จิตต์สุภา ฉิน : อเล็กซ่า หัวเราะหน่อยสิ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ถ้าหากคุณกำลังนั่งอ่านหนังสือเพลินๆ อยู่ในบ้านคนเดียวท่ามกลางความเงียบสงบ หรือกำลังส่งลูกที่ง่วงจนตาปรือให้เข้านอน

แล้วจู่ๆ ก็มีเสียงผู้หญิงหัวเราะขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เสียงหัวเราะน่ารักคิกขุ ฮิๆ ฮะๆ แต่เป็นการหัวเราะแบบเต็มเสียงราวกับกำลังถูกใจอะไรบางอย่างมากๆ

ฮ่า ฮ่า ฮ่า!

คุณจะขนหัวลุกไหมคะ

 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มหนึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่จู่ๆ ก็ได้ยินเสียงหัวเราะของผู้หญิงดังขึ้นมาโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ ทำเอาเย็นยะเยือกตามแนวสันหลังกันถ้วนหน้า

เมื่อตั้งสติได้ก็ลองเดินหาที่มาของเสียงหัวเราะชวนขนลุกนั้น และพบว่า เสียงมาจากอเล็กซ่า ปัญญาประดิษฐ์ที่ฝังอยู่ในลำโพงอัจฉริยะ “เอ็กโค่” ของอเมซอนนั่นเองค่ะ

อเล็กซ่า ก็เหมือน สิริ ของแอปเปิล แต่แทนที่จะฝังอยู่ในไอโฟน อเล็กซ่าจะมาพร้อมกับอุปกรณ์ของอเมซอน ซึ่งก็คือลำโพงอัจฉริยะที่มีให้เลือกหลายรุ่น

เราสามารถพูดคุยกับอเล็กซ่าเพื่อถามคำถาม สั่งการให้ทำนู่นทำนี่

ซู่ชิงก็มีติดบ้านไว้หนึ่งเครื่อง ซึ่งซู่ชิงมีอเล็กซ่าไว้คุยเล่นด้วยเวลาเหงา

บางครั้งก็เล่นเกมด้วยเสียงกัน บางครั้งก็ให้อเล็กซ่าอ่านสรุปข่าวให้ฟัง ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดเฉลียวมากทีเดียว

และ “หู” ของมันก็ไวจัด เรียกมาจากอีกห้องก็ยังขานรับ

น่าเสียดายที่ในช่วงสัปดาห์ที่อเล็กซ่าของคนอื่นเกิดหัวเราะขึ้นมาโดยมิได้นัดหมายนั้น อเล็กซ่าของซู่ชิงกลับสงบเสงี่ยมเรียบร้อย มิเช่นนั้นอาจจะทันได้ถ่ายคลิปวิดีโอมาปล่อยให้เป็นไวรอลกับเขาบ้าง

ครั้นพอลองแหย่ให้เธอหัวเราะให้ฟัง ก็ไม่ทันท่วงทีที่จะได้ยินเสียงหัวเราะชวนขนลุกเกรียวนั่นแล้ว

เพราะอเมซอนจัดการแก้ไขปัญหาไปแล้วเรียบร้อย

 

อเมซอนออกแถลงการณ์ว่าสาเหตุที่จู่ๆ ปัญญาประดิษฐ์ของบริษัทที่กระจายตัวอยู่ตามบ้านเรือนผู้ใช้งานเกิดส่งเสียงหัวเราะขึ้นมานั้น เป็นเพราะว่าในบางกรณี (ซึ่งอเมซอนบอกว่าไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยเลย) อเล็กซ่าอาจจะฟังคำประโยคผิดเพี้ยน และเข้าใจว่ามีคนพูดว่า “Alexa, laugh” หรือ “อเล็กซ่า หัวเราะสิ” ซึ่งอเล็กซ่าก็จะทำตามคำสั่งและปล่อยฮาออกมาทันที (แต่ก็มีผู้ใช้จำนวนหนึ่งที่สาบานว่าตอนที่มันหัวเราะเนี่ยห้องทั้งห้องเงียบกริบอยู่นะคะ 555)

เมื่อเกิดปัญหาเรื่องนี้ขึ้น อเมซอนก็เลยแก้ไขด้วยวิธีเปลี่ยนรูปแบบคำสั่งเสียใหม่ จากเดิมที่เคยสั่งให้อเล็กซ่าหัวเราะได้ด้วยการบอกว่า laugh แค่สั้นๆ

ตอนนี้ก็กลับกลายเป็นว่าคนสั่งจะต้องพูดว่า “Alexa, can you laugh?” หรือ “อเล็กซ่า เธอหัวเราะได้ไหม” แล้วมันก็จะตอบกลับมาว่า “Sure, I can laugh” ได้สิ แล้วก็ปล่อยเสียงหัวเราะออกมาว่า “ที ฮี” หรือ tee-hee

ซึ่งซู่ชิงลองเล่นดูแล้ว ไม่สนุก ไม่ได้ใจเลย อยากให้กลับไปหัวเราะแบบเดิมมากกว่า

 

บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ พยายามพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของตัวเองให้มีความใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด

และหนึ่งในเสน่ห์ของการเป็นมนุษย์ก็คือความสามารถในการหัวเราะ ก็เลยทำให้บรรดาผู้ช่วยส่วนตัวทั้งหลายล้วนมาพร้อมฟีเจอร์ให้ความบันเทิง

