E-DUANG : การปะทะ “ความคิด” จากกรณี “โง่”

แท้จริงแล้ว การออกมากล่าวคำ”ขอโทษ”ของบรรดาข้าราชการใน จังหวัดขอนแก่นภายหลังเกิดความผิดพลาดภายในหนังสือราชการ

คือ กระบวนการในทาง”พิธีกรรม”

ถามว่าปัญหาอันเนื่องมาแต่กรณีการเขียนลงไปในหนังสือราชการด้วยประโยค”ทำอย่างไรจะทำให้ประชาชนหายโง่”สะท้อนอะไร

1 สะท้อน “ความคิด”

1 สะท้อน “วัฒนธรรม”อันสัมพันธ์กับกระบวนการในทาง”การเมือง”

ประเด็นอยู่ที่ว่า “ข้าราชการ”เหล่านี้”คิด”อย่างไร

 

ต้องยอมรับว่า หาก “ผู้ร่าง”มิได้มีความคิดว่าประชาชน”โง่”แล้วจะเกิดประโยคคำถามที่ว่า

“ทำอย่างไรจะทำให้ประชาชนหายโง่”ขึ้นมาได้อย่างไร

ขณะเดียวกัน หากข้าราชการชั้น”ผู้ใหญ่”มิได้มีความคิดว่าประชาชน”โง่”จะพากันออกมาอธิบายรากที่มาของหนังสือราชการว่าเป็นความผิดพลาดในเรื่องการใช้คำที่ไม่เหมาะสมได้อย่างไร

การขอโทษจึงเป็นเหมือนพิธีกรรมอันเท่าเป็นเงาสะท้อนของมารยาทในทางสังคม

ปมเงื่อนจึงยังอยู่ที่ “ความคิด” อันดำรงอยู่อย่างลึกซึ้งภายในสังคมมากกว่า

เมื่อยกเอาประเด็น”ความผิดพลาด”ออกมาจึงมิได้เป็นการแก้ต่างในทางความคิดว่า”คิด”อย่างไรในเรื่องนี้ หากแต่วางน้ำหนักไปที่กระบวนการเลือกสรร “ถ้อยคำ”

และบางรายมองไปถึงกระบวนการ”วางยา”อันเท่ากับเป็นการสะท้อนความขัดแย้งภายใน

พิธีกรรมจึงเป็นเพียง”ปัด”มิได้เป็นการแก้”ปัญหา”

 

ข้อดีเป็นอย่างยิ่งในกรณี”ทำอย่างไรจะทำให้ประชาชนหายโง่”ซึ่งปะทุขึ้นในห้วงแห่ง”ครม.สัญจร”จึงเท่ากับเป็นการกระพือปัญหาอันหมกอยู่ภายในให้สำแดงตัวตนออกมา

โดยมี”ขอนแก่น” เป็นกรณีศึกษา เป็นตัวอย่าง

หากวิเคราะกรณีนี้อย่างมีลักษณะสังเคราะห์ก็จะประจักษ์ว่านี่คือการปะทะในทางความคิดและในทางความเป็นจริงที่มีอยู่

เชื่อได้เลยว่าจะต้องมีกรณีเช่นนี้อีกหลายแห่งตามมา