เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (20) เมื่อเงาของ “สีดา” ทาบผ่านเรื่องราวของ “จามเทวี” (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ลัทธิไวษณาวิศักติ การบูชา “เทวมเหสี”

ว่าที่ร้อยเอก ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านมอญศึกษา และหริภุญไชยศึกษา ได้นำเสนอหัวข้อ “จามเทวี-สีดา สถานภาพผู้นำของวีรกษัตรีรามัญ ในลัทธิไวษณาวิศักติ” (Vaishnavi Shakti)

โดย ดร.อัครินทร์มองว่า ตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวีทุกฉบับ ไม่ว่าจะเป็นสำนวนเรื่องเล่าท้องถิ่นก็ดี หรือฉบับเวอร์ชั่นหลวงก็ดี (หมายถึงรจนาโดยพระภิกษุล้านนายุคทอง กลุ่มชินกาลมาลินี จามเทวีวงส์ มูลสาสนา) ล้วนมีเนื้อหาหลายช่วงหลายตอนที่จะว่า “บังเอิญก็บังเอิญ” สอดคล้องกับเรื่องราวของ “นางสีดา” ในมหากาพย์รามายณะของอินเดียอย่างเหลือเชื่อ

จนทำให้สามารถตั้งข้อสมมติฐานเบื้องต้นได้หรือไม่ว่า ศาสนาฮินดูในสุวรรณภูมิสายเจ้าพระยาขึ้นสู่แม่ปิง ควรเป็นสาย “ไวษณพนิกาย” (นับถือวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นใหญ่) ที่เข้มข้นกว่าสาย “ไศวนิกาย” (นับถือศิวะหรือพระอิศวรเป็นใหญ่)?

ดร.อัครินทร์จึงได้นำเสนอความเชื่อมโยงระหว่าง “จามเทวี” กับ “สีดา” ผู้เป็นมเหสีของพระราม ว่าคล้ายกับมีแผ่น “เงา” ผืนมหึมาทาบผ่านแทบทุกช็อตทุกฉากชีวิตของพระนางจามเทวี

ปรากฏการณ์นี้ ดร.อัครินทร์ตั้งข้อสันนิษฐานว่า นี่คือภาพสะท้อนเกี่ยวกับประเพณีของชาวมอญ ว่าเป็นชาติพันธุ์ที่ยกย่องสตรีเพศ ในด้านความเป็นผู้นำอย่างมีนัยสำคัญ

ดั่งเช่นที่ชาวฮินดูถวายความสักการะแด่เทวสตรีในฐานะผู้มีอำนาจเสริมบารมีให้แก่พระสวามี ดังที่เรียกว่าลัทธิ “ศักติ” อันหมายถึงการยกย่อง “เทวมเหสี” ทั้งหลายว่ามีความสำคัญกุมบังเหียนกำกับชะตากรรมให้กับเทพเจ้า

หากพระรามเป็นอวตารของพระวิษณุฉันใด นางสีดาก็คืออวตารของลักษมีเทวี ฉันนั้น

 

ฤๅษีสี่ตนสร้างเมือง
นครรัฐแห่งวิษณุเทพ

จามเทวีวงส์ ระบุว่าการสร้างเมืองหริภุญไชย ต้องใช้พุทธฤๅษีสี่ตน ได้แก่ วาสุเทพฤๅษี พรหมมิสิฤๅษี (หมายถึงสุพรหมฤๅษีที่เขลางค์) สัชชนาไลยฤๅษี (แห่งเมืองหริตวัลลีย์) และสุกกทันตฤๅษี (แห่งเขาสมอคอนละโว้)

ในขณะที่รามเกียรติ์ฉบับ ร.1 ก็ระบุว่านครอโยธยาทวารวดีในอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองแห่งวิษณุเทพ ก็มีฤๅษีสี่ตนเป็นผู้สร้างเหมือนกัน ได้แก่ อจนคาวีฤๅษี ยุคอัครฤๅษี ทหฤๅษี และยาคฤๅษี ที่อาศัยอยู่ในป่าชื่อ ทวารวดี ทำให้ใช้ชื่อย่อของฤๅษีสี่ตน อ ย ท ย มาเป็นชื่อเมือง อโยทยา (ภาษาไทยนิยมเขียน อโยธยา) แล้วนำชื่อ ทวารวดี มาต่อท้ายเป็นสร้อย

