กรองกระแส : 2 ด้าน ของ อำนาจ ศึกษา บทเรียน ของ “โจโฉ” บทสรุป อดัม สมิธ

ที่มา : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Adam_Smith.jpg

ใครก็ตามที่ได้อ่านบทความชุด “วิกฤติศตวรรษที่ 21” ตอนว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานและยุทธศาสตร์ (มติชนสุดสัปดาห์, 16 กันยายน)

โดยเฉพาะ “บทสรุป” อันดำเนินไปเหมือนกับเป็น “ทฤษฎี” โดย อดัม สมิธ

ก็จะประจักษ์ในลักษณะ 2 ด้านแห่งการดำรงอยู่ของ “อาณานิคม” ในศตวรรษที่ 18 แน่นอน ด้านหลัก การมีอาณานิคมได้สร้างความยิ่งใหญ่ทางการเมือง และสร้างความมั่งคั่งในทางเศรษฐกิจ อย่างมหาศาลให้กับมหาอำนาจ

ไม่ว่าจะเป็น สเปน โปรตุเกส อังกฤษ หรือเนเธร์แลนด์

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การค่อยๆ เติบใหญ่ของอาณานิคมก็ดำเนินไปอย่างมีลักษณะบ่อนเซาะและบั่นทอนของบรรดา “เจ้าอาณานิคม”

“อำนาจ” จึงมิได้มีแต่ด้านอันเป็น “คุณ”

ตรงกันข้าม การดำรงอยู่ของอำนาจก็มีด้านที่ไม่เป็นคุณ ด้านอันมีส่วนอย่างสำคัญใน “การทำลาย” ตัวของอำนาจไปด้วยในขณะเดียวกัน

เพียงแต่จะ “รวดเร็ว” หรือว่า “ยาวนาน” เพียงใด และอย่างไร

ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโรมันจึงต้องล่มสลาย ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรมองโกลจึงต้องล่มสลาย ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไบแซนไทน์จึงต้องล่มสลาย

เหมือนที่อังกฤษ ฝรั่งเศส ประสบมาแล้ว


ศึกษา โจโฉ

เมื่อรุ่ง ก็ร่วง

อาจกล่าวได้ว่าโจโฉประสบความสำเร็จจากปัจจัยพื้นฐานอย่างน้อย 3 ประการประสานเข้าด้วยกัน 1 จากปัจจัยที่เข้าไปมีบทบาทในการปราบปรามโจรโพกผ้าเหลือง

กำลังทัพของโจโฉได้มาอย่างมหาศาลจากชัยชนะนี้

1 จากปัจจัยที่เมื่อเติบใหญ่ โจโฉมีที่ปรึกษาหรือกุนซือที่ชาญฉลาด มองการณ์ไกล ไม่ว่าจะเป็นซุนฮก ไม่ว่าจะเป็นมอกาย กุนซือเหล่านี้เองที่เสนอแนะให้โจโฉเข้าไปแอบอิงกับอำนาจของฮ่องเต้ จากนั้นอาศัยอำนาจของฮ่องเต้ในการไปอยู่เหนือบรรดาเจ้าแคว้นทั้งหลาย

ตรงนี้เองที่ทำให้โจโฉดำรงความเหนือกว่าไม่เพียงแต่ต่ออ้วนเสี้ยว หากแม้กระทั่งเล่าปี่เองก็ต้องสยบยอม

1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากภายหลังจากสะสมกำลัง สะสมความชอบธรรม ในที่สุด โจโฉตัดสินใจปราบกลุ่มของอ้วนเสี้ยวด้วยกำลังทหาร แม้ว่าจะมีกำลังน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบในเชิงปริมาณ แต่อาศัยความเฉลียวฉลาดในเชิงการยุทธ์และการวางแผนอย่างแยบยลทำให้ได้ชัยชนะจากศึกกัวต๋อเมื่อปี ค.ศ.200

ผลก็คือ โจโฉสามารถครองอำนาจทั้งทางการเมือง การทหาร ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดบริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง

นั่นก็คือ ได้ยึดครองพื้นที่อันเรียกว่า “จงหยวน” ได้อย่างสิ้นเชิง

ประวัติศาสตร์จากยุคของสามก๊กกระทั่งมาถึงประวัติศาสตร์ในยุคของเหมาเจ๋อตง ทัพใดก็ตามที่สามารถยึดครอง “จงหยวน” ได้ ความหมายก็คือเท่ากับยึดอาณาจักรจีน

นี่คือด้านที่รุ่งโรจน์ ด้านอันเปี่ยมด้วยอำนาจของโจโฉ


ตะวันเมื่อมีขึ้น

ตะวันก็มีตก

หลังจากชัยชนะในสงครามกัวต๋อเมื่อปี ค.ศ.200 โจโฉมากด้วยความมั่นใจจึงได้ยกทัพลงใต้เพื่อจัดการกับเล่าเปียวในเบื้องต้น และซุนกวนในขั้นต่อมา

