อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ญี่ปุ่นกับเมียนมา (1) การกลับมาใหม่ฐานะผู้เล่นหลัก

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หลังจากเมียนมาตกอยู่ในสถานะที่ถูกนานาชาติแซงก์ชั่นและเป็นประเทศผู้ร้ายในสายตานานาชาติ เมียนมาได้เริ่มต้นกลับเข้าสู่ระบบนานาชาติอีกครั้งหนึ่ง หลังจากมีการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2010 ประธานาธิบดีที่เป็นพลเรือนคนแรกของเมียนมา โดยการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2012 ได้โน้มน้าวชุมชนระหว่างประเทศว่า “การเปลี่ยนผ่าน” ของเมียนมาไปสู่ประชาธิปไตย เป็นของจริง

ผลที่ตามมาคือ กิจกรรมทางด้านการทูตกลับมาอีกครั้งหนึ่ง นั่นเป็นผลจากการแซงก์ชั่นเกือบทั้งหมดได้ถูกยกเลิกไป ภาพที่ปรากฏคือ การผูกพันอีกครั้งหนึ่ง (re-engagement) กับเมียนมาได้ริเริ่มจากรัฐบาล บารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกา

แต่สิ่งหนึ่งที่ยากจะปฏิเสธความจริงได้คือ บทบาทญี่ปุ่นในฐานะผู้เล่นหลัก

การกลับมาใหม่ของญี่ปุ่น

ความจริงแล้ว ญี่ปุ่นได้เข้ามามีความสัมพันธ์กับเมียนมาด้วยตัวเอง ด้วยการให้รางวัลและผลประโยชน์ต่อเมียนมาระหว่างทศวรรษ 1990 และ 2000 ผลประโยชน์ที่ญี่ปุ่นให้กับเมียนมาคือ การสัญยาให้การลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่น การลุงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามากระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจเมียนมา

สำหรับญี่ปุ่น การแข่งขันทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geostrategic competition) กับจีน การให้การสนับสนุนอาเซียน ผสมกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเอง เป็นปัจจัยและแรงจูงใจเบื้อนต้นในการผลักดันการลงทุนของญี่ปุ่นในเมียนมา และจริงๆ แล้ว เป็นแรงผลักดันทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

ทั้งหมดนี้เป็น แนวคิดกว้างๆ ว่าญี่ปุ่นมีการลงทุนในเมียนมาอย่างมาก หลังจากเมียนมาได้รับเอกราชและตอนนี้ เป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่างๆ ของญี่ปุ่น

การลงทุนของญี่ปุ่นในเมียนมา ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่มีการทำการตกลงกันทั้งสองฝ่ายในปี 1954 เมื่อญี่ปุ่นเริ่มต้นให้ความช่วยเหลือบางส่วนเพื่อการพัฒนาเมียนมา ความช่วยเหลือดังกล่าว ได้ดำเนินตลอดมาจนถึงช่วงการแซงก์ชั่นในยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งญี่ปุ่นยังคงให้ความช่วยเหลือเป็นชิ้นๆ บนพื้นฐานเป็นกรณีๆ ไป

สิ่งที่สำคัญมากคือ เนื่องจากความสามารถให้ความช่วยเหลือของญี่ปุ่นไม่ได้ทำเต็มที่ในช่วงเวลาที่เมียนมาบริหารประเทศด้วยระบบ แนวทางสังคมนิยมวิถีพม่า (Burmese Way to Socialism) ซึ่งทั้งปิดประเทศ รวมศูนย์กลางบริหารทั้งหมดเป็นของรัฐ ปัจจัยการผลิตทั้งหมดเป็นของรัฐ ไม่มีการลงทุนจากต่างประเทศ ติดต่อด้านความสัมพันธ์ทางการเมืองแต่เฉพาะประเทศสังคมนิยม ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน และด้วยนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศคือ พื้นฐานความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นโดยผ่านภาคเอกชนที่ใช้เงินลงทุนของภาครัฐมาสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและเมียรมาเลยกลายมาเป็นเกือบทั้งหมดพึ่งพิง ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลหรือ Official Development Assistance (ODA)

แต่เนื่องจากเศรษฐกิจเมียนมาในระยะยาวตกต่ำ พอช่วงหลังสงครามเย็น (post cold war) หลัง ค.ศ.1990 และการแซงก์ชั่นจากนานาชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นจึงยังไม่ได้เคยรับผลตอบแทนอะไรจากการลงทุนของภาคเอกชนและรัฐบาล

ช่วงต้นปี 1999 รัฐบาลญี่ปุ่นสัญญากับทางการเมียนมาว่าจะให้เงินกู้แก่รัฐบาลเมียนมา หากรัฐบาลเมียนมามีความก้าวหน้าด้านกระบวนการประชาธิปไตย และเมื่อปี ค.ศ.2012 เมื่อ ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) ชนะการเลือกตั้ง และได้รับที่นั่งเสียงข้างมากในรัฐสภา รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกหนี้ของรัฐบาลเมียนมาก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่ง รวมแล้วประมาณ 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ.2012 รัฐบาลญี่ปุ่นยังช่วยดำเนินการล้างระบบหนี้สินของสถาบันการเงินระหว่างประเทศในเมียนมาอีก จนทำให้ญี่ปุ่นสามารถผูกพันได้อีกครั้งหนึ่ง (re-engagement) กับรัฐบาลเมียนมาได้อีกครั้งหนึ่ง

กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นได้แก่ บริษัท Nihon Koei, Marubeni, Itochu Cooperation, Mitsubishi และ Sumitomo ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการที่สนับสนุนเงินกู้โดย ODA ของรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น ดังนั้น ผลพวงต่างๆ ของการสนับสนุนด้านการเงิน การพัฒนาและโครงการความช่วยเหลือของญี่ปุ่นคือ ODA จึงก่ออานิสงส์แก่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นในจังหวะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่าน และการผ่อนปรนความช่วยเหลือและหนี้สินของญี่ปุ่นที่เมียนมาเคยค้างอยู่

เราอาจเห็นทั้งผลระยะยาว และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วใน การกลับมาใหม่อีกครั้งของญี่ปุ่นในเมียนมา ดังที่จะบรรยายต่อไป