เมนูข้อมูล : กระแส “คนดีตามนิยาม”

เมื่อคนกลุ่มหนึ่งมีอภิสิทธิ์ที่จะกำหนดความเป็น “คนดี” มากกว่าคนอื่น

“คนดี” จึงมีความหมายไปในทางที่เป็น “ผู้ถูกควบคุมบังคับ” ได้ง่าย “รักความสงบมากกว่าสิทธิเสรีภาพ-เชื่อฟังทำตามขนบธรรมเนียมที่เคยมีมามากกว่าตั้งถามและค้นหาวิธีการที่จะดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม ควรจะเป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก”

ไม่ว่าจะใครก็ตาม ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่เห็น พูด และทำต่างจากที่อภิสิทธิ์ชนกำหนดนิยาม “คนดี” ไว้ คนนั้นก็เป็น “คนเลว”

การตัดสินว่า “ใครเป็นคนดี” ถูกนำมาเชื่อมกับโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจรัฐ

ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก สรรหาจาก “อภิสิทธิ์ชน” ว่าเป็น “คนดี” มีวาสนาที่จะเข้าสู่อำนาจรัฐมากกว่า ด้วยกฎหมายที่เขียนขึ้นมาใหม่ด้วยข้ออ้าง “กีดกันคนเลว”

“นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” กับ “นักการเมืองที่ชะเง้อคอรอการแต่งตั้ง” คือรูปธรรมของ “ผู้ถูกตัดสินว่าเป็นคนเลว” กับ “ผู้ถูกคัดสรรว่าเป็นคนดี”

ไม่ใช่การตัดสินของ “ประชาชนส่วนใหญ่” แต่เป็นการคัดสรรโดย “อภิสิทธิ์ชน”

อย่างไรก็ตาม สภาวะของการเมืองไทยที่เคลื่อนไปด้วยแรงขับของพลังแห่งนิยาม “คนดี” ดังที่ว่ามีความน่าสนใจอยู่ที่ประชาชนคิดอย่างไร

เพราะไม่ว่าจะกีดกันหรือตีกรอบบทบาทของประชาชนให้ด้อยกว่าอภิสิทธิ์ชนแค่ไหน แต่ที่สุดแล้วความราบรื่นในการจัดการอำนาจย่อมยู่ที่ “ความเห็นดีเห็นงามของประชาชน”

ดังนั้น ประชาชนรู้สึกอย่างไรกับ “การสถาปนาคนดีในนิยามที่อภิสิทธิ์ชนกำหนด” จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

“นักการเมืองอันเป็นตัวแทนของประชาชน” ถูกให้ความหมายในทางเป็น “คนไม่ดี” มายาวนาน ด้วยท่าทีโจ่งแจ้งบ้าง ซ่อนเร้น แอบแฝง โดยอ้อมบ้าง เพื่อให้ “อภิสิทธิ์ชน” มีความชอบธรรมที่จะแต่งตั้ง “นักการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน” ขึ้นมา

ท่าทีใช้ “ความดีที่นิยามขึ้นมาเอง” กดข่มนักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชนจะได้ผลเต็มที่หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นตามที่ “อภิสิทธิ์ชน” พยายามให้เห็น

ผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ล่าสุด น่าจะเป็นคำตอบ ณ ปัจจุบันของความเห็นประชาชนในกระแสนี้

มีการเปิดจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ มีหลายกลุ่มมายื่นขอจดทะเบียนเป็นพรรค

“สวนดุสิตโพล” ถามประชาชนว่า

“สิ่งที่คาดหวังจากพรรคการเมืองใหม่คืออะไร” ร้อยละ 48.30 ตอบว่า “มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง” ร้อยละ 43.98 ตอบว่า “แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทำเพื่อส่วนรวม พัฒนาประเทศ” ร้อยละ 35.34 ตอบว่า “มีหัวหน้าพรรคและสมาชิกเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ” ร้อยละ 31.02 ตอบว่า “เป็นคนรุ่นใหม่ มีนโยบายที่ดี มีแนวคิดใหม่ๆ” ร้อยละ 28.14 ตอบว่า “ไม่สร้างความขัดแย้ง สาดโคลนกันไปมา”

และอีกคำถามหนึ่งคือ “พรรคการเมืองใหม่จะทำอย่างไรจึงเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างดี” ร้อยละ 35.22 ตอบว่า “ให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างแรก รับฟังความเห็น ความเดือดร้อน” ร้อยละ 22.7 ตอบว่า “เข้าใจปัญหา แก้ปัญหาให้ตรงจุด” ร้อยละ 21.22 ตอบว่า “ดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด เข้าถึงประชาชน” และร้อยละ 17.00 ตอบว่า “ทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้”

หากนำคำตอบเหล่านี้ไปประเมินว่าสะท้อนถึงประชาชนส่วนใหญ่ ลอยไปตามกระแส “สถาปนาคนดีโดยอภิสิทธิ์ชน” หรือไม่

ย่อมเป็นเรื่องน่าคิด

และแล้วแต่ใครจะเป็นคนคิด