ในประเทศ : “บิ๊กตู่” ดันสารพัดนโยบาย สู้วิกฤตขาลง หวัง “เชน” คัมแบ๊ก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงประชาธิปไตยไทยนิยมครั้งแรกในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล 13 มกราคม 2561 โดยกล่าวกับเด็กและเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมวันเด็กในทำเนียบว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแน่ แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทยนิยม

ถามว่าประชาธิปไตยแบบไทยนิยมในความหมายของ “บิ๊กตู่” คืออะไร คำตอบที่ได้คงไม่ต่างจากสิ่งที่สะท้อนผ่าน 4 คำถามและ 6 คำถามถึงประชาชน นั่นคือ ไม่ต้องการให้ทุกอย่างกลับไปเป็นเช่นเดิม เพราะนั่นหมายถึงทุกอย่างที่ คสช. ได้ทำมาจะเสียของอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลังจาก “บิ๊กตู่” ผุดไอเดียประชาธิปไตยไทยนิยมได้ไม่ถึงสัปดาห์ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็พูดกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าเราควรจะมีคณะกรรมการขึ้นมาสานต่อแนวคิด “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ฉะนั้นแล้วจึงขอเสนอตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน”

แม้ออกจะงงๆ อยู่หน่อยๆ ทว่าต่อมาชื่อ ครม.ทุกคน ปลัดทุกกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ก็เข้าไปเป็นกรรมการไทยนิยมยั่งยืนโดยพร้อมเพรียง

โครงการไทยนิยมฯ ได้จัด 7,463 ทีม แต่ละทีมมีทหารด้วย เพื่อลงไปเคาะประตู พูดคุยกับชาวบ้านทุกตำบลและหมู่บ้านทั่วประเทศ ใน 10 เรื่องน่ารักๆ

1. สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง

2. คนไทยไม่ทิ้งกัน

3. ชุมชนอยู่ดีมีสุข

4. วิถีไทยวิถีพอเพียง

5. รู้สิทธิ รู้หน้าที่

6. รู้กลไกการบริหารราชการ

7. รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม

8.รู้เท่าทันเทคโนโลยี

9. ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด

10. งานตามภารกิจของส่วนราชการและหน่วยงานอื่นๆ

แม้ทั้ง 10 เรื่องจะดูเหมือนไม่ได้เฉพาะเจาะจงลงไปที่ประเด็นทางการเมือง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงถูกมองว่าหวังผลทางการเมือง โดยถูกโจมตีว่าเป็นเกมดึงมวลชนมาให้ได้มากที่สุดก่อนการเลือกตั้ง หวังผลทางการเมืองหรือไม่ คสช. และ ครม. น่าจะรู้ดีที่สุด

เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาล “บิ๊กตู่” ทำอะไรก็ขรุขระไปหมด นับตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2560 ที่พี่ใหญ่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยกมือขึ้นบังแดดจนสื่อสังเกตเห็นแหวนเพชรและนาฬิกาหรู จนนำมาสู่วลีเด็ด “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน”

อันเป็นที่มาของการขุดคุ้ยให้ตรวจสอบเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อ “บิ๊กตู่” นำ ครม. เดินทางมาจะครบ 4 ปี ยิ่งต้องเจอกับวิกฤตขาลงอย่างหนัก เพราะไม่ใช่แค่นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ได้ทีพากันเขย่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ยังรวมถึงคนที่เคยสนับสนุน ต่างก็ทยอยเรียงหน้ากดดันรัฐบาลและ คสช. อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

ผ่านไปร่วม 2 เดือน ปมร้อนนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” กำลังจะซาจากความรู้สึกของประชาชนอยู่แล้ว ทว่า อยู่ๆ “หมอธี” นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กลับเป็นคนที่ชูเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อได้พูดกับนักเรียนและนักธุรกิจไทยที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึงประเด็นดังกล่าวอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน

