชอบกับคำถามของคุณสักเท่าไหร่ เพราะมันบ่งบอกเป็นนัยว่าโลกต่างๆ ทั้งหลายเอามาเปรียบเทียบกันได้ และตัดสินว่าเหนือกว่าหรือด้อยกว่ากันได้ นั่นเป็นการละเมิดหลักสัมพัทธนิยมในแง่พหุวัฒนธรรมซึ่งพวกเราในฐานะชุมชนอันเป็นที่รวมแห่งชุมชนทั้งหลายยึดมั่นอยู่

“ในอีกแง่หนึ่ง ผมต้องยอมรับว่าอดใจไม่ไหวที่จะรู้สึกเพลิดเพลินไปกับปฏิทรรศน์อันสนุกน่าคิดที่ว่าถ้าเผื่อเจอโลกที่คนเขาคิดว่าคำถามของคุณไม่พึงถามอีกต่อไปเข้าแล้ว เราย่อมมิอาจปรับปรุงโลกแห่งนั้นให้ดีขึ้นได้” (น.175)

ปมเงื่อนสำคัญอยู่ในย่อหน้าสุดท้าย ตรงข้อเสนออันเป็นปฏิทรรศน์ (paradox ย้อนแย้งกันในตัวเอง) ที่ว่า “ถ้าเผื่อเจอโลกที่คนเขาคิดว่าคำถามของคุณไม่พึงถามอีกต่อไปเข้าแล้ว เราย่อมมิอาจปรับปรุงโลกแห่งนั้นให้ดีขึ้นได้” นั้น มันหมายความว่าอย่างไร?

ก่อนอื่นควรเคลียร์แต่แรกว่า “คำถามของคุณ” ที่เอ่ยอ้างถึงในประโยคนี้ ย่อมหมายถึงคำถามที่ยกมาข้างต้นที่ว่า “โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้อยู่ที่ไหน?” นั่นเอง

ประเด็นก็คือ ถ้าเราไปเจอโลกที่ไม่ต้องถามอีกต่อไปแล้วว่า “โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้อยู่ที่ไหน?” ทำไมเราจึงมิอาจปรับปรุงโลกแห่งนั้นให้ดีขึ้นได้เล่า?

สิ่งที่ต้องทำให้กระจ่างก่อนตอบคำถาม “ทำไม?” ที่ว่านี้ก็คือ โลกประเภทไหนกันที่ไม่ต้องถามอีกต่อไปแล้วว่า “โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้อยู่ที่ไหน?” ?

ผมคิดว่ามีคำตอบที่เป็นไปได้ 3 แบบ ได้แก่

1) โลกที่ถือหลักสัมพัทธนิยมเชิงพหุวัฒนธรรมอย่างชุมชนนครของท่านอธิการบดีมหานาเนกวิทยาลัย

2) โลกที่มองโลกในแง่ร้ายว่าไม่มีดอกยูโทเปียประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ อย่ามัวไปเสียเวลาหาอยู่เลย เช่น เสนานคร (Militaria) ที่ปกครองในระบอบเผด็จการทหาร และ

3) โลกที่มองว่าโลกของตัวเองนี่แหละประเสริฐสุดที่เป็นไปได้แล้ว หรือนัยหนึ่งโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้อยู่ที่นี่แล้วนั่นเอง!

ผมขออนุญาตโฟกัสที่โลกประเภทที่ 3 นี้แหละ
เพราะตรงกับกลุ่มอาการ “พริกแกง” พอดี

เมื่อประสบพบเจอโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้เข้าแล้ว นั่นย่อมหมายความว่าไม่มีทางจะแสวงหาเจอ, ประสบพบ, หรือมีโลกที่ประเสริฐหรือดียิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว

ในเมื่อเป็นโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ ก็ย่อมไม่มีทางจะปรับปรุงหรือปฏิรูปหรือเปลี่ยน แปลงโลกใบนั้นให้ดีขึ้นหรือก้าวหน้าขึ้น (the idea of progress) ไปกว่าที่มันเป็นอยู่ได้อีกแล้วนั่นเอง

และในโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ คนเราก็ย่อมหมดความจำเป็นที่จะต้องมองโลกในแง่ดี (optimism) เพราะโลกดีที่สุดที่เป็นไปได้หรือมองเห็นได้อยู่ต่อหน้าต่อตาเราแล้ว คนเราไม่มีเหตุผล (rationalism) ปัญญาความสามารถใดๆ จะไปทำให้โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ประเสริฐมากขึ้นกว่าที่มันเป็นอยู่ตอนนี้อีกแล้ว

ถึงตอนนั้นและในสภาวะนั้น การเปลี่ยนแปลงหรือพยายามเข้าไปปรับปรุงใดๆ ต่อโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้จึงไม่พึงปรารถนาและต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น เพราะถ้าเปลี่ยนไปจากสภาวะประเสริฐสุดที่เป็นไปได้แม้แต่น้อยแล้ว ก็ย่อมมีแต่เสื่อมถอยลงอย่างเดียวและทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้อีก จึงทำให้มองความเปลี่ยนแปลงปฏิรูปปรับปรุงใดๆ ในแง่ร้าย (pessimism)

นั่นแปลว่าหน้าที่ของคนเราในโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ก็ย่อมมีอยู่อย่างเดียวคือดื้อรั้นดิ้นรนอนุรักษ์สภาวะเดิมอันดีที่สุดที่เป็นไปได้อยู่แล้ว (status quo) เอาไว้อย่างสุดชีวิตจิตใจ ตลอดกาลและตลอดไปนั่นเอง

เมื่อเจอโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้เข้าแล้ว (และเพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องถามอีกต่อไปแล้วว่า “โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้อยู่ที่ไหน?”) เราจึงย่อมมิอาจปรับปรุงโลกแห่งนั้นให้ดีขึ้นได้อีก ได้แต่อนุรักษนิยม (conservatism) มันไว้สุดโต่งสุดกู่ท่าเดียวด้วยประการฉะนี้

ย้อนแย้งดีไหมครับ?

การประสบพบเจอโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ กลับนำไปสู่ ” ท่าทีที่อนุรักษนิยม, ปัดปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้า การมองโลกในแง่ดี เหตุผลนิยม ฯลฯ อันเป็นการปัดปฏิเสธแก่นแท้สารัตถะของปรัชญายุครู้แจ้ง (the Enlightenment) ที่รองรับระเบียบอำนาจแบบเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่เสียฉิบ

โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ฉันใด อาหารประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ก็ฉันนั้น ไม่เชื่อก็ลองแทนที่คำว่า “โลก” ด้วยคำว่า “อาหาร” และแทนที่วลี “โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” (the best possible world) ด้วยวลี “อาหารประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” (the best possible cuisine) ในข้อถกเถียงหลายย่อหน้าข้างต้นดูเถิด ก็จะได้ข้อสรุปแบบ “พริกแกง” เป๊ะๆ ทีเดียว

นั่นแปลว่าอะไรต่อไปได้อีก? ผมคิดว่ามีแง่คิด 2 ประการที่ควรนำมาเปรียบเทียบคำนึงต่อไป

– ถ้าคิดแบบ “ปรัชญาแห่งซูชิ” แทนที่จะคิดแบบ “ปรัชญาแห่งพริกแกง” ซูชิก็ไม่ใช่อาหารประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ที่มีสำเร็จรูปเรียบร้อยแล้วในมือเรา (ชาวญี่ปุ่นหรือชนชาติใดก็ตามทีเถอะ)

นี่ไม่ได้แปลว่าต้องปัดปฏิเสธความเป็นไปได้หรือการดำรงอยู่มีอยู่ของ “อาหารประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” แต่อย่างใด มันอาจมีอยู่ก็ได้ ใครจะรู้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือมันไม่ได้มีอยู่ในมือเราตอนนี้ และหน้าที่ของเราทั้งหลายผู้แสวงหา “อาหารประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” ก็คือ เดินหน้าแสวงหาต่อไป แต่แสวงหาเพื่อที่จะไม่พบ เพราะคุณค่าที่แท้ของการแสวงหาอาหารประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ ไม่ใช่อยู่ตรงได้พบมัน (พบเมื่อไหร่เป็นเสร็จมัน เป็นอันหยุดนิ่งชะงักหมด) แต่อยู่ตรงเรี่ยวแรงความมานะเพียรพยายามค้นคิดค้นคว้าทดลองที่อุตส่าห์ทุ่มเทลงไปในการแสวงหานี่แหละที่ทำให้อาหารที่มีอยู่ของเราเปลี่ยนแปลงปรับปรุงปฏิรูปไปในทางที่ดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆ

แทนที่จะหยุดนิ่ง อนุรักษ์ หลงพึงพอใจในตนเอง หลงเป็นไทยได้อย่างเดียว

สิ่งที่เราคิดว่าประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นโลกหรืออาหาร เอาเข้าจริง คนอื่น/ชาติอื่นอาจคิดต่างออกไปก็ได้ พูดอีกอย่างก็คือ ยากมากและแทบเป็นไปไม่ได้ทีเดียวที่จะบรรลุฉันทามติสากลครอบจักรวาลอย่างเป็นเอกฉันท์ (unanimous universal consensus) ว่าอะไรคือโลก/อาหารประเสริฐสุดที่เป็นไปได้

ฉะนั้น พูดให้ถึงที่สุดแล้ว “โลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” ก็ดี, “อาหารประเสริฐสุดที่เป็นไปได้” ก็ดี ไม่ใช่ความจริงภายนอกทางภววิสัย (objective reality) ที่จะแสวงหาให้พบมันได้ แต่มันคือสภาวะจิตทางอัตวิสัยชนิดหนึ่ง (a subjective state of mind) ต่างหาก ที่เผอิญเชื่อ ดันเชื่อ ว่าของอั๊วนี่แหละเว้ยเฮ้ย ดีที่สุดที่เป็นไปได้แล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงพัฒนาใดๆ อีกแล้วเพราะดีที่สุดแล้ว

และพอเชื่ออย่างนั้นเข้าปั๊บ ก็อนุรักษนิยมปุ๊บ ปฏิเสธความก้าวหน้า-การมองโลกในแง่ดี-เหตุผลนิยม-ปรัชญายุครู้แจ้ง-ระเบียบอำนาจเสรีประชาธิปไตยทั้งพรวนไปโดยอัตโนมัติ

ความเป็นไทยแบบพริกแกงก็มีด้วยประการฉะนี้