โฟกัสพระเครื่อง/เหรียญปั๊มหลวงพ่อจง พิมพ์นิยมหน้าใหญ่ มงคลวัดหน้าต่างนอก

หลวงพ่อจง พุทธสโร

โคมคำ
[email protected]

เหรียญปั๊มหลวงพ่อจง

พิมพ์นิยมหน้าใหญ่

มงคลวัดหน้าต่างนอก

“หลวงพ่อจง พุทธสโร” แห่งวัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีตช่วงสงครามอินโดจีน
สร้างวัตถุมงคลไว้มากมายหลายอย่างและสร้างแจกทหาร-ตำรวจ ในสงครามอินโดจีน ปี 2483-2485 มีทั้งเหรียญ ผ้ายันต์ ตะกรุด แผ่นยันต์มหาลาภ และกันไฟ ฯลฯ ทำให้ทหารที่มีวัตถุมงคลไว้บูชา รอดชีวิตกลับมา
ที่ได้รับความนิยมสูง นอกจากเหรียญรุ่นแรกที่ได้รับความนิยมจากบรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องแล้ว “เหรียญปั๊มรูปเหมือน พิมพ์นิยมหน้าใหญ่ ปี 2485” ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
ทั้งนี้ เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อจง ปี 2485 นับเป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นที่ 2 ที่หลวงพ่อจงสร้างเพื่อแจกแก่ข้าราชการและพลเรือนนำไปเป็นขวัญและกำลังใจระหว่างภัยสงคราม จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดง มี 2 แบบ คือ แบบปางมารวิชัยและแบบปางสมาธิ ทั้งยังแบ่งออกเป็น พิมพ์หน้าใหญ่และพิมพ์หน้าเล็ก ซึ่งพิมพ์นิยมจะเป็นแบบปางมารวิชัย พิมพ์หน้าใหญ่

เหรียญปั๊มหลวงพ่อจง พิมพ์หน้าใหญ่ พ.ศ.ตรง

ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงเสมา หูในตัว ด้านหน้าเหรียญ โดยรอบตกแต่งด้วยลวดลายกนก ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจงเต็มองค์ นั่งแบบปางมารวิชัย ไม่มีอาสนะรองรับ มีอักขระขอม 5 ตัวรอบรูปเหมือน นะ โม พุท ธา ยะ อันเป็นหัวใจพระพุทธเจ้าห้าพระองค์
ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นยันต์สี่ทิศสี่มุม ด้านบนเป็นอักษรไทยว่า “ที่ระลึก” ด้านล่างว่า “หลวงพ่อจง ๒๔๘๕”
โดยด้านหลังเหรียญ แบ่งเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ พ.ศ.โค้ง และพิมพ์ พ.ศ.ตรง
เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อจง พิมพ์หน้าใหญ่ ปี 2485 นับเป็นเหรียญคณาจารย์รุ่นเก่าที่มีค่านิยมสูงมาก
แม้จะเป็นเหรียญรุ่นที่ 2 แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการในหมู่เซียนพระและนักสะสม

“หลวงพ่อจง” มีนามเดิมว่า จง สำหรับวันเดือนปีเกิดนั้น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ล่วงเลยผ่านพ้นมานาน อีกทั้งการบันทึกก็มิได้มีหลักฐานที่เด่นชัด
แต่ระบุไว้พอรู้ความว่า ท่านได้เกิดในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี วันพฤหัสบดี เดือน 4 ปีวอก ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม 2415 อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลานั้นยังไม่มีการใช้ชื่อสกุล จึงไม่มีการระบุชื่อนามสกุลเดิมของท่านไว้
ถือกำเนิดในท้องที่ ต.หน้าไม้ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โยมบิดา-มารดา ชื่อว่า นายยอดและนางขลิบ ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา
ชีวิตหลวงพ่อจง ในวัยเยาว์ เป็นผู้มีความชอบวัด ติดวัด เข้าวัดฟังธรรมอยู่เป็นนิจ มากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
ดังนั้น เมื่ออายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ.2435 จึงบวชที่พัทธสีมาวัดหน้าต่างใน มีหลวงพ่อสุ่น เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์อินทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์โพธิ์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
อยู่พำนักเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาการต่างๆ ที่วัดหน้าต่างใน ศึกษาหาความรู้ในด้านพระปริยัติธรรม พร้อมทั้งฝึกฝนด้านการเขียนอ่านอักษรทั้งไทยและขอมจากพระอาจารย์โพธิ์ ซึ่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์
ต่อมาไปเรียนวิชาฝ่ายกัมมัฏฐาน กับหลวงพ่อปั้น วัดพิกุล ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงด้านนี้

เหรียญปั๊มหลวงพ่อจง พิมพ์หน้าใหญ่ พ.ศ.โค้ง

ด้วยภูมิธรรมความรู้ อันเกิดจากความวิริยะพากเพียร ทำให้เป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมทั้งหลาย ต่อมา เมื่อหลวงพ่ออินทร์สิ้นบุญลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกว่างลง
ชาวบ้านต่างเห็นพ้องต้องกันว่าศิษย์ของท่านพระอาจารย์โพธิ์ วัดหน้าต่างใน มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง ครั้นเมื่อเข้ามารับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก
เป็นพระเถราจารย์ที่มีวิทยาคมแก่กล้า ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมจากหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อ.บางบาล และหลวงพ่อปั้น วัดพิกุล จ.พระนครศรีอยุธยา
นอกจากนี้ ยังเป็นสหายธรรมกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เนื่องจากมีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน
กิตติศัพท์แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง งานปลุกเสกเครื่องมงคลในกรุงเทพฯ ที่จัดพิธีใหญ่ทุกงาน หลวงพ่อจงจะต้องได้รับนิมนต์มาร่วมพิธีด้วยทุกครั้งไป ถือว่าเป็นพระเถราจารย์ที่ขาดเสียมิได้

ด้วยคุณธรรมอันสูงส่งของท่าน แม้กระทั่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) จะสร้างเครื่องมงคลครั้งใด ต้องมีบัญชาให้ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) นิมนต์มาร่วมปลุกเสกด้วยทุกครั้งไปมิเคยขาด
ในช่วงบั้นปลายชีวิต วันที่ 14 มกราคม 2508 ล้มป่วยลงเป็นอัมพาตทางด้านขวาของร่างกายหมดความรู้สึก
กระทั่งเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2508 เวลา 01.55 น. จึงมรณภาพด้วยอาการสงบ ท่ามกลางความโศกสลดของคณะศิษย์ที่นั่งเฝ้าโดยใกล้ชิดทั้งหลาย