อภิญญ ตะวันออก / ตามรอยพระตะบอง : 110 ปี-พระยาอภัยธิ/ภูเบศร (2)

ใน “บัตตัมบองสมัยโลกมจะ/พระตะบองสมัยท่านเจ้าเมือง” ฉบับตู้จ ฌวง (ศูนย์ตะวันออก/ตกศึกษา, ม.ฮอโนลูลู) ได้กำหนดระยะที่พระตะบองตกเป็นของไทย คือพุทธศักราช 2338-2450 รวม 112 ปี 6 รัชกาลกาลไทย/เขมร และ 1 ตระกูลอภัยธิเบศร/อภัยวงศ์ใน 6 ชั่วคน

แต่หากนับที่พุทธศักราช 2340 ตามหลักฐานบางฉบับก็ครบ 110 ปีพอดี ที่นับจากเจ้าพระยาอภัยธิเบศร (แบน) ขุนนางเขมร มูลเหตุที่ทำให้พระตะบองและเสียมราฐอยู่ภายใต้การปกครองของราชสำนักไทย ซึ่งดูเหมือนว่า งานใหญ่งานแรกที่พ่อเมืองพระตะบองสนองต่อเจ้านายไทยคือ การเกณฑ์ไพร่พลเขมรราว 100,000 มาเป็นแรงงานสร้างพระนครกรุงเทพฯ (*)

ส่วนเจ้านายเขมรเมื่อสิ้นกษัตริย์พระบาทองค์เองแล้ว เจ้าพระยาอภัยธิเบศรก็รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับราชสำนักอีกครั้ง โดยหันไปสานต่ออำนาจด้วยการถวายลูกสาว “เนียงเทพ” ต่อองค์อุปราช (พระองค์จันทร์) แม้พระยาอภัยฯ จะถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว (2352) แต่ก็นับว่ามีวาสนาเป็นพ่อตาพระเจ้าแผ่นดินคือ พระบาทอุทัยราชาที่ 2 (พ.ศ 2322-2339)

ทว่า อภัยธิเบศรรุ่นหลานกลับอับโชค เมื่อเจ้าหญิงเอือน พระธิดาถูกญวนลักพาตัวไปลวงฮาวและถึงแก่ทิวงคตเพราะจมน้ำ

โดยว่า เมื่อสิ้นอภัยฯ แบนแล้ว “หลวงวิบูลย์ราช” บุตรชาย ก็ขึ้นรับตำแหน่งพ่อเมืองพระตะบองตามบิดา ทว่า เพียง 7 ปีก็เสียชีวิต

ตำแหน่ง “เจ้าพระยาอภัยธิเบศร” ลำดับที่ 3 มีนามว่า “ร็วจ” (2359-78) ซึ่งเป็นช่วงที่ราชสำนักอุดงค์ฯ เริ่มประสบกับวิกฤตการแย่งชิงราชสมบัติ เหตุมาจากการแต่งตั้งมกุฎราชกุมารีองค์หญิงมีที่ผิดราชประเพณีโดยฝ่ายญวน ทำให้พระองค์อิม พระองค์ด้วงพระอนุชาพากันหลบหนีไปพึ่งไทย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งพระองค์ด้วงไปปกครองมงคลบุรี ส่วนพระตะบองยกให้พระองค์อิม โดยเหตุนี้ ตำแหน่งเจ้าพระยาอภัยธิเบศรร็วจ จึงทำหน้าที่เก็บภาษีในฐานะ “ปลัด”

เป็นอันว่า เส้นทางพระน้ำพระยาเจ้าพ่อเมืองพระตะบองของสกุลอภัยธิเบศร ต้องหยุดชะงักแต่เพียงนั้น อย่างไรก็ตาม นี่ไม่อาจกล่าวได้ว่าไทยได้มอบพระตะบองคืนแก่ราชสำนักเขมรไปแล้ว

 

พระองค์อิมเดิมทีตั้งมั่นจะทำพระตะบองให้เป็นเสมือนราชธานี ดังที่ทรงสร้างป้อมปราการและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทว่า เมื่อฝ่ายญวนส่งองค์ฟา (Ongpha) มาสอดแนมและเสนอเงื่อนไขปกครองอาณาจักรเขมรทั้งหมด แต่กลับส่งสาส์นเพ็ดทูลฝ่ายไทยว่า พระองค์ด้วงนั่นเองที่คบคิดการใหญ่

พระองค์ด้วงถูกส่งตัวกลับกรุงเทพฯ

ส่วนพระองค์อิมไปอุดงค์เมียจียตามคำทูลเชิญของฝ่ายญวน

โดยโปรดปลัดร็วจและครอบครัวติดตาม แต่โชคร้าย ถูกญวนตลบหลังจับไปขังที่กรุงเว้

ชะตากรรมตระกูลอภัยธิเบศรรุ่นหลานนี้ องค์หญิงเอือนและปลัดพระตะบอง ดูจะมีผลกรรมมาจากสมัยปู่ (แบน) ที่เป็นศัตรูกับฝ่ายญวน ตั้งแต่สมัยพระองค์ตนและพระองค์เอง-โอรส ที่ต้องลี้ภัยต่างแดนร่วม 15 ปีจากกรณีกบฏกลุ่มขุนศึก

