วงค์ ตาวัน : ทำไมไม่เลือกตั้ง “57 และยังเลื่อน “61

วงค์ ตาวัน

มีการจับกุมผู้ต้องหาใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจจนตายและบาดเจ็บ ในเหตุการณ์ม็อบ กปปส. บุกขัดขวางการเลือกตั้ง โดยเหตุเกิดในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2556 ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ขณะเปิดรับสมัครเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมนกหวีดพยายามบุกเข้าขัดขวาง จนเกิดปะทะกับตำรวจปราบจลาจล แล้วเกิดเสียงปืนดังขึ้นจากฝ่ายม็อบ

ลงเอยมีนายดาบตำรวจตายไป 1 ราย บาดเจ็บอีก 1 ราย

ผ่านไป 4 ปี มีกรณีตำตรวจ สน.มักกะสัน จับกุม นายเอกชัย พลภักดี อายุ 37 ปี ชาวเชียงราย พร้อมเพื่อน ในคดีเกี่ยวกับอาวุธปืน จากนั้นเมื่อนำไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับหัวกระสุนที่ก่อคดีต่างๆ แล้วพบว่าตรงกับที่ยิงใส่ตำรวจ ในการบุกขวางเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2556 แล้วสืบสวนพฤติกรรมของนายเอกชัยพบว่า เป็นการ์ด กปปส. ที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

จึงจับกุมนายเอกชัยเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ในข้อหายิงตำรวจตายและบาดเจ็บเมื่อ 4 ปีก่อน

ด้วยระบบการตรวจสอบทางวิทยาการ ทำให้ได้ตัวผู้เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง ยิงตำรวจตาย-เจ็บ ในเหตุการณ์ขัดขวางการเลือกตั้ง

“ถือเป็นพยานหลักฐานที่หนักแน่น และตอกย้ำให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกับคำว่าสงบ สันติ ของผู้ชุมนุมบางส่วนในปี 2556-2557”

เฉพาะเหตุการณ์ขวางเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ยังมีกรณียกมวลชนบุกเข้าไปยึดหีบบัตร บุกคูหาเลือกตั้งจนต้องหยุดการทำหน้าที่ และคุกคามประชาชนที่จะไปลงคะแนนแบบถึงเนื้อถึงตัว รวมทั้งบีบคอ

ที่รุนแรงคือมีการใช้อาวุธปืน ที่โจ่งแจ้งยิ่งกว่าเหตุการณ์ที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ที่เพิ่งจับกุมผู้ต้องหาได้ดังกล่าว

“ทุกคนคงจำได้ดี กรณีมือปืนป๊อปคอร์นและคณะชายฉกรรจ์นับสิบ ทุกคนมีอาวุธในมือ มีภาพถ่ายชัดแจ้ง เป็นเหตุการณ์บุกชิงหีบบัตรเลือกตั้งที่ย่านหลักสี่ มีการใช้อาวุธปืนยิงสนั่นหวั่นไหว จนกระทั่งมีลุงอะแกวเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าสลด”

เรื่องราวเหล่านี้ มีการนำมากล่าวย้อนกันอีกครั้ง เพราะวันนี้คนอีกส่วนที่รักในสิทธิเสรีภาพทางการเมือง กำลังเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้ง

ยิ่งทำให้ต้องนึกย้อนถึงขบวนการที่วางแผนกันมา เพื่อจะล้มประชาธิปไตย หยุดการเลือกตั้ง เมื่อปี 2557

ทำให้อำนาจทางการเมืองในมือประชาชนสูญเสียไปแล้ว 4 ปี และยังจะไม่ได้รับกลับคืนมาอย่างน้อยก็ถึงปี 2562

“นี่เสียหายร้ายแรงยิ่งกว่าข้ออ้างของฝ่ายม็อบนกหวีดที่ว่า ถ้าไม่ล้มรัฐบาลเพื่อไทย จะทำให้ประเทศชาติต้องเสียหายเรื่องจำนำข้าวมหาศาล!!”

แล้วสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนที่สูญเสียมาแล้ว 4 ปี

“เสียหายยิ่งกว่าไม่ใช่หรือ!?”

จนวันนี้ต้องมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ทวงอำนาจการเมืองของประชาชนกลับคืนมา แล้วก็ถูกจับกุมถูกดำเนินคดี สูญเสียอีกคณานับ

พวกที่สมคบคิดกันล้มเลือกตั้ง ล้มประชาธิปไตยเมื่อปลายปี 2556 และต้นปี 2557 ต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่!!

ตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสังคมไทยเกิดความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงระหว่างม็อบต่างสี ได้มีการชุมนุมของม็อบแต่ละฝ่ายเกิดขึ้นหลายครั้ง เสื้อเหลืองพันธมิตร เคลื่อนไหวหนักในช่วง 2548 เป็นต้นมา จนนำไปสู่การรัฐประหารปี 2549

จากนั้นเมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคฝ่ายเดิมชนะกลับมาเป็นรัฐบาลอีก ก็ก่อม็อบเคลื่อนไหวอีก

“จนนำไปสู่การบุกยึดทำเนียบรัฐบาล บุกยึดสถานที่ต่างๆ ไปจนกระทั่งที่ร้ายแรงที่สุดคือการบุกสนามบิน”

มาในปี 2556-2557 เป็นช่วงของม็อบนกหวีด ซึ่งก็มีปฏิบัติการล้ำเส้นมากมาย เช่น บุกขัดขวางและล้มการเลือกตั้ง ด้วยการใช้กำลังสารพัด

