นงนุช สิงหเดชะ/บทเรียน(น่าตะลึง)จาก ‘เฟซบุ๊ก’

บทความพิเศษ

นงนุช สิงหเดชะ

บทเรียน(น่าตะลึง)จาก ‘เฟซบุ๊ก’

หนึ่งในข่าวใหญ่ระดับโลกเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ตีคู่มากับข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ เปิดศึกการค้ากับจีน
ก็คือข่าวอื้อฉาวจากเฟซบุ๊ก
เมื่อมีผู้แฉว่า บริษัทที่ปรึกษาการเลือกตั้งในอังกฤษแห่งหนึ่งขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ราว 50 ล้านรายไปทำแคมเปญรณรงค์การเลือกตั้งในลักษณะบิดเบือนข้อมูลเพื่อโน้มน้าวผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จนช่วยให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559
และยังมีอิทธิพลต่อการลงประชามติของชาวอังกฤษเพื่อออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรือเบร็กซิทด้วย
บริษัทดังกล่าวมีชื่อว่า เคมบริดจ์ อนาไลติกา มีสำนักงานอยู่ในลอนดอน อังกฤษ ให้บริการคำปรึกษาด้านการเลือกตั้งแก่ใครก็ได้ทั่วโลกที่อยากชนะเลือกตั้งหรือกิจกรรมทางการเมือง
เรื่องนี้ถูกเปิดโปงเป็นครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สของสหรัฐ และดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ของอังกฤษ
โดยผู้ให้ข้อมูลคือคริสโตเฟอร์ ไวลี อดีตผู้ร่วมก่อตั้งเคมบริดจ์ อนาไลติกา
ก่อนที่ต่อมานักข่าวของสถานีโทรทัศน์ Channel 4 News ของอังกฤษ จะขยายผลต่อด้วยการปลอมตัวแสร้งทำเป็นตัวแทนของตระกูลร่ำรวยของประเทศศรีลังกาตระกูลหนึ่งที่อยากสร้างความได้เปรียบทางการเมืองจึงอยากมาใช้บริการของบริษัท
โดยนักข่าวได้บันทึกภาพขณะพูดคุยกับอเล็กซานเดอร์ นิกซ์ ซีอีโอของเคมบริดจ์ อนาไลติกา ด้วย
ซึ่งอาจจะเป็นเพราะซีอีโอคนนี้อยากจะโน้มน้าวให้ลูกค้า (นักข่าว) รายนี้ใช้บริการก็เป็นได้ จึงเผลอพูดเรื่องลับๆ จนหมดเปลือกว่า บริษัทของเขามีหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้ผู้ลงเลือกตั้งทั่วโลกชนะการเลือกตั้งได้
วิธีดังว่า ก็มีตั้งแต่การใช้หญิงบริการ, ติดสินบนและให้ข้อมูลข่าวสารผิดๆ เพื่อจูงใจกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อมีการขุดคุ้ยต่อไปว่า ข้อมูลของเฟซบุ๊กตกไปอยู่ในมือของเคมบริดจ์ฯ ได้อย่างไร
ก็พบว่า เป็นฝีมือของบริษัทโกลบอล ไซเอนซ์ รีเสิร์ช (จีเอสอาร์) ของนายอเล็กซานเดร โคแกน ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อจัดเก็บข้อมูลทางจิตวิทยาของบุคคล
โดยแอพพ์นี้ได้รับอนุญาตให้อยู่บนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก โดยผู้เข้ารับการทดสอบจิตวิทยาดังกล่าวจะได้รับค่าตอบแทนและเป็นการสมัครใจ ซึ่งมีผู้เข้ารับการทดสอบ 2.7 แสนราย แต่ปัญหาคือจีเอสอาร์แอบเก็บข้อมูล “เพื่อนๆ” บนเฟซบุ๊กของ 2.7 แสนรายนั้นด้วยรวม 50 ล้านราย แล้วส่งต่อให้กับเคมบริดจ์ฯ
จากนั้นเคมบริดจ์ฯ นำข้อมูลไปพัฒนา psychographic profile ของบุคคล (ข้อมูลที่บ่งชี้ว่าแต่ละคนมีรูปแบบดำเนินชีวิต, ค่านิยม, ความสนใจ ความคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างไร-เป็นข้อมูลเชิงลึกที่นักการตลาดนิยมใช้) แล้วก็ส่งข้อมูลหรือโฆษณาในลักษณะสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ (ลูกค้าที่ซื้อบริการของเคมบริดจ์ฯ) ไปยังบุคคลเป้าหมายเหล่านี้ผ่านโซเชียลมีเดียหรือออนไลน์เพื่อโน้มน้าว โดยกลุ่มนี้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐที่ไม่ได้ภักดีพรรคใดเป็นพิเศษ พร้อมจะเปลี่ยนแปลงทุกเมื่อ
หรือที่เรียกว่า swing voters

