มุกดา สุวรรณชาติ : แนวทางการต่อสู้หลังรัฐประหาร และแรงกดดันที่เหนือรัฐธรรมนูญ

มุกดา สุวรรณชาติ

ผู้สนใจการเมืองซึ่งผ่านประสบการณ์การต่อสู้มายาวนานตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 และเข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมืองจนถึงวันนี้ ในสถานการณ์ที่มีรัฐธรรมนูญ 2559 เป็นธงนำการปฏิรูปประเทศ บางคนผิดหวัง รู้สึกว่าผ่านไป 40 ปีแทบมองไม่เห็นความก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตยเลย

บางคนถึงกับสรุปว่าฝ่ายประชาธิปไตยสู้ผิดแนวทางและถ้ายังสู้ไปแบบนี้ก็ไม่มีวันพัฒนาไปเป็นแบบสากล ไม่เพียงใช้เวลาแปดสิบกว่าปี ต่อให้ร้อยปีก็ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยแบบที่อำนาจเป็นของประชาชนได้

พวกที่เคยเป็นฝ่ายซ้ายคิดจะยึดอำนาจรัฐด้วยกระบอกปืน เมื่อ 40 ปีก่อนก็บอกว่าพวกเรายึดกุมแนวทางไม่มั่น คิดว่าอำนาจรัฐจะมาจากหีบบัตรเลือกตั้ง ถึงวันนี้เห็นชัดว่าเป็นไปไม่ได้

พวกที่ใช้กำลังยึดอำนาจ ยึดกุมแนวทางได้มั่นกว่า แม้ไม่ได้เป็นสานุศิษย์ เหมา เจ๋อ ตง แต่ก็ยึดอำนาจสำเร็จมา 2 ครั้งแล้วในช่วง 10 ปีนี้

ในหลายวง หลายกลุ่มมีการโต้เถียงกัน โดยมองผ่านสถานการณ์ของโลก และสถานการณ์ภายในประเทศไทยปัจจุบัน ว่าต้องต่อสู้อย่างไรจึงจะเหมาะสม เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า แนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธไม่เหมาะกับยุคสมัยนี้แล้ว ทั้งเสี่ยงและลงทุนมากเกินไป

บทเรียนการใช้อาวุธ และการก่อสงครามชิงอำนาจของประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ มองเห็นผลเสียมากกว่าผลดีที่จะได้รับ

การล้มหายตายจากของเพื่อนมนุษย์เป็นล้านและผู้อพยพนับสิบล้านเป็นตัวชี้วัดขั้นต้นว่าน่าจะต้องหาทางอื่นที่ดีกว่า

 

จะไม่มีการต่อสู้ที่จบเร็ว

อีกไม่กี่วันจะเป็นการครบรอบ 40 ปีของการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และครบรอบ 10 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

เป็นเหมือนเรื่องบังเอิญที่วันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่ง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เคลื่อนกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถ้าย้อนหลังไปอีก 30 ปีในวันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งต้องลี้ภัยออกไปอยู่นอกประเทศในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็บวชเป็นเณรและกลับเข้ามาในประเทศไทย จากนั้นก็เกิดมีม็อบต่อต้านเหตุการณ์ขยายรุนแรง มีการเข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข่นฆ่านักศึกษาที่ชุมนุมอยู่และมีการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทิศทางของการต่อสู้หลังจากนั้นคือการใช้อาวุธ สงครามกองโจรจึงเกิดขึ้นทั่วทุกภาค

แต่การรัฐประหารใน 30 ปีต่อมามีบรรยากาศที่แตกต่าง การต่อสู้ก็มีอยู่เพียงแต่ใช้แนวทางที่ต่างกันแม้จะมีความได้เปรียบเสียเปรียบที่ต่างกันมาก แต่การต่อสู้ก็ยังสามารถดำรงอยู่และยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว

ถ้าเปรียบเทียบกัน หลังรัฐประหาร 2519 แม้มีการใช้อาวุธทำสงครามกันไปทั่วและมีคนตายมากกว่าแต่เหตุการณ์ก็จบลงในระยะเวลาประมาณ 6 ปี แต่การต่อสู้หลังรัฐประหาร 2549 จนถึงบัดนี้ยังมองไม่เห็นว่าจะสิ้นสุดเมื่อใดหรืออาจจะเป็นอีก 10 ปีข้างหน้า


ทำไมหลังรัฐประหาร 2549
จึงมีการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน ?

