ทราย เจริญปุระ : “เอาคืน” อย่างไรให้สาสม?

คุณจะทำอย่างไร ถ้าวันหนึ่งลูกสาวคุณโดนข่มขืน ฆ่า และเผาทิ้งอย่างทารุณ?

วันเดือนเคลื่อนผ่านไป ความคืบหน้ากลับค่อยเลือนหาย เบาะแสร่องรอยที่เคยได้รับคำสัญญาว่าจะหามาให้ดูเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นจริง

ความจริงอย่างเดียว

ความเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวที่เกิดขึ้นก็คือ

เธอจากไปแล้ว

ลูกสาวของคุณจากไปแล้วตลอดกาล

เธออาจจะไม่ใช่เด็กเรียบร้อยนักตามมาตรฐาน ไม่ได้เป็นเด็กเรียนดีกิจกรรมเด่น รูปสุดท้ายของเธออาจเป็นรูปที่เธอแลบลิ้นปลิ้นตาใส่กล้อง คำพูดสุดท้ายของเธออาจเป็นคำสบถพึมพำ คำกล่าวแสดงอารมณ์หงุดหงิดเบื่อหน่าย ก่อนจะเดินออกไปเหมือนเช่นทุกวัน

เพียงแต่ครั้งนี้เธอไม่ได้กลับมา

 

ภาพยนตร์เรื่อง 3 Billboards Outside Ebbing, Missouri เล่าถึงหนึ่งปีให้หลังเหตุการณ์นั้น

เวลาที่คนสำคัญในชีวิตถูกฆ่าตาย ใครๆ มักพูดว่า “อยากแก้แค้นคนร้ายให้สาสม” เวลาเกิดคดีที่เหี้ยมโหด คนในสังคมมักโจษจันว่า “อยากให้คนร้ายเจอแบบเดียวกับที่เหยื่อถูกกระทำ”

มันมีหลากหลายความคิดอยู่ในหัวของฉัน

การประหารไม่ใช่คำตอบของทุกปัญหา

หรือมันตอบได้ทุกปัญหา

ความรุนแรงไม่ควรถูกโต้ตอบด้วยความรุนแรง

หรือจริงๆ แล้วความรุนแรงคือคำตอบเดียว

ความรุนแรงที่เราหวังจะให้เกิดขึ้นกับผู้กระทำ มันลากเราลงไปในห้วงเหวอันดำมืดของจิตใจ ลากเราไปยืนเสมอกับผู้กระทำหรือไม่

จริงหรือเมื่อเราจ้องมองไปในความมืดนานพอ

ความมืดนั้นก็จะจับจ้องเรากลับมาเช่นกัน

 

“กฎหมายให้ฆ่า” เล่าถึงยุคสมัยหนึ่งในอนาคตที่ไกลออกไป ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายใหม่เพื่อรับมือกับคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง กฎหมายนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษาความสงบสุขและความเท่าเทียมในสังคม โดยใช้ชื่อว่า-กฎหมายแก้แค้น-

กฎหมายแก้แค้นนี้อนุญาตให้เหยื่อ หรือครอบครัวของเหยื่อ/ผู้เสียหาย สามารถกระทำกับคนร้ายแบบเดียวกับที่คนร้ายทำกับเหยื่อได้ โดยถือเป็นการลงโทษอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

โดยกติกาคือ เมื่อครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดของเหยื่อเลือกใช้กฎหมายนี้ จะต้องเป็นผู้ลงมือกระทำโทษนั้นด้วยตนเอง

 

แม้ในภาพยนตร์นั้นเลือกวิธีทวงถึงความยุติธรรมจากผู้รับผิดชอบ ด้วยการตั้งคำถาม

ความสงสัยและการตั้งคำถามนั้น แม้จะได้รับการพิสูจน์หลายครั้งจากอดีตถึงปัจจุบัน ว่าเป็นหนทางหนึ่งซึ่งจะนำคำตอบและความจริงมาให้

แต่ก็เกือบจะเป็นที่แน่นอนเช่นกัน ว่าผู้สงสัยและผู้เอ่ยปากถาม ย่อมมีชีวิตที่วุ่นวายขึ้นไม่มากก็น้อย

ในบางครั้งบางครา ข้อมูลเท็จอาจนำพากระแสสังคมให้แปรเปลี่ยนไปได้ง่ายๆ และหลอกล่อผู้คนให้กวัดไกวดาบแห่งความยุติธรรมอันตื้นเขิน

แต่เมื่อคนเหล่านั้นตระหนักถึงความยุติธรรมที่บิดเบือนเสียแล้ว ต่อไปพวกเขาจะหาคำตอบอะไรให้ตัวเองกันเล่า*

 

ผู้คนในนวนิยายเล่มนี้เลือกหนทางที่ตัดตรงผ่านทุกขั้นตอน

ไม่ต้องตั้งคำถามว่าทำไปเพื่ออะไร

ไม่ต้องสงสัยว่าจิตใจของผู้กระทำนั้นมีปัญหาอะไรหรือไม่

ไม่มองย้อนกลับไปหาสาเหตุ

มองไปที่ผลลัพธ์เท่านั้น

หนึ่งชีวิต แลกกับหนึ่งชีวิต

การเขียนถ้อยคำเหล่านี้ หรือเรียกร้องมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง

แต่การลงมือกระทำด้วยตัวเองจริงๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นวนิยายให้ภาพของทั้งผู้ที่มีความตั้งใจมั่น ลงมือแก้แค้นตั้งแต่ต้นจนจบไปรวดเดียว

ให้ภาพของผู้ปฏิเสธแนวคิดแก้แค้นตั้งแต่ต้น

ให้ภาพของผู้ที่ลังเลกับการออกเดินทางแสวงหาความยุติธรรมให้คืนมาด้วยการแก้แค้นอย่างสาสม

 

ฉันดูภาพยนตร์จบ อ่านหนังสือเล่มนี้จบ แต่ไม่ได้คำตอบสำหรับอะไร

นอกจากความอัดอั้นค้างคาใจ

หรือโลกนี้มีคำตอบมากมายสำหรับคำถามเรียบง่ายเพียงหนึ่งเดียว

คนที่ยังอยู่ ควรจะทำหรือไม่ทำอะไร

ไม่มีใครรู้เลย

————————————————————————————————————–
“Three Billboards Outside Ebbing, Missouri” /Martin McDonagh / 2017
*ข้อความจากในหนังสือ