การแจ้งเกิดของ “หมอธี” ยิ่งตอกย้ำวิฤตขาลงของรัฐบาลและ คสช. เพราะนับเป็นครั้งแรกที่สาธารณะได้เห็นความขัดแย้งจากภายในรัฐบาลเอง แม้ในภายหลัง นพ.ธีระเกียรติจะออกมายอมรับผิด ขอโทษต่อการกระทำไปแล้ว แต่นั่นก็เป็นการเปิดช่องว่างให้คนนอกเห็นจุดอ่อนรัฐบาล คสช. ที่ว่ากันว่าไม่มีอะไรจะมากระทบกระเทือนได้ นอกจากเกิดปัญหากันเองภายใน

ไม่นานต่อมา นายต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ได้ส่งหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ขอให้พิจารณาดำเนินการกับ พล.อ.ประวิตร เพื่อกอบกู้ศรัทธาจากประชาชน

จะเห็นว่าปมปัญหา “นาฬิกาหรู” แม้มีโครงการไทยนิยมฯ บวกกับด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามอัดงบฯ ลงไปมากมายเพื่อให้ถึงมือประชาชน แต่ดูเหมือนแผนดึงมวลชนจะไม่ง่ายอย่างที่คิด

แม้ “บิ๊กตู่” จะยอมรับว่า ได้ใช้งบประมาณเพื่อคนรากหญ้าไปแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังนี้รัฐบาลเน้นมาตรการที่ทำแล้วถึงมือคนจน เช่น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 เริ่มโครงการบัตรคนจน โดยใช้งบประมาณ 41,940 ล้านบาท กระทั่งวันที่ 9 มกราคม 2561 ครม. อนุมัติงบประมาณ 35,679.09 ล้านบาท ในโครงการบัตรคนจนเฟส 2 โดยคนจนที่ถือบัตรจะได้วงเงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น

และยังมีมาตรการอื่น จำแนกเป็น 4 มิติ

1. การมีงานทำ

2. การฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา

3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

4. การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน

ก่อนหน้านั้น เมื่อครั้งที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีโครงการในลักษณะให้ความรู้แก่เกษตรกร ภายใต้วงเงิน 22,752.50 ล้านบาท ซึ่งถูกวิจารณ์ในวงกว้างถึงความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ

นั่นเพราะที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” แสดงท่าทีรังเกียจนโยบายประชานิยมแบบฉบับ “นายทักษิณ ชินวัตร” มาโดยตลอด เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินนโยบายประชานิยมนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน หนำซ้ำยังถูกนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงอย่างน่ารังเกียจ

กระนั้นก็ตาม หลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามสูตร “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี บางครั้งก็แยกไม่ออกในเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างคำว่า “ประชานิยม” กับ “ประชารัฐ” ที่รัฐบาลสร้างขึ้น

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะได้ใจชาวบ้านหรือไม่ไม่รู้ แต่ช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “บิ๊กตู่” ได้โหมลงพื้นที่พบปะประชาชนค่อนข้างถี่ผ่านการตรวจราชการและประชุม ครม.สัญจร ยึดพื้นที่หัวเมืองทั้ง 4 ภาค

แม้โครงการไทยนิยม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่รากหญ้า รวมถึงการเดินสายต่างจังหวัดเดือนละหลายๆ ครั้ง จะถูกมองว่าเป็นการหาเสียง จะช่วยฟื้นคะแนนความเชื่อมั่นให้ “บิ๊กตู่” ได้มากน้อยเพียงใด

สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ นั่นคือ หลังจากเริ่มนับหนึ่งในวันที่ 2 มีนาคม 2561 เป็นวันเริ่มต้นจองจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่

ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีพรรคการเมืองใหม่พรรคใดบ้างที่ออกตัวเชียร์ให้ “บิ๊กตู่” ได้คัมแบ๊กมาในฐานะ “นายกฯ คนนอก” ได้หรือไม่