เมนูข้อมูล : ท้าทายความเชื่อมั่น

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “ผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดนี้” มีความปรารถนาที่จะควบคุมอำนาจรัฐต่อไป

แต่เมื่อแรงเสียดทานเกิดจากความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยที่ถูกปลูกฝังในสำนึกของคนไทยส่วนใหญ่มายาวนาน พร้อมด้วยความกดดันที่เกิดจากการอยู่ร่วมในสังคมโลกที่อาศัยประชาธิปไตยเป็นกติกาการอยู่ร่วมกัน ทำให้ “รัฐบาลที่ไม่มีภาพว่ามาจากประชาธิปไตย” ต้องหาทางออก

เป็นทางออกที่มีจุดลงตัวอยู่ที่ “ผู้มีอำนาจปัจจุบันยังควบคุมอำนาจรัฐไว้ได้” และ “เป็นรัฐบาลที่มีภาพประชาธิปไตย”

แต่ “ผู้มีอำนาจปัจจุบัน” ไม่สามารถเชื่อมั่นได้ว่าการเลือกตั้งที่เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย จะเปิดโอกาสให้ควบคุมอำนาจต่อไปได้ เพราะหวาดระแวงว่าประชาชนคือฐานอำนาจของนักการเมืองคนเดิมๆ

แม้จะมีการแก้ไขให้เชื่อมั่นได้มากขึ้น ด้วยการเขียนกฎหมายที่กำหนดโครงสร้างอำนาจรัฐเสียใหม่ ให้ลดบทบาทการกำหนดของประชาชนที่เห็นว่าเป็นฐานอำนาจของนักการเมืองลง และขยายอำนาจการแต่งตั้งเข้ามาแทรกแซงอำนาจจากประชาชน หรือถึงขั้นให้เป็นผู้ชี้ขาดแทนประชาชน

ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง และสนับสนุนการก่อกำเนิดและการเติบโตของพรรคการเมืองมีขึ้นเพื่อส่งเสริมอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

มีความพยายามที่จะชี้ให้เห็นความเลวร้ายของ “นักการเมืองเดิมๆ” และป่าวประกาศความดีงามของ “กลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” โดยใช้สื่อในมืออย่างเข้มข้น

ในอีกทางหนึ่ง ทุ่มเททุกสรรพกำลัง และทุกกลไกที่จะทำให้ประชาชนได้เห็น และได้รับประโยชน์ที่กลุ่มนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเจือจานให้

แต่กระนั้น ความมั่นใจยังว่า ที่สร้างกันขึ้นมาทั้งหมดจะทำให้ “คณะบุคคลที่ไม่เชื่อมโยงประชาชน” ยึดครองอำนาจต่อไปในวิถีประชาธิปไตย ก็ยังไม่เกิดขึ้นในระดับอุ่นใจได้เต็มที่

ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่จะทำให้ “เลื่อนเลือกตั้ง” ออกไป จึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนคำประกาศว่าจะเลือกตั้งเมื่อนั้นเมื่อนี้ เชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป

ทว่า แม้การยืดการเลือกตั้งออกไป จะมีใครทำอะไรได้ เนื่องจากโครงสร้างของสังคม และทัศนคติที่เป็นเอกภาพถูกทำลายจนไม่มีพลังพอที่จะต่อต้านอำนาจ แต่ปรากฏการณ์บางอย่างก็เป็นสัญญาณที่ต้องทำให้คิดว่าการดำรงอยู่ด้วยวิธีเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนั้น ที่สุดแล้วแนวโน้มจะเป็นอย่างไร

เป็นแนวโน้มที่อาจจะกระตุ้นให้คำนึงถึงจุดจบ

ผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ล่าสุด ในคำถามที่ว่า “เรื่องอะไรเป็นสิ่งบั่นทอนหรือทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลมากที่สุด” คำตอบ 5 อันดับแรกคือ

ร้อยละ 25.9 บอกว่าเพราะเศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่ควร ร้อยละ 23.0 ไม่ชอบเรื่องข่าวความไม่โปร่งใสของบุคคลและคนรอบข้างนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 16.3 ไม่ชอบที่ยังไม่เด็ดขาดเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ร้อยละ 7.2 ชี้ว่าเพราะมีการเลื่อนเลือกตั้งจากโรดแม็ปเดิม ร้อยละ 6.8 เห็นว่าเพราะการใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม

ทุกเรื่องราวเหล่านี้ล้วนเป็นเหมือนรอยรั่วในความพอใจ ที่แม้จะใช้อำนาจมากมายเพื่อปกปิดไว้ แต่ที่สุดแล้วไม่พ้นจากความรู้สึกนึกคิดของประชาชน

ดังนั้น “เลื่อนเลือกตั้ง” อาจจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดหากเชื่อว่าสามารถอุดจุดอ่อน เพื่อให้สถาปนาอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้าไปในภาพของประเทศประชาธิปไตยได้

ด้วยความเชื่อว่า เวลาจะทำให้เกิดโอกาสสร้างความลงตัวของสภาวะที่ขัดแย้งนี้ได้

อย่างไรก็ตาม เวลาใช้จะส่งผลไปในทางที่สนองสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการอย่างไร

เวลายังอาจจะขยายรอยโหว่ที่เกิดขึ้นมาทำลายความเชื่อถือให้กว้างขึ้น จนกระทั่งเป็นการเสี่ยงต่อการแตกสลายได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับคำตอบว่า ทิศทางจะเป็นแบบไหนมากกว่า

เวลาเช่นกันจะเป็นผู้ให้คำตอบที่ดีที่สุด