คําตอบคือ กลุ่มอำนาจเก่า ทำทุกวิถีทางเพื่ออยู่ในอำนาจ แต่ประชาชนไม่ยอมรับการยึดอำนาจ

การรัฐประหารที่ผ่านมาหลายครั้ง เรื่องราวต่างๆ ดูคล้ายจะสงบลงแต่ที่จริงแล้วยังมีการต่อสู้ติดตามมาเหมือนอาฟเตอร์ช็อก การรัฐประหารแล้วไม่เสียของ จึงจะต้องทำการดัดแปลงอำนาจตามขั้นตอน คือ

1. ล้มอำนาจบริหารรัฐบาลเดิมจะโดยวิธี ใช้ม็อบ ใช้กฎหมาย ใช้กำลัง เพื่อจับกุมคุมขังฝ่ายตรงข้าม หรือขับออกนอกประเทศ เพื่อให้ทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้นำสูญสลายไป จากนั้นก็ตั้งรัฐบาลใหม่เป็นของฝ่ายที่ยึดอำนาจ

2. ล้มอำนาจนิติบัญญัติโดย ยุบสภา ยุบพรรคการเมือง ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งสภาขึ้นมาใหม่

3. ให้อำนาจตุลาการยอมรับคณะรัฐประหารว่าถูกกฎหมาย ยอมรับว่า คำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย เสริมความเข้มแข็งในสายตุลาการให้มากที่สุด

4. ทำให้สื่อมวลชนยอมรับการรัฐประหาร เชียร์คณะรัฐประหารให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

5. ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับคณะรัฐประหาร

6. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายที่ยึดอำนาจ

7. จัดการเลือกตั้งใหม่ และต้องได้เป็นรัฐบาล

8. ถ้าไม่สำเร็จ ก็ให้ทำซ้ำ ตั้งแต่ ข้อ 1.ใหม่อีกครั้ง

สูตร 8 ข้อนี้ทำให้จบไม่ได้ง่าย หลังจากประชาชนตื่นตัวมากขึ้น ถ้านับตั้งแต่กรณีรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ เพราะมีการยึดอำนาจด้วยกำลัง 19 กันยายน 2549 ตุลาการภิวัฒน์ซ้ำ ปี 2551 และมีการสลายการชุมนุมและฆ่าประชาชนปี 2553 แต่ประชาชนก็ยังเลือกเพื่อไทย จึงต้องมาล้มรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในปี 2557

สถานการณ์ล่าสุด คือการใช้สูตรข้อ 4-5-6-7 อย่างเต็มกำลัง ปรับปรุงรัฐธรรมนูญ 2559 ให้รสจัดขึ้น ถ้าเป็นไปตามโรดแม็ป อีกปีกว่าก็จะรู้ว่าพอมีทางเป็นไปได้หรือไม่

ดูเหมือนว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมจะยึดแนวทาง 8 ข้อไม่เปลี่ยน

พวกนิยมประชาธิปไตย
ใช้แนวทางการเลือกตั้ง

เข้าต่อสู้ อย่างเดียว

นี่เป็นการสู้อย่างสันติ ถูกหรือผิดไม่รู้ บางคนบอกว่าถ้าลุยสู้ ทุกรูปแบบตั้งแต่ต้นป่านนี้จบไปนานแล้ว เพราะโครงสร้างอำนาจจริงของประเทศไทย ไม่ได้วางอยู่บนหีบบัตรเลือกตั้ง

นักวิเคราะห์ทั่วไปมองว่า

เพราะทักษิณเป็นนักปฏิรูป ไม่ใช่นักปฏิวัติ

และพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองที่เดินแนวทางรัฐสภา จึงไม่ได้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ไม่ได้คิดต่อสู้ด้วยกำลัง นักการเมืองยอมสงบนิ่ง ยอมถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ยอมให้ยุบพรรค ยอมใช้รัฐธรรมนูญใหม่

สื่อมวลชนที่ช่วยฝ่ายประชาธิปไตยก็มีน้อยกว่า

สรุปว่าคนที่ยึดอำนาจคุมได้เกือบหมด ยกเว้นประชาชน เพราะประชาชน ดื้อตาใส นิ่งแต่ดื้อเพียงรอจังหวะพอมีเลือกตั้งใหม่ก็สนับสนุนพรรคเดิม แต่ผู้อยู่เบื้องหลัง และกลุ่มอำนาจเก่าก็ไม่ยอมแพ้ ทั้งดื้อและด้าน จึงใช้ทุกอำนาจเท่าที่มีอยู่ออกมาชิงอำนาจกลับ จนเกิดการฆ่าประชาชนครั้งใหญ่ในปี 2553

