ประชา สุวีรานนท์ : คาร์ล บาร์กส์ กับ คาร์ล มาร์กซ์ (1)

(ซ้าย) Carl Barks (ขวา) Donald Duck ของ Fantagraphics

ไม่นานมานี้ สำนักพิมพ์แฟนตากราฟิกส์ (Fantagraphics) เพิ่งจะรวมงานการ์ตูนชุด โดนัลด์ ดั๊ก และ สกรู๊จ แม็กดั๊ก การ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์ในยุคก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ออกมาในรูปเล่มปกแข็งหลายเล่ม แต่ละเล่มพิมพ์สีสวยงาม ใช้กระดาษดี และมีความหนากว่าสี่ร้อยหน้า

ที่สำคัญ รวมเฉพาะงานของ คาร์ล บาร์กส์ (Carl Barks) ศิลปินคนสำคัญในแผนกหนังสือการ์ตูนของดิสนีย์ จุดเด่นของบาร์กส์คือ มีบทบาททั้งในการเขียนเรื่องและวาดรูป และตลอดช่วงเวลายี่สิบห้าปีที่ทำงานนี้มา มีผลงานจำนวนหลายร้อยเรื่อง (ตั้งแต่ปี ค.ศ.1942 ถึงปลายทศวรรษที่ 1960)

รวมเล่มชุดนี้จึงมีการ์ตูนที่โด่งดังถึงขั้นคลาสสิคหลายตอน

และมีเค้าว่าจะต้องออกมาอีกนับสิบเล่ม

การผจญภัยของตระกูลเป็ด ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในบ้านหรือมุมต่างๆ ทั่วโลก ให้ทั้งความตื่นเต้นสนุกสนาน ตลกขบขัน

สิ่งที่ทำให้บาร์กส์ได้ชื่อว่าเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก คือเรื่องเล่าที่สนุกสนาน บทสนทนาที่ลื่นไหล และมุขตลกที่คมคาย

Uncle Scrooge ตอน Only a Poor Old Man
Uncle Scrooge ตอน Only a Poor Old Man

ลุงสกรู๊จเล่มแรกที่ชื่อ Only a Poor Old Man มีคำนิยมที่เขียนโดย จอร์จ ลูกัส ผู้สร้างภาพยนตร์ Star Wars ชุดแรก บอกว่าหนังสือการ์ตูนเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อเด็กรุ่นเขา จุดเด่นของบาร์กส์คือเรื่องที่แสนสนุก และผลงานของเขาเป็นแรงบันดาลใจของคนรุ่นนั้น

เรื่องนี้เป็นที่รู้กันทั่วไป โดนัลด์ อูลต์ (ในคำนำของโดนัลด์ ดั๊ก ฉบับรวมเล่ม) นักวิชาการด้านการ์ตูนบอกว่าในหนังชุดอินเดียน่า โจนส์ ตอน Raiders of the lost Ark อันเป็นผลงานของลูกัสและสปีลเบิร์ก ฉากแรกสุดที่เกิดขึ้นในถ้ำมหาสมบัติของชาวอินคาและมีหินกลมก้อนมหึมากลิ้งมาไล่ทับพระเอก เอามาจากผลงานของบาร์กส์ ตอนที่ชื่อ Lost in the Andes นั่นเอง

04 geese

เนื่องจากบาร์กส์เป็นศิลปินที่ทำงานให้บริษัทของดิสนีย์ ซึ่งในยุคนั้น มีนโยบายอันเด็ดขาดว่าจะไม่โปรโมตศิลปินคนใดทั้งสิ้น งานทุกชิ้นถือว่าเป็นของ วอลต์ ดิสนีย์ แต่ผู้เดียว

ตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ เขาจึงทำงานอยู่หลังฉาก ไม่เคยมีชื่อปรากฏในผลงาน

แต่เพราะทั้งเรื่องและลายเส้นมีความโดดเด่นเฉพาะตัว จึงมีแฟนที่มองออกและติดตามผลงานอยู่เสมอ

ในยุคนั้น บาร์กส์ถูกเรียกว่า The good duck artist ตั้งแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันเลย เขามาเปิดเผยตัวเองก็หลังจากที่รีไทร์จากบริษัทของดิสนีย์แล้ว

