มุกดา สุวรรณชาติ : สืบทอดอำนาจผ่านเลือกตั้ง…ไม่ง่าย แก้แรงงานต่างด้าว แสนล้าน ง่ายกว่า

มุกดา สุวรรณชาติ

ในสถานการณ์แบบนี้การมีเลือกตั้ง ดีกว่าไม่มี

เพราะฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีโอกาสยกระดับการเมืองด้วยวิธีอื่น

ไม่ว่าฝ่ายกุมอำนาจจะชิงความได้เปรียบอย่างไร ก็ต้องสู้เกมนี้สุดกำลัง

ประชาชนยังหวังการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และก้าวต่อไป

 

การสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง
เป็นบทสุดท้ายของละคร

เรื่องการสืบทอดอำนาจเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดแล้ว ซึ่งมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน แม้เดิม คสช. บอกว่าไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ แต่เมื่อสถานการณ์ที่ปกครองแบบพิเศษลากยาวมาจนเกือบครบ 4 ปี ถึงวันนี้มีการหยั่งเชิงสอบถามหลายคำถาม ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งก็มีทั้งเสียงคัดค้านและเสียงตอบรับ

แต่เรื่องแบบนี้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นเรื่องธรรมดา จอมพลถนอม กิตติขจร สืบทอดอำนาจต่อจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ 6 ปี และก็ต้องยอมให้มีการเลือกตั้ง จากนั้นพยายามสืบทอดอำนาจผ่านสภา แต่ต่อได้เพียง 2 ปีก็รัฐประหารตนเอง เมื่อประชาชนไม่ยอมทนต่อไปจึงเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้น จอมพลถนอมก็ถูกโค่นอำนาจลง

ส่วนการรัฐประหารปี 2534 ของ รสช. ต้องรีบเลือกตั้งภายใน 1 ปี แต่การสืบทอดอำนาจแบบนายกฯ คนนอกก็ไม่สำเร็จ เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รสช. ถูกประชาชนโค่นอำนาจลงในปี 2535

ปี 2549 รัฐประหารเพียงปีเดียวก็ต้องรีบเลือกตั้งและไม่สามารถสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้งได้เพราะนอมินีแพ้การเลือกตั้ง ปี 2550 และ 2554 จึงต้องหาทางยึดอำนาจซ้ำ

การรัฐประหาร 2557 ซึ่งปกครองด้วยกฎหมายของผู้ยึดอำนาจ และมาตรา 44 มาเกือบครบ 4 ปีแล้ว การกำหนดการเลือกตั้งเลื่อนมาเรื่อยๆ จาก 1 ปีเป็น 2 ปี 3 ปี และสุดท้ายก็คงจะเกิน 4 ปี ซึ่งคาดกันว่าน่าจะต้องมีการเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญถูกล้ม ถูกยืดมาจนสุดทางแล้ว 2562 จึงต้องมีเลือกตั้ง

เพราะการสืบทอดอำนาจตอนนี้เห็นชัดแล้วว่าไม่สามารถดำเนินต่อไปโดยไม่มีการเลือกตั้ง

 

ในการเลือกตั้ง 2562
มี 2 ทางให้ประชาชนเลือก
หนุน คสช. ให้เป็นรัฐบาลต่อไป
…หรือ เลือกรัฐบาลใหม่

การจะต่ออำนาจที่ดีที่สุดคือต้องเปลี่ยนนักการเมือง ทำงานผ่านสภา ใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างแล้วได้เปรียบที่สุด ใช้กฎหมายที่ได้เปรียบที่สุดมาปกครองต่อไป

ที่สำคัญจะต้องให้ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาล

ถามว่าจะทำได้หรือไม่…

คำตอบก็คือมีโอกาสแต่ไม่ง่ายนัก จึงต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก

แม้เป็นรัฐบาลอยู่และเป็นฝ่ายปกครองมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ

แต่ยุคปัจจุบันประชาชนมีการติดต่อสื่อสารและระบบข่าวสารที่ดี รับรู้ข้อมูลต่างๆ การศึกษาก็พัฒนาไปมาก

การต่อสู้ทางการเมืองในระยะ 10 ปีหลังก็ถูกพัฒนาไปมากแม้จะมีแบ่งสีแบ่งกลุ่ม แต่ยิ่งทำให้เห็นว่าประชาชนตื่นตัวไปทั่วทุกหัวระแหง