เมื่อฟังคำชี้แจงจากเฟซบุ๊กแล้ว แทบฟังไม่ขึ้น โดยอ้างว่าตนเองนั้นถูกจีเอสอาร์หลอกและผิดสัญญาเรื่องการแชร์ข้อมูล และถือว่าทำผิดนโยบายของบริษัท จึงได้แบนแอพพลิเคชั่นของจีเอสอาร์ไปตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 และได้สั่งให้ทุกฝ่ายที่ได้รับข้อมูลจากจีเอสอาร์ลบข้อมูลทิ้งทั้งหมด
ส่วนเคมบริดจ์ อนาไลติกา ก็อ้างว่าได้ลบข้อมูลทิ้งตั้งแต่วันที่ได้รับการแจ้งเตือนแล้ว
ข้ออ้างของเฟซบุ๊ก ที่ว่าไม่รู้ว่าจีเอสอาร์แอบแชร์ข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กให้กับบุคคลอื่นและอ้างว่าถูกจีเอสอาร์หลอกลวง สะท้อนให้เห็นชัดว่าอันที่จริงแล้วเฟซบุ๊ก (และโซเชียลมีเดียอื่นๆ) ไม่ได้มีศักยภาพหรือมาตรการอะไรที่จะปกป้องข้อมูลของผู้ใช้บริการและแม้กระทั่งไม่ได้ใช้ความพยายามเต็มที่ที่จะปกป้องเลย
คริสโตเฟอร์ ไวลี ซึ่งเป็นผู้ออกมาแฉบริษัทเคมบริดจ์ฯ ในครั้งนี้ ให้ปากคำต่อรัฐสภาด้วยว่า เคมบริดจ์ฯ ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประชามติเกี่ยวกับการอยู่หรือออกจากการเป็นสมาชิกอียูของอังกฤษด้วย
โดยฝ่ายรณรงค์ให้ออกจากอียูได้ใช้บริการข้อมูลของ AggregateIQ ซึ่งเป็นบริษัทที่เชื่อมโยงกับเคมบริดจ์ฯ ในการสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ลงประชามติ
ซึ่งถือว่าเป็นวิธีขี้โกง
จากกรณีดังกล่าว ทั้งการเลือกตั้งสหรัฐและผลประชามติของอังกฤษ ได้ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าบริษัทเคมบริดจ์ฯ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลการเลือกตั้งของหลายประเทศ โดยตามการรายงานของหนังสือพิมพ์ ดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ ระบุว่า เคมบริดจ์ฯ อาจร่วมมือกับแฮ็กเกอร์ชาวอิสราเอลในการพยายามจะครอบงำหรือเบี่ยงเบนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไนจีเรียเมื่อปี 2558 แต่ไม่สำเร็จ
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสงสัยว่าเคมบริดจ์ฯ อาจมีส่วนทำให้ผลการเลือกตั้งประเทศเคนยาเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วออกมาอย่างที่เห็น กล่าวคือ นายอูฮูรู เคนยัตตา ชนะเลือกตั้งอีกสมัย ทำให้เกิดการประท้วงกระทั่งมีผู้เสียชีวิต 28 ราย และฝ่ายค้านได้ฟ้องศาลว่ามีการโกงเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์นั้นถูกแฮ็กเพื่อโกงผลเลือกตั้งอย่างมโหฬาร
สุดท้ายศาลมีคำพิพากษาให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

อุทาหรณ์เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าในโลกยุค 4.0 หรือที่เรียกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งมีอินเตอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนแสดงบทบาทสำคัญ ชนิด disruption หรือทำให้เกิดสิ่งใหม่แบบพลิกผันอย่างรวดเร็วและทำลายของเก่าไปในพริบตา (ทำลายสื่อสิ่งพิมพ์, ทำลายกล้องฟิล์ม ฯลฯ) มีอัตราความเร็วการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้ง 3 ครั้งก่อนหน้านี้อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้จะทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายรวดเร็ว โดยเฉพาะในแง่การรับข่าวสารและติดต่อสื่อสารแล้ว การสร้างโอกาสทางธุรกิจ แต่ในอีกแง่หนึ่งมันทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเรามีความเปราะบางหรือความเสี่ยงที่จะถูกละเมิด ถูกแอบนำไปใช้โดยไม่ได้ยินยอม
นอกจากจะถูกแอบนำข้อมูลไปใช้แล้ว เรายังตกเป็นเหยื่อให้กับเกมโกงทางการเมืองโดยไม่รู้ตัว
การอุบัติขึ้นของโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดประชากรประเภทใหม่ขึ้นมาจำนวนมหาศาล ลบสถิติประชากรจีนที่ได้ชื่อว่ามีประชากรมากที่สุดในโลก
ประชากรนั้นมีชื่อว่า “ประชากรเฟซบุ๊ก” ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 1,400 ล้านคน ขณะที่จีนมี 1,360 ล้านคน อินเดีย 1,240 ล้านคน ส่วนประชากรทวิตเตอร์มี 600 กว่าล้านคน มากกว่าประชากรอเมริกันที่มี 300 กว่าล้านคน
ตั้งแต่มีโลกนี้เกิดขึ้นมา ยังไม่มีสื่อใด ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์ดังระดับโลกหรือช่องข่าวระดับโลกอย่างซีเอ็นเอ็นมีลูกค้าหรือผู้ใช้บริการมากเท่าเฟซบุ๊ก
ดังนั้น ลองคิดดูว่าอิทธิพลของโซเชียลมีเดียเหล่านี้จะมากขนาดไหน ไม่ว่าจะในทางดีหรือร้าย
แต่ที่น่าห่วงสุดก็คือผลในทางร้าย เพราะหมายถึงการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ทั้งในแง่สังคมและการเมืองอันเกิดจากผู้ประสงค์ร้ายอาศัยโซเชียล มีเดีย เผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน หลอกลวง