คนมองหนัง : 5 ประเด็นน่าสนใจจากหนัง “Bangkok Nites” “สังคมไทย” ในมุมมอง “ผู้กำกับฯ ญี่ปุ่น”

คนมองหนัง

“Bangkok Nites” หรือในชื่อภาษาไทยสองแบบ “กลางคืนที่บางกอก” และ “กรุงเทพราตรี” เป็นผลงานการกำกับฯ ร่วมของ “คัตสึยะ โทมิตะ” และ “อภิชา ศรัณย์ชล” ซึ่งกำลังเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ทางเลือก “Bangkok Screening Room” ย่านสีลม

ก่อนหน้านี้ หนังได้รับความสนใจจากหลายเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก รวมทั้งได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังโลการ์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยมประจำปี 2017 โดยนิตยสาร “Kinema Jumpo” นิตยสารภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของแดนอาทิตย์อุทัย

ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง “โอซาว่า” อดีตทหารจากกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ที่ใช้ชีวิตตกอับในห้องเช่าเล็กๆ (น่าจะ) ย่านฝั่งธนบุรี กับ “ลัก” ดาวเด่นแห่งแหล่งตระเวนราตรีย่านธนิยะ

ลัก คือ สาวอีสาน (หนองคาย) ที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากนักธุรกิจญี่ปุ่นที่แวะเวียนมาเมืองไทยเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ เธอยังหลับนอนกับแมงดาชาวญี่ปุ่นอีกราย

ลักและโอซาว่าแอบคบหากันเงียบๆ เมื่ออดีตทหารญี่ปุ่นมีภารกิจลับที่ประเทศลาว ลักจึงเดินทางไปด้วย พร้อมทั้งชักชวนโอซาว่าให้แวะพบปะกับครอบครัวและเพื่อนๆ ของเธอที่หนองคาย

แล้วเรื่องราวต่างๆ ก็พรั่งพรูออกมา นอกจากประเด็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเป็นปริศนาระหว่างโอซาว่ากับลัก หนังยังฉายภาพชีวิตที่ทั้งทุกข์ทน สุขสันต์ และมีความหวังของชาวบ้านอีสาน มีการปรากฏกายของพญานาคและ “ผีจิตร ภูมิศักดิ์” รวมถึงเศษซากบาดแผลของสงครามหลากหลายยุค

ถัดจากนี้คือบางประเด็นน่าสนใจในหนัง “Bangkok Nites”

สายสัมพันธ์ที่ “ไม่ลงเอย” แต่ “ตัดไม่ขาด”

สายสัมพันธ์ระหว่าง “ญี่ปุ่น” กับ “ไทย” ในหนังเรื่องนี้ถูกบอกเล่าผ่านความสัมพันธ์ของสามัญชน ตลอดจนวัฒนธรรมชายขอบต่างๆ

มันเป็นทั้งความรัก ความพลัดพราก ความสมานฉันท์ และบาดแผล

อาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ในหนังถูกนำเสนอออกมาในเชิง “ศัตรูที่รัก”

ด้านหนึ่ง นี่เป็นหนังสารภาพบาปจากมุมมองของญี่ปุ่น แม้หนังไม่ได้พูดถึง “บาปใหญ่” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หากพูดถึงผลลัพธ์ต่อเนื่องหลังจากนั้น

นั่นคือ “บาป” ที่ญี่ปุ่น (และไทย) ร่วมก่อในช่วงสงครามเย็น เรื่อยมาถึง “บาป” อันเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเซ็กซ์ร่วมสมัย ซึ่งนับเป็นการกดขี่ขูดรีดอีกรูปแบบหนึ่ง (ตามมุมมองของคัตสึยะ โทมิตะ ผู้กำกับฯ) และนับเป็นผลพวงของสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์เช่นกัน