พวกเขาเข้าใจการเลือกตั้งท้องถิ่น และการเลือกตั้งระดับชาติ รู้สิทธิของตัวเองมากขึ้น รู้จักต่อสู้เรียกร้องมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อผนวกเข้ากับผลประโยชน์และปัญหาที่ตัวเองได้ประสบในชีวิตประจําวัน พวกเขาย่อมมีความคาดหวังต่อรัฐบาลและการเลือกตั้งว่า จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ใครที่ไม่ให้ความหวัง หรือที่ทำให้ไม่เชื่อถือว่าจะแก้ปัญหาได้ ประชาชนจะไม่เลือก

ผลประโยชน์เล็กน้อยที่เอามาล่อ จะไม่มีประโยชน์

อย่าพูดถึงเรื่องซื้อเสียง เพราะไม่มีผลชี้ขาดต่อคะแนนเลือกตั้งอีกแล้ว

ดังนั้น ปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งและมีผลต่อคะแนนเสียงจึงมีที่มาจากผลงานการบริหารการปกครองของรัฐบาลแต่ละชุด และนโยบายแต่ละพรรค โดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถ้าประชาชนชอบ ก็จะเลือกอีก แต่ถ้าพวกเขาผิดหวัง โอกาสการสืบทอดอำนาจก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว

กลุ่มคนลงคะแนนเลือกตั้ง ถ้าแบ่งตามอาชีพอย่างกว้างๆ คือ

กลุ่มผู้ประกอบอาชีพการเกษตร

กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดย่อม ทั้งผลิต และค้าขาย

กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง

กลุ่มอาชีพอิสระ และกลุ่มข้าราชการ

วันนี้ใครมีความสุข และได้ประโยชน์?

จะเห็นว่า ชาวบ้านต้องการผู้ปกครองที่ทั้งเก่งและเข้าใจปัญหาชาวบ้าน เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ผลประโยชน์

ที่เขามีเลือกตั้งกันเพื่อจะได้หารัฐบาลที่ทำงานเพื่อประชาชน การเลือกตั้งที่ต้องรอมาเกิน 4 ปี จึงจะไม่เสียของ ชาวบ้านทุกกลุ่มเขาดูตั้งแต่เรื่องหวย เรื่องทำมาหากิน ราคาพืชผลจนไปถึงเรื่องคอร์รัปชั่น

ดูว่ารัฐทำงานเป็นหรือไม่ ออกมาตรการและนโยบาย แล้วแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา ชาวบ้านดีขึ้นหรือลำบากขึ้น ทุกปัญหาต้องใช้ความจริงใจและฝีมือ

ยกตัวอย่าง ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่กำลังเกิดขึ้น…ในการทำมาหากินกระทบคนทุกกลุ่ม ในทางลึกเกี่ยวข้องกับเงินเป็นแสนล้าน และจะมีผลต่อเนื่องยาวนาน ในทางการเมืองกระทบต่อคะแนนเลือกตั้ง

 

แรงงานต่างด้าว
ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง
แต่ถ้าจัดการไม่ดี กระทบทุกกลุ่ม

เรื่องนี้ กระทบผู้ประกอบการขนาดย่อม ขนาดเล็ก ในการผลิต ในการเกษตร ในการค้าขาย และแม้แต่ลูกจ้างในบ้าน สภาพทางเศรษฐกิจทุกวันนี้อยู่อย่างยากลำบากและมีกิจการที่ต้องเลิกไปจำนวนมาก ที่ยังเป็นหนี้ธนาคารถูกฟ้องและรอการล้มลงอีกไม่น้อย ที่เหลือยังดิ้นรนต่อสู้อยู่

ถ้าเจาะลงไปเป็นรูปธรรมจะพบว่าปัญหามีตั้งแต่เงินทุน การขาดกำลังซื้อของชาวบ้าน จนกระทั่งไปถึงปัญหาแรงงานซึ่งปัจจุบันเมื่อรัฐบาลเพิ่มค่าแรงขึ้น เขาจะต้องยอมจ่ายค่าแรงที่สูงขึ้น แต่ปัญหาใหญ่ก็คือจะหาแรงงานจากไหน อาชีพที่คนไทยไม่ยอมทำงาน เมื่อต้องจ้างคนต่างด้าวก็มีปัญหาที่เป็นปัญหากฎหมาย

แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวมา 2 รอบแล้ว ล่าสุดมีมติ ครม. ออกมาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