แต่เป็นที่สังเกตว่า ตระกูลอภัยธิเบศรรุ่นที่ 3 ยังสืบเชื้อสายทางเขมร เนื่องจากดูจะผิดแผกธรรมเนียม ที่ชั้นเจ้านายเขมรจะบัญชาการคนของราชสำนักสยามไปรับใช้พระองค์ ณ เขตมณฑลอื่น ซึ่งยิ่งมีตำแหน่งบรรดาศักดิ์ด้วยแล้ว เท่ากับว่า การกระทำของพระองค์อิม เท่ากับประกาศแยกพระตะบองออกจากสยามเลยทีเดียว

และกรณีที่ปลัดร็วจต้องติดร่างแหไปด้วยนี้ เป็นที่เชื่อว่า ไทยคงหาทางช่วยเหลือ ต่างจากบันทึกเขมรที่กล่าวว่า ปลัดพระตะบองทำการ “บนบาน” ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกวันๆ จนในที่สุดเมื่อผ่านไป 10 ปี ปลัดและครอบครัวก็ถูกปล่อยตัวกลับเมืองพระตะบอง

หลักฐานก็คือ “วัดปลัด” ตามที่ชาวเขมรเรียกขานซึ่งกล่าวกันว่า ปลัดร็วจได้สร้างไว้หลังกลับจากเมืองญวน

 

โดยเหตุพระตะบองขาดซึ่งเจ้าเมือง นับแต่ปี พ.ศ.2381 ลงมานั้น ไทยจึงส่ง “เจ้าพระยาบดินทร์” (**) ไปปกครองตำแหน่งพ่อเมืองพระตะบองที่ว่างลง และนับเป็นครั้งแรกที่กัมพูชามิได้อ้างว่าขุนนางท่านนี้คนของฝ่ายตน

นอกจากนี้ สมัยเจ้าพระยาบดินทร์นี้เองที่พบศัพท์แสงไทยใช้ปะปน อาทิ คำว่า “ท่านเจ้าคุณ” ซึ่งหมายถึงเจ้าพระยาบดินทร์ โดยก่อนหน้าสมัยเจ้าพระยาอภัยฯ แบนจนถึงชั้นหลาน ก็ไม่ปรากฏหลักฐานด้านนี้เลย

นอกจากนี้ จะเห็นว่า สมัยของพระยาบดินทร์ มีการสร้างเสริมเมืองพระตะบองอย่างแน่นหนาด้วยแนวกำแพงอิฐ และติดตั้งปืนใหญ่ที่สั่งมาจากอังกฤษ ส่วนราษฎรนั้น ก็มีการอพยพเพิ่มจากโคราชอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ยังใช้ลำคลองสมทบแม่น้ำสังแก/สะแกให้เป็นแนวทำนบของผังเมืองอีกด้วย

เมื่อจัดระเบียบผังเมืองพระตะบองแล้ว ราวปี พ.ศ.2385 เจ้าพระยาบดินทร์ ได้เดินทัพจากพระตะบองไปส่งพระองค์ด้วงที่กรุงอุดงค์ฯ เพื่อทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์นาม “พระบาทหริรักษ์รามาธิบดี” และขับทัพญวนถอยไปตั้งม็วดจรูก/โชดก

เพื่อรำลึกถึงสิ่งที่ขุนนางไทยท่านนี้ทำไว้แก่พระองค์ พระบาทองค์ด้วงโปรดให้ช่าง ปั้นรูปจำหลักหินนูนต่ำเจ้าพระยาบดินทร์ประดิษฐาน ณ กรุงอุดงค์ฯ

การเปลี่ยนแปลงอำนาจทั้งหมดนี้ ไม่เคยปรากฏพบเลยในสมัยเจ้าพระยาอภัยธิเบศรทั้ง 3 รุ่นนี้ ชี้ช่องให้เห็นว่า เจ้าเมืองพระตะบองก่อนหน้านี้ น่าจะเป็นเพียงขุนนางระดับสูงของเขมรหรือไม่?

