วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (8) ฮั่นสมัยแรกกับรากฐานเอกภาพใหม่

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ราชวงศ์ฮั่น (ก.ค.ศ.206-ค.ศ.220) ถือเป็นราชวงศ์ในยุคประวัติศาสตร์ที่มีอายุยาวนานที่สุด และเป็นราชวงศ์ที่ได้วางรากฐานให้แก่ราชวงศ์ในชั้นหลังในหลายด้านด้วยกัน แม้จะเป็นเช่นนี้ก็ใช่ว่าราชวงศ์นี้จะไร้ซึ่งวิกฤตก็หาไม่

วิกฤตที่ว่ามีทั้งที่แก้ได้และแก้ไม่ได้ ที่แก้ได้ราชวงศ์ก็อยู่รอด ที่แก้ไม่ได้นั้นย่อมหมายถึงการล่มสลายของราชวงศ์

อย่างหลังนี้เองที่ทำให้ช่วงหนึ่งของวิกฤตได้ทำให้ราชวงศ์นี้แทบล่มสลาย โดยกว่าจะฟื้นคืนมาได้ก็ใช้เวลานานนับสิบปี

เหตุดังนั้น ในที่นี้จะเริ่มศึกษาราชวงศ์นี้ตั้งแต่แรกตั้งราชวงศ์ไปจนถึงเมื่อล่มสลายไปชั่วคราวเป็นฮั่นสมัยแรก จากนั้นจึงศึกษาช่วงที่ฟื้นราชวงศ์ได้อีกครั้งแยกต่างหากออกไปโดยถือเป็นฮั่นสมัยหลัง

การศึกษาตามนัยนี้จะได้กล่าวถึงฮั่นสมัยแรกโดยแบ่งเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

 

ก.วันคืนก่อนกำเนิดราชวงศ์

ที่มาของราชวงศ์ฮั่นนั้น กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วย่อมมาจากการก่อกบฏของสองชาวนาที่ชื่อเฉินเซิ่งกับอู๋กว่าง ถึงแม้ทั้งสองจะไม่มีโอกาสได้เห็นดอกผลในบั้นปลาย

แต่ดังได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ภายหลังเฉินเซิ่งกับอู๋กว่างสิ้นชีพไปแล้ว การกบฏที่ทั้งสองก่อขึ้นก็หาได้ชะงักไปด้วยไม่ ตรงกันข้ามมันกลับแผ่ลามขยายไปทั่วจักรวรรดิ ส่วนหนึ่งของกบฏเหล่านี้คือหกรัฐที่เคยทรงอิทธิพลในยุครัฐศึก แต่ถูกรัฐฉินปราบแล้วมาขึ้นต่อฉิน

รัฐเหล่านี้ต่างก็รอวันชำระแค้นและตั้งตนเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น การก่อกบฏของเฉินเซิ่งกับอู๋กว่างจึงไม่ต่างกับการจุดประกายไฟจนลามไปทั่วท้องทุ่ง

และฉู่ซึ่งเป็นหนึ่งในหกรัฐก็ก่อกบฏขึ้นด้วยโดยมีผู้นำคือ เซี่ยงเหลียง

 

เซี่ยงเหลียง (มรณะ ก.ค.ศ.208) เป็นบุตรหลานมหาอำมาตย์แห่งรัฐฉู่ และมีหลานอาซึ่งกำพร้าบิดาอยู่ในการดูแลชื่อ เซี่ยงอี่ว์ (ก.ค.ศ.232-202)

หลานคนนี้ฉายแววทะเยอทะยานทางการเมืองมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยครั้งหนึ่งเมื่อได้เห็นขบวนเสด็จประพาสของจักรพรรดิฉินสื่อที่ยิ่งใหญ่อลังการผ่านมา เขาก็พูดกับผู้เป็นอาว่า ตนจะตีชิงเอาชัยแล้วเข้าแทนที่ฉินสื่อให้ได้

แต่กระนั้น ชีวิตในวัยเด็กของเขากลับล้มเหลวในการศึกษาเล่าเรียน เขาฝักใฝ่แต่เรื่องการรบทัพจับศึก ดังนั้น เซี่ยงเหลียงจึงส่งเสริมให้เขาได้ศึกษาตำราพิชัยสงครามสืบแต่นั้นมา