(หนังยังไปไกลกว่านั้น ด้วยการวิพากษ์มรดกของลัทธิล่าอาณานิคม ผ่านตัวละครอย่างชายนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสขี้เมาหยำเป ซึ่งประกาศขณะมึนเมาอย่างเต็มภาคภูมิว่าดินแดนแถบนี้เคยเป็นอาณานิคมของเขามาก่อนทั้งนั้น นอกจากนี้ ยังมีแม่เล้าแหม่มที่บาร์ในหนองคาย ซึ่งเป็นตัวละครที่แปลกใหม่มากๆ สำหรับโลกของหนังพูดภาษาไทย/หนังว่าด้วยสังคมไทย)

อย่างไรก็ดี การสารภาพบาปดังกล่าวดำเนินไปเคียงคู่กับความสัมพันธ์หลากหลายหน้า ที่มิได้แบ่งมิตรแยกศัตรูโดยชัดเจน

แม้คนทำหนังจะตั้งใจสารภาพถึงการกดขี่ขูดรีดที่ตนสมควรมีส่วนรับผิดชอบ ทว่าการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบรรดาตัวละครในหนัง ก็มิได้เป็นไปในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งกดขี่ขูดรีดอีกฝ่ายหนึ่งจนโงหัวไม่ขึ้น ตรงกันข้าม พวกเขาเหล่านั้นต่างสานสัมพันธ์ผ่านการ “แลกเปลี่ยน (บาดแผล)” และ “เยียวยา” ซึ่งกันและกัน

นี่เป็นสายสัมพันธ์ที่ไม่มีบทสรุปหรือข้อยุติใดชัดเจน นี่คือสายสัมพันธ์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด แต่ก็ไม่มีวันสมบูรณ์แบบ ต่างฝ่ายต่างกระทำ (และถูกกระทำ) ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ

ท่ามกลางรูปแบบความสัมพันธ์ที่ผันแปรและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

“สังคมไทย” ในสายตา “คนญี่ปุ่น”

“Bangkok Nites” มีความยาวถึง 181 นาที นี่เป็นหนัง 3 ชั่วโมงที่สามารถบรรจุประเด็นนู่นนี่เอาไว้ได้อย่างมากมายจนน่าทึ่ง

ไล่ตั้งแต่ประเด็นความขัดแย้งยุคสงครามเย็น มรดกของลัทธิล่าอาณานิคม อุตสาหกรรมทางเพศตั้งแต่ใจกลางกรุงเทพฯ ถึงชายขอบประเทศไทย โรคเอดส์ กัญชา-ยาเสพติด

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผีจิตร ภูมิศักดิ์ วิญญาณทหารป่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพญานาค ภูมิภาคอินโดจีน ขบวนการขบถปลดแอกสไตล์ฮิปฮอปอันเกิดจากการรวมตัวของวัยรุ่นสหประชาชาติแห่งประชาคมอาเซียน เพลงลูกทุ่ง หมอลำ และเพลงเพื่อชีวิต ฯลฯ

วิธีการจับจ้องมองดูสังคมไทยและภูมิภาคอินโดจีนในแนวทางนี้ ชวนให้นึกถึงงานไทยศึกษา/ภูมิภาคศึกษาของนักวิชาการญี่ปุ่น ที่ทำงานหนัก และหลายครั้งมักมีลักษณะครอบคลุมเป็นสหวิทยาการ ขณะเดียวกันก็ไม่ทอดทิ้งการเข้าพื้นที่เพื่อไปทำความรู้จักชาวบ้าน

ดังที่ตัวละครชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งพูดกับมิตรสหายระหว่างสังสรรค์ที่ซอยธนิยะทำนองว่า ถ้าคุณอยากรู้จักสังคมไทย ก็ต้องหาโอกาสนั่งรถทัวร์ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง

องค์ประกอบทั้งหลายข้างต้นถูกนำมาคลุกเคล้าเขย่ารวมในหนังหนึ่งเรื่องอย่างน่าสนใจ แน่นอน ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมมีทั้งจุดที่ดีและสนุกมากๆ และจุดที่ออกจะเบลอร์ๆ นิดหน่อย

เช่น ประเด็นเรื่องภัยคุกคามจากการติดเชื้อเอชไอวีในหมู่สตรีค้าบริการ ซึ่งแลดู “ตกยุค” นิดๆ