โดยเมื่อกลับมาปกครองพระตะบอง (2388) ครั้งนี้ เจ้าพระยาบดินทร์ยังแบ่งซอยแขวงเขตออกเป็น 4 อำเภอคือ อำเภอพระตะบอง ม็องรัสซัย มงคลบุไร และสแร อันแต็ก ขึ้นต่อพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ จองกาล และเมืองพระสรฺ๊ก จากนั้นแต่งตั้ง “นง” บุตรคนหนึ่งของอภัยธิเบศร็วจ รับตำแหน่งพระยาอภัยธิเบศรรุ่นที่ 4

ดูเหมือนอภัยธิเบศรนงจะขึ้นเป็นพ่อเมืองพระตะบองก่อนร็วจผู้บิดาจะเสียชีวิตไม่นาน จากบันทึกที่เขานำพระไตรปิฎกจากเมืองไทยมาประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิเวียล (2399)

แต่อภัยธิเบศร “นง” ถึงแก่อนิจกรรมในปกครองระยะสั้นๆ การโปรดเกล้าผู้สำเร็จเมืองพระตะบองบุตรของนงโดยบรรดาศักดิ์ใหม่ในนาม “เจ้าพระยาโฆธิธรรม ธรนินทรา รามนรินทร์ อินทรธิปไตย อภัยพิริยพหุ” หรือที่ชาวเขมรเรียกว่า “คฑาธร” ถือศักดินาหมื่นไร่ นับเป็นอภัยธิเบศรรุ่นที่ 5

การเปลี่ยนชั้นยศของตระกูลครั้งนี้ กล่าวกันในบันทึกเขมรว่า เป็นไปเพื่อความสิริมงคลแก่วงศ์วานจากหายนะในอดีต

 

อภัยธิเบศรรุ่นที่ 5 นี้ มีสาแหรกสกุลเป็นไทยและยังสมรสกับบุตรสายสกุลขุนนางไทยคือ บุตรีกับเจ้าพระยามหาเสนา (น้อย) คือท่านผู้หญิงทับทิม ส่วนเยีย อภัยวงศ์นั้นมีตำแหน่งทางไทยว่า “พระยาคฑาธรธรณินทร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางเขมรเอง เรียกพ่อเมืองพระตะบองว่านั้นเรียกว่า “พระคฑาธร” ส่วนภริยาเรียกว่า “หม่อมทิม” (หม่อมทับทิม) ผู้สร้างวัดประจำเมืองคือ “วัดสังแก” ซึ่งด้านหน้า จะเป็นสถูปเจดีย์คู่สำหรับบรรจุอัฐิธาตุของเจ้าเมืองและภริยา ส่วนภายในกำแพงจะมีพระปรางค์มณฑป ต่อมาผู้คนเรียกกันต่อๆ มาว่า “วัดกำแพง”

อย่างใดก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาปกครองบางพื้นที่แล้ว (2406) กล่าวกันว่า การเสด็จประพาสส่วนพระองค์ของพระบาทนโรดมพรหมบริรักษ์ (พระองค์ราชาวดี) ท่ามกลางข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้านั้น หนึ่งในนั้นคือ “เจ้าพระยาโฆธิธรรม-พระคฑาธรเยีย”

แลที่นี้เอง ที่มีบันทึกว่า “พระบาทนโรดมพระราชทานของขวัญพิเศษแก่ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง ในจำนวนนี้มีหีบทองคำ ถ้วยเงินทอง ชุดเครื่องหมากทอง และเครื่องถมลงยา

พร้อมข้อสังเกตว่า “เหตุใด พระมหากษัตริย์กัมพูชาจึงพระราชทานเครื่องใช้ชั้นสูงแก่เจ้าเมืองคนหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับข้าราชบริพารทั่วไป

เป็นไปได้หรือไม่ว่า แท้ที่จริง “ของขวัญพิเศษ” ดังกล่าว พระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาได้ถวายต่อพระมหากษัตริย์ไทย? หากเป็นเช่นนั้น ก็นับได้ว่าเป็นฉากสุดท้ายของการ “ถวายคืนความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างราชสำนักเขมรกับราชสำนักสยาม” สถานที่ที่องค์ราชาวดีและอนุชาอาศัยเติบโตตั้งครั้งยังพระเยาว์และมีความทรงจำอันมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นทรงเคยผนวชเป็นนาคหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศ อีกละครในและละครนอกและสถานพำนัก ก็เป็นที่ทราบกันว่า อดีตยุวราชกษัตริย์เขมรพระองค์นี้ ทรงโปรดปรานบางกอก จนนำแบบจำลองพระราชวังไปสร้างไว้ที่กรุงพนมเปญ

ทว่า สำหรับ “ของขวัญพิเศษ” ชุดดังกล่าว ต่อมา

คือการเผชิญหน้า “ทวงคืนพระตะบอง” โดยมีประเทศผู้การอารักขาอย่างฝรั่งเศสทำหน้าที่อย่างแข็งขัน กระทั่งไทยต้องเสียพระตะบอง

และเจ้าเมืองคนสุดท้ายคือ “พระยาอภัยธิ/ภูเบศร” รุ่นที่ 6

———————————————————————————————
(*) มีการขุดคลองบริเวณบางแสน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นทุ่งแสนแสบ
(**) คือเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในประวัติของฝ่ายไทยกล่าวว่า ได้สร้างวัดที่เมืองพัตบองและอดุงเมียนชัย (th.m.wikipedia.org)