ทั้งนี้ หริภุญไชย ของจามเทวีเอง ก็เป็นเมืองที่มีความหมายว่า หอยสังข์ของพระวิษณุ อีกด้วย (หริ=วิษณุ / ปัญจชยะ ซึ่งแผลงเป็น ภุญเชยยะ =หอยสังข์)

สรุปแล้ว ทั้งอโยธยาทวารวดี และหริภุญไชย คือนครรัฐแห่งวิษณุเทพทั้งคู่

 

ลพบุรี เมืองแห่งบุตรราม

บางตำนานกล่าวว่า ชื่อเมือง ลวปุระ ซึ่งเป็นเมืองมาตุคามของพระนางจามเทวี (ตามเวอร์ชั่นหลวง แต่เวอร์ชั่นราษฎร์เชื่อว่าพระนางเกิดที่ลำพูน) มาจากนามของ “ละวะ” หนึ่งในโอรสแฝดที่เกิดจากพระรามกับสีดา (ละวะมีคู่แฝดชื่อ “กุสะ”) แผลงมาเป็น “ละพะ” จนกลายเป็น “ลพบุรี”

รามเกียรติ์ฉบับ ร.1 กลับใช้ บ.ใบไม้ แทน พ.พาน คือ “พระลบ” มิใช่ “พระลพ”

ซ้ำระบุว่าไม่ได้เป็นพระโอรสที่แท้จริงของพระรามกับสีดา แต่เกิดจากภาพวาดที่ฤๅษีวัชมฤคเนรมิตขึ้นและกำลังจะลบทิ้ง แต่นางสีดาขอให้ชุบไว้เพื่อจะได้เป็นเพื่อนเล่นกับพระมงกุฎ (โอรสที่แท้จริงของพระรามกับสีดา)

พระลบจึงเป็นลูกเลี้ยงของสีดา เมื่อคราวถูกพระรามเนรเทศ ไปขออาศัยอยู่กับวัชมฤคฤๅษี

ไม่ว่าที่มาของ พระลพ-พระลบ จะเป็นเวอร์ชั่นไหนก็ตาม แต่เห็นได้ว่า ลวปุระ/ลพบุรี/ละโว้ เป็นเมืองที่มีความเกี่ยวข้องตรงกึ่งกลางระหว่างอโยธยาทวารวดี (เมืองวิษณุตอนล่าง ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ที่ครอบคลุมเมืองต่างๆ หลายเมือง) กับหริภุญไชย (เมืองวิษณุตอนบน) อย่างเห็นได้ชัด ในฐานะที่ละวะหรือพระลบ เป็นโอรสองค์โตของพระราม หรือเป็นโอรสบุญธรรมของสีดา

หากแปลความหมายของลพบุรี ก็แปลได้ว่า “เมืองแห่งบุตรราม” ตรงกับคำว่า “รามัญเทศะ” ซึ่งชาวมอญนำมาใช้เรียกชื่อประเทศของตน

แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญของชาติพันธุ์หลัก (มอญ) ซึ่งอาศัยในลวปุระ ยุค 1,400 ปีก่อนว่าเป็นชาวรามัญ

 

กำเนิดในดินแดนอสูร

สีดาเป็นธิดาของมณโฑและทศกัณฐ์ เจ้าเมืองยักษ์กรุงลงกา

น่าแปลกทีเดียวที่ผูกเรื่องให้ตัวละครเอกมีถิ่นกำเนิดอยู่ในพงศ์อสูร

ต่อมาพิเภกโหรเอก อนุชาของทศกัณฐ์ ทำนายว่าเป็นกาลกินี จึงต้องเอากุมารีใส่ผอบลอยน้ำ จนไปติดฉนวนหน้าอาศรมของชนกฤๅษี

ตามเรื่องเล่าเกี่ยวกับจามเทวีในท้องถิ่นชาวมอญบ้านบ่อคาว บ้านหนองดู่ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ระบุว่าจามเทวีมีกำเนิดเป็นธิดาเศรษฐีอินตา

ซึ่งยุคนั้นดินแดนส่วนใหญ่ในแอ่งที่ราบลำพูน-เชียงใหม่ ยังเป็นดินแดนภายใต้อิทธิพลของชาวมิลักขะ (ลเวือะ/ ลัวะ) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม และมีความเชื่อว่าสืบเชื้อสาย หรือมีความสัมพันธ์กับสายเลือดยักษ์ทางใดทางหนึ่ง

 

