หนุ่มเมืองจันท์ : พื้นที่แคบ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมเป็น “นักเขียน” ไม่ใช่ “นักพูด”

แต่คนชอบคิดว่าผมจะ “พูด” ได้เหมือน “เขียน” จึงมีคนเชิญไปบรรยายเรื่อยๆ

การบรรยายแต่ละครั้งต้องใช้ “พลัง” มากครับ

ตื่นเต้นทุกครั้งตอนจะขึ้นเวที

ไม่เหมือนกับ “การเขียน” ที่เราทำเป็นประจำ

เดือนหนึ่งผมจึงรับงานไม่เกิน 3 ครั้ง

หัวข้อส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องธุรกิจ หรือเรื่องการทำงาน

แต่มีอยู่หัวข้อหนึ่งที่ผมพยายามปฏิเสธมาตลอด

รู้ไหมครับว่าเรื่องอะไร

“การเขียน” ครับ

ฟังดูแปลกๆ เพราะน่าจะเป็นเรื่องที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากที่สุด

แต่การเขียนเป็นเรื่องที่บรรยายยากมากเลย

เขียนได้

แต่จะให้สอนว่าเขียนอย่างไร

ยากมาก

ผมพยายามหลบเลี่ยงหัวข้อนี้มาตลอด

จนวันหนึ่ง “อาจารย์บอย” มานินทร์ เจริญลาภ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เอ่ยปากให้มาเป็นวิทยากรในหลักสูตร The Story

หนีไม่ออกเลยครับ

เหตุที่ปฏิเสธไม่ได้เพราะตอนที่ผมทำหลักสูตร ABC กับ “โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ

“อาจารย์บอย” มีน้ำใจช่วยเหลือมาโดยตลอด

เอ่ยปากอะไรได้หมด

ดังนั้น เมื่อ “อาจารย์บอย” ขอให้ช่วยเป็นวิทยากรบ้าง

เงยหน้ามองเห็นชื่อหลักสูตร

The Story

จะปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่องก็เหมือนโกหกกลางสปอตไลต์

หัวข้อที่ “อาจารย์บอย” ให้บรรยาย ตั้งชื่อเท่มาก

“Short But impact story writer”

โชคดีที่มีคำว่า “story writer” ปิดท้าย

ถ้าเหลือแค่ “Short But impact”

คงฟังแล้วจั๊กจี้น่าดูเลย

“อาจารย์บอย” บอกว่าที่ให้พูดเรื่องนี้ เพราะเขาอ่านหนังสือของผม

ทุกเรื่องในเล่มจะเป็นเรื่องสั้นๆ ไม่ยาวมาก

ภาษาที่เขียนก็แบบนี้

เขาคงอยากให้ผมสอนว่าการเล่าเรื่องด้วยตัวอักษรแบบสั้นๆ นั้นทำอย่างไร

นี่แหละครับ ท่านผู้ชม

มันยาก

เพราะการที่ผมเขียนเรื่องสั้นๆ ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ

แต่เป็นเพราะพื้นที่บังคับ

“นักข่าว” จะเข้าใจเรื่องนี้ดี

บรรณาธิการหรือซับเอดิเตอร์จะเป็นคนกำหนดพื้นที่การเขียนว่ามีอยู่เท่าไร

หน้าที่ของเราคือเขียนให้ได้ตามนั้น

ห้ามเขียนยาวกว่านี้

ต่อให้เรามีเรื่องเล่ามากมาย แต่เมื่อพื้นที่มีแค่ครึ่งหน้า

เราก็ต้องเขียนเท่านี้

“นักเขียน” ที่ไม่เคยเป็น “นักข่าว” จะไม่ค่อยเข้าใจ

เขาจะเขียนเรื่องที่สมบูรณ์แบบ

จะตัดทอนให้สั้นลงก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่

ต้องยาวเท่านี้เท่านั้น

แต่ “นักข่าว” ไม่มีปัญหา

เขาสั่งมาว่า 50 บรรทัด

เราก็จะเขียน 50 บรรทัด

ไม่มีเกิน

เขียนให้ “ดีที่สุด” ใน “50 บรรทัด”

