คนของโลก : เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดคนที่ 16

อดีตวาณิชธนากร เจอโรม “เจย์” เอช. พาวเวลล์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานกองทุนสำรองแห่งรัฐหรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) คนที่ 16 อันเป็นผู้รับบทบาทหน้าที่สำคัญในการดูแลเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

พาวเวลล์ วัย 65 ปี ที่อาจเป็นประธานเฟดที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดเท่าที่เคยมีมา

และเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้

ก้าวเข้ามากุมบังเหียนด้านนโยบายการเงินในช่วงที่ทศวรรษแห่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มที่จะขึ้นสู่จุดสูงสุด

มรดกที่เขาได้รับมาคือช่วงเวลาการขยายตัวที่ยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำที่สุดเกือบเป็นประวัติการณ์

 

แต่นักวิเคราะห์จำนวนมากระบุว่า ยังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการแกว่งตัวของตลาดหุ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

ตลาดหุ้นร่วงลง 35 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 3 เดือนหลังจากอลัน กรีนสแปน เข้ารับตำแหน่งประธานเฟดเมื่อเดือนสิงหาคมปี 1987 ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์แบล็กมันเดย์ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวพร้อมๆ กันเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม กรีนสแปนตอบสนองด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดลงอย่างมากและออกแถลงการณ์ระบุว่า เฟดพร้อมและยินดีที่จะ “ให้การสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและการเงิน”

การแทรกแซงครั้งนั้นซึ่งพลิกฟื้นการร่วงลงของตลาดหุ้นได้รับการชื่นชม แต่เป็นการสร้างความคาดหวังให้กับตลาดการเงินว่า กรีนสแปนจะไม่ปล่อยให้ราคาหุ้นร่วงลง

มีแนวโน้มว่าพาวเวลล์จะไม่ตอบสนองต่อการร่วงลงของตลาดหุ้นรอบล่าสุด นอกเสียจากว่าสถานการณ์จะย่ำแย่ถึงขีดสุด ในการกล่าวสุนทรพจน์หลังเข้ารับตำแหน่งประธานเฟด เขาเน้นย้ำถึงสุขภาพของเศรษฐกิจ

“ปัจจุบันนี้อัตราการว่างงานต่ำ เศรษฐกิจเติบโตขึ้น และอัตราเงินเฟ้อต่ำ ในการตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงิน เราจะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และความมีเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อ” พาวเวลล์กล่าว

พาวเวลล์ระบุว่าเขามีพันธกรณีในการอธิบายการตัดสินใจด้านนโยบายของเฟด เป็นการส่งสัญญาณที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการต้อนรับจากสมาชิกสภานิติบัญญัติสายอนุรักษนิยม ที่เรียกร้องให้ธนาคารกลางกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามตำราอย่างเข้มงวด

พาวเวลล์บอกว่า การปฏิรูประบบธนาคารที่บังคับใช้นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเมื่อปี 2008 ทำให้ภาคการเงินแข็งแกร่งขึ้น โดยกล่าวว่า “เราต้องการให้เป็นเช่นนั้นต่อไป”

แต่เขาได้เปิดเผยถึงการสร้างความสมดุลไว้ด้วย ที่บางทีอาจเป็นการยอมรับต่อนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ ของฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านเศรษฐกิจ

“เราจะทำงานอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่ากฎระเบียบและการควบคุมดูแลของเรามีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ” พาวเวลล์กล่าว

และว่า “ที่เฟด เรารู้ว่าการตัดสินใจของเรามีผลต่อครัวเรือนและธุรกิจอเมริกัน”

 

พาวเวลล์เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการเฟดโดยได้รับการคัดเลือกจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อปี 2012 ซึ่งเป็นปีที่เฟดกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อรายปีไว้ที่ 2 เปอร์เซ็นต์

อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้ามาโดยตลอดนับตั้งแต่นั้น ส่งผลให้เจเน็ต เยลเลน อดีตประธานเฟดต้องพ้นตำแหน่งไป ท่ามกลางแรงกดดันของดัชนีราคาผู้บริโภคที่ต่ำ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และการจ้างงานเพิ่มขึ้น

แม้ว่าจะมีผลงานที่แข็งแกร่ง แต่เยลเลน ประธานเฟดคนแรกที่เป็นผู้หญิง กลายเป็นประธานเฟดคนแรกในรอบ 4 ทศวรรษที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 2

และพาวเวลล์เข้ารับตำแหน่งต่อในช่วงเวลาที่ความกังวลเกี่ยวกับความกดดันทางการคลังเริ่มที่จะร้อนแรงขึ้นภายหลังการปรับลดภาษีครั้งใหญ่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา