มนัส สัตยารักษ์ : ไทยนิยมยั่งยืน??

จะเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่เลื่อน จะเลื่อนไปกี่เดือนหรือกี่ปีก็ตามแต่ บรรยากาศและพฤติกรรมของนักการเมือง (รวมทั้งนักการเมืองที่มีอดีตเป็นทหาร) ในวันนี้ก็ไม่แตกต่างกับช่วงเวลาของการหาเสียงเพื่อชนะเลือกตั้งเท่าไรนัก

นั่นคือ เริ่มมีการสร้างภาพสวยงามของตนเองขึ้นมา พร้อมกันไปกับการเปิดภาพเลวร้ายของคู่ต่อสู้ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม

การสร้างภาพสวยงามไม่ยาก ถึงจะเป็นภาพหลอกลวง แต่คนไทยเขาคุ้นชินแล้วจึงไม่ถือสา และภาพที่สร้างขึ้นก็มิใช่ปัจจัยสำคัญของการให้หรือไม่ให้คะแนน

ส่วนการเปิดภาพเลวร้ายยิ่งเป็นเรื่องไม่ยาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือง่ายกว่าการสร้างภาพด้วยซ้ำ เพราะว่าประเทศไทยไม่มีนักการเมืองคนไหนที่ไม่มีตำหนิเลวร้าย แม้แต่คนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เคยรับรองว่า “ดีที่สุด” ถัดมาไม่นานก็ถูกขุดคุ้ยจนกลายเป็นเลวไปก็ได้ มีตัวอย่างให้เห็นตลอดมาทุกยุคทุกสมัย

ส่วนคนที่ประชาชนเห็นเป็นพระเอกขี่ม้าขาว หรือนารีขี่ม้าขาว ผ่านไปไม่ถึงปีประชาชนก็เปลี่ยนใจ พอเข้าปีที่สอง-สามก็ก่นประนามกันแล้ว ที่พวกเขาเบื่อกันนั้นส่วนหนึ่งอาจจะมาจากเหตุ “คนไทยเป็นคนขี้เบื่อ”

แต่เหตุหลักที่แท้จริงแล้วเป็นเพราะ คนขี่ม้าขาว “ออกลาย” ให้เห็นชัดเจนต่างหาก

ลายที่ชาวบ้านเห็นส่วนใหญ่เป็นลายคอร์รัปชั่นอย่างไม่แยแสต่อศีลธรรมและไม่ยี่หระต่อกฎหมาย

ในสนามเลือกตั้ง รัฐบาลปัจจุบันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียเปรียบมาตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งที่เหตุผลเดิมในการยึดอำนาจคือยุติความขัดแย้งที่บานปลายไปถึงขั้นจลาจลและฆ่ากันกลางเมือง รวมทั้งเหตุผลสำคัญคือ “ทะลวงทางตัน” ของการบริหารประเทศ และแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นจากนโยบายจำนำข้าว

พออ้างว่าได้รัฏฐาธิปัตย์ รัฐบาลก็มีท่าทีเหมือนจะทวงบุญคุณจากประชาชน

ส่วนฝ่ายสูญเสียอำนาจ พยายามวาดภาพให้การยึดอำนาจครั้งนี้ เป็นการใช้กำลังทหารทำการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งของประชาชน

พวกเขาประสบความสำร็จในประเทศส่วนหนึ่ง แต่ความพยายามที่ถูกเรียกว่า “ชักศึกเข้าบ้าน” ประสบผลค่อนข้างสูงในประเทศทางฝั่งตะวันตกและอารยประเทศมหาอำนาจสำคัญทางฝั่งตะวันออก

ฝั่งรัฐบาล คสช. มาเสียหายจากข่าวทุจริตคอร์รัปชั่นค่อนข้างถี่จากการอ้างว่า “พัฒนาประเทศ” ทั้งในเรื่องความมั่นคงและเศรษฐกิจ ซึ่งทุ่มเทเงินงบประมาณอย่างมันมือ

ต่อมาก็เสียหายหนักมาจากความพยายามปรับปรุงกฎหมายปราบโกงให้โกงได้ง่ายขึ้น หรือที่โกงไปแล้วจะได้พ้นผิด มีข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลกเรื่องนาฬิการาคาแพงกับการสร้างมาตรฐานใหม่ของ ป.ป.ช. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

ตบท้ายด้วยข่าวการถอนตัวออกจากความเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ

เป็นอันสรุปได้ว่า 3-4 ปี ที่ผ่านมาไม่มีอะไรมากไปกว่าการสู้รบกันด้วยวาทกรรมระหว่างผู้ยึดอำนาจกับผู้สูญเสียอำนาจ

พล.อ.​ประยุทธ์ จันทร์​โอชา ผบ.ทบ.​ลง​คะแนนเสียง​เลือกตั้ง​ผู้​ว่าฯ​กทม. เมื่อ​วัน​ที่ 3 มีนาคม 2556

มาถึงปี 2561 ซึ่งควรจะเป็นปีที่น่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยตามโรดแม็ป (หนที่ 3) แต่กลับมีความพยายามยืดและยื้อด้วยสารพัดวิธี เป็นเหตุให้โรดแม็ปเลือกตั้ง ต้องเลื่อนไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นอย่างน้อย

ระหว่างนั้นก็ขู่ประชาชนให้หวาดกลัวถึงอำนาจเก่าที่จะกลับมาทำร้ายประเทศอีก

อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายต่างก็เริ่มพฤติกรรม “หาเสียง” กันแล้ว

นักการเมืองบางคนหน้ามืดจนลืมความเหมาะสม ผลีผลามยืนโชว์ตัวบนรถกระบะหาเสียงในลักษณะฉวยโอกาส

ส่วนฝั่งรัฐบาลเริ่มด้วยโครงการ “ไทยนิยม” อันเป็นการผลิตวาทกรรมใหม่ขึ้นมา

เมื่อถูกโจมตีว่าเลียนแบบ “ประชานิยม” จึงขยายเป็น “ไทยนิยมยั่งยืน” หลังจากนั้นก็ออกมาอธิบายว่า ไม่ใช่ “ประชานิยม” และไม่ใช่ “ชาตินิยม”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เจ้าของไอเดียนี้ ให้อรรถาธิบายในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า

“เราต้องการการปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นไทยโดยไม่ทิ้งหลักสากล จึงเป็นที่มาของคำว่า ไทยนิยม ซึ่งไม่ใช่การสร้างกระแสชาติยม และก็ไม่ใช่คำว่า ประชานิยม…

“ไทยนิยม เป็นการต่อยอดขยายผลจากประชารัฐ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการระเบิดจากข้างใน การมีส่วนร่วม การรับผิดชอบร่วม แล้วรัฐบาลจึงแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน เป็นภาควิชาการ ทำให้เกิดเป็น 3 ประสาน คือ ราษฎร์ รัฐ เอกชน ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร…

“เป็นแนวคิดการบริหารประเทศ ที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการตามความนิยมของคนไทยทั้งประเทศ” (ฮา)

ผมติดตามข่าวสับสนนี้มาตลอด แต่ความเป็นคนโบราณไม่เข้าใจศัพท์แสงใหม่ว่ามีความหมายอย่างไร เช่น “บูรณาการ, ยั่งยืน, กลไกการขับเคลื่อน, ประชารัฐ และ ฯลฯ”

แม้จะได้ติดตามข่าวนี้เพิ่มเติมทั้งจากสื่อหลักรวมทั้งสื่อออนไลน์ แต่ต้องขอรับสารภาพว่า “ไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจ” ไม่แน่ใจว่าไทยนิยมเป็นการหาเสียงหรือไม่ ในขณะที่สื่อหลักบางเจ้าใช้คำว่า “รัฐเดินสายปูพรม”

อย่าว่าแต่ผมที่ไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่อง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อน “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” ก็ยังไม่แจ่มแจ้ง เมื่อวานนี้ (30 มกราคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องการให้ประชาชนเตรียมพร้อมหรืออยากชี้แจงประชาชนในเรื่องใดเป็นพิเศษบ้าง ท่านตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า

“ต้องรอให้ขั้นตอนการดำเนินงานดำเนินไปก่อน โดยนายกฯ น่าจะชี้แจงให้ทุกกระทรวงได้บูรณาการการทำงาน และรองนายกฯ ทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ ก็คงจะได้ชี้แจงการทำงานให้ทุกหน่วยงาน จากนั้นทุกส่วนจึงจะลงพื้นที่ไปชี้แจงแก่ประชาชน”

ย้อนกลับไปทบทวนคำพูดของนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เห็นได้ว่านโยบายที่นายกรัฐมนตรีจะ “ปูพรม” โดยโครงการไทยนิยมยั่งยืนนั้น ล้วนเป็นภารกิจของข้าราชการในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ลงไปจนถึงระดับจังหวัด ล้วนต้องปฏิบัติเป็นปกติอยู่แล้ว มิหนำซ้ำในบางเรื่องบางหัวข้อก็ได้ตั้ง “คณะกรรมการดำเนินการ” ลงไป “ขับเคลื่อน” อีกชั้นหนึ่ง เป็นการซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น เพราะรัฐบาลสามารถเร่งรัดให้ข้าราชการทำการขับเคลื่อนได้อยู่แล้ว

ครั้นแล้วก็พบข่าวจากสื่อสิ่งพิมพ์ว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่กระทรวงมหาดไทย โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นประธาน มีการประชุม (ด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอรนซ์ ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ) เรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2561 กว่าแสนล้านบาท

ในส่วนของการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และแนวทางการขับเคลื่อนประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน

จำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกว่าแสนล้าน บวกกับชื่อเสียงและกิตติศัพท์ของท่านประธานที่ประชุม ก็ทำให้พอจะ “เข้าใจ” โครงการ แม้จะยังไม่ “รู้เรื่อง” ก็ตาม