ล้านนา-คำเมือง : นา ลิ ก๋า

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “นา ลิ ก๋า”

เป็นคำเดียวกันกับนาฬิกา แต่บางท้องถิ่นเรียกเพี้ยนว่า “นา หละ ก๋า” ก็มี

ก่อนที่คนล้านนาจะมีนาฬิกาใช้ คนล้านนานับเวลาโดยใช้ “ยาม” เช่นเดียวกับคนภาคกลาง ซึ่งเป็นการบอกเวลาจากศูนย์กลางของชุมชน เช่น วัด เพื่อให้คนในชุมชนนั้นๆ ได้รู้เวลาที่แน่นอนในแต่ละช่วงวัน

แต่ยามหนึ่งๆ ของภาคกลางและทางเหนือ มีช่วงเวลาที่ไม่เท่ากัน กล่าวคือ

“ยาม” ของภาคกลาง เป็นช่วงเวลาที่นับเฉพาะกลางคืน ส่วนใหญ่ หนึ่งชั่วยามมักจะหมายถึง 3 ชั่วโมง โดยนับจาก 18:00-21:00 เป็นยามหนึ่ง 21:00-24:00 เป็นยามสอง 24.00-03:00 เป็นยามสาม และ 03:00-06:00 เป็นยามสี่ เป็นต้น

ทุกวันนี้ยังมีคนนิยมพูดว่า “วันนี้รถติดถึงบ้านสองยามแน่ะ” อันเป็นที่เข้าใจกันว่า ถึงบ้านเกือบเที่ยงคืน

ถ้านับยามแบบบาลี ยามหมายถึงช่วงเวลาแบ่งของกลางคืนเช่นกัน แต่ละยามมี 4 ชั่วโมง ดังนั้น จึงมีปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม

สําหรับ “ยาม” แบบล้านนา ใช้แบ่งส่วนของเวลาทั้งกลางวันกลางคืน หนึ่งชั่วยามยาว 1 ชั่วโมงครึ่ง ดังนั้น การนับยามแบบล้านนา ยามในเวลากลางวันจึงมี 8 ชั่วยาม และเวลากลางคืนมีอีก 8 ชั่วยาม รวมเป็น 16 ยามในหนึ่งวัน และมีชื่อเรียกแบบพื้นถิ่นโดยเฉพาะ

ยกตัวอย่างเช่น

ยาม ตูดเช้า ตรงกับช่วงเวลา 06:00-07:30 น.

ยาม ก๋องงาย ตรงกับ 07:30-09:00 น. ฯลฯ

ยาม ถะแหลค่ำ ตรงกับ 15:00-16:30 น.

ยาม ป้าดค่ำ ตรงกับ 16:30-18:00 น. ฯลฯ

(ข้อมูลจาก พับสาของแสนอินทอักษร อ.พร้าว เชียงใหม่)

ทั้งนี้ ชื่อที่ใช้เรียกยามต่างๆ นั้น เรียกตามเครื่องเสียงที่ใช้บอกเวลา

“ตูด” คือ หวูด เวลาเช้าตรู่ เมื่อคนในชุมชนได้ยิน เสียงเป่าเขา หรือหวูด ก็จะรู้ว่าหกโมงเช้าแล้ว

“ก๋อง” คือ กลอง งาย แปลว่า เวลาสาย ดังนั้น เมื่อได้ยินเสียงกลอง คนในชุมชนก็รู้ว่าตอนนี้เป็นเวลาสาย ประมาณก่อน 9 โมงเช้า

“ถะแหล” คือ แตร เสียงแตรตอนบ่ายๆ จะตรงกับเวลาบ่ายสามถึงสี่โมงครึ่ง

“ป้าด” คือ เสียงพิณพาทย์ ป้าดค่ำ หรือป้าดลันค่ำ คือเวลาย่ำค่ำ ก่อนหกโมงเย็น

สมัยโบราณ บ้านเราไม่ว่าภาคกลางหรือล้านนา การบอกเวลาจะเป็นการกะโดยคร่าวๆ เท่านั้น

คนล้านนาเพิ่งจะมีนาฬิกาใช้เพียงเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมานี้เอง หลังจาก พ.ศ.2461 เมื่อมีการเปิดเส้นทางเดินรถไฟจนถึงสถานีเชียงใหม่ และพ่อค้าชาวจีนเริ่มเอานาฬิกามาขายให้คนทางเหนือ

ตั้งแต่นั้นมาคนเชียงใหม่ก็เรียกเครื่องบอกเวลาที่เที่ยงตรงกว่าว่า “นา ลิ ก๋า” ตามคำศัพท์ “นาฬิกา” แบบคนกรุงเทพฯ

และลืมการใช้ยามแบบโบราณเสียสิ้น