แต่ดูเหมือนปัญหาจะยังไม่ยุติ

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการที่มีเงื่อนไขให้แรงงานต่างด้าวซึ่งอยู่ในไทยครบ 6 ปี (4+2) ต้องกลับออกไปยังประเทศของตนเอง และถ้าจะกลับเข้ามา ต้องกลับเข้ามาตามมาตรการ MOU ซึ่งขณะนี้จะมีแรงงานเหล่านี้หลายแสนคนที่อยู่ในเงื่อนไขแบบนี้ และในระยะยาว (2-3 ปี) แรงงานส่วนใหญ่จากกัมพูชา พม่า ลาวที่อยู่มานานจะต้องถูกส่งกลับ พวกที่ได้ต่ออายุพิเศษ 2 ปี ก็ต้องถูกส่งกลับ และทำตาม MOU

ขณะนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้ประกอบการจำนวนมาก พวกเขามีความเห็นว่านี่ไม่ได้เป็นการสร้างประโยชน์อะไรเลยสำหรับประเทศไทย คนงานกลับไปแล้วอาจไม่กลับมาอีก

1. ข้อตกลงนี้ฝ่ายไทยเสียเปรียบมากกว่า เพราะแรงงานที่อยู่ 4-6 ปีหมายถึงเป็นผู้ชำนาญงาน

การส่งแรงงานชำนาญงานออกไปซึ่งฝ่ายรัฐก็รู้อยู่ว่าจะต้องใช้เวลา 60 ถึง 90 วันกว่าจะดำเนินการนำกลับเข้ามาใหม่ ทั้งคนเก่าและคนใหม่ นั่นหมายถึงบริษัทห้างร้านเจ้าของกิจการเล็กๆ จะประสบปัญหามาก บางแห่งมีคนงานแค่ 3-5 คน ถ้าต้องกลับไป 2-3 คนเท่ากับครึ่งหนึ่งแล้ว ไม่สามารถหาคนทดแทนได้ทัน

2. เรื่องค่าใช้จ่าย ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับแรงงาน พวกเขาจะต้องจ่ายเงินในฝั่งประเทศของตนเองประมาณ 15,000- 20,000 บาท

ในฝั่งประเทศไทย นายจ้างก็ต้องจ่ายประมาณ 15,000-20,000 เช่นกัน เงิน 3-4 หมื่นต่อคน ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับนายจ้าง ถ้ามีคนงานหลายคนก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเยอะ ยิ่งสำหรับคนงานเหมือนรีดเลือดกับปู

ในขณะเดียวกัน คนงานเหล่านั้นจำนวนมากก็มีพาสปอร์ตถูกต้องอยู่แล้วทำไมจะต้องกลับไปอีก ทำไมไม่ดำเนินการในประเทศ หรือแค่ที่ชายแดนเพื่อให้จบเรื่องลง โดยไม่เสียเวลามาก ค่าใช้จ่ายก็ไม่เยอะ

ค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเท่ากับจะต้องไปเสียเงินให้กับบริษัทนายหน้าทั้ง 2 ฝั่ง ไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา หรือไทย-ลาว ผลประโยชน์การตกหล่นของเงินทอน ที่คนจัดการได้มาไม่คุ้มกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ

 

มาตรการและวิธีปฏิบัติ
ทำเพื่ออะไร? เพราะค่าใช้จ่ายเป็นแสนล้าน

เป็นไปไม่ได้ที่เอกชนที่เป็นนายจ้างจะจัดการนำเข้า MOU ด้วยตนเอง มีคนยกตัวอย่างกรณีนำเข้าแรงงานพม่า ว่าทำตามระเบียบจะยุ่งยากแค่ไหน

เขาโพสต์ เข้ามาอธิบายไว้ในพันทิป ว่า…

การให้คนงานไปทำสมุดพาสปอร์ตที่พม่า ย้ำที่พม่า เมืองหลวงแต่ละรัฐพม่า 15 แห่ง ทั่วประเทศพม่า

ค่าธรรมเนียม 250,000 จ๊าต เพื่อเตรียมนำสมุดไปใช้ การนำเข้าแรงงานพม่า แบบ MOU โดยวิธีการนำเข้าลูกจ้างพม่า และนายจ้างไทยจะต้องไปลงนามข้อตกลงที่กรมพัฒนาผีมือแรงงาน ที่เมืองย่างกุ้ง ก่อนเดินทางเข้ามาในไทย โดยไปรับตัวที่แม่สอด จ.ตาก