ขณะเดียวกัน สถานภาพของ “สงคราม” ในหนัง ก็เต็มไปด้วยความสับสนพร่าเลือนชวนมึนงง

แม่ของลักนั้นเหมือนจะเคยเป็นอดีตเมียของทหารอเมริกันยุคสงครามเวียดนาม (จีไอ) ซึ่งแลดูผิดบริบท ถ้าพิจารณาว่าเธอมีอายุแค่ราว 50 กว่าๆ ในปี 2559-2560

นอกจากนี้ บรรยากาศการพูดคุยกันของบรรดาตัวละครทหารผ่านศึกชาวญี่ปุ่นที่ตกค้างอยู่ ณ ซอยธนิยะ ก็รำลึกถึงสมรภูมิอันกำกวม

บางตอน บทสนทนาบ่งชี้เหมือนกับว่าพวกเขาเคยอยู่ในกัมพูชาช่วงที่ “เขมรแดง” เรืองอำนาจ แต่บางตอนกลับระบุว่าพวกเขาเหล่านี้คือกองกำลังญี่ปุ่นที่เข้าไปช่วยฟื้นฟูพัฒนากัมพูชาหลังการรวมชาติช่วงทศวรรษ 1990 (ข้อหลังนี้ น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด)

อย่างไรก็ดี ลักษณะไหลเลื่อนล่องลอยเช่นนี้อาจเป็นความนัยที่แสดงให้เห็นถึงภาวะของสงครามอันแผ่ขยายฟุ้งกระจายไปไม่หยุดหย่อน และไม่สามารถรวบรัดตัดตอนให้จบสิ้นลงในช่วงเวลา/พื้นที่ใด ช่วงเวลา/พื้นที่หนึ่ง

“ผีจิตร”

ตัวละครสมทบที่โผล่มาแว้บๆ แต่สามารถขโมยซีนได้ตลอดเวลาอย่างน่าตลก (ร้าย) ก็คือ “ผีจิตร ภูมิศักดิ์” ที่รับบทโดย “หงา คาราวาน”

ถ้ายังไม่ได้ดูหนัง หลายคนที่รับทราบข้อมูลแค่นี้ อาจรู้สึกผิดหวังและเห็นว่าการนำ “หงา” มาแสดงเป็น “จิตร” ถือเป็นความ “ผิดฝาผิดตัว” ที่ไม่อาจให้อภัย

แต่หากมาดูหนังจริงๆ จะพบว่าอาการ “ผิดฝาผิดตัว” ที่ปรากฏ กลับกลายเป็นเครื่องมือซึ่งใช้วิพากษ์ “หงาในปัจจุบัน” ได้อย่างคมคาย

พร้อมๆ กับที่ “กวี/นักคิด/วีรชนปฏิวัติ” อย่าง “จิตร” กลายเป็นผีที่ไม่น่ากลัว ไม่น่าใส่ใจ และค่อนข้างน่าตลกขบขัน ในสายตาของตัวละครรายรอบที่เป็นชาวบ้านอีสานรุ่นใหม่

ในสายตาของคนดูเบื้องหน้าจอภาพยนตร์ “หงา” ก็มิใช่ “ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต/เพลงปฏิวัติ” คนเดิม

ประเด็นหลักสำคัญว่าด้วย “ตัวตนที่เปลี่ยนแปลง” ถูกเปิดเผยออกมาอย่างรวดเร็ว แม่นยำ ตั้งแต่ในประโยคแรกๆ ที่ “ผีจิตร” เอ่ยปากเจรจากับพระเอกหนุ่มใหญ่ชาวญี่ปุ่น

อยากให้ผู้สนใจไปรับ “สารเสียดเย้ย” ดังกล่าวกันเอาเองในโรงภาพยนตร์

ผมอยากเป็น “ทหาร”

อีกหนึ่งตัวละครที่น่าสนใจก็คือน้องชายลูกครึ่งฝรั่ง (คนละพ่อ) ของลัก ที่มีความใฝ่ฝันอยากจะสมัครเข้ารับราชการเป็นทหาร (ไม่ใช่ “วิญญาณทหารป่า” ที่วิ่งไปมาให้โอซาว่าได้พบเห็นระหว่างตระเวนท่องเที่ยวในภาคอีสาน)

ลักไม่อยากให้น้องชายไปเป็นทหาร ครอบครัวญาติมิตรของเธอที่อีสานก็ไม่อยาก เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งก็คือ ถ้าถูกส่งตัวไปชายแดนใต้แล้วเกิดอันตรายขึ้นจะทำยังไง?

