ฉัตรสุมาลย์ / เส้นทางสายไหม : พระคัมภีร์ถูกปล้น

ไม่น่าเชื่อว่าตัวเอกของเรื่องวันนี้ ชื่อ นักพรตหวัง หยวนลู่ เป็นพระในศาสนาเต๋า เดิมเป็นชาวเมืองหูเป่ย มีอาชีพเป็นทหารในมณฑลกานสู เมื่อออกจากราชการแล้วก็มาบวชเป็นพระในศาสนาเต๋า หลีกเร้นหาความสงบ จนได้มาพบถ้ำโมเกา

นักพรตหวังเป็นคนที่ตั้งใจปฏิบัติ กินอยู่อย่างเรียบง่าย อาศัยอยู่ในถ้ำชั้นล่าง ในขณะที่ชั้น 2-3 ก็มีพระทิเบตอาศัยอยู่ในถ้ำเหมือนกัน

นักพรตหวังรักษาความสะอาดในถ้ำต่างๆ เท่าที่กำลังของตนจะอำนวยความสะดวก เมื่อมีคนให้เงิน ท่านก็จะเอาเงินนี้ไปจ้างแรงงานคนให้มาช่วยเก็บกวาดถ้ำต่างๆ หลายถ้ำถูกพายุทรายพัดเข้ามาจนเต็มถ้ำ

วันหนึ่ง คนงานมารายงานว่า กำแพงด้านขวามือของถ้ำหมายเลข 17 นั้นมีรอยร้าว คืนนั้นนักพรตหวังจึงเข้าไปสกัดรอยร้าว และต้องประหลาดใจว่า จริงๆ แล้วเป็นทางเข้าไปสู่อีกห้องหนึ่ง

และในห้องนั้นเต็มไปด้วยคัมภีร์ที่คัดลงในม้วนกระดาษ ผ้า และแพร ทั้งภาษาจีน ภาษาอุยเกอร์ ภาษาสันสกฤต และภาษาถิ่นอื่นๆ

เขารู้ว่า เขาเจอขุมทองเข้าแล้ว วันนั้นเป็นวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1900

เขาพยายามนำความนี้ไปแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ของจังหวัด แต่ไม่มีใครสนใจ เห็นเป็นเพียงตำราโบราณ

ด้วยความตั้งใจที่จะรักษาถ้ำโมเกาไว้ หวังจำเป็นต้องใช้เงิน จึงนำตำราเหล่านั้นออกขาย เมื่อข่าวการค้นพบห้องสมุดที่โมเกาเป็นข่าวไปถึงตะวันตก บรรดาผู้ที่เล่นของเก่า นักโบราณคดี และนักวิชาการทางจีนศึกษาหูผึ่งไปตามๆ กัน

 

คนแรกที่เข้ามาชื่อ นายออเรล สไตน์ เชื้อชาติฮังเกเรียน สัญชาติอังกฤษ นายสไตน์เป็นนักโบราณคดี รัฐบาลอังกฤษส่งทีมเข้ามาขุดค้นที่โขตาน ในแถบมณฑลซินเกียง หลังจากการขุดและขนสมบัติกลับไปอังกฤษ เขากลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงอย่างมากในโลกตะวันตก

ในเดือนสิงหาคม 1906 เขาพาทีมคนทำงานเข้ามา 8 คนมาขุดค้นที่ซินเจียง ได้นำเอาจิตรกรรมฝาผนังออกไปถึง 6 คันรถ

มีนาคม 1907 สไตน์มาถึงตุนฮวางโดยที่ยังไม่ทราบว่ามีการเปิดห้องสมุด แต่เป็นช่วงที่นักพรตหวังกำลังหาเงินมาซ่อมแซมดูแลถ้ำโมเกา เมื่อพบหวัง ครั้งแรกเจรจากันไม่รู้เรื่อง สไตน์ต้องการดูคัมภีร์ แต่นักพรตหวังก็มีวิธีการที่ปกป้องไม่ให้สไตน์เข้าถึงได้ สไตน์จึงว่าจ้าง เจียง เซียวหวัน ให้มาเจรจาแทน และเมื่อทราบว่านักพรตหวังให้ความเคารพและศรัทธาพระถังซำจั๋งมาก สไตน์ก็ใช้จิตวิทยาว่าจะนำงานเหล่านี้ออกไปจัดนิทรรศการเชิดชูเกียรติของพระถังซำจั๋ง

นักพรตหวังหยิบคัมภีร์ไปม้วนหนึ่งโดยไม่ได้เลือก แต่ปรากฏว่าเป็นฉบับที่พระถังซำจั๋งแปลพอดี

หวังก็เลยเชื่อว่าที่จะเอาพระคัมภีร์ออกแลกเป็นเงินมาบูรณะถ้ำโมเกานั้น ได้รับอนุญาตจากท่านแล้ว

แต่นักพรตหวังก็เลือกเอาพระคัมภีร์ที่สมบูรณ์และคัดลายมือสวยไว้ แม้กระนั้น สิ่งที่สไตน์ขนออกไปครั้งนั้น นับรวม 24 หีบ มีทั้งคัมภีร์ภาษาโขตาน สันสกฤต และอุยเกอร์

ในการแลกเปลี่ยนกันครั้งนั้น นักพรตหวังก็รู้สึกพึงพอใจกับจำนวนเงิน “ทำบุญ” ที่สไตน์ให้