อย่างไรก็ตาม หลังตัดสินใจก่อกบฏแล้ว สิ่งแรกๆ ที่เซี่ยงเหลียงได้ทำไปก็คือ การตั้งให้หลานคนหนึ่งของอดีตกษัตริย์แห่งรัฐฉู่ขึ้นเป็นฉู่ฮว๋ายหวัง (กษัตริย์ฮว๋ายแห่งรัฐฉู่) จากนั้นก็เข้าทำศึกกับทัพของฉิน ในระหว่างนี้ได้มีผู้คิดกบฏมาเข้าด้วยกับกลุ่มของเซี่ยงเหลียงเป็นระยะ

และหนึ่งในนั้นก็คือ หลิวปัง

หลิวปัง (ก.ค.ศ.256 หรือ 247-195) เป็นชาวเมืองเพ่ยแห่งรัฐฉู่ (ปัจจุบันคืออำเภอเพ่ยในเมืองสีว์โจวของมณฑลเจียงซู) เกิดในครอบครัวชาวนาที่ยากจน แต่บันทึกบางที่ก็ว่าเขาเกิดในครอบครัวเจ้าที่ดินขนาดเล็ก

กล่าวกันว่า เมื่อโตถึงวัยดรุณนั้น หลิวปังไม่มีใจที่จะช่วยงานของครอบครัว ได้แต่ใช้เวลาไปกับการดื่มสุราอย่างหนักร่วมกับมิตรสหายที่เป็นพวกสุราบานด้วยกัน

ครั้นเกิดกบฏโดยเฉินเซิ่งกับอู๋กว่าง หลิวปังจึงคิดเป็นกบฏบ้าง เขาเริ่มด้วยการหากำลังคนมาได้จำนวนหนึ่ง จากนั้นก็ยึดเมืองเพ่ยบ้านเกิดแล้วตั้งตนเป็นใหญ่ ถึงแม้จะเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย แต่ก็เป็นบาทก้าวแรกในชีวิตทางการเมืองของเขา

ช่วงที่อยู่ในเมืองเพ่ยนั้น หลิวปังได้รู้จักกับบุคคลหนึ่งชื่อ จางเหลียง (มรณะ ก.ค.ศ.187) ซึ่งเป็นทายาทของอดีตขุนศึกใหญ่แห่งรัฐหาน โดยนับแต่ที่หานอันเป็นหนึ่งในหกรัฐทรงอิทธิพลถูกฉินตีแตกแล้วมาขึ้นต่อฉินในยุครัฐศึกนั้น จางเหลียงที่โตจนรู้ความก็ผูกใจเจ็บมาตลอด

ครั้นถึงวัยดรุณจึงได้ว่าจ้างบุรุษทรงพลังผู้หนึ่งให้ลอบปลงพระชนม์จักรพรรดิฉินสื่อ โดยให้บุรุษผู้นี้ทุ่มค้อนเหล็กที่หนักราว 60 กิโลกรัมเข้าใส่ราชรถของฉินสื่อในขณะกำลังเสด็จประพาส แต่แผนล้มเหลว

จนเมื่อเกิดกบฏขึ้น จางเหลียงก็รวบรวมกำลังคนได้จำนวนหนึ่งเพื่อก่อกบฏบ้าง ขณะที่กลุ่มของเขากำลังเดินทางไปร่วมกับกบฏกลุ่มอื่นก็ได้พบกับหลิวปัง และเมื่อได้ส้องเสพเสวนากันแล้วต่างพอใจในความคิดของกันและกัน

จากเหตุนี้ จางเหลียงจึงตัดสินใจได้เข้าร่วมกับกลุ่มของหลิวปัง และต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะไปเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏของเซี่ยงเหลียงอีกชั้นหนึ่ง

 

หลังจากที่กลุ่มของหลิวปังและอีกบางกลุ่มเข้าร่วมกับกลุ่มของเซียงเหลียงแล้ว ฉู่ฮว๋ายหวังทรงมีบัญชาให้ทัพของเซี่ยงเหลียงข้ามแม่น้ำเหลืองบุกขึ้นเหนือ และให้ทัพของหลิวปังบุกไปทางตะวันตก

โดยมีเงื่อนไขว่า หากทัพใดสามารถยึดกวานจงได้ก่อน ผู้นั้นจักได้นั่งที่ตำแหน่งกษัตริย์ (หวัง) แห่งกวานจงเพื่อปกครองเสียนหยาง (1)