ทำแบบนี้ประจำๆ ก็เหมือนนักบอลที่เล่นสนามเล็ก หรือเล่นบอลโกล์รูหนูเป็นประจำ

เขาจะเล่นบอลในพื้นที่แคบเก่ง

ไม่เหมือนนักบอลที่เริ่มต้นเล่นบอลสนามใหญ่เลย

เจอคู่แข่งบีบพื้นที่ให้เล่นตรงริมเส้นก็ไปไม่เป็น

พอพื้นที่การเขียนน้อย เราก็ต้องเลือกเรื่องเล่า

พยายามบีบให้เหลือประเด็นเดียว

ภาษาที่ใช้ก็ต้องกระชับ

ไม่สามารถพรรณนาโวหารเหมือนนักเขียนนวนิยาย

เป็นภาษาแบบคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์

ตอนหลังผมปรับเปลี่ยนมาเป็น “ภาษาพูด” มากขึ้น

เหมือนคุยกับคนอ่าน

ส่วนที่ “ย่อหน้า” บ่อย

ก็เพราะเป็นภูมิแพ้

…หายใจบ่อย

การถูกบังคับให้เขียนในพื้นที่จำกัด

ทำให้เราเขียนเรื่องสั้นๆ ได้ดี

เหมือนกับถูกบังคับให้พูดเรื่องการเขียน

ทำให้เราต้องมาทบทวนว่าเราใช้วิธีการอะไรในการเขียน

เหมือนการถอดแบบบ้านของสถาปนิก

บ้านแบบนี้จะต้องใช้วัสดุอะไรบ้าง ก่อสร้างแบบไหน ฯลฯ

นอกเหนือจากเรื่อง “วิธีการเขียน” เรื่องสั้นๆ แล้ว

ผมพยายาม “ถอดแบบ” เรื่องการใช้คำที่ทรงพลัง

ตอนหลังผมชอบคำคมของ “สีจิ้นผิง”

“ปราชญ์ คือ คนสามัญที่ลงมือทำ

คนสามัญ คือ ปราชญ์ที่ไม่ลงมือทำ”

“อย่าเอาเมื่อวานของคนอื่นมาเป็นพรุ่งนี้ของเรา

ของใหม่ต้องสร้างเอง”

“เดินทางร้อยลี้ นับครึ่งที่เก้าสิบ”

“การเปรียบเปรย” ก็เป็น “วิธีการ” หนึ่งที่ทำให้เกิดพลัง

หรือการวางจังหวะในแต่ละบรรทัด

โดยเฉพาะ “บรรทัดสุดท้าย”

ผมยกตัวอย่าง “คำคม” ของ “พี่จิก” ประภาส ชลศรานนท์

“มีสองวิธีที่ทำให้คนจดจำเรา

หนึ่ง เป็นคนแก้ปัญหา

สอง เป็นคนสร้างปัญหา”

ถ้าเราสลับบรรทัด เปลี่ยนเป็น…

“มีสองวิธีที่ทำให้คนจดจำเรา

หนึ่ง เป็นคนสร้างปัญหา

สอง เป็นคนแก้ปัญหา”

“น้ำหนัก” ของ “บรรทัดสุดท้าย” จะทำให้ “โฟกัส” ของประโยคนี้เปลี่ยนไป

อะไรอยู่ “ข้อสอง” น้ำหนักจะเทไปตรงนั้น

จบที่ “คนสร้างปัญหา”

ประโยคนี้จะออกในทางต่อว่า หรือลบนิดๆ

แต่ถ้า “สอง เป็นคนแก้ปัญหา”

ประโยคนี้จะเป็นในทางบวก หรือสร้างสรรค์

“บรรทัดสุดท้าย” จึงสำคัญมาก

แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่ได้บอกคนเรียนก็คือ มีพลังงานหนึ่งที่ทำให้งานเขียนดี

คือ “การเอาตัวรอด”

จะปิดต้นฉบับแล้วยังหาเรื่องเขียนไม่ได้

ส่วนใหญ่เรื่องที่เขียนจะดี

แฮ่ม…เหมือนกับเรื่องนี้