จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (23)

ผู้คร่ำหวอดกับการเมืองไทยในประเทศนี้มาตั้งแต่คณะ “รัฐบาลทหาร” ปัจจุบัน (ส่วนมาก) อายุยังเพียงแค่ 10 กว่าปี มักพบปะสนทนาเรื่อง “การเมือง” กันตามประสาคนสูงวัย

ความเห็นของผองเพื่อนส่วนใหญ่ออกมาทำนองเดียวกันว่า รัฐบาลไหนสุดแท้แต่ (เลือกตั้ง-รัฐประหาร) ถ้าบริหารบ้านเมืองเกินกว่า 2 ปี ไม่มีนโยบายโดนใจแก้ปัญหาความอดอยากยากแค้นให้ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ ประชาชนย่อมมีอาการ “เบื่อ?”–ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง?

รัฐบาลซึ่งมาตามครรลองระบvบการปกครอง “ประชาธิปไตย” ยังพอมีช่องทางที่จะขับไล่ให้ออกไปได้ด้วยการพยายามหาเสียงจำนวนมากเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรียกว่าสามารถตรวจสอบได้พอสมควร เพราะระบบดังกล่าวมันมี “ฝ่ายค้าน”

บางทีไล่ไม่ได้ทั้งคณะอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเป็นรายตัว หรือมีการปรับ “คณะรัฐมนตรี” เพื่อเอาคนไม่เก่ง ไม่ดี ออกไปได้พอสมควรบางส่วน

ก็ยังพอทนๆ กันได้บ้าง?

 

แต่รัฐบาลที่ไม่มี “ฝ่ายค้าน” เนื่องจากเป็น “เผด็จการทหาร” เข้ามาบริหารประเทศจากการ “ยึดอำนาจ” แล้วระดมผู้คนจาก “กองทัพ” ดึงพวกพ้องประเภทห้อยโหนประจบสอพลอมาจัดตั้งรัฐบาล พยายามทำท่าให้เหมือนๆ การปกครองระบอบประชาธิปไตย ตั้ง “สภานิบัญญัติแห่งชาติ” และอะไรต่อมิอะไร รวมทั้งการร่างกติกาในการปกครองประเทศ คือ “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นใหม่

กองเชียร์ที่เบื่อหน่ายรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ผู้เข้าร่วมสมทบประเภทเกาะกระแสแชร์ผลประโยชน์ด้วยอีกจำนวนมาก ต่างลืมตาอ้าปากกับผลประโยชน์อันเป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากตามปกติกลุ่มเกาะขาเหล่านี้ซึ่งมีแทรกอยู่ในทุกอาชีพ นักกฎหมาย นักการเมือง และ ฯลฯ พร้อมสนับสนุน เพราะในยามปกติธรรมดาเขาไม่มีโอกาสได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน?

ทุกฝ่ายเงียบเชียบพร้อมตั้งหน้าตั้งตารอคอยผลงานอย่างสงบเสงี่ยม เฝ้ามองการบริหารงานของ “เผด็จทหาร” ด้วยความหวังว่าจะได้จัดระเบียบประเทศให้เรียบร้อย สมานฉันท์ ปรองดอง ละลายสีเสื้อกลุ่มนั้นนี้ฝ่ายต่างๆ เพื่อจะได้กลับมาร่วมกันพัฒนาชาติไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นมา

วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า หวังจะได้รับการ “คืนความสุข” คืน “ประชาธิปไตย” และสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงออก ตามสัญญาที่อุตส่าห์เสียเวลาแต่งเพลงให้ร้องกันทั้งบ้านทั้งเมืองช่วงระยะเวลานั้น?

ปี 2559 (ผ่านไปแล้ว 2 ปี) แว่วข่าวว่าอาจได้รับโอกาสเปิดให้ “เลือกตั้ง” แต่ก็เป็นไปไม่ได้

รุ่งขึ้นปี 2560 นายกรัฐมนตรี ผู้นำรัฐบาลไปสัญญากับต่างประเทศรวมทั้งคนระดับเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2560—และล่าสุดซึ่งได้ใช้ความพยายามหาทางตะเกียกตะกายจนได้บินไปยังสหรัฐ เพื่อพูดคุยกับผู้นำประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ว่า ทุกอย่างจะเรียบร้อยพร้อมจัดให้มีการ “เลือกตั้ง” ทั่วไปประมาณ “เดือนพฤศจิกายน ปี 2561”

สุดท้ายเกิดมีโรคเลื่อนขึ้นมาอีกด้วยเทคนิคของการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสำหรับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา จะเป็นความตั้งใจหรือไม่? แต่ประชาชนทั้งประเทศต่างเชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้ต้องการอยู่ยาว ต้องการสืบทอดอำนาจ

เอาเป็นว่ามีความจำเป็นจะต้องเลื่อนการ “เลือกตั้ง” ออกไปถึงปี พ.ศ.2562 แต่ยังมีนักการเมืองบ้าๆ บอๆ สติไม่สมประกอบบางคนบอกว่าจะเลื่อนออกไปถึงปี 2563 โน่น โดยไม่มีใคร? พลังกลุ่มไหนสามารถไปกดดันไปทำอะไรได้

อย่างนี้พอจะเรียกสอพลอได้ไหม?