ถือเป็นการสร้างความแตกแยกครั้งใหญ่ที่สุดในสังคม ทั้งกว้างทั่วแผ่นดิน และลึกถึงหัวใจ

การรัฐประหารที่ชอบพูดกันว่า…เสียของ… ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสพัฒนาไป 10 ปี

นักวิเคราะห์บางคนมองว่ากลุ่มอำนาจเก่าเดินแนวทางผิด แต่เสนาธิการกลุ่มอำนาจเก่ามองว่าถูก อาจเป็นเพราะมีจุดยืนต่างกัน

สำหรับกลุ่มที่สนับสนุนเพื่อไทย ถ้าคิดแต่เลือกตั้งอย่างเดียวก็ผิดเช่นกัน และจากนี้จะต้องตั้งรับ

และแรงกดดันจากอำนาจนอกรัฐธรรมนูญจะทำให้ กลุ่มนี้แตกออก ทั้งการจัดตั้ง และแนวทางการต่อสู้ พวกที่แตกไปตั้งพรรค หรือไปอยู่พรรคอื่น เป็นเรื่องปกติ เพราะหลายคนก็อยากอยู่ฝ่ายรัฐบาล แต่มีนักวิเคราะห์บางคนกังวลว่าจะมีคนแยกไปเดินแนวทางการต่อสู้ที่รุนแรง แต่คงมีโอกาสน้อย และยังไม่มีข่าว

 

การต่อสู้กำลังดำเนินไปทั้ง 3 มิติ

การต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งมี 3 ก๊ก จากวันนี้จะเห็นการชิงอำนาจที่เป็นแบบ 3 มิติ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

คือ… การต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย
นอกระบอบประชาธิปไตย
และเหนือระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่ประชาชนและนักการเมืองกำลังสู้อยู่ในระบบ ติดตามศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะพิจารณาเนื้อหาการแก้ไขที่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเสนอมาและเราก็จะได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในไม่ช้านี้

แต่สังเกตจากสภาพการณ์ทางการเมืองพบว่ายังมีการเคลื่อนไหวชิงไหวชิงพริบที่เกี่ยวพันกับอำนาจต่างๆ นอกเหนือจากเกมรัฐธรรมนูญ และเมื่อวิเคราะห์ต่อไปก็พบว่าเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงที่มีต่อเนื่องมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว มีบางเรื่องอยู่นอกเวทีประชาธิปไตย เช่น ในวงการทหาร และความมั่นคง บางเรื่องอยู่เหนือเวทีประชาธิปไตย ซึ่งประเมินไม่ได้ว่าจะปะทุขึ้นมาเมื่อใด

แม้ชาวบ้านธรรมดาไม่ยุ่งเกี่ยวแต่อำนาจที่ช่วงชิงกันนั้นล้วนมีความสัมพันธ์และเกี่ยวโยงกัน ไม่ว่าจะ…อยู่ใน… อยู่นอก…อยู่เหนือ ระบอบประชาธิปไตย ช่วงนี้ นอกกับเหนือ อาจเปลี่ยนแปลงพัวพันกัน ในขณะที่ พวกในระบอบประชาธิปไตยต้องคอยเดินตามโรดแม็ป แต่ถึงที่สุดไม่ว่าตำแหน่งใดในประเทศนี้ ต้องผ่านระบบแต่งตั้งและรับรองตามกฎหมาย

และไม่ว่าการต่อสู้จะปะทุขึ้นที่เวทีใด สุดท้าย ก็จะเกี่ยวโยงถึงกันหมด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชน

ยกตัวอย่างการชิงอำนาจด้วยการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มทหาร 2 กลุ่มต่อสู้กันอยู่นอกระบอบประชาธิปไตย และมีผลประโยชน์ของอเมริกาเป็นแรงผลักดัน

แต่เมื่อมีการรัฐประหารผลก็มากระทบต่อระบอบประชาธิปไตย และรัฐบาลถูกล้ม สภาถูกยุบ ก็มีการต่อสู้ทางการเมืองข้ามไปจนถึงการต่อสู้ด้วยอาวุธ วุ่นวาย ล้มตาย กันทั่วประเทศ

ดูจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ทั้ง 3 มิติ คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงใกล้ๆ นี้ ซึ่งจะมีผลต่อทั้ง 3 ก๊ก ในการปรับยุทธศาสตร์ แม้จะไม่มีความตั้งใจเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้

และในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหา คงส่งผลกระทบมาถึง พ่อค้า ประชาชน แน่นอน