เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ชีวิตที่รอดจาก “นาปาล์ม”

เรื่องของ คิม ฟุก เป็นภาพที่ติดตาของผู้ที่เติบโตในยุคสงครามเวียดนาม ก่อนที่จะยุติจากความพ่ายแพ้ของสหรัฐอเมริกา ผู้ถ่ายภาพของ คิม ฟุก คือ “นิก อุ๊ต” Huynh Cong (Nick) Ut นักข่าวอเมริกันสังกัด AP (The Associated Press) ให้สัมภาษณ์กับ BBC ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ

Nick Ut คนขวาสุด/ AFP PHOTO / HOANG DINH NAM

“…เช้าวันนั้นผมเข้าไปถ่ายภาพในหมู่บ้าน และกำลังจะกลับ ตอนที่เห็นเครื่องบินสองลำนั่น ลำแรกทิ้งระเบิดนาปาล์มลงมา 4 ลูก ตามด้วยลำที่สองอีก 4 ลูก อีกห้านาทีต่อมา ผมเห็นชาวบ้านวิ่งหนีตายกันจ้าละหวั่น ในเสี้ยววินาทีนั้น Ut บันทึกภาพสะเทือนโลกในนาทีระหว่างความเป็นความตายของเธอ เด็กผู้หญิงวัย 9 ขวบ ร่างกายเปลือยเปล่า ลำตัวบางส่วนติดไฟและถูกเผาไหม้ ทันทีที่สภาพของ คิม ฟุก ซึ่งร้องว่า “ร้อน…ร้อนเหลือเกิน” ผมคิดว่าเธอคงไม่รอดแน่ๆ จึงรีบถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานของสงครามและรีบช่วยเหลือเธอ

“โชคดีที่มีผู้คนซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นรีบช่วยเอาน้ำราดผิวที่ติดไฟของเธอ ในตอนนั้น คิม ฟุก กระหายน้ำมาก ผมจึงหาน้ำให้ดื่ม บอกเธอว่าจะช่วยชีวิตเธอเอง แต่เธอกลับสลบเสียก่อน จึงรีบพาขึ้นรถไปเกือบ 10 ไมล์

“ระหว่างทางเธอตื่นขึ้นด้วยความเจ็บปวด สลับกับอาการมึนงงร้องโหยหวนและหลับไป วนเวียนอยู่อย่างนี้จนถึงโรงพยาบาลกู๋จี ซึ่งผมโล่งใจไปเปลาะหนึ่ง ว่าเธอน่าจะได้รับการรักษาอย่างทันที…

“แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ที่โรงพยาบาลมีแต่ทหารเวียดนามที่ได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัว ไม่มีใครใยดีกับเด็กตัวน้อยๆ ผมจึงร้องขึ้นว่า “ผมเป็นผู้สื่อข่าว โปรดช่วยเธอด้วยเถอะ ผมไม่อยากให้เธอตาย” เมื่อได้ยินดังนั้น พวกเขารีบกุลีกุจอมาช่วย”

ก่อนหน้าเครื่องบินจะมาทิ้งระเบิด กลุ่มเด็กกำลังวิ่งเล่นอยู่ที่วัด Cao Dai ซึ่งอยู่ใกล้กับถนน ขณะที่หมู่บ้านถูกเพลิงไหม้ย่อยยับอย่างน่าสลดใจ

เมื่อหนูน้อยถูกส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นคือ พี่น้องอีก 2 คนเสียชีวิตเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว ส่วนเธอพบกับความทรมานแสนสาหัสจากการที่ร่างกายถูกเผาไหม้ไปกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ จนคุณหมอ Mark Gorney แพทย์ศัลยกรรมพลาสติกจากซานฟรานซิสโก อาสาสมัครประจำโรงพยาบาลศัลยกรรมเด็ก Barksy ในกรุงไซ่ง่อนกล่าวว่า “เธอไม่น่าจะอยู่รอดได้ ตอนแรกคางของเธอเชื่อมติดกับหน้าอก เนื้อเยื่อจากบาดแผลด้านซ้ายไหม้จนถึงกระดูก”

แต่เธอก้าวผ่านวิกฤตด้วยศักยภาพเกินขอบเขตของมนุษย์ เธออดทนกับการรักษาที่ใช้เวลายาวนานในโรงพยาบาลกว่า 14 เดือน ผ่านการผ่าตัดกว่า 17 ครั้ง! (ครั้งสุดท้ายที่เยอรมนีปี 1984)

โดยมีแรงใจจากมารดาซึ่งเฝ้าดูแลอย่างมีความหวัง รวมทั้งกำลังใจจาก Ut ช่างภาพ ซึ่งมาเยี่ยมเธอเป็นประจำในช่วงที่ยังทำงานในเวียดนาม