การจัดการกับเล่าเปียวอาจไม่ยากลำบากนัก เพราะภายในเกงจิ๋วมีความขัดแย้งดำรงอยู่

แต่การจัดการกับเล่าปี่กลับไม่ง่ายดาย อย่างน้อยเมื่อประสบเข้ากับการยุทธ์ที่ทั้งพกบ๋องก็ต้องพ่ายแพ้อย่างยับเยิน แม้ทัพของเล่าปี่ต้องถอยอย่างชนิดยะย่ายพ่ายจะแจ แต่ก็สามารถไปตั้งหลักร่วมกับเล่ากี๋ได้ที่เมืองกังเฮ

การยึดครองเกงจิ๋วของโจโฉจึงยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

สถานการณ์การรุกของโจโฉบีบและกดดันโดยปริยายให้ทัพของเล่าปี่จำเป็นต้องสร้างแนวร่วมกับทัพของซุนกวนแห่งแคว้นกังตั๋ง โดยมี 2 กุนซือที่สำคัญเป็นตัวเชื่อมประสานอย่างทรงพลัง 1 คือโลซกแห่งแคว้นกังตั๋ง 1 คือขงเบ้ง

เมื่อซุนกวนตัดสินใจมอบอำนาจบัญชาการทัพให้กับจิวยี่โดยการประสานระหว่างทัพซุนกวนและทัพเล่าปี่ก็สามารถเอาชนะทัพโจโฉได้อย่างงดงาม

ใครที่อ่านสามก๊กตอน “โจโฉแตกทัพเรือ” ย่อมสัมผัสได้ต่อกลิ่นอายความพ่ายแพ้ของโจโฉ

จากสถานการณ์ศึกเช็กเพ็กเมื่อปี ค.ศ.208 เป็นต้นมา แสดงแนวโน้มอย่างเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับของสภาวะถดถอยของโจโฉ

เป็นการถดถอยจากโจโฉมายังยุคของโจผีและก็จบสิ้นในยุคของโจซอง

การถดถอยของตระกูลโจเกิดขึ้นและดำรงอยู่ท่ามกลางการเติบใหญ่ของตระกูลสุมาอันมีสุมาอี้เป็นทัพหน้า

ในที่สุด สุมาอี้ก็ก่อรัฐประหารและโค่นตระกูลโจลง แล้วสถาปนาราชวงศ์ใหม่อันเป็นของตน


บทเรียน อำนาจ

เมื่อรุ่ง ก็ย่อมมีโรย

แท้จริงแล้วหากมองกระบวนการแห่ง “อำนาจ” ผ่านกระบวนการแห่ง “ชีวิต” ก็สามารถเข้าใจได้อย่างเป็นรูปธรรม

นั่นก็คือ ดำรงอยู่ภายใต้กฎแห่ง “อนิจจัง”

ไม่มีชีวิตใดที่มีแต่ด้านอันเติบโต เพราะภายในกระบวนการเติบโตซึ่งคล้ายกับพัฒนาการนั้น ภายในตัวของชีวิตก็บ่อนเซาะ บั่นทอนตัวมันเอง

จากทารก เป็นเด็ก จากเด็กเป็นวัยรุ่น วัยฉกรรจ์

จากวัยฉกรรจ์ เป็นวัยกลางคน เป็นวัยผู้ใหญ่ จากสภาวะแห่งความเป็นผู้ใหญ่ชีวิตก็เริ่มนับถอยหลังเดินทางใกล้กับความตายมากเป็นลำดับ

เป็นการดำเนินไปภายใต้กระบวนการแห่ง ทุกขัง อนิจจัง

บทสรุปของ อดัม สมิธ เป็นบทสรุปในขณะที่การแผ่ขยายอาณานิคมของ สเปน โปรตุเกส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เป็นต้น ดำเนินไปด้วยความคึกคัก ฮึกเหิม ในพลานุภาพแห่งกองทัพ มั่นใจในการเติบใหญ่ขยายตัวในทางเศรษฐกิจ

หารู้ไม่ว่าในท่ามกลางการเคลื่อนไหวยึดครอง ในท่ามกลางความเติบใหญ่ พัฒนาการ ก็มีส่วนที่บ่อนเซาะ บั่นทอน ดำรงอยู่

ไม่ว่าโจโฉ ไม่ว่าฮิตเลอร์ ไม่ว่าสตาลิน ไม่ว่าเหมาเจ๋อตง ล้วนหนีไม่พ้นจากกรงเล็บแห่งอำนาจ