แม้ว่าโดนัลด์ ดั๊ก จะมีกำเนิดในภาพยนตร์การ์ตูน แต่บาร์กส์เป็นผู้ทำให้เป็ดตัวนี้มีบุคลิกขึ้นมา เช่น เปลี่ยนโดนัลด์จากเป็ดจอมโวย ขี้โมโห (และมีเสียงเหมือนลำโพงแตก) เป็นคนธรรมดาที่มีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ในตัว เช่น อยากมีเงินใช้แต่ไม่รอบคอบ ในเมืองชื่อ ดั๊กเบิร์ก (ซึ่งบาร์กส์ก็เป็นคนสร้างขึ้นมา) การที่โดนัลด์มักจะเดือดร้อนเรื่องเงินและต้องเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ทำให้จุดอ่อนนี้เด่นขึ้นมา และอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้โดนัลด์มีเสน่ห์สำหรับผู้อ่านจำนวนมาก

นอกจากนั้น บาร์กส์ยังให้หลานสามตัวของเขาเข้ามามีบทบาท นั่นคือ คอยตักเตือนหรือให้ความรู้และสติปัญญาแก่ผู้เป็นลุงอยู่เสมอ

ตัวละครอื่นๆ ที่บาร์กส์เป็นผู้สร้างขึ้นมาเองได้แก่ สกรู๊จ แม็กดั๊ก เป็ดที่รวยที่สุดในโลก, แกลดสโตน แกนเดอร์ เป็ดโชคดี, จิโร เกียร์ลูส ไก่นักประดิษฐ์, บีเกิ้ล กลุ่มโจรสวมหน้ากาก, แมจิก้า เดอ สเปล แม่มดอิตาเลียน และอื่นๆ อีกมากมาย

เด่นที่สุดคือลุงสกรู๊จ (รวมทั้งตึกรูปตู้เซฟที่ตั้งอยู่ในดั๊กเบิร์ก ซึ่งมีขนาด 3 คิวบิกเอเคอร์หรือใหญ่จนคลุมทั้งบล็อก และบรรจุธนบัตรและเหรียญไว้เต็ม) การเป็นเศรษฐีเอื้อให้เกิดการผจญภัยใหญ่ๆ และการตระเวนไปไกลๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เปรู อลาสก้า ทิเบต จีน แอตแลนติส หรือดวงจันทร์

ส่วนความขี้เหนียว ซึ่งหมายถึงเห็นแก่ตัว ขี้โกง และละโมบโลภมาก ยังมีความสำคัญ เพราะทำให้การ์ตูนหลายตอนกลายเป็นนิทานที่สะท้อนสังคมอเมริกันได้ดี

คำนิยมของ จอร์จ ลูกัส บอกว่า ความหลงใหลในทรัพย์สินเป็นหัวใจของลุงสกรู๊จ

The Secret of Atlantis
The Secret of Atlantis

ดังนั้น สิ่งที่ทำให้การ์ตูนชุดนี้ยืนยง จึงไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าที่แสนสนุก แต่เป็นบุคลิกแบบอเมริกัน อันได้แก่ เป็นมิตร จริงใจ มุ่งมั่น กล้าหาญ และรักการผจญภัย

ส่วนความเห็นแก่ตัวนั้น ก็เป็นความจริงอีกอันที่ต้องยอมรับ

มีงานวิชาการหลายชิ้นที่พูดถึงการ์ตูนดิสนีย์ในแง่นี้ บางคนเห็นว่า คาร์ล บาร์กส์ ได้เสียดสีล้อเลียนชนชั้นนายทุนและระบบทุนนิยมอย่างถึงรากถึงโคน

บางคนมองว่าลุงสกรู๊จเป็นตัวแทนของจักรวรรดินิยมอเมริกัน ซึ่งเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น กำลังแผลงฤทธิ์ไปทั่วโลก

ลูกัสกล่าวในตอนท้ายว่า การ์ตูนไม่เพียงให้ความบันเทิง แต่มีด้านที่สะท้อนยุคสมัย และชี้ให้เห็นสังคมและวัฒนธรรมที่ผลิตมันขึ้นมา

และด้วยเหตุนี้เอง ผลงานของ คาร์ล บาร์กส์ จึงเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่า

สําหรับการ์ตูนภาษาไทย ฉบับของกรุงเทพโฆษณาและการพิมพ์ ผลงานของบาร์กส์มีไม่มากนัก เช่น สุดเหนือของยูคอน การแข่งเรือกลไฟครั้งใหญ่ และ วีรบุรุษแห่งเขื่อนกั้นน้ำ ฯลฯ ตอนแรกอยู่ในฉบับที่ 14 พ.ศ.2509 มีชื่อว่า “เกาะห่านทอง” ซึ่งมาจาก Isle of Golden Geese

เรื่องเริ่มต้นเมื่อลุงสกรู๊จออกไปซื้อไข่ในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่กลับเจอไข่ทองคำที่บรรจุไว้อย่างดีในกล่อง เขาจึงออกเดินทางไปหาที่มา และพบว่าเจ้าของเป็นสาวน้อยชื่อ แฟนนี่ เฟเธอร์เบรน ซึ่งอยู่บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ไกลโพ้นและตัดขาดจากโลกภายนอก