สถานที่เกี่ยวข้องในการนำเข้า MOU

ฝั่งนายจ้าง สำนักจัดหางานจังหวัด ไป-กลับ 3 เที่ยว สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ไป-กลับ 4 เที่ยว พม่า ย่างกุ้ง ไป-กลับ 1 เที่ยว

ฝ่ายแรงงานพม่า สอท.พม่า ถนนปั้น ไป-กลับ 3 เที่ยว

สตม. ยื่นเอกสาร ขอลงตราวีซ่า ที่แม่สอด ไป-กลับ 3 เที่ยว (ที่สำนักงาน) ดังนั้น ต้องไปแม่สอด 1 เที่ยว โรงพยาบาล ตรวจร่างกาย ไป-กลับ 1 เที่ยว โรงพยาบาลรัฐบาล ไป-กลับ 3 เที่ยว

ฝั่งพม่า (ลูกจ้าง)…ไปทำสมุดพาสปอร์ตพม่า ไป-กลับ 3 ครั้ง ( สถานที่ที่ติดต่องาน) จึงต้องไปพม่า ย่างกุ้ง 1 เที่ยว รายละเอียดยังต้องประกอบเอกสารอีกประมาณ 90 แผ่น รวมสำเนา

กฎเกณฑ์แบบนี้ ทำให้นายจ้างทุกคนต้องจ้าง บ.จัดหาคนงานมาดำเนินงาน แม้คนงานนั้นจะเคยทำงานอยู่กับตนมา 5-6 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนงานโรงงานใหญ่ ร้านขายข้าวแกง ลูกจ้างในบ้าน

ถ้ายึดถือหลักการแบบนี้ไปเรื่อยๆ หมายความว่าคนงานต่างๆ ที่ชำนาญงาน ก็จะอยู่ครบ 6 ปีทุกคน แสดงว่าแรงงานจะต้องถูกส่งกลับและนำเข้ามาแบบ MOU อาจจะเป็นปีละหลายแสน – 1 ล้านคน ถ้า 3-4 ปี ก็คงถึง 3 ล้านคน MOU แต่ละครั้งอยู่ได้ 4 ปี

**เงินค่าใช้จ่ายตรงนี้ จะมากถึง 1 แสนล้าน (ทุก 4 ปี) แต่เป็นเงินที่ไม่ได้สร้างผลผลิตอะไรขึ้นมาเลยสำหรับประเทศไทย นอกจากทำให้เสียเวลาและเสียงาน เงินจะไปตกหล่นอยู่กับระบบจัดการของนายหน้า และผู้มีอำนาจ**

 

คนทุกกลุ่ม
กำลังมองว่ารัฐบาล
มีฝีมือ มีนโยบาย และวิธีทำงานอย่างไร?

รัฐมีจุดมุ่งหมายอะไรในการทำเรื่องแรงงานต่างด้าว

การกำหนดเพิ่มโทษแรงงานต่างด้าวและนายจ้าง สุดท้ายก็มากลับเปลี่ยนกฎหมายลดโทษลง แต่ทั้งหมดก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ กลับทำให้มองไปในแง่ร้ายว่า

ที่ทำมาทั้งหมดเหมือนต้องการหาเงินให้รัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการรีดเลือดกับปูแท้ๆ

แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว กระทบกับผู้ลงคะแนนเลือกตั้งทั้ง 5 กลุ่ม เพราะแรงงานต่างด้าวอยู่ในบ้าน ในไร่ในสวน ในโรงงาน ในร้านค้า ถ้ารัฐไม่มีปัญญาปรับกฎเกณฑ์ หรือแก้ไข MOU ให้สอดคล้องกับสภาพเป็นจริงทางสังคม จะไม่บรรลุเป้าหมายในการทำให้ถูกกฎหมายทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ไม่ควรให้ปฏิบัติยากซับซ้อน หรือต้องจ่ายเงินมากเกินไป

ถ้าไม่รู้จักแก้ไข ระบบแรงงานต่างด้าว ก็จะกลับไปสู่ระบบผิดกฎหมาย และส่งส่วยเหมือนเดิม

การแก้ไขไม่ยาก ให้รัฐบาลทุกประเทศยึดหลักการ อย่าทำให้เป็นการค้ามนุษย์ถูกกฎหมาย ไม่เห็นแก่เงิน เพราะแรงงานคือส่วนสำคัญในการสร้างโลก