วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (10)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยแรกกับรากฐานเอกภาพใหม่ (ต่อ)

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ห้วงเวลาก่อนที่ราชวงศ์ฮั่นจะถือกำเนิดขึ้นนั้น สังคมจีนได้ตกอยู่ในภาวะที่แตกแยกอย่างรุนแรงไม่ต่างกับยุควสันตสารทกับยุครัฐศึก มีเพียงเวลาเท่านั้นที่มิได้ทอดยาวนานเท่ากับสองยุคนั้น

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความคิดเรื่องการรวมจีนให้เป็นหนึ่งเดียวได้เป็นที่ยอมรับกันมากแล้ว

อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมจีนได้เกิดพลังทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะพลังจากชนชั้นชาวนา พลังในส่วนนี้มีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากราชวงศ์ฉิน จนเกิดการเรียนรู้ที่จะต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนจากการปกครองที่กดขี่ขูดรีด

ในเวลาเดียวกันก็เรียนรู้ท่ามกลางการต่อสู้นั้นไปด้วย ว่าชนชั้นผู้ดีที่มีการศึกษาสูงก็ยังมีบทบาททางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญด้วยต่อตนเช่นกัน

ดังจะเห็นได้จากกรณีหลิวปังที่มีภูมิหลังเป็นชาวนา (หรือเจ้าที่ดินขนาดเล็ก?) แล้วก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำกบฏนั้น มักให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีภูมิหลังเป็นชนชั้นผู้ดีที่มาร่วมงานด้วยเป็นอย่างดี และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถเอาชนะเซี่ยงอี่ว์ได้

แต่กระนั้นก็ตาม แม้หลิวปังจะก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิในนามของราชวงศ์ฮั่น และจะได้วางรากฐานใหม่ให้จักรวรรดิเข้มแข็งกว่าที่ฉินได้กระทำมา ในขณะเดียวกันก็ได้ทิ้งประสบการณ์ใหม่ๆ ในทางการเมืองที่ไม่สู้ดีเอาไว้ด้วยเช่นกัน

ซ้ำร้ายประสบการณ์นี้กลับมิอาจเป็นบทเรียนให้ราชวงศ์ในชั้นหลังอีกด้วย ตรงกันข้ามมันกลับถูกนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลายราชวงศ์ และมักเป็นเหตุทำให้จักรวรรดิของราชวงศ์นั้นๆ ล่มสลายอยู่เสมอ ประเด็นทำนองนี้จึงน่าสนใจศึกษาอยู่ไม่น้อย

 

ข.การเมืองในฮั่นสมัยแรก

หลังการปราชัยและสิ้นชีพของเซี่ยงอี่ว์ไปแล้ว เสนามาตย์คนสำคัญของหลิวปังก็พร้อมใจกันยื่นสาส์นถึงหลิวปังให้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ

แต่จะด้วยความถ่อมตนหรือด้วยจริตที่ให้ดูงามก็ตามที หลิวปังได้ปฏิเสธข้อเสนอนั้นอยู่หลายครั้ง แต่ในที่สุดแล้วก็ให้หาฤกษ์ยามอันเป็นมงคลเพื่อตั้งตนเป็นจักรพรรดิโดยมีพระนามว่า เกาตี้ (ซึ่งแปลโดยง่ายได้ว่า จักรพรรดิผู้สูงศักดิ์)

และใช้ชื่อรัฐฮั่นที่ตนปกครองมาก่อนหน้านี้เป็นชื่อราชวงศ์ และให้ลว่อหยางเป็นเมืองหลวง แต่ไม่นานต่อมาก็ย้ายไปที่ฉางอาน (คือบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองซีอาน มณฑลส่านซีในปัจจุบัน) แทน

อนึ่ง แม้หลิวปังจะมีพระนามจักรพรรดิว่า เกาตี้ก็จริง แต่นักประวัติศาสตร์มักเรียกขานพระนามโดยนำชื่อราชวงศ์มากำกับไว้ข้างหน้าเป็น ฮั่นเกาตี้ แต่กระนั้นก็ควรกล่าวด้วยว่า การเรียกขานนี้ยังมีที่เป็นทางการอีกพระนามหนึ่งคือ เกาจู่ (อาจแปลโดยง่ายได้ว่า ราชบรรพชนผู้สูงส่ง)