นี่เป็นความสัมพันธ์ที่แปลกแยกระหว่างสามัญชน/คนอีสานกับ “กองทัพ” (หรืออาจรวมถึงระหว่าง “คนอีสาน” กับพื้นที่ “จังหวัดชายแดนภาคใต้”) ไม่ต่างจากความสัมพันธ์ที่แนบแต่ไม่แน่นของคู่รักญี่ปุ่น-ไทยในหนัง

ทว่า เมื่อน้องชายลักอยากเป็นทหารจริงๆ ทุกคนก็ไม่สามารถห้ามปรามความปรารถนาของเขาได้

แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง ทางเลือกในชีวิตของหนุ่มน้อยก็ช่างจำกัดจำเขี่ยสิ้นดี คือ ถ้าไม่ “บวช” (ตามความต้องการของยาย) ก็ต้องไปเป็น “ทหาร” (ซึ่งเป็นเส้นทางที่ดีกว่าตามความเห็นของเจ้าตัว)

ตัวละครน้องชายลักทำให้อดคิดถึง “ป่อง” ใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1” ไม่ได้ เพราะป่องก็พยายามหลีกเลี่ยงการบวชพระ ซึ่งเป็นความคาดหวังแรงกล้าของพ่อและย่าเช่นเดียวกัน

(ผิดกันแต่เพียงว่า ทางเลือกอีกสายของลูกชายผู้ใหญ่บ้านอย่างป่อง คือ การเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดย่อม มิใช่การรับราชการทหาร)

เป็นไปได้ไหมว่า “การเป็นทหาร” ก็ดี “การบวชพระ” ก็ดี กำลังกลายสภาพเป็นอุปสรรค ปัญหา หรือความตึงเครียดข้อสำคัญชนิดหนึ่ง ในการดำเนินชีวิตและการเดินทางตามความฝันของบรรดาคนหนุ่มอีสานรุ่นใหม่?

“พญานาค” อันมหัศจรรย์ธรรมดา

หนังเรื่อง “Bangkok Nites” ได้สอดแทรกตำนาน “พญานาค” เอาไว้ ในภาวะที่ศรัทธาของมวลมหาชนชาวอีสานซึ่งมีต่อ “พญานาค” ย้อนกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง ณ ช่วงไม่กี่ปีให้หลัง

“ฉากพญานาค” ในหนังเกิดขึ้นเมื่อลักล่องเรือไปตามลำน้ำโขง ขณะที่เธอกำลังมีภาวะกลัดกลุ้มใจและเฝ้ารอคอยการหวนคืนของชายคนรัก

การปรากฏกายของ “พญานาค” ถือเป็น “ช่วงเวลาอันน่าอัศจรรย์” ในหนังเรื่องนี้แน่ๆ แต่ภาพมหัศจรรย์ดังกล่าวก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นภาวะงดงามแห่งความศรัทธาอันสูงส่งในค่ำคืนแสนพิเศษ หรือเป็นสัญลักษณ์ของการเสียสละใหญ่หลวงอันหาได้ยากยิ่ง เหมือนดัง “โมงยามอัศจรรย์” ของปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคในหนังเรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11”

การปรากฏตนของ “พญานาค” กลางแม่น้ำโขงภายใต้ระยับแดดแวววาว เบื้องหน้าหญิงสาวชาวบ้าน (ที่ทำงานค้าบริการทางเพศ) บนเรือโดยสาร ดูจะเป็นภาวะ “สัจนิยมมหัศจรรย์” หรือความอัศจรรย์ปกติที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิถีชีวิตสามัญธรรมดา

เป็นมนต์มายาบ้านๆ ที่คอยเยียวยาบาดแผลจิตใจของคนเล็กๆ ผู้ต้องต่อสู้เคี่ยวกรำกับโลกอันสามานย์มิรู้จบ