แฟนนี่เป็นคนเลี้ยงห่าน ที่ไม่รู้จักค่าของทอง จึงเห็นไข่ทองเป็นสินค้ามีตำหนิ และรีบขอโทษลุงสกรู๊จที่ตนเองแอบใส่ลงไปในกล่อง

ต้องนับว่าเป็นตอนที่แนะนำบุคลิกของลุงสกรู๊จได้ดี เพราะฉากสำคัญคือการที่ลุงสกรู๊จฉวยโอกาสจากความไม่รู้ของสาวน้อย ขอซื้อห่านทั้งฝูง และขนห่านทั้งหมดด้วยราคาเพียง 5 ดอลลาร์ และแม้จะถูกหลานสามตัวต่อว่า เขาก็แสดงอาการขวยเขินเพียงเล็กน้อย

หลังจากนั้น เกิดความวุ่นวายอีกมาก เพราะ แมจิก้า เดอ สเปล ผู้ร้ายของตอนนี้ ตามมาถึงเกาะและใช้เวทมนตร์บังคับเรือและแพให้หยุด กว่าบรรดาเป็ดจะรอดมาได้ ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือของแฟนนี่และฝูงห่านของเธอ

และเมื่อมาถึงตอนจบของเรื่อง การ์ตูนชี้ว่ามูลค่าของทองคำเป็นเพียงความลุ่มหลงของลุงสกรู๊จ

ไม่เพียงบอกว่าการให้ราคากับอะไรมากเกินไปนั้น เป็นเรื่องเหลวไหล มีหลายตอนในการ์ตูนชุดนี้ ที่พยายามถึงขั้นวิพากษ์ระบบทุนนิยม ตอนหนึ่งคือ The Secret of Atlantis พิมพ์ครั้งแรกในปี 1954 และอยู่ในลุงสกรู๊จฉบับรวมเล่มชื่อ The Seven Cities of Gold

จุดเด่นคือคล้ายเอาเรื่องสามตอนมารวมกัน ตอนแรก เริ่มต้นเมื่อลุงสกรู๊จทำการกว้านซื้อเหรียญสลึงทั้งหมดที่ออกมาเมื่อปี 1916 จากนั้น ก็เก็บไว้เหรียญเดียวและเอาที่เหลือทั้งหมดไปโยนทิ้งทะเล เหรียญที่เขาเก็บไว้จึงหายากและมีราคาเพิ่มขึ้นมหาศาล

แน่นอน นี่เป็นการสอนเรื่องเศรษฐศาสตร์ หรือชี้ว่ามูลค่าของสินค้าเกิดขึ้นได้เพราะกลไกด้านซัพพลายและดีมานด์

แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือบอกว่าการที่นายทุนสามารถสร้างความขาดแคลนหรือความต้องการได้นั้น อาจจะไม่เกี่ยวอะไรกับการลงทุนหรือการผลิตเลย คนรวยสามารถทำเงินได้โดยการปั่นราคาสินค้าหรือสร้าง inflation ขึ้นมาเอง

ในตอนที่สอง ด้วยความลำพองใจที่เอาชนะคนอื่นได้ ทำให้ลุงสกรู๊จทำเหรียญตกพื้นและกลิ้งไปทั่วเมือง

ช่วงนี้คล้ายกับเอาหนังแนว Screwball comedy มาผสมกับตลกเจ็บตัว และบางทีก็ไร้ตรรกะ ที่สำคัญคือวุ่นวายแบบ “บานปลาย” ซึ่งหมายถึงเริ่มจากจุดเล็กนิดเดียว แต่ขยายไปสู่เหตการณ์ที่ใหญ่โตและคาดไม่ถึง

ดังนั้น การวิ่งไล่เหรียญสลึงจึงนำไปสู่ฉากโกลาหลในหลายๆ แห่ง

และในที่สุดก็จบลงด้วยการที่เหรียญราคาแพงนั้นกลิ้งไปให้รถบดถนนคันหนึ่งบดจนแบนแต๊ดแต๋ ซึ่งแปลว่าหมดราคาไปในทันที

กว่าจะเข้าเรื่องของแอตแลนติส ก็ต้องในตอนที่สาม เพราะต้องการลงไปงมเหรียญที่ทิ้งไปแล้วกลับคืนมา สกรู๊จ โดนัลด์และหลานๆ จึงต้องเดินทางกลับไปยังทะเลลึก ซึ่งจะนำไปสู่ค้นพบเมืองโบราณซึ่งอยู่ก้นมหาสมุทร