การเรียกขานโดยมีชื่อราชวงศ์กำกับไว้ข้างหน้าก็เป็นอีกวิธีหนึ่งเช่นกัน ถ้าเป็นวิธีนี้พระนามของพระองค์ก็คือ ฮั่นเกาจู่

การเรียกขานโดยมีชื่อราชวงศ์กำกับไว้ข้างหน้านับว่ามีความจำเป็น เพราะมีจักรพรรดิในราชวงศ์ชั้นหลังๆ บางพระองค์ใช้พระนามซ้ำกับจักรพรรดิในราชวงศ์ก่อนหน้าด้วยเช่นกัน หากไม่มีชื่อราชวงศ์มากำกับแล้วก็จะเกิดความสับสนขึ้นได้

ควรกล่าวด้วยว่า พระนามที่เรียกขานว่าฮั่นเกาจู่ ซึ่งเป็นที่นิยมใช้เรียกขานกันนั้น เป็นพระนามที่เกิดขึ้นหลังจากที่ฮั่นเกาตี้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว

พระนามนี้เกิดขึ้นบนฐานคิดที่จะยกย่องจักรพรรดิเอาไว้ในฐานะที่สูงด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นเพราะจักรพรรดิทรงสร้างคุณูปการเอาไว้มากมายในระหว่างที่ครองราชย์ พระนามที่ตั้งขึ้นเพื่อการนี้เรียกว่าเมี่ยวเฮ่า หรือสมัญญานามที่สังคมอื่นก็ถือปฏิบัติเช่นกัน

ดังนั้น สมัญญานามจึงมิได้มีกับจักรพรรดิ เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ หรือผู้นำประเทศทุกพระองค์หรือทุกคนไป

กรณีจีนนั้นสมัญญานามมีมาตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์แล้ว ราชวงศ์แรกที่ริเริ่มตั้งสมัญญานามคือราชวงศ์ซาง หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนอยู่เป็นระยะ

จนเมื่อจีนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ สมัญญานามจึงมาจบลงที่คำสองคำคือคำว่า จู่ กับคำว่า จง โดยจะเลือกใช้คำใดคำหนึ่งในสองคำนี้เป็นพยางค์ท้ายสุดของสมัญญานามที่ตั้งขึ้น

 

ที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ฮั่นเกาตี้เป็นจักรพรรดิองค์แรกของยุคประวัติศาสตร์ที่มีสมัญญานาม

อย่างไรก็ตาม ภายหลังตั้งราชวงศ์ฮั่นไปกว่าสองร้อยปีราชวงศ์ก็เสื่อมลง จากนั้นอีกนับสิบปีก็ฟื้นได้ใหม่อีกครั้ง ช่วงที่ตั้งอยู่จนเสื่อมลงนี้จึงถูกจัดเป็นสมัยแรกของราชวงศ์นี้ และเรียกราชวงศ์นี้ว่าฮั่นตะวันตก (ก.ค.ศ.206-ค.ศ.25)

ฮั่นเกาจู่หรือฮั่นเกาตี้ (ครองราชย์ ก.ค.ศ.202-195) ตั้งตนเป็นจักรพรรดิหลังจากมรณกรรมของเซี่ยงอี่ว์ไปแล้วสองเดือน ทั้งการตั้งตนเป็นจักรพรรดิและการตั้งราชวงศ์นี้แม้จะเกิดขึ้นเมื่อ ก.ค.ศ.206 ก็ตาม แต่หากกล่าวในแง่ของการครองอำนาจเหนือรัฐอื่นของหลิวปังแล้วก็คือ ก.ค.ศ.202

จากเหตุนี้ นักประวัติศาสตร์จึงมักระบุช่วงการอยู่ในอำนาจของหลิวปังหรือฮั่นเกาตี้โดยเริ่มจาก ก.ค.ศ.202 แต่หากนับจากปีที่ตั้งราชวงศ์คือ ก.ค.ศ.206 ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง โดยเป็นวิธีที่ละไว้ให้เข้าใจว่าเริ่มนับจากปีที่ตั้งราชวงศ์

แม้ฮั่นตะวันตกจะมีอายุกว่าสองร้อยปีก็ตาม แต่หากศึกษาเฉพาะประเด็นทางการเมืองที่โดดเด่นแล้วจะมีอยู่ไม่กี่ช่วงเวลา และที่ว่าโดดเด่นนี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีนัยสำคัญ คือส่งผลสะเทือนต่อยุคสมัยนั้นและยุคสมัยต่อๆ มา