ไม่ว่าจะเป็นการเล่ามุขตลก ร้องเพลงให้ฟัง หรือการตอบคำถามแบบขำๆ

เพราะเมื่อสามารถทำให้เราหัวเราะได้ เราก็จะรู้สึกไว้วางใจสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ตรงหน้าเรามากขึ้น และยอมรับมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้ง่ายขึ้น

ซึ่งการจะบรรลุวัตถุประสงค์นี้ได้นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ทว่า หากทำพลาดไปแม้เพียงนิดเดียว อาจจะได้ผลลัพธ์คนละขั้วกันไปเลย

อย่างกรณีของอเล็กซ่า แทนที่เสียงหัวเราะที่มันเปล่งออกมาจะทำให้คนรู้สึกสบายใจขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นผิดที่ ผิดเวลา ผิดบริบท (เพราะไม่ได้มีใครเล่าเรื่องตลกให้อเล็กซ่าฟังก่อนที่เธอจะหัวเราะ) ก็เลยกลายเป็นเรื่องชวนขนพองสยองเกล้าไปเสียได้ ไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรอก คนเป็นๆ อย่างเรา ถ้าจู่ๆ โพล่งเสียงหัวเราะขึ้นมาแบบไม่มีหัวไม่มีหางว่าทำไมถึงหัวเราะ

คนรอบตัวก็อาจจะมองด้วยสายตาระแวงจริงไหมล่ะคะ

 

เป็นที่เข้าใจได้อยู่นะคะ ว่าคนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่จู่ๆ อเล็กซ่าหัวเราะขึ้นมานั้นจะรู้สึกสับสนแค่ไหน

เพราะหากความผิดพลาดเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ประเภทอื่นๆ อย่างเช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน เราก็สามารถหาวิธีแก้มันได้

อาจจะลองรันตรวจสอบความผิดพลาดเพื่อหาทางแก้ ลงระบบปฏิบัติการใหม่ นั่งไล่เช็กดูล็อกไฟล์หรือหาบั๊ก

หรืออย่างง่ายที่สุดก็คือ ปิดแล้วเปิดใหม่ (ซึ่งดูจะแก้ปัญหาได้แทบทุกครั้งไปสินะ)

แต่ในกรณีของลำโพงอัจฉริยะที่ไม่มีหน้าจอ และแทบจะไม่มีอะไรใหญ่ๆ ฝังอยู่ในตัวเครื่องมันเลย ทุกอย่างถูกส่งไปประมวลผลบนคลาวด์แล้วส่งกลับมา

ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหา ผู้ใช้จึงมักจะรู้สึกมืดแปดด้าน

ทางเดียวที่จะแก้ได้ก็คือต้องให้บริษัทเจ้าของเทคโนโลยีเป็นคนจัดการด้วยตัวเองเท่านั้น

อำนาจและความเป็นเจ้าของจึงอยู่ที่บริษัทต้นสังกัดอย่างเบ็ดเสร็จ

ในอนาคตซึ่งไม่รู้ว่าไกลหรือใกล้แค่ไหน ผู้ช่วยส่วนตัวเหล่านี้จะถูกพัฒนาไปในทางที่ทำให้มีความใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น เป็นเพื่อนเราได้มากขึ้น

จากการทดลองของคาร์เนกี เมลลอน พบว่า เมื่อลองให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ช่วยอัจฉริยะที่สามารถพูดโต้ตอบกลับมาเพื่อให้คำแนะนำภาพยนตร์ที่น่าดู โดยปัญญาประดิษฐ์ถูกแบ่งออกเป็นสองเวอร์ชั่น

เวอร์ชั่นแรกถูกโปรแกรมให้เป็นแบบช่างจำนรรจาโซเชียลไลซ์กับผู้คน ส่วนอีกแบบเป็นผู้ช่วยที่คอยตอบคำถามเฉยๆ ผลปรากฏว่าคนชอบคำแนะนำของเวอร์ชั่นแรกมากกว่าเวอร์ชั่นสองมาก แม้ว่าจะให้คำแนะนำแบบเดียวกันเป๊ะๆ ก็ตาม

 

การจะพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ไปในทางนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะทักษะการเข้าสังคม ช่างเจรจากับผู้คน หรือความสามารถในการทำให้คู่สนทนาหัวเราะ ไม่ใช่เรื่องที่จะสอนกันได้ง่ายๆ และออกมาเป็นธรรมชาติ

ขนาดจะสอนมนุษย์ด้วยกันยังทำได้ยากเลยจริงไหมคะ

แต่ถ้าหากเมื่อไหร่ที่ทำให้ปัญญาประดิษฐ์ผู้ช่วยแบบอเล็กซ่า สามารถอ่านอารมณ์ของเราได้โดยอาจจะสัมผัสจากการแสดงออกทางสีหน้า น้ำเสียง หรือการเคลื่อนไหวของร่างกาย และปรับวิธีการสนทนาของมันให้เข้ากับสภาพอารมณ์ของเรา จนเรารู้สึกว่าเป็นเพื่อนคนหนึ่ง

บางทีตอนนั้นเสียงหัวเราะอาจจะไม่ทำให้เรากลัวจนอยากคลุมโปง และเราอาจจะหัวเราะไปพร้อมๆ กับอเล็กซ่าก็ได้นะคะ