เทศมองไทย : หลายคำถามเรื่อง เมืองไทยกับ 5จี

เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 หรือที่มักเรียกกันว่า 5จี นั้นคงต้องถือกันว่า “ใหม่” มาก ใหม่ชนิดที่ยังต้องอธิบายความกันมากมายไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา หรือในยุโรปเอง อย่าว่าแต่ในเมืองไทยเราเลยครับ

โชคดีไม่น้อยที่ “มติชน” ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และพันธมิตรทั้งหลาย จัดเสวนาเชิงวิชาการเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้ เปิดโอกาสให้ผมได้มีโอกาสพบปะกับผู้สันทัดกรณีเรื่องนี้ทั้งหลาย ได้ระบายคำถามอัดอกหลายๆ เรื่องออกไปให้กัลยาณมิตรเหล่านั้นไขให้กระจ่าง

ตั้งแต่คำถามง่ายๆ โง่ๆ ตรงไปตรงมาอย่าง 5จี มันคืออะไร ต่างกับ 4จี (ที่ยังไม่เข้าใจกันอยู่ในเวลานี้) ตรงไหน อย่างไร?

ไปจนถึงคำถามยากๆ (ในความเห็นของผม) ว่า เมืองไทยควรเตรียมตัว เตรียมความพร้อมเพื่อก้าวไปยังยุค 5จี ตั้งแต่ตอนนี้แล้วหรือไม่?

 

เอาเรื่องแรกกันก่อนก็แล้วกันครับ เขาหยิบยกเรื่องถนน (อีกแล้ว) มาอุปมาอุปไมยถึงความแตกต่างระหว่างเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ใช้กันอยู่ในเวลานี้ให้เห็นภาพชัด

เขาบอกว่า ที่ผ่านมา จะ 2 หรือ 3 หรือ 4จี เขาเปรียบเทียบผู้ให้บริการโครงข่ายเป็นเหมือนถนนเส้นหนึ่ง 2จี ก็แคบหน่อย 4จี ก็กว้างมากหน่อย รถราบนถนนเส้นที่ว่านี้ก็จะวิ่งเร็วขึ้น วิ่งได้มากคันขึ้น ไม่ต้องรอคิวกันนานเหมือนที่ผ่านๆ มา

แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะแทนที่เราจะใช้รถคันเล็กๆ กัน กลับหันไปใช้รถราใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แถมยังมากขึ้นเรื่อยๆ ไอ้ที่เคยกว้างมันเลยแคบ อึดอัด ช้าแล้วก็ติดขัดตามธรรมชาติ

แล้ว 5จี คือถนนที่กว้างขึ้นหรือย่างไร?

คำตอบคือไม่เชิง แต่จากการที่มีถนน จะกลับไปเป็นเหมือนที่โล่งๆ ไม่เป็นถนนแทน มีที่ว่างมากมายให้เลือกวิ่งกัน ใครคันเล็ก วิ่งช้า ไม่อยากเร็วปรูดปราด ก็มีทางเลือกวิ่งด้านหนึ่ง ส่วนรถใหญ่ๆ วิ่งเร็วๆ ก็มีทางโล่งๆ ให้เลือกวิ่งได้ตามใจชอบ

ประเด็นที่ต่างกันใหญ่หลวงระหว่างระบบที่โล่งแบบ 5จี นี้ก็คือ มันรองรับรถราได้มหาศาลมากในคราวเดียวกัน

แล้วไอ้ที่ว่าช้านั่นก็ไม่ได้ช้าอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่อย่างน้อยที่สุดก็สามารถวิ่งได้เร็วกว่าที่วิ่งอยู่ถึง 10 เท่า

ไอ้ที่เคยต้องวิ่งๆ แล้วเบรก เบรกแล้ววิ่งต่อ ทำให้ไปถึงจุดหมายปลายทางช้า ซึ่งศัพท์ทางวิชาการเขาเรียกกันว่า ความหน่วงของระบบ ก็ลดน้อยลง ลดลงเหลือน้อยที่สุด

ซึ่งเขาบอกว่า จำเป็นมาก ถ้าหากต้องการให้หลายๆ อย่างที่นักเทคโนโลยีคิดฝันกันเอาไว้จะเกิดขึ้น อาทิ รถที่วิ่งเองไม่ต้องมีคนขับ ซึ่งเขาอธิบายเพิ่มว่า มันจะเป็นอย่างนั้นกันได้ทั้งเมือง รถนับ 10 ล้านคันต้องเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลาในทุกวัน ในเวลาเดียวกันก็ต้องเชื่อมต่อหรือคุยกับรถคันอื่นๆ ได้เหมือนกัน

ระบบอินเตอร์เน็ตที่ว่า จะต้องเร็วแบบทันใจ ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ประมวลผลเสร็จส่งไปสั่งให้รถเบรก กว่าจะไปถึง รถชนกันเรียบร้อยไปแล้ว อย่างนั้นไม่ได้

นั่นคือเหตุผลที่ว่า รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ จะเป็นจริงได้ต้องมีเครือข่ายที่เร็วและรองรับการเชื่อมต่อปริมาณมากได้ มีความเสถียรของเครือข่ายสูง ใช้ได้ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นจริงได้อย่างน้อยก็ในเครื่อข่ายระดับ 5จี

เขายกตัวอย่างให้เห็นอีกมากมาย เช่น การผ่าตัดทางไกล, การควบคุม การบริหารจัดการโรงงานผลิตอัตโนมัติ, การบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า, น้ำประปา) เป็นต้น

 

ผมถามต่อว่า แล้วถ้าเมืองไทยไม่อยากได้รถแบบไม่มีคนขับกับเขาด้วย จะได้ไหม คำตอบชัดถ้อยชัดคำของเขาก็คือ ได้ ก็อยู่ไปเรื่อยๆ ดูคลิปเบลอๆ กระตุกๆ ไปเรื่อยๆ

แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องยอมรับความเป็นจริงกันว่า ประเทศของเราก็ต้องสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆ เช่นกัน

เขายกตัวอย่าง 2 ประเทศที่ประเทศหนึ่งเป็น 5จี อีกประเทศยังล้าหลัง แล้วถามผมว่า ถ้าผมอยากจะตั้งโรงงานผลิตอะไรสักอย่าง และมีจักรกลผลิตอัตโนมัติควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์อยู่ในมือ ผมจะไปลงทุนในประเทศไหน

เขายกตัวอย่างอีกว่า บริษัทหัวเว่ย เคยประเมินเฉพาะในประเทศไทยเอาไว้ว่า ภายในปี 2578 (ค.ศ.2035) ถ้าไทยมี 5จี อุตสาหกรรมไทยจะสร้างมูลค่าขึ้นมาได้รวม 56,000 ล้านดอลลาร์โดยประมาณ แต่ถ้าไม่มี มูลค่าที่ว่านั้นก็หายไป เรายอมรับกันได้หรือไม่

 

เขายกตัวอย่างและตัวเลขอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ก่อนสรุปไว้หนักแน่นว่า

“ในความเห็นของผม เมืองไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมานานนักหนาแล้ว 5จีจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมายในเมืองไทย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของไทยขึ้นไปอีกขั้น โอกาสใหม่ๆ อุตสาหกรรมใหม่ๆ และรายได้ใหม่ๆ เหล่านั้น เกิดไม่ได้แน่ถ้าไม่มี 5จี เป็นพื้นฐาน เป็นโครงสำคัญ”

ที่สำคัญที่เขาสำทับตามมาก็คือ โอกาสอย่างนี้มีมาไม่บ่อยครั้งนักนะครับ!