ความโดดเด่นที่ว่านี้หากจะกล่าวว่า ถ้าราชวงศ์ฉินได้ริเริ่มอะไรหลายๆ อย่างในทางการเมืองเอาไว้ ราชวงศ์ฮั่นเองก็ไม่ต่างกัน ชั่วอยู่แต่ว่าที่ริเริ่มนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องในเชิงสร้างสรรค์เสมอไปเท่านั้น ตามนัยที่กล่าวมานี้เราอาจแยกศึกษาความโดดเด่นที่ว่าได้เป็นสี่ช่วงหรือสี่เหตุการณ์ด้วยกัน

แน่นอนว่า ความโดดเด่นทางการเมืองช่วงแรกสุดของราชวงศ์ฮั่นย่อมหนีไม่พ้นยุคของฮั่นเกาตี้

 

โดยเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าการก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิของฮั่นเกาตี้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากขุนนางที่มีความรู้ความสามารถ

ดังนั้น เมื่อหลิวปังเป็นจักรพรรดิแล้วความชอบย่อมตกมายังขุนนางกลุ่มนี้ ทั้งเซียวเหอ จางเหลียง หานซิ่น และขุนนางคนอื่นๆ ที่ร่วมเป็นร่วมตายมากับหลิวปังต่างได้นั่งตำแหน่งที่สำคัญ

แต่กล่าวเฉพาะสามคนดังกล่าวแล้วต่อมายังได้รับฉายาว่า “สามอัจฉริยะแห่งฮั่นสมัยแรก” (ฮั่นชูซานเจี๋ย, Three Heroes of the Early Han Dynasty)

แต่ครั้นเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ปี ฮั่นเกาตี้ก็ทรงระแวงว่า หากขุนนางที่มีความชอบเหล่านี้เกิดเข้มแข็งขึ้นมาในวันหนึ่งก็อาจเป็นภัยแก่ราชวงศ์ได้

จากเหตุนี้ ฮั่นเกาตี้จึงทรงวางแผนร่วมกับมเหสีหลี่ว์ (หลี่ว์ฮว๋างโฮ่ว) เพื่อกำจัดขุนนางที่มีความชอบเหล่านี้ ซึ่งบ้างก็ถูกลดชั้นขุนนางลง บ้างก็ถูกประหารด้วยข้อหากบฏ ในบรรดานี้หานซิ่นเป็นคนหนึ่งที่คิดก่อกบฏจริง แต่เขากลับถูกแผนลวงของมเหสีหลี่ว์กับเซียวเหอเรียกตัวมายังราชสำนัก เมื่อมาถึงจึงถูกสำเร็จโทษ

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงไม่ต่างกับอะไรกับ “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล”

 

แต่หลังเหตุการณ์นี้แล้ว ฮั่นเกาตี้ก็ทรงแต่งตั้งให้วงศานุวงศ์สกุลหลิวของพระองค์เป็นขุนนางแทนคนที่ถูกกำจัดออกไป

ตราบจน ก.ค.ศ.195 ฮั่นเกาตี้ก็สิ้นพระชนม์ ผู้ที่ขึ้นมาเป็นจักรพรรดิต่อจากฮั่นเกาตี้คือ ฮุ่ยตี้ (ก.ค.ศ.195-188) เมื่อเป็นเช่นนี้มเหสีหลี่ว์ก็ย่อมเปลี่ยนฐานะมาเป็นพระชนนีหลี่ว์ (หลี่ว์ไท่โฮ่ว)

ฮุ่ยตี้หรือฮั่นฮุ่ยตี้ในวัย 15 พรรษามิได้มีบทบาทจักรพรรดิที่ราบรื่นนัก ด้วยมีเงาของพระชนนีหลี่ว์อยู่เบื้องหลัง และหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ ก.ค.ศ.188 แล้ว พระชนนีหลี่ว์ก็เข้ามามีอำนาจแทน

สิ่งสำคัญที่พระนางทรงทำทันทีก็คือ การแต่งตั้งให้เครือญาติสกุลหลี่ว์ของพระนางเข้ามามีตำแหน่งสำคัญทั้งในฝ่ายพลเรือนและทหาร

ในขณะเดียวกันก็พยายามกำจัดวงศานุวงศ์สกุลหลิวให้พ้นทาง