แต่ในจดหมายที่สไตน์เขียนเล่าให้เพื่อนฟังในเดือนเมษายน 1906 ว่า จ่ายไปทั้งหมดเพียง 130 ปอนด์ ซึ่งมีราคาเท่ากับราคาขายคัมภีร์ใบลาน 1 ใบในตลาดของเก่าเท่านั้นเอง

 

ในช่วงนั้น บรรดาผู้ที่รู้คุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของตุนฮวางต่างพากันหาทางที่จะเข้าถึงสมบัติอันล้ำค่า ที่ชาวจีน อย่างน้อยรัฐบาลก็ยังไม่มีท่าทีที่จะหวงแหน ปีรุ่งขึ้น พอล เปลิออต ชาวฝรั่งเศส คนนี้ชำนาญทางด้านภาษาจีน เมnjอได้เห็นว่าคัมภีร์นี้มีอายุก่อนศตวรรษที่ 8 เรียกว่ามีคุณค่ามหาศาล จึงรีบทิ้งงานทั้งหมดแล้วตรงมาที่ตุนฮวาง ภายในเวลา 3 อาทิตย์ เขาคัดเลือกคัมภีร์ออกไป 6,000 ผูก

เมื่อนายพอลนำชิ้นงานมาอวดนักวิชาการชาวจีนเองถึงกับตะลึง นักวิชาการจีน นายลัวะ เชียนหยู จึงรีบทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขอให้รัฐบาลเข้าไปดูแล

ไปจนถึง ค.ศ.1910 รัฐบาลกลางจึงสั่งอายัดสมบัติทั้งหมดที่โมเกา และให้ส่งเข้าไปที่ปักกิ่ง

พอมีคำสั่งดังกล่า;ยิ่งทำให้คัมภีร์มีราคาค่างวดมากขึ้น

ระหว่างที่ลำเลียงไป เจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ยักยอกออกไปขายเสียมากต่อมาก

พอไปถึงหอสมุด เหลือเพียง 8,000 ผูก ส่วนใหญ่ชำรุดทั้งสิ้น

ค.ศ.1902 มีทีมเข้ามาจากญี่ปุ่น นำโดย นายโอตานิ โคซุย ส่งทีมมาที่ถ้ำโมเกา ฉีกเอาจิตรกรรมฝาผนังไปอีกจำนวนหนึ่ง

ใน ค.ศ.1914 ย้อนกลับมาอีก คราวนี้ได้คัมภีร์ไปจากนักพรตหวังอีก 600 ผูก

นอกจากชาติที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ค.ศ.1909 เซอร์ไก โอลเดนเบิร์ก จากรัสเซีย ก็เข้ามาขนออกไปอีกจำนวนหนึ่ง

เวลานี้มีคัมภีร์จากถ้ำตุนฮวางในครอบครองของรัสเซีย 10,000 ผูก

ล่าสุด ค.ศ.1923 เป็นชาวอเมริกัน ชื่อ แลงดอน เวอร์เนอร์ คนนี้มีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ ได้งานศิลปะไปจากถ้ำ 335, 329, 321, 323, 320 และ 257 ใช้วิธีการสมัยใหม่ คือทาน้ำยาลงบนจิตรกรรมฝาผนังแล้วเอาผ้ามารีดปิดทับ แล้วลอกผ้าออก ได้จิตรกรรมฝาผนังไป

ส่วนผนังเดิมก็จะเป็นรอยด่างขาวโพลนอยู่ ภาพที่ลอกออกไปนี้ ไปประจำอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะฟอกก์

ที่ร้ายกว่านั้น ในปี ค.ศ.1917 เมื่อจีนทำการสู้รบกันแถบชายแดนที่คิดกับรัสเซีย ทหารจีนจับนักโทษทหารรัสเซียมาขังไว้ที่ถ้ำโมเกานี้

ทหารรัสเซียได้ทำลายจิตรกรรมฝาผนังในถ้ำไปบางส่วน ด้วยความโกรธแค้น

 

นักพรตหวังไม่ทราบเลยจนวันที่เสียชีวิตว่า ความพยายามที่จะรักษาถ้ำโมเกาที่เขาทำนั้น กลายเป็นเอาสมบัติล้ำค่าออกมาขาย เป็นการทำลายคุณค่าของถ้ำโมเกาอย่างแท้จริง ยิ่งกว่าหากจะปล่อยเอาไว้ตามเดิมโดยให้สมบัติเหล่านั้นจมอยู่ในกองทรายเสียดีกว่า

ลักษณะภูมิประเทศที่แห้งแล้งในเขตทะเลทรายกลายเป็นปัจจัยที่จะรักษาของโบราณเหล่านี้ได้อย่างดี ทันทีที่เปิดถ้ำ จิตรกรรมฝาผนังถูกอากาศภายนอก ก็มีปฏิกิริยาทำให้จิตรกรรมฝาผนังหลายชิ้นเปลี่ยนสีไป

ความไม่รู้เท่าทันในสมบัติล้ำค่าของชาวจีน เปิดโอกาสให้ต่างชาติที่รู้คุณค่าเข้ามาตักตวงสมบัติอันเป็นวัฒนธรรมของชาติ และของโลกไปอย่างน่าละอาย

สิ่งที่ตุนฮวางทิ้งไว้ให้เราขบคิดคือ สมบัติที่มีค่า หากไม่รู้คุณค่าก็ย่อมสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย

กลายเป็นว่า ถ้าต้องการศึกษาเนื้อหาในพระคัมภีร์ที่ถ้ำโมเกาต้องไปศึกษาที่อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ฯลฯ