 

ว่ากันตามเหตุผลต่างๆ รอบด้านสำหรับนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทุกวันนี้ในสายตาของ “รัฐบาลเผด็จการทหาร” มองว่าเป็นพวกคนเลว ไม่ซื่อตรงกับประชาชน และอุดมไปด้วยการ “คอร์รัปชั่น”

แต่สำหรับผู้คร่ำหวอดสูงวัยทางการเมืองซึ่งได้ผ่านรัฐบาลชุดต่างๆ มามากแล้วทั้งจากการ “เลือกตั้ง-แต่งตั้ง” โดยรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แบบไทยๆ ครึ่งใบ เต็มใบ แล้วแต่จะเรียกขานกัน “รัฐบาลทหาร” ซึ่งมาจากการ “ปล้นอำนาจ” ประชาชน กลับไม่ค่อยแตกต่าง

ผู้ปกครองประเทศ (ส่วนใหญ่) ล้วนต้องการ “อำนาจ” และ “ผลประโยชน์” ซึ่งไม่เคยปล่อยวางเรื่อง “คอร์รัปชั่น”

รัฐบาลปัจจุบันไม่ยอมรับว่าขณะนี้เป็น “ขาลง” ยังมั่นใจว่าจะจัดการกับผู้ต่อต้านเรียกร้องได้โดยวิธีการทางกฎหมาย แทนที่หัวหน้ารัฐบาลควรจะต้องจัดการกับคนในรัฐบาลที่มีเรื่องอันไม่ชอบมาพากล ไม่โปร่งใส ทำงานไม่เป็นและไร้มารยาทมากกว่า

ฝ่ายความมั่นคงยังยืนยันว่าจะใช้กฎหมายจัดการกับ “กลุ่มป่วน” (ต้องการเลือกตั้ง) ซึ่งจ้องจะล้มรัฐบาล คสช. ซึ่งคาดว่ามีอยู่มากกว่า 3 กลุ่ม โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งรับผิดชอบดูเรื่องความมั่นคง บอกว่า “ผมจะรับผิดชอบเอง”

“ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมาย และต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย ฝ่ายความมั่นคงยังใช้มาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเหมือนเดิม ไม่มีแผนเพิ่มมาตรการอื่นๆ” พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงการยกระดับการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นักการเมืองเรียกว่าพลังบริสุทธิ์ ซึ่งได้จัดการชุมนุมกันไม่น้อยกว่า 2 ครั้งในกรุงเทพฯ และจะมีการนัดชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแกนนำรวมทั้งผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมได้ถูกรัฐบาลดำเนินการทางกฎหมายเผด็จการ จนกระทั่ง Amnesty International ได้รวบรวมรายชื่อกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกเพื่อคัดค้านรัฐบาลไทยดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม

“ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของเรา ต่างประเทศก็ทำอะไรไม่ได้ เราอยู่ด้วยกัน เรากำหนดกฎหมายขึ้นมา เราก็ต้องใช้กฎหมายของเรา” พล.อ.ประวิตร กล่าวตอบผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

รัฐบาลทหารที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ ล้วนแข็งแกร่งมีอำนาจมากมายล้นฟ้า แต่ต้องพ่ายแพ้พลังประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ต้อง “ตะเกียกตะกายหนีตายออกนอกประเทศ” แทบไม่ทันก็เคยมีให้เห็นมาแล้ว

พลังอันบริสุทธิ์กลุ่มเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยมันสมองจะขยายเพิ่มพูนเป็นพลังมหาศาลได้ถ้าหากคนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับความเดือดร้อนจาก “ปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นธรรม” และ ฯลฯ

อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (2454-2538) ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกเรียกว่า “พวกเจ้า” เพราะไม่ลงรอยกับ “คณะราษฎร” เข้าสู่การเมืองขณะอายุ 30 กว่าปี หลังจากที่ “คณะราษฎร” ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 10 กว่าปี

เมื่อจะเข้าสู่การเมือง ท่านยังเดินตามเส้นทางประชาธิปไตยโดยร่วมกับผู้มีอุดมการณ์เดียวกันตั้งพรรคการเมืองขึ้น คือ “พรรคก้าวหน้า” เป็นพรรคแรกของเมืองไทย ต่อมาจึงเข้าร่วมกับ นายควง อภัยวงศ์ ก่อตั้ง “พรรคประชาธิปัตย์” (2489) โดยนายควง เป็นหัวหน้าพรรค และอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค ต่อสู้กับเผด็จการทหารตลอดมา

การกลับสู่การเมืองอย่างเต็มตัวอีกครั้งหลังเว้นวรรคยาวนาน เมื่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านพ้น ท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็น “ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” จัดทำร่าง “รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2517” เสร็จ

ท่านประกาศลาออกมาก่อตั้ง “พรรคกิจสังคม” ส่งสมาชิกและตัวท่านเองลงสมัครรับเลือกตั้ง เดินเข้าสู่การเมืองตามเส้นทางประชาธิปไตยอย่างสง่างาม ดำเนินการทางการเมืองสร้างประวัติศาสตร์ ได้รับการบันทึกไว้ เช่นเดียวกันกับรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งแตกต่างกันที่มีจุดจบไม่ค่อยสวยงาม

อาจารย์คึกฤทธิ์ เคยกล่าวกับศิษย์ว่า ทหารไม่มีทางจะเป็นประชาธิปไตยได้ เพราะได้รับการอบรม ศึกษาเล่าเรียนหล่อหลอมจิตวิญญาณมาอย่างหนึ่ง เมื่อเข้าสู่การเมืองยิ่งถูกห้อมล้อมด้วยผู้ประ0บสอพลอย่อมยิ่งไปกันยกใหญ่ ทหารสั่งนักการเมืองไม่ได้ เอาชนะประชาชนไม่ได้ ไม่ว่าจะมีอำนาจ (จอมปลอม) มีอาวุธอยู่ในมือ สุดท้ายย่อมต้องพ่ายแพ้พลังมวลชน

หนังชีวิตต้อง (อดทน) ดูกันต่อไปยาวๆ ขึ้นชื่อว่า “เผด็จการทหาร” ไม่มีชุดไหนปิดฉากลงได้อย่างสง่างาม?