กาลักข้าว พญานกคาบกุมารี

ตอนกำเนิดสีดา นางกากนาสูรได้รับคำสั่งจากทศกัณฐ์ ให้แปลงร่างเป็นกาบินไปโฉบข้าวทิพย์ครึ่งก้อนที่คณะฤๅษีในกรุงอโยธยากำลังหุงถวายท้าวทศรถ เพื่อนำมาให้มณโฑกิน จนนางทรงครรภ์เกิดเป็นพระธิดา ซึ่งต่อมาคือสีดา

จามเทวีเวอร์ชั่นนิทานชาวบ้าน กล่าวว่า พระอินทร์มีโองการให้ท้าวเวสสุกรรมมาลักจามเทวีจากเศรษฐีอินตา ไปถวายฤๅษีวาสุเทพเพื่อหนีการแต่งงานกับบุรุษที่รูปชั่วตัวดำ

ในขณะที่เรื่องเล่าของชาวบ้านหนองดู่ ระบุว่ามีพญานกบินเข้าไปโฉบเอากุมารีอายุ 3 เดือน ถึงในบ้านของเศรษฐีอินตาแล้วบินจากไป

แต่ฤๅษีวาสุเทพแห่งระมิงค์นครสังเกตเห็น จึงแผ่เมตตาบังคับให้พญานกคลายกงเล็บ และปล่อยเด็กหล่นลงมาบนใบบัวหลวง ฤๅษีจึงเสี่ยงทายบุญญาธิการของกุมารีนั้น โดยเอา “วี” (พัดในภาษาล้านนา) ช้อนเอาไว้

ควรมีการตีความนัยแห่ง กา พญานก พระอินทร์ ข้าวทิพย์ และวี ว่าเป็นสัญลักษณ์ของฟากฟ้า สิ่งสูงส่ง และความศักดิ์สิทธิ์ ใช่หรือไม่?

 

กุมารีลอยน้ำ ฤๅษีชุบเลี้ยง

ในเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อชนกฤๅษีพบกุมารีสีดาอยู่ในผอบที่ลอยน้ำมา ได้อธิษฐานเสี่ยงทายให้นิ้วมีน้ำนมไหลออกมาให้กุมารีได้ดื่มกิน

จากนั้นรับกุมารีเป็นธิดาบุญธรรม

แต่ก็ต้องจำใจนำทาริกาน้อยใส่ผอบฝังดิน ฝากพระแม่ธรณีเลี้ยงไว้ก่อน เพราะเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญพรตในขณะนั้น

ตำนานพื้นเมืองหลายฉบับระบุว่า หลังจากที่ฤๅษีวาสุเทพใช้ “วี” ช้อนกุมารีขึ้นมาจากบัวหลวง และตั้งชื่อว่า “หญิงวี” แล้วนั้น ฤๅษีได้รับกุมารีเป็นบุตรีบุญธรรม มีฉากอธิษฐานจิตขอให้มีน้ำนมไหลออกจากปลายนิ้วฤๅษี เพื่อให้กุมารีน้อยได้กินเช่นเดียวกัน

เนื่องจากเป็นนักบวช จะไปแตะเนื้อต้องตัวเพศตรงข้ามไม่ได้ ฤๅษีวาสุเทพเห็นว่าการเลี้ยงดูเด็กหญิงไว้ไม่เหมาะกับการบำเพ็ญพรตของผู้ทรงศีล จึงมอบหมายให้พญาวานร นาม กากะวานร และบริวาร 35 ตัว ช่วยเลี้ยงดูแทน

จนเมื่ออายุได้ 13 ปีจึงนำเอากุมารีขึ้นแพยนต์ ปล่อยแพลอยน้ำไปยังกรุงละโว้ พร้อมกับพญากากะวานรและบริวาร จนกระทั่งแพยนต์ลอยไปติดหน้าฉนวนกรุงละโว้

มีข้อน่าสังเกตว่า ทั้งสีดาและจามเทวีต่างถูก “ลอยแพ” มาตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งในศาสนาฮินดูนั้น การลอยแพเป็นส่วนหนึ่งของ “พิธีล้างบาป”

 

กษัตริย์รับธิดาบุญธรรม

รามเกียรติ์ฉบับ ร.1 กล่าวว่า ชนกฤๅษีลาเพศบรรพชิตกลับไปเป็นท้าวชนก กษัตริย์กรุงมิถิลาตามเดิม ได้กระทำพิธีไถดินเพื่อค้นหากุมารี ธิดาบุญธรรมที่เคยฝากพระแม่ธรณีเอาไว้ พระธิดาจึงมีนามว่าสีดา แปลว่า “คันไถ”

