อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ญี่ปุ่นกับเมียนมา (2) : โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลเมียนมา เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการกลับเข้ามาใหม่อีกครั้งหนึ่งของญี่ปุ่นต่อเมียนมา

ภายหลังสถานการณ์ เงื่อนไขภูมิภาคและเศรษฐกิจการเมืองในเมียนมาเปลี่ยนแปลงไป


โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา : นัยยะ

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา (The Thilawa Special Economic Zone-SEZ) เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและเมียนมา นับเป็นตัวอย่างอันสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นได้กลับเข้าไปในเมียนมาตั้งแต่ปี 2011 และเป็นเป้าหมายหลักของการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.2013 ญี่ปุ่นได้พิจารณาเงินกู้รัฐบาลในโครงการ Thilawa SEZ และนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ (Shinzo Abe) เคยเยือนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา เพื่อพบปะกลุ่มนักธุรกิจสำคัญของญี่ปุ่น เพื่อแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีต่อโครงการนี้ในเมียนมา

นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งทูตพิเศษ (special envoy) ซึ่งเป็นนักธุรกิจญี่ปุ่นเพื่อเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่น กระทรวงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศญี่ปุ่นและนักลงทุนเอกชนญี่ปุ่นอีกด้วย

มีข้อสังเกตบางประการว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์การให้เงินกู้รัฐบาลและการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่นในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาในหลายประเด็น

เช่น โครงการท่าเรือติลาวาเป็นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดเล็ก เป็นโครงการเก่าที่อยู่ใกล้กับเมืองย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของเมียนมา การลงทุนของเอกชนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก (heavy industry) ซึ่งญี่ปุ่นต้องการ แต่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเบา มีมูลค่าการลงทุนน้อย

ข้อวิจารณ์นี้อาจเป็นจริงในบางส่วน แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า เป็นโครงการที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายเมียนมา

ฝ่ายเมียนมานั้น โครงการนี้แสดงให้เห็นว่า การเปิดประเทศ การปฏิรูปเศรษฐกิจและการเป็นประชาธิปไตยในเมียนมาเป็นของจริง ไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้าง

ส่วนฝ่ายญี่ปุ่น โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาก็เป็นหมุดหมายหลักหมุดแรกที่ญี่ปุ่นกลับเข้าไปในเมียนมาในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย อีกทั้งยังเป็นโครงการที่รัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่นมั่นใจและรอบคอบกว่าโครงการการลงทุนอื่นๆ ที่ต่างชาติเข้าไปลงทุนและมีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น

ตัวอย่างโครงการที่ไม่รอบคอบ ยังห่างไกลและมีความเป็นไปได้น้อยคือ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ของรัฐบาลเมียนมา

โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย (Dawei Deep Sea Port) เป็นโครงการเก่า มีความยุ่งยากด้วยความไม่แน่นอน เป็นโครงการที่มีการเปลี่ยนผู้ได้รับสัมปทาน (concession) หลายครั้งและหลายฝ่ายจากทางการไทย ทั้งจากทุนท้องถิ่นและทุนข้ามชาติไทย มีการเปลี่ยนแปลงกติกาและเงื่อนไขการลงทุนบ่อยครั้ง

เช่น เป็นท่าเรือน้ำลึก หรือเป็นนิคมอุตสาหกรรม เป็นนิคมอุตสาหกรรมของใครและกลุ่มธุรกิจประเภทไหน ใครคือผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อันได้แก่ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ถนน และระบบสาธารณสุขต่างๆ

ผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้คือ รัฐบาลไทยหรือเอกชนไทยหรือรัฐบาลต่างชาติ

เม็ดเงินลงทุนนั้นจะมาจากไหน เม็ดเงินนั้นลงทุนเพื่อผลิตอะไร


ประเด็นภูมิภาค

ดังที่กล่าวเอาไว้แล้วว่า ถึงแม้ว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาจะมีขนาดเล็ก แต่นับได้ว่านี่เป็นรูปธรรมของความลงลึกในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองของญี่ปุ่นในเมียนมา

ซึ่งจริงๆ แล้ว เมียนมาได้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกแห่ง นอกเหนือจากไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เมียนมาได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่น หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในเมียนมา หรือการก้าวสู่ประชาธิปไตยในเมียนมาก็ว่าได้

ดังนั้น เมียนมาจึงเป็นพื้นที่ของความร่วมมือระดับลึกระหว่างรัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่นที่ร่วมกันเปิดเมียนมา ซึ่งความจริงแล้ว นโยบายของญี่ปุ่นในการเปิดเมียนมาไม่เคยสูญหายไปจริงๆ และการเปิดเมียนมาตอนนี้กลับเข้ากับสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ มากกว่าเดิม

ยิ่งมองประเด็นการก้าวทะยานของจีน (the rise of China) ยิ่งเป็นตัวบังคับให้ญี่ปุ่นต้องแสดงบทบาทสำคัญหลังยุคสงครามเย็น ดังนั้น ยิ่งเป็นความจริงยิ่งขึ้นที่ผู้เล่นหลายฝ่ายของญี่ปุ่นมีความรู้สึกว่า ญี่ปุ่นมองเมียนมาในทางถูกต้อง ซึ่งเท่ากับเป็นการลงทุนในระยะยาวของญี่ปุ่นในเมียนมา อันเท่ากับจุดยุทธศาสตร์อีกจุดหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง

เมียนมาในมุมของภูมิภาค