การได้นั่งในตำแหน่งนี้จึงเป็นเสมือนแรงจูงใจให้กับบรรดาผู้นำกบฏกลุ่มต่างๆ เพราะเวลานั้นเป็นที่รู้กันดีว่า เสียนหยางที่เป็นเมืองหลวงของฉินนั้นมีความมั่งคั่งเพียงใด

แม้กบฏจะลุกลามไปทั่วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าทัพฉินจะอ่อนแอตามราชวงศ์ไปด้วยไม่ ตรงกันข้ามทัพฉินยังมีขุนศึกที่มากความสามารถอยู่ไม่น้อยที่ยังภักดีต่อราชวงศ์ และหนึ่งในนั้นคือขุนศึกที่ชื่อ จางหาน (มรณะ ก.ค.ศ.205) ผู้ซึ่งต้านการกบฏของเฉินเซิ่งและอู๋กว่างได้สำเร็จ

และเมื่อเซี่ยงเหลียงนำทัพกบฏบุกขึ้นเหนือเพื่อทำศึกด้วย จางหานก็ยังตีทัพของเซี่ยงเหลียงจนแตกพ่ายเช่นกัน

ซ้ำร้ายตัวเซี่ยงเหลียงเองยังเสียชีวิตในศึกนั้นด้วย

 

จากเหตุนี้ ผู้นำกลุ่มกบฏโดยส่วนใหญ่จึงไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับจางหาน จะมีก็แต่ทัพของหลิวปังกับเซี่ยงอี่ว์เท่านั้นที่ไม่กลัว แต่ที่ต่างกันคือบทบาทและท่าทีในการศึกของทั้งสอง

เริ่มจากฝ่ายเซี่ยงอี่ว์ เมื่อเซี่ยงเหลียงเสียชีวิตไปแล้ว ก็มีขุนศึกชั้นรองคนหนึ่งขึ้นมานำทัพแทนโดยมีเซี่ยงอี่ว์เป็นรองแม่ทัพ แต่แม่ทัพผู้นี้มิหาญทำศึกกับฉิน วันๆ ได้แต่ทำทีหยั่งเชิงกระทั่งเวลาล่วงไปถึง 46 วันจนเซี่ยงอี่ว์ขุ่นเคืองใจ

พอถึงวันที่ 47 เซี่ยงอี่ว์จึงตัดสินใจสังหารแม่ทัพผู้นี้ จากนั้นก็ขึ้นมานำทัพแทน

ครั้นพอทัพเคลื่อนมาถึงแม่น้ำจาง (จางเหอหรือจางสุ่ย) เซี่ยงอี่ว์จึงสั่งให้กำลังพลของตนเตรียมสัมภาระและเสบียงให้พอยังชีพได้สามวัน ที่เหลือนอกนั้นให้ทำลายสิ้น ไม่เว้นแม้แต่เรือที่ใช้ข้ามแม่น้ำก็ให้เผาทำลาย

จากนั้นทัพของเซี่ยงอี่ว์ก็มาตั้งเผชิญกับทัพของจางหานที่จี้ว์ลู่ (ปัจจุบันคือเมืองสิงไถในมณฑลเหอเป่ย) ทัพของเซี่ยงอี่ว์มีกำลังพลสามหมื่น ขณะที่ทัพของจางหานมีสี่แสน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ต่อ 10 ซึ่งเห็นชัดว่าทัพฉู่เสียเปรียบ

แต่หลังจากทำศึกไปเก้าครั้ง ทัพฉู่กลับสามารถเอาชนะทัพฉินได้ โดยทัพฉินสูญเสียกำลังพลไปประมาณสองแสน ส่งผลให้กำลังหลักของฉินตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอลง ศึกครั้งนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับเซี่ยงอี่ว์ เป็นศึกที่มีขึ้นเมื่อ ก.ค.ศ.207

และเรียกกันต่อมาว่า ศึกจี้ว์ลู่ (จี้ว์ลู่จือจ้าน)

————————————————————————————————–
(1) กวานจง เป็นคำโบราณที่ใช้เรียกที่ราบภาคกลางตรงอาณาบริเวณมณฑลส่านซีในปัจจุบัน ถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจการเมืองในประวัติศาสตร์จีน และเมื่อใช้คำนี้ความหมายโดยนัยมักจะหมายถึงเมืองหลวง ซึ่งในที่นี้ก็คือเมืองเสียนหยาง