ส่วนตำนานจามเทวีฉบับพื้นบ้าน พระเจ้านพรัตน์/นพรัตน์จันทราวิราช/พระเจ้าจักรวรรดิ กษัตริย์กรุงละโว้ พระนางมัณฑนาเทวี ซึ่งเป็นพระมเหสีทำพิธีอัญเชิญกุมารีขึ้นจากน้ำ

แล้วทรงอภิเษกเป็นพระธิดา นามว่าจามเทวี (อาจหมายถึง ผู้มากับสายน้ำ คำว่า จยฺาม ภาษามอญหมายถึงจระเข้ มกร หรือสัตว์น้ำ)

 

รามราช การประลองยุทธ์

เมื่อสีดาอายุได้ 16 ปี ท้าวชนกแห่งกรุงมิถิลา จัดพิธีสยุมพรเพื่อหาคู่ให้กับพระธิดา ด้วยการเชิญท้าวพระยามหากษัตริย์มาแข่งขันยกธนู “มหาโลหะโมลี” ของพระศิวะ ว่าถ้าใครยกขึ้นก็จะได้อภิเษกสมรสกับพระธิดา บุรุษผู้พิชิตคันศรเหล็กได้นี้มีนามว่า “พระราม” หรือ “รามา” ผู้เป็นโอรสองค์โตของท้าวทศรถกษัตริย์กรุงอโยธยา

ส่วนจามเทวีเมื่ออายุได้ 20 ปี พระเจ้ากรุงละโว้ โปรดให้หมั้นหมายกับ “เจ้าชายรามราช” ผู้เป็นอุปราชแห่ง “รามนคร” หรือ “รามปุระ” ซึ่งแปลว่า “เมืองของพระราม”

ในระหว่างที่พระรามและนางสีดากำลังจะเสด็จกลับกรุงอโยธยา รามสูร ซึ่งเป็นอสุรเทพบุตร (ในรามายณะว่า เป็นพราหมณ์นักรบชื่อ “รามปรศุ”) ได้ลงมาขวางทาง และพยายามช่วงชิงนางสีดา ทำให้เกิดการประลองยุทธ์กัน แต่รามสูรไม่สามารถรบสู้พระรามได้

ส่วนเรื่องจามเทวี มีตัวละครชื่อ “เจ้าชายสิทธิราช” แห่งกรุงโกสัมพี (น่าจะอยู่แถวอำเภอโกสัมพีในจังหวัดกำแพงเพชร) ยกทัพมาหมายจะช่วงชิงจามเทวีไปเป็นชายา เกิดการสู้รบกันกับฝ่ายจามเทวีและรามราช จนฝ่ายสิทธิราชต้องพ่ายแพ้เสียชีวิต

 

บริวารคือเหล่าวานร

กองทัพฝ่ายพระราม-สีดาหรืออโยธยาล้วนแต่เป็นลิงหรือวานร โดยกองกำลังหลักนั้นเป็นทหารวานรที่มาจากกรุงขีดขิน มี “พาลี” พญาวานรโอรสพระอินทร์เป็นกษัตริย์ครองอยู่ และพญาพาลีนี้เองที่ในรามเกียรติ์ฉบับ ร.1 ระบุว่ามีนามเดิมว่า “พญากากาศ”

นับเหล่าพญาวานรฝ่ายพระรามได้ 11 ตัว วานรสิบแปดมงกุฎ 18 ตัว และวานรเตียวเพชร 9 ตัว รวมแล้วสีดา-รามมีทหารวานร 38 ตัว

ในขณะที่จามเทวีมี “พญากากะวานร” และบริวารอีก 35 ตัวเป็นพี่เลี้ยงและสหาย ซึ่งได้ติดตามคุ้มครอง “หญิงวี” มาจากสำนักฤๅษีวาสุเทพสู่กรุงละโว้ ต่อมาวานรทั้งหมดได้เสียชีวิตในสงคราม “ละโว้-โกสัมพี” ในขณะที่ช่วยจามเทวีรบกับกองทัพเจ้าชายสิทธิราช

เรื่องราวของ “จามเทวี-สีดา” ในมุมมองของ ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา กำลังเข้มข้น ยังไม่จบ โปรดติดตามฉบับหน้า จะมีมุมมองของ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ มาร่วมวงวิพากษ์เพิ่มอรรถรสอีกด้วย