ถึงแม้ภาพถ่ายของเธอจะได้เผยแพร่ไปทั่วโลกเพื่อสร้างสำนึกถึงสันติภาพ แต่เรื่องราวของเธอเลือนหายไปจากความสนใจของผู้คน ไม่ต่างจากสายลมแห่งฤดูกาลที่พัดผ่านมาแล้วก็ค่อยๆ หายไป เมื่อเวียดนามใต้ถูกปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งชื่อของไซ่ง่อนยังเปลี่ยนเป็นโฮจิมินห์ เมื่อปี 1975

เรื่องเลวร้ายกว่านั้น เด็กน้อยที่ได้รับบาดแผลจากสงครามเติบโตในประเทศเวียดนาม รัฐบาลปฏิบัติกับเธออย่างเลวร้าย ด้วยการให้ออกจากโรงเรียนเพื่อจุดประสงค์โฆษณาชวนเชื่อ

แต่เธอ-คิม ฟุก ได้วางแผนโน้มน้าวรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่ออนุญาตให้เธอได้เรียนอย่างสงบ จนปี 1986 จึงได้รับความยินยอมจากรัฐบาลให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศคิวบา ซึ่งเธอต้องรายงานตัวทุกสัปดาห์เพื่อแสดง “ความจงรักภักดี”

ที่ประเทศคิวบา เธอพบกับ Bui Huy Tuan เพื่อนนักศึกษาจากเวียดนาม ปี 1989 ซึ่งกลายเป็นคนรักของเธอ และได้แต่งงานเมื่อปี 1993 ได้รับอนุญาตให้ “ฮันนีมูน” ในประเทศพันธมิตรคอมมิวนิสต์ กรุงมอสโก

“แต่เพราะความฝันของเธอและสามี คือการได้อยู่อย่างอิสระในประเทศตะวันตก เธอจึงวางแผนแปรพักตร์ขณะที่เครื่องบินจอดเติมน้ำมันที่ Gander, Nfld! ทั้งสองจึงหลบหนีเข้าไปในแคนาดาด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่ กระเป๋าเงิน และกล้องถ่ายรูปเพียงตัวเดียว”

เธอหายไปจากความสนใจและรับรู้จากผู้คนนาน กระทั่งกลับมาอยู่ในกระแสความสนใจของโลก เมื่อสื่อของอังกฤษ “London Tabloid” ค้นพบเธอ-คิม ฟุก จึงได้มีบทบาทการสร้างสันติภาพอีกครั้ง

ปัจจุบัน คิม ฟุก อายุกว่า 40 ปี ถือสัญชาติแคนาดา อาศัยในโตรอนโต

คิมยอมรับว่าภาพถ่ายนั้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอโดยที่ไม่อาจจะจินตนาการได้ เป็นสิ่งที่แยกเธอออกจากเด็กคนอื่นในสงคราม เด็กซึ่งบาดเจ็บเช่นเดียวกับเธอ แต่ไม่ได้ถูกถ่ายรูป เธอได้สิทธิอยู่บนสุดที่ได้รับการเยียวยา เมื่อชีวิตได้ย่างก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

หลังจากภาพนั้นแพร่ออกไป คิม ฟุก จึงเป็นเสมือนทูตสันถวไมตรีที่เข้าร่วมกับองค์กรทั่วโลก ตั้งแต่สมาคมต่อต้านการก่อการร้ายและสงคราม รวมถึงการก่อตั้งมูลนิธิคิมเพื่อการช่วยเหลือเด็กหลังจากสงคราม และโครงการอีกมากมายที่เกี่ยวกับเด็กและคุณภาพเด็ก

วันหนึ่ง เมื่อปี 1996 คิม ฟุก ได้ปรากฏตัวต่อหน้าชาวอเมริกัน เธอได้รับเชิญให้พูดเนื่องในโอกาสวันทหารผ่านศึก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

การได้เผชิญหน้ากับบุคคลซึ่งเป็นผู้ทำลายบ้านเกิดเมืองนอน ทำให้ญาติพี่น้องต้องเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และเกือบฆ่าเธอ ไม่ใช่สิ่งที่ใครสามารถทำใจได้ง่าย แม้เวลาจะผ่านพ้นไปนานนับสิบปีก็ตาม แต่ผู้หญิงคนนี้-คิม ฟุก-ก็มา–มาเพื่อเป็นตัวแทนบอกกับสังคมโลกว่า

“สงครามได้ก่อความทุกข์ทรมานแก่ผู้คนอย่างไรบ้าง”