หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/’เครื่องมือ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมาไน - เครื่องมือของนักล่าอย่างหมาไน คือ ความว่องไว ปราดเปรียว จมูกรับกลิ่นดี การล่าด้วยกันเป็นฝูง ไม่ต่างจากเครื่องมือล่าขนาดใหญ่ หมาไนจึงทำงานอย่างได้ผล

หลังเลนส์ในดงลึก
ปริญญากร วรวรรณ

‘เครื่องมือ’

ถึงวันนี้แล้ว เรารู้ดีว่า บนโลกใบนี้ ไม่มีชีวิตใดเกิดขึ้นและอาศัยโลกอยู่อย่างไร้ประโยชน์
ทุกชีวิต ตั้งแต่ขนาดเล็กกระทั่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จนถึงยักษ์ใหญ่ เช่น เหล่าวาฬในทะเล ล้วนมีหน้าที่
สัตว์ต่างๆ ทำหน้าที่ต่างกันออกไป
ทุกชนิดเมื่อได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ใดๆ แล้วจะได้รับ “เครื่องมือ” ในการทำหน้าที่มาอย่างเหมาะสม
เครื่องมือของเหล่าสัตว์ป่า อยู่ในรูปแบบอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็น ปาก มือ หรือตีน และอื่นๆ
นอกจากเครื่องมือ พวกมันยังได้รับความสามารถพิเศษมาพร้อม
รวมทั้งให้มีการควบคุมประชากรให้มีอยู่อย่างสมดุล
มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย เช่น พวกกินพืช ก็ให้อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม มีประสาทระวังภัยดี รับกลิ่น ฟังเสียงเก่ง อีกทั้งกระโดดได้สูง และวิ่งได้เร็ว
ส่วนพวกทำหน้าที่ล่า ก็ย่อมได้รับการออกแบบร่างกายมาอย่างเหมาะสมเช่นกัน
มีเขี้ยวเล็บแข็งแรง แหลมคม มีเล่ห์เหลี่ยม ทักษะสูง
แต่ถ้าตัวใดมีความสามารถวิ่งเร็วเป็นเลิศ
ก็จะวิ่งได้แค่ระยะสั้นๆ
จมูก แม้จะรับกลิ่นได้ดีมากๆ แต่ก็ในระยะไม่ไกล
การออกแบบร่างกาย และทักษะของผู้ล่า และผู้ถูกล่า สอดคล้องกันอย่างลึกซึ้ง
ดูพวกมันแบบผ่านๆ ดูเหมือนว่า ผู้ล่าคือตัวทำลาย โหดเหี้ยม ไร้ความปรานี ฆ่าพวกไม่มีเขี้ยวเล็บอย่างไม่เลือกหน้า
ในความเป็นจริง
พวกมันต่างล้วนต้องพึ่งพาอาศัยกัน
เสือ ย่อมสูญพันธุ์ถ้าไม่มีเหยื่อให้ล่า
เหยื่อ ก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีเสือ

ไม่เฉพาะสัตว์ป่า
บรรดาชีวิตซึ่งอยู่ในรูปแบบของพืชชนิดต่างๆ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้
พืชหลายชนิด ว่าไปแล้ว ทั้งผืนป่านั่นแหละ อยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน
พืชต่างๆ แบ่งแยกกันอยู่อาศัยตามระดับความสูงของพื้นโลก และสภาพภูมิอากาศ
พืชหลายชนิด ดูสวยงาม เรียบร้อย บางชนิด เช่น ต้นไทร คล้ายจะโหดเหี้ยม ตัวเองเติบโต ขณะเดียวกันก็ฆ่าต้นที่ตัวเองอาศัย
และพืชบางชนิดที่มีดอกสวยงาม แต่เป็นความงามที่ซ่อนความเจ้าเล่ห์เหลี่ยมจัดไว้ข้างใน
เจตนาเพื่อล่อแมลงมาเป็นเหยื่อ หรือมาทำงานผสมเกสรให้
โครงสร้างอันสลับซับซ้อนของดอกไม้ดอกหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ กลวิธีในการล่อหลอกมดหรือแมลงมาทำงานให้ ช่างแยบยล
ในดอกไม้ดอกหนึ่ง มี “วิชา” ให้เรียนรู้ครบถ้วน
ไม่ว่าจะเป็นด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ สังคม
และรวมถึงธรรมะ