มีการปะทะกับตำรวจปราบจลาจลหลายหน มีเหตุการณ์ขว้างระเบิดใส่ตำรวจ จนมีฮีโร่เตะระเบิด ที่พยายามจะเข้าไปเตะลูกระเบิดเพื่อรักษาชีวิตเพื่อนตำรวจ จนทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส

“ชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวของม็อบนกหวีด มีแกนนำบางรายวางเป้าหมายปูทางให้เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ต่างจากม็อบเสื้อเหลืองและการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549”

ในส่วนม็อบเสื้อแดง ที่เคลื่อนไหวใหญ่ในปี 2552 และต่อมาชุมนุมอีกใน 2553 จนถูกฝ่ายรัฐปราบหนักด้วยกระสุนจริง กลายเป็นเหตุการณ์ 99 ศพ ที่ยังทวงหนี้เลือดหนี้ชีวิตกันจนถึงวันนี้

“แต่อีกด้านม็อบเสื้อแดง ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ในเหตุการณ์บุกกระทรวงมหาดไทยและทุบรถของนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงกรณีบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ”

ทั้งหลายทั้งปวงเราจะพบว่ามีการเคลื่อนไหวของม็อบที่เกินเลยขอบเขต และกลายเป็นคดีความข้อหาหนักๆ ตามมา ส่งผลกระทบต่อมวลชนที่เข้าร่วมในปฏิบัติการอันล้ำเส้น

ถือเป็นบทเรียนของการประท้วงใหญ่ที่ควรเร่งสรุป ให้ผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในอนาคตได้ตระหนักเอาไว้

เห็นได้ง่ายๆ ว่า การประท้วงใหญ่ของประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 และเมื่อพฤษภาคม 2535 ลงเอยได้รับชัยชนะเหนือรัฐบาลทหาร

“ด้วยเพราะเป็นการชุมนุมที่มีประชาชนเข้าร่วมอย่างมหาศาลจริงๆ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่จริงๆ”

ดังนั้น การชุมนุมทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ จะเห็นได้ว่าแกนนำไม่มีการสั่งมวลชนให้บุกไปยึดสถานที่ราชการ ไปยึดสถานีโทรทัศน์คุกคามสื่อมวลชน ไม่ไปยึดสนามบินที่สร้างผลลบต่อประเทศชาติ กระทบความเชื่อมั่นในธุรกิจการบินไปทั่วโลก ไม่ไปยึดหีบบัตรเลือกตั้ง ไม่ไปขวางหน้าคูหาเลือกตั้ง ข่มขู่ชาวบ้านที่รักสิทธิประชาธิปไตย

ถ้ามีมวลมหาประชาชนเข้าร่วมจริงๆ มีพลังประชาชนอันยิ่งใหญ่จริงๆ

อย่าง 14 ตุลาฯ และพฤษภาฯ 2535 จะไม่มีการนำมวลชนไปกระทำการเกินเลยบุกไปก่อการเคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยงอย่างไม่จำเป็นเลย

หากการชุมนุมของม็อบนกหวีดเพื่อล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีมวลมหาประชาชนมากมายหลายล้านจริงๆ ก็น่าจะเลือกวิธีล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อมีการยุบสภาและกำหนดเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว ด้วยการร่วมกันไปกาบัตรเพื่อแสดงความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่

ล้มเพื่อไทยตามวิถีทางที่ถูกต้องตามครรลอง และรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้

“อันหมายถึงอำนาจการเมืองยังอยู่ในมือประชาชนต่อไป ไม่ต้องสูญเสียไปให้คนกลุ่มเดียวแค่หยิบมือเดียวเอาอำนาจทั้งหมดไป”

จากนั้นพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำการต่อสู้ ก็จะต้องได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เพื่อเข้ามาบริหารประเทศตามแนวที่เห็นว่าดีกว่าเพื่อไทย และอยากปฏิรูปการเมืองให้ดีงามก็สามารถทำได้

ถ้ามีมวลชนมากมายเช่นนั้นจริง ก็น่าจะเลือกวิธีนี้

“ประเทศชาติก็ไม่ถูกทั่วโลกรังเกียจและปิดล้อมทางการค้า เศรษฐกิจปากท้องประชาชนก็ไม่กระทบ การพัฒนาประเทศก็ยังรุดหน้าต่อไปได้!”

แต่เมื่อไม่เลือกแนวทางนี้ ครั้นผ่านมา 4 ปี เกิดอะไรขึ้นบ้าง ก็เห็นๆ กันอยู่

ถ้ามีมวลชนหลายล้านสนับสนุน ก็น่าจะเลือกการเลือกตั้งเมื่อ 2 กุมภาพันธ์

“แล้วถ้ามีมวลชนหลายล้านสนับสนุนแนวทาง กปปส. จนถึงวันนี้ ก็น่าคิดว่า ทำไมการเลือกตั้งที่สัญญาเอาไว้กับประชาชนและชาวโลก กลับยังเลื่อนออกไปเรื่อยๆ”

คนที่บอกว่ามากมายหลายล้าน ที่ต่อต้านระบบทักษิณ น่าจะเป็นพลังที่เหนือกว่าพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณ

ก็น่าจะเลือกตั้งได้แล้ว

“ทำไมไม่เลือกการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 และทำไมการเลือกตั้งในปี 2561 ยังต้องเลื่อนออกไปอีก”

ทำไมจึงบอกว่าคนหลายล้านทั่วประเทศไม่เอาระบบทักษิณแล้ว

แต่ไม่กล้าตัดสินกันด้วยวิธีทางเลือกตั้ง อันเป็นการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่!