ทํางานอยู่ในป่า
ไม่เสมอไปหรอก ที่เราจะได้อยู่ใน “แคมป์ในฝัน”
ริมลำห้วย สายน้ำใสไหลเย็น ผีเสื้อบินร่อน
บนสันเขา ความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 900 เมตร นั่นแหละคือสภาพที่พบเจอบ่อยๆ
หลายวันเมื่อฝนไม่ตก
นั่นหมายถึง เราจะเริ่มมีปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ จึงต้องผลัดกันเดิน ลื่นไถลลงไปเอาน้ำในหุบ และใช้เวลาเดินขึ้นอีกกว่า 2 ชั่วโมง
หากฝนตก การรองน้ำจากปลายผ้ายางเป็นวิธีสะดวกสบายกว่า
หลายวัน ใกล้ๆ แคมป์ มีเก้งตัวหนึ่งที่มักเดินเข้ามาเมียงมอง
ชะนีมือขาว อีก 2 ครอบครัว ซึ่งจะส่งเสียงร้องโต้ตอบกันทุกๆ เช้า
สายๆ ก็จะโหนกิ่งไม้ข้ามหัวเราไป
ฝนไม่ตก ไม่ได้หมายความว่าบนพื้นทากจะลดจำนวน แถมเห็บก็มีไม่น้อย
อยู่ในป่านานๆ รู้จักพืชผัก หรือผลไม้ว่าชนิดไหนกินได้ เป็นการเรียนรู้อีกอย่าง
ผลไม้ที่ชะนีกิน และทำตกลงพื้น
นี่กินได้แน่ แต่รสชาติมักออกเปรี้ยวและขม
สำหรับชะนี ดูจากท่าทางเวลากินคล้ายจะเอร็ดอร่อยเหลือเกิน

สัตว์ป่าใช้อวัยวะที่มีในการดำรงชีพ
การเดินแบกสัมภาระของเรา ก็ต้องใช้อวัยวะของตัวเองโดยไม่มีอุปกรณ์ใดช่วย
เมื่อมีน้ำน้อย สิ่งต้องทำคือปรับตัว ใช้น้ำให้น้อยลง
เช่นเดียวกับที่ต้นไม้และสัตว์ปฏิบัติ

เมื่อเฝ้าดูสัตว์ป่า
สิ่งหนึ่งที่จะได้รับรู้คือ พวกมันได้รับการออกแบบให้มีอวัยวะต่างๆ เป็นเครื่องมืออย่างเหมาะสม
ว่ากันว่า มนุษย์ได้รับสิ่งพิเศษกว่า
คือ ได้รับ “สมอง” มาเพื่อคิดประดิษฐ์สิ่งต่างๆ มาเป็นเครื่องมือทำงานแทนอวัยวะ
จากการเฝ้าดูสัตว์ป่า ผมรู้ความจริงสิ่งหนึ่ง
แท้จริง เราได้รับ “สมอง” มาเพื่อจะได้เรียนรู้จากธรรมชาติ ซึ่งมีทุกสาขาวิชาให้เรียน
การเรียนในป่า ต่างจากการเรียนในเมือง
ในป่า “ครู” จะไม่สอน
ผู้เรียนต้องศึกษาและทำความเข้าใจด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น
“คน” ย่อมไม่เห็น “เครื่องมือ” หรือชีวิตที่เหล่าสัตว์ป่ามี
หากไม่ได้มองพวกมันโดยผ่านหัวใจ
หรือผ่านศูนย์ที่อยู่ปลายกระบอกปืน